พระชฎาห้ายอด ยังใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์เมื่อสวรรคต

 

พระชฎาห้ายอดเป็นเครื่องราชศิราภรณ์ประเภทชฎา มีศักดิ์สูงรองจากพระมหาพิชัยมงกุฎ ชฎาน่าจะมีพัฒนาการจากลอมพอกอันเป็นศิราภรณ์ทำจากผ้า ซึ่งไทยได้รับมาจากอินโด-อิหร่าน ตกแต่งด้วยเครื่องประดับทั้งตามแบบไทย เช่น เกี้ยว ดอกไม้ไหว หรือปักจิกาห์ (jigha) ตามแบบอินโด-อิหร่านที่ไทยเรียกว่าพระยี่ก่า หรือที่พระตำรา เครื่องทรงเครื่องต้นเรียกว่า สุวรรณมาลัย (ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 19. 2471, 61 – 63)

รูปทรงของพระชฎาที่มีพัฒนาการเริ่มแรกมาจากลอมพอก มีตัวอย่างจากภาพพระชฎาของพระเวสสันดร ในจิตรกรรม สมุดภาพไตรภูมิสมัยกรุงศรีอยุธยาเลขที่ 6 ราวต้นพุทธศตวรรษ ที่ 23 (สมุดภาพไตรภูมิฯ เล่มที่ 1. 2542, น. 84) ดูใกล้เคียงกับที่บาทหลวงตาร์ชาร์ตกล่าวถึงพระชฎา ของสมเด็จพระนารายณ์อยู่ไม่น้อยว่า

“ทรงสวมศิราภรณ์เปล่งปลั่งด้วยรัตนชาติ เหมือนหมวกทรงสูง มียอดแหลมดั่งพีระมิด ล้อมรอบด้วยวงแหวน (เกี้ยว) 3 วง เรียงซ้อนห่างกันเพียงเล็กน้อย” (Tarchard 1988, p. 13)

และที่กล่าวถึงในพระตำราเครื่องทรงเครื่องต้นอันสืบทอดมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึง “พระชฎาริมทองสอดตามสี” เป็นหนึ่งในเครื่องต้นเต็มยศเมื่อเสด็จพระราชดำเนิน ทรงนมัสการพระพุทธบาท (ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 19. 2471, 61 – 63)

กาลต่อมาพระชฏาที่เคยทำจากผ้าและเครื่องประดับทองที่สุดก็เปลี่ยนเป็นทองคำล้วนทั้งองค์ ดังตัวอย่างจากภาพพระชฎาในจิตรกรรมฝาผนังในฉากจิตรกรรมเรื่อง พรหมนารทชาดกบนผนังอุโบสถวัดช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร วาดเมื่อราวกลางพุทธศตวรรษที่ 23 (แสงอรุณและคณะ 2525, น. 69 – 70) และมีพัฒนาการ สืบมาจนถึงการสร้างพระชฎาในสมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งทำจากทองคำลงยาประดับอัญมณี

นามพระชฎาห้ายอดตั้งตามลักษณะของพระชฎาที่ปลายยอดแตกกิ่งออกเป็นช่อหางไหลเอนไปด้านหลังลดหลั่นกันทั้งหมด 5 ยอด ต่างจากพระมหาพิชัยมงกุฎมียอดแหลมตั้งตรง สำหรับพระมหากษัตริย์ใช้ทรงในวโรกาสสำคัญแทนการทรงพระมหาพิชัยมงกุฎที่มีน้ำหนักมาก เช่น เมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราเลียบพระนคร หรือพระราชทานผ้าพระกฐิน จึงเป็นเหตุให้เรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า “พระชฎามหากฐิน” (เทวาธิราช ป.มาลากุล 2495, น. 8) หรือไม่ก็พระราชทานให้เจ้านายทรงในพระราชพิธีสำคัญ หรือเจ้าฟ้าทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในทรงเมื่อโสกันต์ ดังปรากฏในภาพถ่ายเก่า

นอกจากนี้ พระชฎาห้ายอดยังใช้ทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์เมื่อสวรรคตด้วย ถือเป็นพระราชประเพณี ปฏิบัติเฉพาะพระบรมศพพระมหากษัตริย์เท่านั้น สำหรับเจ้าชั้นสูงจะใช้พระชฎาอีกประเภทหนึ่ง เรียกว่า “พระชฎาพอก” ทรงพระบรมศพ หรือพระศพ

book

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชาธิบายเรื่องพระชฎาห้ายอดในประวัติต้นรัชกาล
ที่ 6 ว่า

“พระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์ต้องทรงทำของพระองค์เองขึ้นใหม่, .ซึ่งใช้ทรงตลอดพระชนมายุและเมื่อเสด็จสวรรคตก็ทรงพระบรมศพในพระโกษฐ์ไป จนถึงกำหนดจะถวายพระเพลิงจึ่งเปลื้องออกไปยุบเอาทอง หล่อพระฉลองพระองค์.” (ราม. วชิราวุธ น. 92 – 93)

อย่างไรก็ตาม พระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 5 ก็ยังคงอยู่ไม่ได้ถูกยุบไป เอกสารโบราณหลายฉบับที่น่าเชื่อถือยังแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 1 – 3 ต่างก็ทรงสร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์เองสำเร็จบริบูรณ์ขณะที่ยังมีพระชนมชีพอยู่ทุกพระองค์ (พิชญา 2550, น. 117)

ในสมัยรัตนโกสินทร์มีการสร้างพระชฎาห้ายอดทั้งหมด 4 องค์ด้วยกัน ดังนี้

(1) พระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 1

สันนิษฐานว่า คงเป็นองค์เดียวกับ “พระมหาชฎา” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2328 (ทิพากรวงศ์ 2539, น. 45) ทำจากทองคำลงยาราชาวดีประดับเพชรและทับทิม มีพระยี่ก่าหรือสุวรรณมาลัยเป็นกิ่งทองคำประดับอัญมณีเรียงซ้อนกัน 5 กิ่งที่โคนยอดพระชฎา เป็นลักษณะเฉพาะของเครื่องประดับพระชฎาซึ่งไม่ปรากฏในพระมหาพิชัยมงกุฎใช้ทรงในวโรกาสสำคัญ เช่น การพระราชทานผ้าพระกฐิน ดังได้กล่าวมาแล้ว และทรงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ เมื่อเสด็จสวรรคต

(2) พระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 5

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ทรงสร้างถวายเป็นพระชฎาห้ายอด ประจำรัชกาล (ราม. วชิราวุธ 2550, น. 8) ทำจากทองคำ ลงยาประดับเพชร มีความโดดเด่นที่การลงยาสีชมพูตลอดทั้งองค์ตามสีประจำวันพระบรมราชสมภพซึ่งตรงกับวันอังคาร จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “พระชฎามหาชมพู” ลักษณะทรวดทรงและองค์ประกอบ อยู่ในแบบแผนเดียวกับพระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 1 แต่ต่างกันตรงที่พระยี่ก่าปักขนนกการเวก หรือนกปักษาสวรรค์เล็ก (Lesser bird-of-paradise) ปรากฏในภาพถ่ายเก่าว่าทรงพระชฎานี้ในวโรกาสสำคัญ เช่นในพระราชพิธีโสกันต์ และใช้ทรงพระบรมศพ เมื่อสวรรคตในพุทธศักราช 2453

(3) พระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 6

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น มีพระยาอนุรักษ์ราชมณเฑียร (หม่อมราชวงศ์ปุ้ม มาลากุล) ซึ่งกาลต่อมาคือเจ้าพระยาธรรมาธิกรณาธิบดี ผู้กำกับกรมช่างสิบหมู่ และเป็นพระนัดดาของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ผู้ทรงจัดสร้างพระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 5 เป็นผู้รับผิดชอบ ในการจัดสร้าง (ราม. วชิราวุธ 2550, น. 92 – 93) มีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ทรงให้แบบโดยอาศัยแนวคิดจากการปักพระยี่ก่าประดับขนนกการเวก ของพระชฎารัชกาลที่ 5 ผสมผสานกับรูปทรงของพระชฎาเดินหนที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสร้าง (สาส์นสมเด็จ เล่ม 4. 2505, น. 209) ปรากฏในภาพถ่ายเก่าว่าทรงพระชฎานี้เป็นครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พุทธศักราช 2454 และใช้ทรงพระบรมศพเมื่อสวรรคตในพุทธศักราช 2468

(4) พระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 7

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างขึ้น ทำจากทองคำลงยาประดับเพชร ทรวดทรงและการประดับ ตกแต่ง เช่น การปักพระยี่ก่าประดับขนนกการเวก ใกล้เคียงมากกับพระชฎาห้ายอดรัชกาลที่ 6 จึงเป็นไปได้ที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงให้แบบอย่าง ในการสร้าง ใช้ทรงเป็นครั้งแรกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2468 เมื่อทรงสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี (ประกาศอักษรกิจ 2492, น. 39) และในวโรกาสสำคัญ เช่น พระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475

สำหรับพระชฎาห้ายอดที่กล่าวถึงในการพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดดูรายละเอียดจากหมายกำหนดการพระราชพิธีสรงน้ำพระบรมศพใน

กำหนดการสรงน้ำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพระบรมโกศ ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา

บรรณานุกรม

ทิพากรวงศ์, เจ้าพระยา. 2539. พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ ฉบับตัวเขียน.ประชุมพงศาวดารฉบับราษฎร์ ภาคที่ 1. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์วิชาการ.

เทวาธิราช ป. มาลากุล (นามแฝง). เรื่องราชูปโภคและพระราชฐาน. พระนคร: โรงพิมพ์อุดม, 2495. (พิมพ์ในงานพระเมรุ พลเอกสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ณ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม วันที่ 29 มกราคม 2495).

ประกาศอักษรกิจ (เสงี่ยม รามนันทน์), พระยา. 2492. จดหมายเหตุบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2468. พระนคร: โรงพิมพ์ไทยเขษม. (สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์เป็นที่ระลึก ในการเชิฐพระบรมอัสถิเสด็จคืนเข้าสู่พระนคร พ.ศ. 2492).

พิชญา สุ่มจินดา. 2550. “พระพุทธรูปทรงเครื่องฉลองพระองค์ในพระบรมมหาราชวัง: ความรู้ที่ต้องเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งที่ต้องวิเคราะห์.” ใน ประวัติศาสตร์ศิลปะที่ต้องจารึก. รวบรวมโดย วารุณี โอสถารมย์. หน้า 38 – 155. กรุงเทพมหานคร: อมรินทร์. (รวมบทความทางวิชาการเนื่องในโอกาสเกษียณอายุราชการรองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์).
( http://www.finearts.cmu.ac.th/Pitchaya-06.pdf )

ราม. วชิราวุธ (นามแฝง). 2550. ประวัติต้นรัชกาลที่ 6. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ

ลัทธิธรรมเนียมต่างๆ ภาคที่ 19. 2471. พระนคร: หอพระสมุดวชิรญาณ. (มหาเสวกตรี พระยาอิศรพัลลภ (สนิท จารุจินดา) พิมพ์แจกเมื่อเปนพระยายืนชิงช้า เมื่อปีเถาะ พ.ศ. 2471).

สมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม 1. 2542. กรุงเทพมหานคร: กรมศิลปากร. (คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542).

สาส์นสมเด็จ เล่ม 4. 2505. พระนคร: องค์การค้าของคุรุสภา.

แสงอรุณ กนกพงศ์ชัย และคณะ. 2525. วัดช่องนนทรี. กรุงเทพมหานคร: เมืองโบราณ.

(เรื่อง ชฎาห้ายอด จากเพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/?fref=ts และขอบพระคุณเพจดังกล่าวที่อนุญาตให้นำมาเผยแพร่อีกครั้ง)