จารึกลับ “ถ้ำเป็ดทอง” ของดีบุรีรัมย์ อายุร่วมพันปี ถ้าอยากดูต้อง “ลุยน้ำ” ไปส่อง

จารึก ถ้ำเป็ดทอง บุรีรัมย์ อักษรปัลลวะ จารึกถ้ำเป็ดทอง
จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง (ภาพจากเฟซบุ๊ก Ubon Ratchathani National Museum : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี https://bit.ly/3WF6BSy)

จารึกถ้ำเป็ดทอง ของดีบุรีรัมย์ อายุร่วมพันปี ถ้าอยากดูต้องลุยน้ำ ไปส่อง

ถ้ำเป็ดทอง จังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อนี้คนส่วนใหญ่อาจไม่ค่อยคุ้นเท่าใดนัก แต่ในแวดวงโบราณคดีแล้ว มีการค้นพบ “จารึก” อายุร่วมพันปีที่นี่ นับเป็นอีกหนึ่งของดีบุรีรัมย์ที่ไม่ควรพลาดชม

ในบรรดาจารึกโบราณที่แวดวงวิชาการศึกษากันนั้น คนทั่วไปอาจคุ้นชินกับภาพของการตั้งวางในแหล่งเก็บรักษาหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ แต่จารึกจำนวนไม่น้อยก็ยังคงอยู่ในพื้นที่ทางธรรมชาติอันเป็นแหล่งต้นตอที่จารึกตั้งอยู่ หากพูดถึงในไทยแล้ว บุรีรัมย์ เป็นอีกหนึ่งแหล่งอาศัยของมนุษย์กว่า 5 แสนปีก่อน มีของโบราณที่น่าสนใจอย่าง “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง” ท่ามกลางบรรยากาศน่าค้นหา

Advertisement

จากการศึกษาทางโบราณคดี ทำให้พอทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า บรรพชนบุรีรัมย์เป็นพวกเดียวกับบรรพชนคนสุวรรณภูมิ, อีสาน และคนไทย ซึ่ง สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า หลักฐานที่บ่งชี้คือชิ้นส่วนกะโหลกของโฮโมอีเรคตัส (Homo Erectus) มีอายุราว 5 แสนปี

แม้หลักฐานนี้อาจต้องนำมาเปรียบเทียบกับการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความชัดเจนให้มากขึ้น แต่สุจิตต์เชื่อว่า หลักฐานเหล่านี้ชี้ชวนให้เห็นว่า “บรรพชนคนสุวรรณภูมิและคนไทยร่อนเร่ตามแนวชายขอบเทือกเขาด้านตะวันตกตั้งแต่ยูนนานลงมาถึงพม่า-ไทย ต่อเนื่องไปถึงมาเลเซีย สิงค์โปร์ และพื้นที่ “ซุนดา” ถึงฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตั้งแต่ 5 แสนปีมาแล้ว”

เชื่อว่า บรรพบุรุษเหล่านี้อาศัยอยู่ตามเพิงผาที่บ้านไร่ (ไฮ่) ตำบลสบป่อง กับถ้ำลอด ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เลือกตั้งถิ่นฐานตามถ้ำหรือเพิงผา โดยเคลื่อนย้ายหลักแหล่งไปตามแหล่งทรัพยากร ขณะที่ในพื้นที่บุรีรัมย์ในปัจจุบัน ก็จะพบร่องรอยอารยธรรมที่อยู่ในแหล่งธรรมชาติอย่างเช่นในผนังถ้ำ

ถ้ำเป็ดทอง ปัจจุบันอยู่ที่ตำบลปะคำ อำเภอปะคำ (ข้อมูลเดิมคือ ตำบลประคำ อำเภอนางรอง) จังหวัดบุรีรัมย์ ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยโดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ชี้ว่า เป็นจารึกจากพุทธศตวรรษ 12 มีทั้งที่อยู่ในผนังถ้ำด้านนอกและด้านในถ้ำ นอกจากนี้ ยังอ้างอิงถึงคำบอกเล่าว่า ในถ้ำเคยมีเสาหินค้ำเพดานถ้ำอยู่ แต่ปัจจุบันไม่พบเสานั้นแล้ว และไม่มีข้อมูลอื่นที่บ่งชี้ร่องรอยของเสา และไม่มีข้อมูลที่มีน้ำหนักพอจะยืนยันคำบอกเล่าเรื่องเสานี้

ฐานข้อมูลบรรยายลักษณะของพื้นที่ถ้ำเป็ดทองว่า “อยู่ในเทือกเขาเตี้ยๆ เขตอำเภอลำปลายมาศและอำเภอนางรองติดต่อกันระหว่างเทือกเขาในเขตลำปลายมาศ มีรอยหัก น้ำไหลผ่านได้ บริเวณถ้ำมีรอยน้ำเซาะ เป็นซอกหินขาดเป็นตอนๆ รูปคล้ายเรือโป๊ะบ้าง เรือกลไฟบ้าง”

บริเวณถ้ำเป็ดทอง พบจารึก 3 แห่ง

จารึกแห่งที่ 1 อยู่ภายในถ้ำ หอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกถ้ำเป็ดทองด้านใน บร. 3”

จารึกแห่งที่ 2 อยู่บริเวณผนังถ้ำด้านนอก หอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกถ้ำเป็ดทองด้านนอก บร. 4”

จารึกแห่งที่ 3 อยู่บริเวณผนังถ้ำด้านนอก เช่นเดียวกับจารึกแห่งที่ 2 หอสมุดแห่งชาติกำหนดเรียกว่า “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง บร. 5”

ฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทยระบุว่า ปัจจุบันอักษรชำรุดและลบเลือนไปมาก และไม่สามารถอ่านได้ทั้งหมด

จารึกที่อยู่ด้านในถ้ำนั้น มีข้อมูลจากการศึกษาโดย ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Cœdès) ซึ่งระบุว่าข้อความของจารึกถ้ำเป็ดทองด้านในนี้ เป็นข้อความเดียวกันกับ จารึกจรวยอัมปิล (Črûoy Ampĭl) (K. 116) และ จารึกถมอแกร (Thma Krê) (K. 122) ซึ่งพบในประเทศกัมพูชา แต่เชื่อว่า จารึกยังไม่เสร็จ ทำให้เนื้อความไม่สมบูรณ์ ทราบแต่เพียงว่ากล่าวถึงบิดาและมารดา

การศึกษาต่อมา คือ นำเนื้อหาของจารึกด้านในถ้ำมาเปรียบเทียบกับจารึกที่พบในกัมพูชา 2 หลัก คือ จารึกจรวยอัมปิลและจารึกถมอแกร ทำให้เชื่อได้ว่าน่าจะมีข้อความเดียวกัน และพอจะสันนิษฐานได้ว่า เนื้อหาของจารึกทั้ง 2 หลักข้างต้น สามารถบ่งชี้ถึงข้อความของจารึกด้านในถ้ำเป็ดทองได้

หากศึกษาโดยใช้ฐานคิดนี้ ย่อมมองได้ว่า จารึกในถ้ำเป็ดทองน่าจะทำขึ้นโดยรับสั่งของเจ้าชายจิตรเสน แห่งเมืองเศรษฐปุระ หรือ “อาณาจักรเจนละ”

ในจารึกด้านนอกปรากฏคำที่อ่านว่า “จิตรเสน” ทำให้เห็นว่าในขณะนั้น ยังมิได้ทรงขึ้นครองราชย์ (เป็นพระเจ้ามเหนทรวรมัน) พระองค์ทรงขอพระบรมราชานุญาตพระราชบิดาและพระราชมารดา สถาปนาพระศิวลึงค์ขึ้นด้วยความเคารพ อันแสดงให้เห็นว่า เจ้าชายจิตรเสนทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายตามบรรพบุรุษ โดยเชื่อว่า เมื่อพระองค์ได้ชัยจากการสงครามก็มักสร้างศิวลึงค์เป็นเครื่องหมายแห่งชัย

ช่วงปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2562 ผศ. ดร. กังวล คัชชิมา จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โพสต์คลิปการสำรวจจารึกผนังถ้ำเป็ดทองด้านใน ลงเฟซบุ๊กส่วนตัว (Facebook/Kang Vol Khatshima) แสดงให้เห็นว่า ต้องลุยน้ำเข้าไปเพื่อชมอย่างใกล้ชิด และได้บรรยายเพิ่มเติมว่า ลักษณะถ้ำแห่งนี้เป็นเพิงหิน แตกต่างจากถ้ำที่ต้องมุดน้ำเข้าไป จึงกล่าวได้ว่า ไม่ได้อันตรายอย่างที่กังวลหากรับชมจากภาพ แต่ที่เห็นว่าดูยากลำบากจากที่ระดับน้ำท่วมถึงคอนั้น เป็นเพราะระดับน้ำกับเพดานถ้ำยังแคบอยู่ ทำให้เข้าไปสำรวจได้ไม่สะดวก

หากเห็นสภาพถ้ำจากการสำรวจล่าสุดที่พบว่ามีน้ำเข้ามานั้น คาดการณ์ว่า ในยุคสมัยโบราณก่อนหน้านี้ไม่ได้มีสภาพดังเช่นที่เห็น แต่เนื่องจากพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงในสภาพพื้นที่อาจส่งผลกระทบต่อสภาพบริเวณรอบถ้ำ จนมีน้ำเข้ามาท่วมขัง

พื้นที่บุรีรัมย์เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคอีสานที่เคยอยู่ใต้อิทธิพลอาณาจักรเขมร ในสมัยที่เขมรเรืองอำนาจมากที่สุดคือ สมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ซึ่งขยายอาณาจักรอย่างกว้างขวาง ทำให้มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์หลายประการ หนึ่งในนั้นคือ “จารึก” ซึ่งพบมากโดยเฉพาะในบุรีรัมย์ จารึกที่พบได้บ่อยคือจารึกบนแผ่นศิลา มีทั้งอักษรปัลลวะ (เช่นจารึกผนังถ้ำเป็ดทอง) หลังปัลลวะ และอักษรขอม เชื่อว่า จารึกในบุรีรัมย์ที่เก่าแก่ที่สุดก็คือ จารึกปัลลวะ จาก “ถ้ำเป็ดทอง” นั่นเอง

สำหรับอักษรปัลลวะนั้น เชื่อว่า เผยแพร่มาจากอินเดียตอนใต้เข้ามาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12

(ขอบคุณภาพจาก Facebook : Kang Vol Khatshima)
(ขอบคุณภาพจาก Facebook : Kang Vol Khatshima)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง. จารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน). ออนไลน์. เผยแพร่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 (อัปเดต 2 กันยายน พ.ศ. 2558). เข้าถึง 26 มิถุนายน. 2562. <https://db.sac.or.th/inscriptions/inscribe/detail/537>

“บรรพชนคนบุรีรัมย์-คนอีสานมาจากไหน? กินอะไรกันยุคแรกเริ่ม?”. ศิลปวัฒนธรรม. ออนไลน์. เผยแพร่  9 มกราคม พ.ศ.2562. เข้าถึง 26 มิถุนายน 2562. <https://www.silpa-mag.com/culture/article_25643>

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดบุรีรัมย์. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ ในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542

ภาพปกเนื้อหา “จารึกผนังถ้ำเป็ดทอง” จากเฟซบุ๊ก Ubon Ratchathani National Museum : พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อุบลราชธานี


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 26 มิถุนายน 2562