เจ้านายอยุธยาผู้เป็น “ไส้ศึก” ให้หงสาวดีเมื่อเสียกรุงครั้งแรก บทเรียนที่ถูกกล่าวข้าม?

กรุงแตก ไทย กรุงศรีอยุธยา พม่า
ความวุ่นวายครั้งบ้านเมืองในยามศึก เมื่อกรุงแตก จิตรกรรมฝาผนังสมัยรัชกาลที่ 4 ภายในหอราชพงศานุสรณ์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (ภาพจาก จิตรกรรมแบบสากลสกุลช่างขรัวอินโข่ง. 2522)

ราชวงศ์โบราณละโว้-อโยธยา ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา 12 ปี (พ.ศ. 2077-2089) พระยอดฟ้าราชโอรสได้เสวยราชสมบัติต่อมาอีก 1 ปี 2 เดือน โดยมีแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เป็นผู้สําเร็จราชการ ต่อมาพระยอดฟ้าถูกปลงพระชนม์ ขุนวรวงศาได้เสวยราชสมบัติโดยมีแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นพระมเหสี มีนายจัน น้องชายอยู่บ้านมหาโลกเป็นอุปราช มีอํานาจอยู่ 42 วัน จึงถูกขุนพิเรนทรเทพกับพรรคพวกโค่นราชบัลลังก์ สิ้นพระชนม์หมดทั้งสามพระองค์พร้อมพระราชบุตรีที่เพิ่งเกิดอีกหนึ่งพระองค์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเรื่องราวในตอนนี้ว่า เรื่องพงศาวดารตอนนี้ เป็นเรื่องของความชั่วไม่น่าอธิบาย แต่หนังสือที่เรียงเรื่องไว้ ถ้าอ่านโดยไม่พิเคราะห์ อาจไม่เข้าใจตามความจริง….ด้วยเหตุนี้จึงทรงทําคําอธิบายไว้ว่า

ข้าพเจ้าเชื่อตามฉบับหลวงประเสริฐว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จกลับมาถึงพระนครแล้วจึงประชวรสวรรคต และเชื่อว่าในเวลานั้นจะยังไม่มีเหตุเรื่องท้าวศรีสุดาจันทร์คบชู้ เหตุนั้นจะเกิดเมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์ว่าราชการแผ่นดินในรัชกาลของสมเด็จพระยอดฟ้า

…ควรเข้าใจว่าเหตุการณ์เป็น 2 ตอน ๆ แรกตั้งแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์ไปเห็นพันบุตรศรีเทพที่หอพระ มีความประดิพัทธ์ จึงให้ย้ายไปเป็นขุนชินราช พนักงานรักษาหอพระข้างใน และท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบเป็นชู้กับขุนชินราช ตอนนี้เป็นแต่การลอบคบชู้ เห็นว่าจะไม่ได้ตั้งใจจะให้เกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง ท้าวศรีสุดาจันทร์กับขุนชินราชจะลอบเป็นชู้กันอยู่กว่าปี แต่ปกปิดความชั่วมิดชิด ไม่มีใครรู้แพร่หลาย การบ้านเมืองจึงเรียบร้อยเป็นปกติ โดยคนทั้งหลายเชื่อว่าสมเด็จพระยอดฟ้า มั่นคงอยู่ในราชสมบัติ ตอนที่ 2 ที่จะเกิดเป็นเหตุใหญ่โตนั้น ตั้งแต่ท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้นมา เมื่อเห็นว่าจะปิดความชั่วไว้ไม่มิด เกรงภัยอันตราย จึงคิดอุบายแก้ไขเกี่ยวข้องไปถึง

อุบายของท้าวศรีสุดาจันทร์ ที่ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารนั้นเบื้องต้น เลื่อนขุนชินราชให้เป็นขุนวรวงศาธิราช (ชื่อเป็นชื่อราชนิกูลที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า เป็นข้าหลวงเดิม ที่จริงเห็นจะเป็นญาติกับท้าวศรีสุดาจันทร์) ตําแหน่งขุนวรวงศาธิราช จะอยู่ในกรมไหนไม่ปรากฏ เข้าใจว่าเห็นจะเป็นในสนมกรมวัง คงเอาไว้ในที่ใกล้ชิดสําหรับใช้สอยต่างหูต่างตา ที่ว่าปลูกจวนให้อยู่ริมศาลาสารบัญชีนั้นก็แปลว่าขุนวรวงศาธิราช ไม่มีบ้านเรือน จึงให้ปลูกเรือนให้อยู่แห่งหนึ่ง อยู่ใกล้ ๆ กําแพงวัง ซึ่งไม่เป็นการอัศจรรย์อันใดในครั้งนั้น คงจะยังไม่มีใครสงสัยสนเท่ห์นัก

แล้วให้ขุนวรวงศาธิราชพิจารณาเลกสมสังกัดพรรค์ คือ เป็นพนักงานชําระเรียกคนเข้ารับราชการทหาร ความข้อนี้ในจดหมายเหตุของ ปินโตโปรตุเกสว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์อ้างว่า พระเจ้าแผ่นดินยังทรงพระเยาว์ เกรงภัยอันตราย จึงเกณฑ์ทหารมาล้อมวงประจําซองไว้เป็นอันมาก บางทีความจะตรงกับที่หนังสือพระราชพงศาวดารว่า ท้าวศรีสุดาจันทร์ให้ขุนวรวงศาธิราชชําระเลกสังกัดพรรค์นี้เห็นพอจะยุติเป็นความจริงได้ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์จะอ้างเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เกณฑ์ทหารมาไว้เป็นอันมาก และให้ขุนวรวงศาธิราชเป็นผู้บังคับบัญชาเป็นกําลังรักษาตัว

ต่อมาเห็นจะเป็นเมื่อท้าวศรีสุดาจันทร์มีครรภ์ขึ้น จะออกหน้าว่าราชการเสมอดังแต่ก่อนไม่ถนัดจึงให้ขุนวรวงศาธิราชซึ่งเป็นผู้บังคับทหารอยู่แล้ว เข้ามาอยู่ที่จวนในวังที่ริมต้นหมัน และให้รับคําสั่งไปสั่งราชการแทนตัว ความสงสัยและเสียงที่โจษซุบซิบจะมีขึ้นมากในเวลานี้ เมื่อกิตติศัพท์แพร่หลายรู้กันเป็นแน่ว่าท้าวศรีสุดาจันทร์มีชู้ และเอาขึ้นว่าราชการแผ่นดิน น่าจะมีข้าราชการที่จะคิดกําจัดขุนวรวงศาธิราชหลายพวก ไม่แต่พวกขุนพิเรนทรเทพพวกเดียว พระยามหาเสนาก็จะอยู่ในพวกที่จะคิดกําจัดขุนวรวงศาธิราชคนหนึ่ง ท้าวศรีสุดาจันทร์จึงให้แทงเสีย ถึงสมเด็จพระยอดฟ้าที่ถูกปลงพระชนม์นั้น ก็อาจจะเป็นด้วยคิดอ่านกับข้าราชการที่มีความสัตย์ซื่อจะกําจัดขุนวรวงศาธิราชฯ จึงชิงปลงพระชนม์เสีย การคงจะจวนเกิด จลาจลเต็มที ท้าวศรีสุดาจันทร์เห็นจะแก้ไขด้วยอุบายอย่างอื่นไม่ได้ เชื่อว่าขุนวรวงศาธิราชมีกําลังทแกล้วทหารมากอยู่แล้วจึงออกหน้ากันไปตามเลย เอาขุนวรวงศาธิราชขึ้นราชาภิเษกอยู่ในราชสมบัติ (ตามฉบับหลวงประเสริฐ) ได้ 42 วัน…

คําอธิบายพระราชพงศาวดารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ที่ยกมากล่าวข้างต้น ทําให้สามารถทราบเรื่องราวที่พงศาวดารกล่าวไว้กระจ่างยิ่งขึ้น แต่เพื่อความเข้าใจที่ลงลึก ใคร่ขอสร้างคําอธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ทรงกล่าวว่า ขุนวรวงศาธิราชเป็นญาติกับท้าวศรีสุดาจันทร์นั้น เมื่อพิจารณาว่า เดิมขุนวรวงศาธิราชเป็นพนักงานเฝ้าหอพระมาก่อน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต กล่าวว่า เป็นหมอผีมีหน้าที่อ่านแปลหนังสือพงศาวดารของต่างประเทศให้แก่พระเจ้าอยู่หัว แสดงว่าขุนวรวงศาธิราช (รวมทั้งท้าวศรีสุดาจันทร์ผู้เป็นญาติ) มิใช่ผู้ที่มาจากตระกูลต่ำ ต้องจัดเป็นผู้รู้ในสมัยนั้นอย่างแน่นอน ดังนั้นฐานะของพระองค์ต้องอยู่ในระดับพวกปุโรหิตผู้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมสําคัญในราชสํานัก

วิธีการของท้าวศรีสุดาจันทร์ ที่ให้อํานาจขุนวรวงศาธิราช ชําระเลกสังกัดพรรค์ อันเป็นการให้อํานาจเกณฑ์ไพร่ปฏิบัติราชการ เป็นการเพิ่มกําลังคนที่เป็นอํานาจให้แก่ขุนวรวงศาธิราชอย่างเป็นรูปธรรม ส่วนในด้านนามธรรมนั้น ก็ให้เอาพระที่นั่งของสมเด็จพระไชยราชาธิราชมาให้ขุนวรวงศาธิราชนั่งว่าราชการ ฯลฯ เป็นการสร้างรูปสัญลักษณ์ของอํานาจบารมีของขุนวรวงศาธิราชได้อย่างหนึ่ง ความคิดของสตรีเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าพระนางน่าจะได้รับการอบรมสั่งสอนมาจากตระกูลสูง หาใช่หญิงชั้นต่ำที่ขึ้นมาได้ดีมีอํานาจโดยอาศัยการยั่วยวนทางกามารมณ์ ต่อพระสวามีไม่ (เพราะที่พงศาวดารเรียกพระนางอย่างรวบรัดว่า แม่หัว นั้น เคยเข้าใจผิดว่าหมายถึง แม่ยั่ว แทนที่จะหมายความว่า แม่อยู่หัว อันเป็นความหมายที่ถูกต้อง)

ชื่อบ้านมหาโลกของนายจันน้องชาย ที่ตั้งขึ้นเป็นอุปราชนั้น เป็นชื่อบ้านเขมร ดังนั้นตระกูลของผู้ได้อํานาจกลุ่มนี้จึงต้องมีความเกี่ยวข้องกับเขมร โดยเฉพาะที่เอกสารโปรตุเกส กล่าวว่า นายจันเป็นช่างเหล็ก เมื่อพิจารณาว่า เทคโนโลยีการผลิตเครื่องมือเหล็กสมัยนั้น มิใช่ของที่ใครๆ ก็ทําได้ง่าย ๆ ต้องอาศัยผู้ชํานาญการที่สะสมสืบกันมานานช่วยยืนยันว่า ตระกูลของนายจันนั้น มิใช่มาจากคนสามัญต่ำต้อยแต่อย่างใด

กลุ่มบุคคลที่เข้ามามีอํานาจกรุงศรีอยุธยาช่วงเวลาสั้น ๆ ช่วงนี้…จะเห็นว่าเป็นกลุ่มที่จัดว่าเป็นผู้รู้ทั้งทางด้านพิธีกรรมในราชสํานัก การบริหารปกครอง และเทคโนโลยี จากแนวคิดว่าบรรดาขุนนางข้าราชการในระดับสูงสมัยนั้นก็ไม่พ้นผู้ที่มีเชื้อราชวงศ์สายต่าง ๆ ทั้งจากฝ่ายหญิงฝ่ายชาย ทําให้นึกถึงราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาที่ถูกขจัดออกจากอํานาจก่อนหน้านี้ ราชวงศ์นี้มีความเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรขอมกัมพูชาดังได้กล่าวแล้ว อีกทั้งเมื่อเสียอํานาจก็กลับไม่ถูกฆ่าทั้งสองครั้ง (สมเด็จพระราเมศวรถวายราชบัลลังก์แก่สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แล้วไปครองเมืองลพบุรี กับสมเด็จพระรามราชาธิราชเสียราชสมบัติแก่สมเด็จ พระนครินทราชาธิราชแล้วถูกส่งไปอยู่เมืองปทาคูจาม)

การที่กษัตริย์ราชวงศ์นี้ไม่เคยถูกฆ่า ทั้ง ๆ ที่ในการเปลี่ยนแปลงโดยการใช้กําลังครั้งอื่นๆ กษัตริย์องค์ที่เสียอํานาจจะต้องสิ้นพระชนม์ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะยังเป็นเด็กเล็กอายุเท่าไร เป็นถูกจับฆ่าทั้งสิ้น แสดงว่าราชวงศ์นี้อาจได้รับการยกไว้ในฐานะที่เป็นตระกูลศักดิ์สิทธิ์ เหมือนกับผู้เป็นพราหมณ์ที่พระ ราชไอยการของกรุงศรีอยุธยากําหนดไว้มิให้ต้องโทษถึงขั้นประหาร ราชวงศ์ละโว้-อโยธยาควรได้รับการเลี้ยงดูสืบมาให้อยู่ ทําหน้าที่เกี่ยวกับพิธีกรรมในราชสํานัก โดยมิให้มีกําลังอํานาจใด ๆ จึงมีลักษณะพ้องกันกับลักษณะของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ กับพรรคพวกที่ขึ้นมามีอํานาจในครั้งนี้

จึงอาจกล่าวโดยสมมติได้อย่างหนึ่งว่า ขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และนายจันบ้านมหาโลกนั้น คือราชวงศ์ละโว้-อโยธยา ที่หวนกลับมามีอํานาจเหนือราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาอีกครั้งหนึ่ง

พระมหาธรรมราชาธิราช กับการคืนสู่อํานาจเดิมของราชวงศ์สุโขทัย

ที่ควรอธิบายเพิ่มเติมอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องราวในพระราชพงศาวดารตอนนี้ คือเหตุของความไม่พอใจของขุนนางเกี่ยวกับการขึ้นเสวยราชสมบัติของขุนวรวงศาธิราช ที่พบว่า นอกจากจะมีพระยามหาเสนาที่ถูกลอบแทงปลิดชีพไปนั้น ยังมีกลุ่มของขุนพิเรนทรเทพอีกกลุ่มหนึ่ง

เรื่องที่ขุนพิเรนทรเทพไม่พอใจมาจากที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวถึง ตอนที่ขุนวรวงศาธิราชได้ราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วว่า … บัดนี้ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยรักเราบ้างชังเราบ้าง หัวเมืองเหนือทั้งปวงก็ยังกระด้างอยู่ เราจําจะให้หาลงมาผลัดเปลี่ยนเสียใหม่ จึงจะจงรักภักดีต่อเรา นาง พระยาก็เห็นด้วย ครั้นรุ่งขึ้นเสด็จออกขุนนางสั่งสมุหนายก มีตราขึ้นไปหาเมืองเหนือเจ็ดเมืองลงมา

ข้อความในพระราชพงศาวดารข้างต้นที่ยกมา แสดงอย่างชัดเจนถึงอุปสรรคสําคัญต่อการขึ้นมามีอํานาจของขุนวรวงศาธิราช เพราะเท่าที่กล่าวมาแต่ต้น จะเห็นกลวิธีของทางฝ่ายกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา ราชวงศ์สุพรรณภูมิที่รวมอํานาจเมืองเหนือทั้งหลายเข้าสู่พระราชอาณาจักรสยามที่เริ่มต้นตั้ง แต่การผูกสัมพันธ์ด้วยเครือญาติ แล้วต่อมาจึงค่อยลดอํานาจของเจ้านายในราชวงศ์ของสุโขทัยลง โดยนําเข้ามาสู่ระบบขุนนางข้าราชการกรุงศรีอยุธยาได้สําเร็จในสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชได้ไม่นาน พอมาถึงสมัยขุนวรวงศาธิราชอันเป็นกษัตริย์ราชวงศ์ใหม่ น่าจะมองเห็นกระแสคลื่นใต้น้ำนี้ออก จึงคิดที่จะขจัดอิทธิพลเชื้อพระวงศ์สุโขทัยที่แฝงอยู่ในรูปขุนนางให้หมดไปอย่างเบ็ดเสร็จ จึงให้มีการเปลี่ยนเจ้าเมืองเหนือทั้งเจ็ด โดยให้คนของตนออกไปปกครองแทน

พรรคพวกของขุนพิเรนทรเทพที่ร่วมคิดก่อการโค่นอํานาจขุนวรวงศาธิราช ประกอบด้วย ขุนอินทรเทพที่น่าจะเป็นขุนนางเชื้อพระวงศ์เมืองนครศรีธรรมราช ที่รวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา หมื่นราชเสน่หาคือตําแหน่งขุนนางกรุงศรีอยุธยา กับหลวงศรียศบ้านลานตากฟ้าคือขุนนางเมืองเหนือจากเขตเมืองพระบาง (นครสวรรค์)

เมื่อถึงเวลาปฏิบัติการลอบจู่โจมปลงพระชนม์ขุนวรวงศาธิราช แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ และนายจันอุปราช รวมพระบุตรี นอกจากผู้ก่อการทั้งสี่ที่ออกนามไปแล้วนั้น ยังประกอบด้วยหมื่นราชเสน่หานอกราชการ พระยาพิชัย และพระยาสวรรคโลก ซึ่งจะเห็นว่าทั้งเจ็ดคนที่ลงมือปฏิบัติการนี้ เป็น ขุนนางเมืองเหนืออย่างแน่นอนถึงสี่คน ดังนั้นจึงอาจที่จะกล่าวโดยไม่ผิดว่า เรื่องทั้งหลายที่เกิดการลงมือโค่นล้มขุนวรวงศาธิราชในครั้งนี้มีสาเหตุสําคัญมาจากความพยายามของกษัตริย์อยุธยาที่จะลบล้างอํานาจของขุนนางราชวงศ์สุโขทัยให้หมดสิ้นไปอย่างเด็ดขาด แต่การดําเนินการครั้งนี้กลับนําภัยย้อนกลับมาสู่ตัวเอง ก็เพราะฐานอํานาจที่สะสมไว้ยังไม่เพียงพอ อีกทั้งเป็นราชวงศ์กษัตริย์ที่มิได้สร้างสมบารมีไว้กับราชวงศ์สุโขทัยมาก่อน เหมือนเช่นกษัตริย์ในราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ได้ดําเนินการผ่านมาเป็นเวลายาวนาน

เมื่อคณะผู้ดําเนินการสําเร็จจึงไปอัญเชิญพระเทียรราชา ซึ่งขณะนั้นผนวชอยู่ที่วัดราชประดิษฐาน ให้ลาผนวชมาเสวยราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระนามพระมหาจักรพรรดิ สําหรับพระเทียรราชานี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เชื่อตามหลักฐานของโปรตุเกสว่า น่าจะเป็น พระอนุชาต่างมารดากับสมเด็จพระไชยราชาธิราช ตามหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ตลอดจนเรื่องคําให้การชาวกรุงเก่าที่เป็นเรื่องจดจํากันมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แสดงบุคลิกภาพของพระองค์ค่อนข้างจะเป็นกษัตริย์ที่อ่อนแอ บางทีด้วยบุคลิกภาพเช่นนี้ก็ได้ที่ขุนพิเรนทรเทพหัวหน้าคณะก่อการได้เลือกพระองค์ขึ้นมาเป็นกษัตริย์

เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงตอบแทนคุณความดีของคณะผู้ก่อการทั้งหลายอย่างเหมาะสม สําหรับขุนพิเรนทรเทพนั้นได้รับการตอบแทนมากกว่าผู้อื่น ดังที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า

…แล้วตรัสว่า ขุนพิเรนทรเทพเล่า บิดาเป็นราชวงศ์พระร่วง มารดาไซร้เป็นพระราชวงศ์แห่งสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า ขุนพิเรนทรเทพปฐมคิด เอาเป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า ให้รับพระบัณฑรครองเมืองพระพิษณุโลก จึงตรัสเรียกสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ พระสวัสดิราช ถวายพระนามพระวิสุทธิกษัตรีเป็นตําแหน่งพระอัครมเหสี เมืองพระพิษณุโลก พระราชทานเครื่องราชาบริโภคให้ตําแหน่งศักดิ์ฝ่ายทหารพลเรือน เรือชัยพื้นดําพื้นแดงคู่หนึ่ง และเครื่องราชกกุธภัณฑ์ให้สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้าทรงขึ้นไป…

น่าสังเกตว่า สิ่งพระราชทานตอบแทนแก่ขุนพิเรนทรเทพนั้น เท่ากับเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่ง คือมีทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของกษัตริย์ พระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปเป็นพระมเหสี มีตําแหน่งขุนนางทั้งทหารพลเรือนเป็นของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นามสถาปนาพระมหาธรรมราชาธิราช ก็ได้หวนกลับมาถูกใช้อีกครั้งหนึ่ง ที่แสดงถึงสิทธิอํานาจต่อราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาในลําดับต่อไปอย่างชัดเจน หลังจากที่ถูกยกเลิกไปในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

สิทธิในราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ของพระมหาธรรมราชา

พระมหาธรรมราชาที่กลับไปครองเมืองพิษณุโลกในครั้งนี้ มีความคล้ายกันกับสมัยที่สมเด็จเจ้าสามพระยาสถาปนาพระยาบาล พี่หรือน้องชายของพระชายาของพระองค์ เป็นมหาธรรมราชาบรมปาลกลับไปครองเมืองชัยนาทสองแคว เพราะพระมหาธรรมราชาทั้งสองพระองค์นั้นเกี่ยวดองใกล้ชิดกับพระเจ้าแผ่นดินที่กรุงศรีอยุธยา

แต่ในครั้งนั้นเมืองเหนือมิได้รวมกลุ่มเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยังคงมีอํานาจอิสระของตนเองในแต่ละเมืองที่ขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา คือพระยาแสนเมืองกําแพงเพชร ผู้เป็นขุนนางแต่งตั้งจากกรุงศรีอยุธยา พระยารามแห่งเมืองสุโขทัย ผู้มีมารดาเป็นมหาเทวีศรีจุฬาลักษณ์ราชวงศ์สุพรรณภูมิ และพระยาเชลียงแห่งเมืองศรีสัชนาลัย ผู้เกี่ยวดองไปถึงเมืองน่าน แม้จะทรงสิทธิ์ในราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา แต่ความชอบธรรมที่จะเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสยามประเทศยังไม่เพียงพอ เพราะถึงอย่างไรการยอมรับจากเจ้าเมืองเมืองเหนือด้วยกันเองก็น่าจะยังเป็นปัญหาอยู่

แต่พระมหาธรรมราชาในคราวนี้มีอํานาจเด็ดขาดเหนือดินแดนเมืองเหนือทั้งมวลอันเป็นแคว้นสุโขทัยเดิม เป็นอํานาจที่เกิดจากบารมีของตนเองที่มิต้องการพิธีการสถาปนา ดังนั้น เมื่อมีการสถาปนาอย่างเป็นทางการอีกด้วย พระองค์จึงมีอํานาจพร้อมทุกประการที่จะอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา เพราะราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาที่ได้แก่สมเด็จพระมหาจักรพรรดินั้น ก็เป็นเรื่องที่ตนเองเป็นผู้ก่อการทั้งสิ้น

แต่ความชอบธรรมที่จะขึ้นราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาในขณะนั้นน่าจะยังไม่พร้อมสําหรับขุนพิเรนทรเทพเจ้านายเมืองเหนือที่จะมีบารมีพอเพียงต่อราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาด้วยพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์สืบเนื่องกันมานาน การอัญเชิญพระเทียรราชาขึ้นสู่ราชบัลลังก์เป็นพระมหาจักรพรรดิ จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมอย่างหนึ่ง และเป็นผลประโยชน์อย่างหนึ่งของขุนพิเรนทรเทพ อย่างน้อยการได้รับการสถาปนาเป็นพระมหาธรรมราชาที่มีอํานาจอย่างเป็นทางการเหนือดินแดนเมืองเหนือทั้งมวล จึงน่าจะเป็นความพอใจของท่านในระดับหนึ่ง

และการยอมรับต่ออํานาจที่กรุงศรีอยุธยาก็เป็นการยอมรับผ่านตัวบุคคลที่มีอาวุโสในวงศ์วานว่านเครือญาติเดียวกัน คือลูกเขยที่ให้ความเคารพนับถือต่อพ่อตา

ความแตกแยกระหว่างเมืองเหนือกับกรุงศรีอยุธยา

หลังจากที่พระมหาจักรพรรดิได้เสวยราชสมบัติ ปรากฏพิธีกรรมหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็ไม่ทราบความหมายที่แน่นอน แต่บางอย่างก็ทราบความหมายเกี่ยวกับการสร้างพระองค์เองให้เป็นสถาบันพระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยา คือพิธีอินทราภิเษกและอาจาริยาภิเษก พระราชพิธีอื่น ๆ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการเป็นสถาบันของพระองค์มีหลายประการ คือ พิธีปฐมกรรม พิธีมัธยมกรรม นับเป็นพระมหากษัตริย์อยุธยาที่พงศาวดารบอกกล่าวในเรื่องการประกอบพิธีกรรมเพื่อการเป็นสถาบันมากที่สุด

พระราชพิธีแห่งการเป็นสถาบันกษัตริย์เช่นนี้ ให้ความหมายถึงการพยายามสร้างความชอบธรรมให้แก่พระราชโอรสของพระองค์ในการที่จะเป็นผู้สืบราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาต่อ ๆ ไป

ความผูกพันระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเหนือในสมัยนี้ จึงยังคงมีลักษณะของความไม่แน่นอนแฝงอยู่ตลอดมาดังเช่น ตําแหน่งราเมศวร พระราชโอรสองค์โตของพระมหาจักรพรรดิที่ในอดีตตําแหน่งนี้เคยเป็นผู้สืบราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ก็ให้วี่แววของการชิงอํานาจกันอีกต่อไปในอนาคต ระหว่างพระราชบุตรเขยกับพระราชโอรส ดังนั้นเมื่อมีมือที่สามเข้ามาแทรก คือศึกพม่าจากหงสาวดี จึงเสมือนเป็นลิ่มที่ตอกรอยแตกแยกให้ปรากฏชัดเร็วขึ้น

ก่อนเวลาที่เป็นแบบฉบับการเรียนประวัติศาสตร์ไทยที่เรียกว่า เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2312 นั้น พม่าได้ยกทัพเข้ามาทําศึกกรุงศรีอยุธยา 3 ครั้ง ซึ่งจะเรียกศึกทั้งสามครั้งดังนี้ ครั้งแรกเป็นสงครามเสียพระสุริโยทัย พ.ศ. 2091 ครั้งที่สองเป็นสงครามช้างเผือก พ.ศ. 2106 และครั้งที่สามคือสงครามกรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2112

สงครามเสียพระสุริโยทัย

พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ยกทัพมาทางด่านในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา สาเหตุมาจากการกระทบกระทั่งกันเรื่องเมืองมอญชายแดนที่ต่างอ้างอํานาจการครอบครอง สงครามครั้งนี้ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาเสียพระสุริโยทัยผู้เป็นพระมเหสีและพระราชบุตรี ที่ต้องสิ้นพระชนม์ในสนามรบ กองทัพพระมหาจักรพรรดิถอยเข้าตั้งรับในเขตพระนคร พม่าล้อมเมืองอยู่นานจนจวนจะถึงฤดูฝนพื้นที่โดยรอบกรุงศรีอยุธยาจะถูกน้ำหลากท่วมนอง พม่าก็ยังตีกรุงศรีอยุธยาไม่สําเร็จ จึงยกทัพกลับโดยไปทางเมืองเหนือผ่านเมืองกําแพงเพชรเพื่อเข้าเขตพม่าทางด่านแม่สอดจังหวัดตาก

ครั้งนี้พระมหาธรรมราชายังร่วมมือกับกรุงศรีอยุธยาด้วยดี โดยขณะที่พม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น พระมหาธรรมราชาได้รับข่าวแล้วและเตรียมยกทัพลงมาช่วยตีกระหนาบ กองทัพเมืองเหนือเข้าปะทะกองทัพพม่า เมื่อตอนที่พม่าได้ถอนทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว มาปะทะกันใต้เมืองกําแพง เพชรลงมาโดยกรุงศรีอยุธยาก็ส่งกองทัพออกติดตามตีกองทัพพม่าที่ถอนกําลังจากการปิดล้อมกรุงขึ้นไป

อย่างไรก็ดี ด้วยกลศึกของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ กองทัพกรุงศรีอยุธยาและกองทัพเมืองเหนือเสียที แม่ทัพของกรุงศรีอยุธยาคือพระราเมศวร โอรสองค์โตของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กับแม่ทัพของเมืองเหนือคือพระมหาธรรมราชา ทั้งคู่ถูกกองทัพพม่าจับตัวได้ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิต้องเจรจาความเมือง และขอแลกตัวพระมหาธรรมราชากับพระราเมศวร กลับคืนมาได้ โดยเสียช้างชั้นดีให้แก่พม่าไปสองช้างชื่อ พญาปราบ กับพญานุภาพ (ชื่อบุคคลที่ถูกพม่าจับ กับชื่อช้างถือตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับอื่น และมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่ามีชื่อเรียกต่างกันไป)

มีข้อน่าสังเกตว่า กองทัพพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นเวลานาน แต่กองทัพเมืองเหนือของพระมหาธรรมราชาก็มิได้ยกลงมาตีกระหนาบกองทัพพม่าเลย กองทัพเมืองเหนือได้ปะทะกองทัพพม่าก็ต่อเมื่อพม่าได้ล่าถอยเข้าสู่เขตแดนเมืองเหนือแล้ว และเมื่อทั้งพระราเมศวรและพระมหาธรรมราชาถูกจับเป็นเชลยในกองทัพพม่า แม้เป็นเวลาสั้น ๆ ไม่กี่วันก็น่าจะทําให้พม่าเห็นความเปราะบางของกลไกที่ผูกพันบ้านเมืองทั้งสองแคว้นเป็นราชอาณาจักรสยามได้ดีพอสมควร

พระสุริโยทัยชนช้างกับพระเจ้าแปร และสิ้นพระชนม์บนคอช้าง (ภาพจากโคลงภาพพระราชพงศาวดาร ฝีพระหัตถ์สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์)

สงครามช้างเผือก

เกิดหลังจากสงครามครั้งที่แล้วประมาณ 5 ปี หลังจากที่พม่าถอนทัพกลับกรุงหงสาวดีแล้วไม่นาน พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ได้สวรรคต พระเจ้าบุเรงนองต้องทําสงครามรวบรวมบ้านเมืองในพม่าขึ้นมาใหม่ คราวนี้นอกจากพม่าและมอญแล้ว ยังสามารถรวบรวมดินแดนของไทยใหญ่ทางเหนือและล้านนาด้วย สงครามคราวที่แล้วพระเจ้าบุเรงนองได้มากับกองทัพด้วย พระองค์จึงมีความรู้ในเรื่องภูมิประเทศและจุดอ่อนของโครงสร้างทางการปกครองของราชอาณาจักรสยามได้เป็นอย่างดี

คราวนี้พระเจ้าบุเรงนองจึงยกกองทัพเป็นกองทัพใหญ่เข้ามาทางด่านแม่สอดจังหวัดตาก มีหน่วยลําเลียงเสบียงอาหารจากล้านนา และยึดเมืองเหนือทั้งมวลได้หมด รายละเอียดตอนนี้เอกสารต่างๆ กล่าวไม่เหมือนกัน พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ กล่าวความย่อ ๆ อย่างสั้น ๆ ไม่ทราบรายละเอียด ฉบับพระราชหัตถเลขาและฉบับความพิสดารอื่น ๆ กล่าวเหมือนกันว่า บางเมืองในเขตเมืองเหนือตกเป็นของพม่ามาก่อนแล้ว มีเพียงเมืองพิษณุโลกของพระมหาธรรมราชาที่ต่อสู้ป้องกันเมืองนิดหน่อยก็ยอม มหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่าบอกว่าต้องใช้กําลังกับทุกเมือง ส่วน ฉบับของวัน วลิต ชาวฮอลันดาถึงกับกล่าวว่าพระมหาธรรมราชาเองเลยทีเดียวที่ไปยุยงให้พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมา แต่ความสับสนของเรื่องเวลาก็เล่าปะปนกันระหว่างสงครามครั้งนี้กับครั้งต่อไปที่กรุงแตก

อย่างไรก็ดีเอกสารทั้งหลายก็มีความพ้องกันตรงที่ว่า กองทัพของพระเจ้าบุเรงนองที่ยกเข้ามาประชิดกรุงศรีอยุธยาครั้งนี้ มีพระมหาธรรมราชาคุมกําลังเมืองเหนือร่วมทัพมาด้วย

พระเจ้าบุเรงนองยกทัพมาครั้งนี้อ้างเหตุขอแบ่งช้างเผือกเพื่อประดับบารมี แต่พระมหาจักรพรรดิโดยคําแนะนําของขุนนางกลุ่มหนึ่งไม่ยอมถวาย

สาเหตุที่พระมหาธรรมราชาเข้าด้วยกับพระเจ้าบุเรงนองครั้งนี้ไม่มีความชัดเจนที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งวัน วลิต ชาวฮอลันดาเขียนขึ้นหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ประมาณ 70 ปีกว่าเล่าอย่างเป็นตุเป็นตะตั้งแต่พระมหาจักรพรรดิพระราชทานพระธิดานามพระสวัสดิ์ ราชหรือพระวิสุทธิกษัตรี ให้เป็นพระมเหสีแก่พระมหาธรรมราชาขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลกว่า

…เนื่องจากบุคคลทั้งสองมีความแตกต่างกันมาก ชีวิตสมรสจึงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งและไม่ลงรอยกัน ในการทะเลาะครั้งหนึ่งออกญาพิษณุโลกได้ตีพระเศียรพระราชธิดาแตก พระราชธิดาจึงใช้ผ้าซับพระพักตร์เช็คพระโลหิตใส่ถ้วยทองไปถวายพระราชบิดาที่กรุงศรีอยุธยา พร้อมทั้งมีพระราชสาส์นทูลฟ้องว่าถูกพระสวามีทารุณเพียงใด ด้วยเหตุนี้พระเจ้าแผ่นดินสยามจึงพิโรธพระราชบุตรเขยเป็นอย่างมาก มีรับสั่งให้ทหารยกกําลังไปฆ่า ออกญาพิษณุโลก ออกญาพิษณุโลกได้ทราบข่าวก็ไม่รอให้กองทัพจากกรุงศรีอยุธยามาถึงทิ้งบ้านเมืองรีบหนีไปยังเมืองพะโค [หงสาวดี]…

เรื่องที่เล่าในลักษณะตํานานที่วัน วลิต ได้ยินในสมัยหลัง และนํามาเขียนเป็นหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของเขาตอนนี้ เพื่อความรวบรัดหากมีการกล่าวอ้างอิงถึงต่อไป จะขอตั้งชื่อเรื่องว่า ถ้วยทองรองเลือด คงไม่มีนักวิชาการท่านใดคิดจะพยายามพิสูจน์ว่าจริงหรือไม่จริง เว้นแต่จะเอาไปเป็นบทนวนิยายสร้างประวัติศาสตร์ ก็น่าจะเอาไปใช้ได้ดีพอสมควร เพราะสามารถอธิบายเรื่องที่ซับซ้อนกันอยู่ให้เข้าใจได้อย่างง่าย ๆ

เพราะเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสองราชวงศ์ที่กล่าวอย่างยึดยาวแต่ต้น ที่พยายามผูกพันกันด้วยการสมรสของบุคคลสลับสับกัน บางคู่สุพรรณภูมิเป็นชาย ฝ่ายสุโขทัยเป็นหญิง หรือบางคู่ฝ่ายสุพรรณภูมิเป็นหญิง ฝ่ายสุโขทัยเป็นชาย บางครั้งก็มีการให้ประโยชน์เกื้อกูลกัน บางครั้งก็ปรากฏการที่ฝ่ายหนึ่งพยายามหาประโยชน์เหนืออีกฝ่ายหนึ่ง ประโยชน์ที่กล่าวนี้คืออํานาจ ดูภายนอกเห็นเหมือนกับมีความสมานฉันท์กันดี ทั้งนี้ก็เนื่องจากองค์ประกอบของเหตุการณ์แวดล้อมช่วยส่งเสริมให้เป็นเช่นนั้น แต่ที่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งก็คือ การแสวงหาความชอบธรรมที่ต่างฝ่ายต่างสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องอํานาจที่ฝ่ายตนได้มาว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสมถูกต้อง

ตํานานเรื่อง ถ้วยทองรองเลือด ที่วัน วลิต นํามาถ่ายทอดเพียงไม่กี่บรรทัดข้างต้นจึงสามารถเป็นตัวแทนที่ให้ความหมายที่เป็นข้อเท็จจริงของความขัดแย้งที่อยู่ภายในของสัมพันธภาพที่สร้างขึ้นมาอย่างดูมีสมานฉันท์นั้น โดยในเบื้องลึก ต่างก็แสวงหาอํานาจเหนือซึ่งกันและกัน ตํานานเรื่องนี้จึงน่าจะได้รับการเล่าขานกันอย่างเป็นเรื่องติดอกติดใจ แม้แต่พม่าก็ชอบ จึงเอาเรื่องทํานองเดียวกันไปเล่าในหนังสือมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า ถึงความสัมพันธ์ของเมืองต่างๆ ในพม่ารุ่นลูกของพระเจ้าบุเรงนอง

ความหมายของเรื่อง ถ้วยทองรองเลือด ปรากฏชัดขึ้นในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา เมื่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิออกเจรจาความเมืองกับพระเจ้าบุเรงนอง ด้วยกองทัพพม่ามีมามากมาย คงจะทําความย่อยยับแก่กรุงศรีอยุธยาเป็นแน่หากยังขึ้นต่อต้านสู้รบ การเจรจาความเมืองครั้งนี้ พระราช พงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวว่า ต้องมอบพระราเมศวรโอรสองค์โตพร้อมช้างเผือก 4 ช้าง กับขุนนางฝ่ายต่อต้านพม่า คือ พระยาจักรีและพระสุนทรสงครามให้แก่พระเจ้าบุเรงนองนําไปกรุงหงสาวดี แต่ในมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่ากล่าวว่า บุเรงนองนําสมเด็จพระมหาจักรพรรดิไปกรุงหงสาวดีด้วย

เรื่องสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงถูกนําตัวไปกรุงหงสาวดีด้วยนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ดูจะทรงเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ในพระนิพนธ์คําอธิบาย พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา แต่ในพระนิพนธ์ภายหลังเรื่องพระประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงรับตามความที่กล่าวในพงศาวดารพม่า โดยที่ครั้งนั้น พระมหินทราธิราช โอรสถัดมาได้ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา ส่วนพระมหาธรรมราชายังคงครองราชย์อยู่ที่เมืองพิษณุโลก ศูนย์กลางของกลุ่มเมืองเหนือทั้งมวล โดยพม่าเรียกพระนามตามแบบที่เรียกเจ้านายผู้ครองเมืองของไทยใหญ่ในแคว้นฉานว่า เจ้าฟ้าสองแคว

มหาธรรมราชาแห่งเมืองเหนือ กํากับดูแลกรุงศรีอยุธยา

หลังจากเสร็จสงครามช้างเผือกแล้ว พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวแสดงความคับข้องใจของสมเด็จพระมหินทราธิราชว่า ครั้งนั้นเมืองเหนือทั้งปวงเป็นสิทธิแก่พระมหาธรรมราชาเจ้า อนึ่งการแผ่นดินในกรุงพระมหานครศรีอยุธยา พระมหาธรรมราชาบังคับบัญชาลงมาประการใด สมเด็จพระมหินทราธิราชเจ้าแผ่นดินต้องทําตามทุกประการ ก็ขุ่นเคืองพระหฤทัย…

ความในพระราชพงศาวดารตอนนี้ ชี้ให้เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาอยู่ภายใต้อํานาจของพม่าแล้ว โดยมีพระมหาธรรมราชาที่เมืองเหนือกํากับดูแลเป็นหูเป็นตาแทน สมเด็จพระมหินทราธิราชจึงมีความคิดที่จะโค่นล้มพระมหาธรรมราชาลงโดยหันไปผูกสัมพันธไมตรีกับพระไชยเชษฐาแห่งราชอาณาจักรลาวล้านช้าง โดยครั้งแรกได้มีการสู่ขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาของพระสุริโยทัยกับพระมหาจักรพรรดิ แต่เมื่อพระมหาธรรมราชาทราบเรื่องก็แจ้งไปยังกรุงหงสาวดี ได้ส่งทหารเข้ามาแอบดักซุ่มชิงตัวพระเทพกษัตรีระหว่างทางเสด็จจากกรุงศรีอยุธยาไปล้านช้าง นําพระเทพกษัตรีไปถวายพระเจ้ากรุงหงสาวดี

อีกครั้งหนึ่งได้นัดแนะกับพระไชยเชษฐาให้ยกทัพมาตีเมืองพิษณุโลก ส่วนพระองค์ยกทัพเรือขึ้นไปถึงปากพิง (ใต้เมืองพิษณุโลก) ทําทีว่าจะยกทัพขึ้นไปช่วยป้องกันเมือง และได้ส่งนายทหารเข้าไปในเมืองทําทีว่าจะมาช่วยรบ แต่นัดแนะกันว่าหากพระไชยเชษฐาเข้าเมืองพิษณุโลกได้ให้จับตัวพระ มหาธรรมราชาไว้ มาแต่ครั้งนี้ความแตกอีก ด้วยทหารที่ส่งไปทําที่จะช่วยเมืองพิษณุโลกนั้น เอาความลับไปบอกกับพระมหาธรรมราชาให้รู้พระองค์ พระมหาธรรมราชาครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากทหารทางหงสาวดีมาช่วยป้องกันเมือง จึงตีทั้งกองทัพบกของพระไชยเชษฐาและกองทัพเรือของสมเด็จพระมหินทราธิราช แตกพ่ายกลับไป เสร็จศึกแล้วพระมหาธรรมราชาพร้อมพระนเรศวรโอรสได้เสด็จไปกรุงหงสาวดี เฝ้าพระเจ้าบุเรงนอง นัย ว่าเพื่อขออภัยโทษทหารที่กรุงหงสาวดีส่งไปช่วยรบ แต่ได้กระทําการบางอย่างนอกเหนือพระราชโองการจนเกิดเรื่องเสียหาย

พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวต่อไปว่า การเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาดูท่าจะเป็นเรื่องยากสําหรับสมเด็จพระมหินทราธิราชเสียแล้ว จึงอาราธนาสมเด็จพระมหาจักรพรรดิซึ่งผนวชอยู่ที่วัดสวนหลวงสบสวรรค์ ให้ลาผนวชกลับมาเสวยราชสมบัติอย่างเดิม พระมหาจักรพรรดิลาผนวชออกมาครองราชย์ใหม่ เรื่องดูจะไปด้วยกันได้ แม้รายละเอียดจะต่างกันกับมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่าที่กล่าวว่า ครั้งนั้นพระราเมศวรได้ไปกับกองทัพพม่าเพื่อไปรบยังเมืองแห่งหนึ่ง แต่ต้องสิ้นพระชนม์ในการศึก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ที่พงศาวดารพม่าเล่าว่าอยู่ที่หงสาวดี) จึงขอลาพระเจ้าบุเรงนองผนวช และขออนุญาตพาครอบครัวของพระราเมศวรเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองก็อนุญาตโดยส่งนายทหารอารักขากลับกรุงศรีอยุธยา แต่ระหว่างทางนายทหารได้ลอบเป็นชู้กับพระชายาหม้ายของพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ทรงทราบจึงส่งข่าวกลับมายังกรุงหงสาวดี พระเจ้าบุเรงนองจึงส่งทหารไปจับกุมนายทหารชายชู้นั้นฆ่าเสีย เปลี่ยนนายทหารคนใหม่อารักขาไปส่งเสด็จพระมหาจักรพรรดิจนถึงกรุงศรีอยุธยา เมื่อถึงกรุงศรีอยุธยาแล้วสมเด็จพระมหาจักรพรรดิยังไม่ทรงหายแค้น ได้ลาผนวชแล้วขึ้นครองราชสมบัติใหม่ดําเนิน การเป็นปฏิปักษ์ต่อพม่า

เรื่องปฏิบัติการที่เป็นปฏิปักษ์กับพม่านั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่า ขณะที่พระมหาธรรมราชาพาพระนเรศวรไปเฝ้าพระเจ้าบุเรงนองที่กรุงหงสาวดีนั้น

…สมเด็จพระมหินทราธิราชก็กราบทูลแก่พระราชบิดาว่า พระมหาธรรมราชานี้มิได้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์แล้ว ไปใฝ่ฝากไมตรีแก่พระเจ้าหงสาวดีถ่ายเดียว จําจะยกทัพรีบขึ้นไปเชิญเสด็จพระเจ้าพี่นางกับราชนัดดาลงมาไว้ ณ พระนครศรีอยุธยา ถึงมาตรพระมหาธรรมราชาจะคิดประการใดก็จะเป็นห่วงอาลัยอยู่ อันพระมหาธรรมราชาเห็นจะไม่พ้นเงื้อมพระหัตถ์ สมเด็จพระราชบิดาก็เห็นด้วย จึงตรัสให้พระยารามอยู่จัดแจงรักษาพระนคร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระมหินทรโอรสาธิราชก็กรีธาพลเสด็จ โดยชลมารคถึงเมืองพิษณุโลกก็รับเสด็จพระวิสุทธิกษัตรี กับเอกาทศรถอันเป็นพระภาคิไนยราชและครอบครัวอพยพข้าหลวงเดิมซึ่งให้ขึ้นมาแต่ก่อนนั้น…

อาจเป็นเรื่องราวในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาตอนนี้ก็ได้ ที่เกิดการปล่อยข่าวเรื่องอันเป็นต้นตอของตํานานที่เล่าตกทอดกันต่อมา เรื่องถ้วยทองรองเลือด ตามที่ได้เล่าไปแล้ว ทั้งนี้เพื่อสร้างความสมเหตุสมผลที่องค์พระพ่อตาขึ้นไปพรากพระราชธิดาหนีจากพระราชบุตรเขย เพราะมีเรื่องที่น่าจะจริงมากกว่าที่จะกล่าวถึงในตอนสุดท้ายนั้น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาให้สาระว่า ทั้งพระราชธิดาและพระราชบุตรเขยยังคงรักใคร่ปรองดองกันดีอยู่

พระมหาธรรมราชากับสาเหตุ ที่ทําให้กรุงศรีอยุธยาแตก พ.ศ. 2112

สงครามครั้งนี้ห่างจากสงครามช้างเผือกประมาณ 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ราชอาณาจักรพม่าหงสาวดีภายใต้การนําของบุเรงนอง มีความเป็นปึกแผ่น และพลานุภาพถึงขีดสุด

สงครามครั้งนี้ดูจากประวัติศาสตร์ของไทยที่ถือว่า ผลของสงครามทําให้กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองขึ้นพม่าครั้งแรกนั้น จะไม่สามารถอธิบายเหตุแห่งสงครามได้มากไปกว่าเป็นความเกเรรุกรานจากพม่า แต่ถ้าดูจากผลจากสงครามช้างเผือก ไม่ว่าจะเป็นเอกสารของพม่าหรือไทย การเจรจาครั้งนั้นเป็นการเจรจาสงบศึกยอมแพ้แก่พระเจ้าบุเรงนอง ไม่ว่าสมเด็จพระมหาจักรพรรดิจะถูกนําไปกรุงหงสาวดีหรือไม่ก็ตาม แต่การที่ต้องเสียพระราเมศวร ผู้ที่มีตําแหน่งเป็นทายาททางการปกครองของกรุงศรีอยุธยาไป ก็อาจกล่าวได้ว่าเป็นการสูญเสียอิสระในการปกครองตนเองของกรุงศรีอยุธยาไปแล้ว (โดยไม่ต้องถกเถียงกันด้วยคําศัพท์ว่าตกเป็นเมืองขึ้น หรือเป็นประเทศราช หรือเมืองออกของพม่า ฯลฯ ให้เป็นการเสียเวลา)

ดังนั้นจึงอธิบายได้อีกต่อไปว่า สงครามครั้งนี้คือสงครามพม่าปราบเมืองขึ้นที่คิดกระด้างกระเดื่อง และแน่นอนที่พระมหาธรรมราชาได้นํากองทัพเมืองเหนือร่วมกับกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา

ทั้งพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาและมหาราชวงษ์ พงษาวดารพม่า กล่าวรายละเอียดการรบแต่ละครั้งที่มีการปะทะกันตามสถานที่ต่างๆ ไว้อย่างยืดยาว ในที่นี้จะขอกล่าวโดยรวบรัดตามที่ทราบกันในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยว่า ด้วยการเป็นใจกับพม่าของพระยาจักรีขุนนางกรุงศรีอยุธยา ทําให้กองทัพพม่าสามารถบุกเข้ายึดพระนครศรีอยุธยาได้ หลังจากที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิประชวรเสด็จสวรรคต และสมเด็จพระมหินทราธิราชขึ้นครองราชบัลลังก์เป็นครั้งที่สอง ท่ามกลางเหตุการณ์สงครามที่ติดพันกันอยู่

พระยาจักรีผู้เป็นใจกับพม่าผู้นี้ คือขุนนางที่เป็นตัวสําคัญในการต่อต้านในสงครามครั้งที่ผ่านมา พอถึงสงครามช้างเผือกนอกจากจะต้องมอบพระราเมศวรให้แก่พม่าแล้ว พระยาจักรีก็เป็นขุนนางผู้หนึ่งที่กรุงศรีอยุธยายอมถวายให้แก่พระเจ้าบุเรงนอง ในกองทัพของพระเจ้าบุเรงนองที่ยกมาครั้งนี้จึงมีพระยาจักรีร่วมมาในกองทัพด้วย พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเล่าว่า ในตอนช่วงปลายสงคราม พม่าให้พระยาจักรีทําที่ว่าหนีจากกองทัพพม่าเข้ากรุงศรีอยุธยาเพื่อเป็นไส้ศึก พระยาจักรีได้รับความไว้วางใจให้ช่วยรบป้องกันเมืองจนทางฝ่ายกรุงศรีอยุธยาตายใจ พระยาจักรีก็นัดแนะให้พระเจ้าบุเรงนองนําทัพเข้ากรุงศรีอยุธยาได้โดยง่าย

ดังนั้นพระยาจักรีที่เรียนรู้กันในประวัติศาสตร์ไทย คือผู้ทรยศต่อแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่บุคคลอีกผู้หนึ่งที่ดูจะเป็นใจกับฝ่ายพม่า แต่บทเรียนทางประวัติศาสตร์กล่าวข้ามไปคือ ผู้ที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเรียกว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน ซึ่งตามเรื่องในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า กําลังสําคัญในการอํานวยการป้องกันพระนครศรีอยุธยาคือ ขุนนางที่ชื่อว่า พระยาราม พระเจ้าบุเรงนองจึงปรึกษากับพระมหาธรรมราชาจะทําอุบายเอาตัวพระยารามออกมาให้ได้ พงศาวดารกล่าวว่า

..พระมหาธรรมราชาเห็นด้วย ก็แต่งนายก้อนทอง ข้าหลวงเดิมให้ถือหนังสือลอบเข้าไปถึงขุนสนม ข้าหลวงซึ่งสมเด็จพระเจ้าช้างเผือก (คือสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ) ไปเอาลงมาแต่เมืองพิษณุโลกกับด้วยพระวิสุทธิกษัตรีนั้น ขุนสนมก็ส่งหนังสือนั้นเข้าไปถวายแก่พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน..

ความในหนังสือนั้นว่า พระยารามช่วยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิต่อต้านพม่า บัดนี้สมเด็จพระมหาจักรพรรดิสวรรคตแล้ว พระยารามก็ยังสู้รบต่อไปอีก ควรจะหยุดได้แล้วเพื่อมิให้เสียไมตรีกับพม่า ควรส่งพระยารามผู้ต่อต้านพม่าที่เหลือเพียงคนเดียวออกไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนองเสีย สงครามก็จะสงบ

พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในจึงนําเรื่องไปเล่าให้สมเด็จพระมหินทราธิราชฟัง สมเด็จพระมหินทราธิราชปรึกษาข้าราชการแล้ว ตกลงส่งพระยารามออกไปถวายแก่พระเจ้าบุเรงนอง ดังนั้นการสู้รบต่อต้านพม่าในกรุงศรีอยุธยาจึงอ่อนแอลงด้วยเหตุนี้ประการหนึ่ง เพราะพระเจ้าบุเรงนองยังคงจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยาที่อ่อนแอลงให้ได้

เมื่อพิจารณาความในพงศาวดารที่กล่าวถึง นายก้อนทอง คนของพระมหาธรรมราชา กับขุนสนมคนในกรุงศรีอยุธยา จะเห็นว่าทั้งคู่รู้จักกันดี เพราะเป็นขุนนางของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิที่ส่งไปด้วยกับพระวิสุทธิกษัตรีครั้งขึ้นไปครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระมหาจักรพรรดิรับพระวิสุทธิกษัตรีกับพระเอกาทศรถกลับมาไว้ที่พระนครศรีอยุธยานั้น ขุนสนมก็กลับลงมาอยู่ด้วย ส่วนนายก้อนทองมิได้ลงมาคงอยู่ที่เมืองพิษณุโลก และมาทัพกับพระมหาธรรมราชา ดังนั้นพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในที่ขุนสนมเอาหนังสือของพระมหาธรรมราชาไปถวาย ก็คือพระวิสุทธิกษัตรี พระมเหสีของพระมหาธรรมราชานั่นเอง

การที่พงศาวดารเรียกพระนางว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในนั้นแสดงให้เห็นถึงความยําเกรงของสมเด็จพระมหินทราธิราชที่มีต่อพระพี่นางของพระองค์ และยกพระนางขึ้นไว้ในตําแหน่งสูงสุดมากกว่าสตรีใดๆ ในราชสํานัก

คําว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายใน มีกล่าวอยู่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพระราชหัตถเลขาสองครั้ง และมีกล่าวในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับความพิสดารอื่น ๆ ทุกฉบับ แต่ก็เป็นที่น่าแปลกใจที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ มิได้ทรงกล่าวในพระนิพนธ์คําอธิบายหนังสือพงศาวดารของพระองค์เลย เป็นไปไม่ได้ที่จะลอดสายพระเนตรของพระองค์ไปได้ เพราะเรื่องที่ทางพม่าทําอุบายได้ตัวพระยารามไปก็ทรงกล่าวถึง และเล่าว่าพม่าได้ใช้พระยารามผู้นี้ออกไปหลอกลวงพระไชยเชษฐาผู้ทรงยกกองทัพล้านช้างมาช่วยกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้กองทัพล้านช้างต้องถูกพม่าตีแตกพ่ายกลับไป

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ จะต้องทรงเห็นและเข้าใจเป็นอย่างดีว่า ที่พระราชพงศาวดารเรียกว่า พระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในผู้นี้คือ พระวิสุทธิกษัตรีอย่างไม่มีปัญหา แต่พฤติกรรมของพระนางตอนนี้ดูแปลกๆ ที่ยังมีความผูกพันกับพระสวามีผู้มากับกองทัพพม่าเป็นอย่างดี และเนื่องจากเรื่องในตอนนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่างพระราชบิดา และพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชในการทําอุบายบั่นทอนกําลังสําคัญของกรุงศรีอยุธยาให้อ่อนแอลงนั่นเอง จึงทรงแสร้งผ่านเลยไปไม่อธิบาย ทรงกล่าวอย่างรวบรัดเพียงว่า เป็นเพทุบายของพม่า (ในภาพรวม) ในการขจัดพระยารามผู้เป็นอุปสรรคสําคัญออกไป

บทบาทของพระเจ้าอยู่หัวฝ่ายในในครั้งนี้ ได้รับการเล่าสืบต่อมาอีก 70 กว่าปีอย่างกระจ่างแจ้งกว่าที่บันทึกอยู่ในพระราชพงศาวดาร โดยกล่าวถึงพระนามของพระสวัสดิ์ ซึ่งเรียกสั้นลงมาจากพระสวัสดิราช อันเป็นพระนามเดิมของพระวิสุทธิกษัตรี และเมื่อเข้าหูฝรั่งของวัน วลิต ได้ยินเป็นพระสุ หวัด วัน วลิตจึงเล่าเรื่องไว้ในหนังสือพงศาวดารของเขา โดยระบุชื่อของพระนางด้วยอักษรโรมัน เขียนอย่างฮอลันดาว่า Prae Souwat อีกทั้งวัน วลิต คงสับสน (หรือผู้ที่ถ่ายทอดให้วัน วลิตฟังสับสนก็ได้) ในอํานาจอันสูงศักดิ์ของพระนาง จึงเข้าใจว่าพระนางเป็นพระมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ด้วยเหตุนี้เมื่อมีการปริวรรตชื่อนี้มาเป็นภาษาไทย ผู้แปลพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับวัน วลิต จึงสมมติชื่อที่ใกล้เคียงที่สุดว่า พระสุวัฒน์ เพราะย่อมไม่คิดที่จะเอาชื่อที่ถูกต้องคือ พระสุหวัด-พระสวัสดิ์ มาใช้ ด้วยชื่อนี้เป็นชื่อพระราชธิดาของพระมหาจักรพรรดิ มิใช่ชื่อของผู้ที่วัน วลิตสับสนว่าเป็นมเหสี

วัน วลิตเล่าว่า พระนางมีหนังสือโต้ตอบกับพระมหาธรรมราชาหลายครั้ง และมีความเห็นใจพระมหาธรรมราชา (หรือออกญาพิษณุโลกตามที่วัน วลิตเรียก) ที่เป็นผู้ชักจูงกองทัพหงสาวดีหรือพะโคมา แต่กองทัพกําลังขาดยุทธสัมภาระ หากพ่ายแพ้กลับไปพระมหาธรรมราชาจะต้องถูกพระเจ้ากรุงหงสาวดีทําโทษ พระนางจึงลอบส่งดินปืนออกไปให้ คบคิดร่วมมือกับออกญาจักรีเปิดประตูเมืองให้พระมหาธรรมราชานํากองทัพกรุงหงสาวดีเข้ากรุงศรีอยุธยาได้

เรื่องราวในตอนนี้ หนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยากล่าวอย่างปิดๆ บัง ๆ ในขณะที่พงศาวดารกรุงศรีอยุธยาของวัน วลิต กล่าวอย่างค่อนข้างเว่อร์! ไปหน่อย แต่ถ้านําความทั้งสองมาเป็นข้อมูลประมวลเข้าด้วยกันก็จะได้เห็นภาพโดยรวมว่า สงครามครั้งนี้ บุคคลในระดับสูงภายในราชสํานักกรุงศรีอยุธยามีเป็นสองฝักสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งต้องการที่จะต่อสู้กับกองทัพพม่า อีกฝ่ายหนึ่งไม่ต้องการต่อสู้ยังรักที่จะเป็นไมตรีกันมากกว่า

ฝ่ายที่ต้องการต่อสู้ได้แก่ เหล่าขุนนาง (เชื้อพระวงศ์) ที่จงรักภักดีกับสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (เช่นพระยาราม) กับอีกฝ่ายที่ยังคิดจะเป็นไมตรีกับพม่า คือพระวิสุทธิกษัตรีและขุนนางอื่น ๆ ที่ฝักใฝ่กับพระมหาธรรมราชา

ดังนั้นสงครามกรุงศรีอยุธยาแตกครั้งที่ 1 นี้ มองภายนอกก็เป็นสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน แต่ถ้ามองลึกเข้าไปภายในก็เป็นสงครามของเครือญาติระหว่างกรุงศรีอยุธยากับเมืองเหนือแฝงอยู่อย่างชัดเจน

ด้วยเหตุนี้เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกแล้ว พระมหาธรรมราชาจึงได้เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาตามสิทธิที่พระองค์ควรจะได้ อันเป็นสิทธิที่ราชวงศ์แห่งเมืองเหนือได้ต่อสู้มานานในประวัติศาสตร์ พระมหาธรรมราชาได้ราชสมบัติโดยอยู่ภายใต้อํานาจของกรุงหงสาวดี 15 ปี นานพอที่คนรุ่นเก่าจะหมดไป เนื่องจากถูกนําตัวไปกรุงหงสาวดีบ้าง ล้มหายตายจากไปบ้าง พอถึงคนรุ่นลูก คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราชและเสนาข้าราชบริพารพล จึงเป็นคนรุ่นใหม่ที่มีสํานึกใหม่ ที่ไม่มีความคิดเรื่องการแก่งแย่งชิงอํานาจกันระหว่างเมืองเหนือกับกรุงศรีอยุธยา ปรากฏให้เห็นในประวัติศาสตร์ไทยแต่นั้นมา

สรุป

ราชวงศ์สุโขทัยเหมือนกับจะหายไปจากประวัติศาสตร์ แต่อันที่จริงก็ยังคงมีอยู่โดยแฝงอยู่ในรูปขุนนางเชื้อพระวงศ์ในราชสํานักเมืองเหนือที่พิษณุโลก กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาพยายามที่จะลดความสําคัญของราชสํานักเมืองเหนือลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดเมื่อสมเด็จพระไชยราชาธิราช จากเมืองพิษณุโลกได้เข้ายึดอํานาจกรุงศรีอยุธยาไว้ได้ พระองค์น่าจะได้ถ่ายโอนขุนนางเมืองเหนือที่สําคัญทั้งหลายมาอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาจนหมด เท่ากับเป็นการยุบราชสํานักเมืองเหนือลงจนหมดสิ้น กลายเป็นขุนนางเจ้าเมืองต่าง ๆ ที่แต่งตั้งไปจากกรุงศรีอยุธยา

แต่หลังจากสมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคต ราชวงศ์โบราณผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาคือราชวงศ์ละโว้-อโยธยา กลับเข้ามามีอํานาจเหนือราชบัลลังก์ และพยายามที่จะกุมอํานาจกลุ่มเมืองเหนือให้ได้โดยเด็ดขาด จึงปรากฏโฉมหน้าขุนนางในกรุงศรีอยุธยากลุ่มหนึ่งว่า เป็นขุนนางเชื้อพระวงศ์สุโขทัยที่ลุกขึ้นมาก่อการโค่นล้มอํานาจของราชวงศ์ละโว้-อโยธยาลง และถวายคืนอํานาจนั้นแก่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ผู้ควรมีความชอบธรรมมากกว่า

การขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเช่นนี้ เป็นความอ่อนแอในพระราชอํานาจของพระองค์ในทางปฏิบัติ เพราะอํานาจที่แท้จริงนั้นอยู่ที่ขุนพิเรนทรเทพผู้ถวายราชบัลลังก์แก่พระองค์ แม้จะทรงคิดผูกมัดตามวิธีการเก่า ๆ ที่ปฏิบัติมา คือมอบพระราชธิดาให้เป็นมเหสี แต่ฐานันดรเดิมของความเป็นเจ้านายราชวงศ์สุโขทัย ที่คืนให้แก่ขุนพิเรนทรเทพ พร้อมพิธีกรรมการสถาปนาให้เป็นพระมหาธรรมราชา ไปครองเมืองพิษณุโลกนั้น มิใช่หลักประกันที่จะผูกมัดเมืองเหนือให้อยู่ใต้อํานาจกรุงศรีอยุธยาตลอดไป เพราะความเป็นมหาธรรมราชา และอํานาจเหนือเมืองเหนืออันเป็นดินแดนสุโขทัยเดิมนั้น เป็นบารมีที่ขุนพิเรนทรเทพได้สะสมไว้ด้วยพระองค์เอง

อีกทั้งนามสถาปนามหาธรรมราชานั้น ก็มีความหมายถึงสิทธิในราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งแต่เดิมได้มีการมอบสิทธินี้แก่เจ้านายราชวงศ์สุโขทัยมาแล้ว แต่ครั้งนั้นเป็นสิทธิปลอม ๆ ที่ผู้มีสิทธิแต่ไม่มีบารมีอะไรที่จะเข้ามาเรียกร้องอะไรเอากับกรุงศรีอยุธยาได้ ผิดกับพระมหาธรรมราชาในครั้งนี้ ดังนั้น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงต้องพยายามเพิ่มพูนบารมีให้แก่โอรสของพระองค์ ที่ทรงสถาปนาให้เป็นพระราเมศวร แนวโน้มการขัดแย้งระหว่างเมืองเหนือกับกรุงศรีอยุธยาจึงเริ่มมีขึ้น

เมื่อเกิดสงครามกับพม่า ครั้งแรกเป็นการขัดแย้งเรื่องเมืองมอญชายแดนพระราชอาณาเขตของกรุงศรีอยุธยากับกรุงหงสาวดี กว่าที่กองทัพเมืองเหนือของพระมหาธรรมราชาจะได้ปะทะกับกองทัพพม่า ก็เป็นเวลาที่พม่าได้ถอนตัวออกจากการล้อมพระนครศรีอยุธยาแล้ว ส่วนสงครามครั้งที่สองนั้น กองกําลังเมืองเหนือได้เข้ามากับกองทัพพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาด้วย ซึ่งผลของสงครามครั้งนี้ปรากฏว่า พระราเมศวรตําแหน่งทายาทที่ชอบธรรมตามขนบเดิมถูกนําตัวไปกรุงหงสาวดี พระมหินทราธิราชที่ครองกรุงศรีอยุธยาก็อยู่ภายใต้การกํากับของพระมหาธรรมราชาธิราชอย่างชัดเจน

ดังนั้นเมื่อศึกพม่าครั้งที่สามกรุงศรีอยุธยาต้องแตกนั้น จึงเป็นการปราบปรามกรุงศรีอยุธยาที่คิดเป็นปฏิปักษ์ต่ออํานาจพม่าที่วางไว้ที่เมืองเหนือ ปฏิบัติการที่เป็นปฏิปักษ์นั้นคือ การขึ้นไปพรากพระราชธิดาจากพระราชบุตรเขยแห่งเมืองพิษณุโลก ทั้งๆ ที่ทั้งสองยังรักใคร่กลมเกลียวกันอยู่ จึงต้องสร้างข่าวปล่อยเรื่องการทะเลาะเบาะแว้งเล่าต่อกันมาเป็นตํานานให้ฝรั่งฮอลันดาชื่อวัน วลิต หยิบไปเขียนต่อในเรื่อง ถ้วยทองรองเลือด ดังที่ได้เล่ามาแล้ว

ด้วยเหตุนี้การที่สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชได้ราชสมบัติกรุงศรีอยุธยา จึงเป็นความชอบธรรมที่พระเจ้าบุเรงนองเข้ามาจัดระเบียบให้แก่กรุงศรีอยุธยาด้วยอย่างหนึ่ง

 


หมายเหตุ: เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งจากบทความพิเศษ “พระมหาธรรมราชาธิราช : อำนาจเดิมที่กลับมาของราชวงศ์สุโขทัย” โดย พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม พ.ศ. 2546

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มิถุนายน 2562