ที่มา | เกิดมาเป็นนายกฯ (ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, 2529) |
---|---|
ผู้เขียน | นรนิติ เศรษฐบุตร |
เผยแพร่ |
ชีวิตของ หลวงวินิจทัณฑกรรม ต้นสกุล “ติณสูลานนท์” กับรักแรกพบ-ขายทรัพย์สินหมด แต่ส่งลูกเรียนได้
สกุล ติณสูลานนท์ ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตามพระราชบัญญัติขนานนามสกุล พ.ศ. 2456 ที่มีวัตถุประสงค์ให้ปวงชนชาวไทยได้มีนามสกุลเพื่อเป็นหลักของการสืบเชื้อสาย เป็นธงชัยแห่งครอบครัว และให้ผู้สืบสกุลได้ตั้งมั่นในคุณงามความดี รักษาชื่อเสียง เกียรติยศของบรรพบุรุษผู้เป็นต้นตระกูลให้มีความเจริญรุ่งเรืองมั่นคงสืบไป
รองอํามาตย์โท หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ผู้เป็นต้นตระกูล “ติณสูลานนท์” มีภรรยาชื่อ นางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) นางกิมซัว ติณสูลานนท์ และ นางมุ่ย ติณสูลานนท์ ตามลําดับ มีบุตรธิดารวมทั้งสิ้น 15 คน แยกเป็นชาย 7 คน หญิง 8 คน สืบสกุลต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ความหมายของนามสกุล
จากการสัมภาษณ์ นายชุบ ติณสูลานนท์ บุตรชาย คนโตของ หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) กับ นางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 ณ บ้านหัวคูตะวันตก ตําบลนา อําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ทําให้ทราบความหมายของนามสกุล “ติณสูลานนท์” ดังต่อไปนี้
ความหมายที่ 1
ติณ แปลว่า หญ้า
สูลา แปลว่า คม,ยอด
นันท – นนท์ แปลว่า ความพอใจ ความยินดี
ติณสูลานนท์ แปลว่า ความพอใจ หรือความยินดีในหญ้าที่มีคม
ความหมายที่ 2
พระมหาเวก ทยยสุวณโณ วัดชนะสงคราม ได้อธิบายว่า
ติณสูล แปลว่า ของมีคม เช่น หลาว หอก ดาบ
นนท์ แปลว่า ความเบิกบาน ความยินดี
ติณสูลานนท์ แปลว่า ความเบิกบาน หรือความยินดีในของมีคม อันเป็นเครื่องมือสําหรับพะทํามะรง (พัสดี) ในการป้องปราม มิให้นักโทษก่อความวุ่นวาย
เมื่อพิจารณาโดยสรุปความ “ติณสูลานนท์” อาจจะหมายถึง ความยินดีในการปฏิบัติหน้าที่พะทํามะรง (พัสดี) ที่มีเครื่องหมายเป็นของมีคม เช่น หลาว หอก ดาบ ที่ รองอํามาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ได้รับตําแหน่งในขณะที่ได้รับพระราชทานนามสกุล
ชีวประวัติเบื้องต้นของหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์)
หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2424 เป็นบุตรของนายสุก – นางขลิบ มีภูมิลําเนาเดิมอยู่ที่ตําบลท่าดี อําเภอเมือง (ตําบลนี้ขึ้นกับอําเภอลานสกา) จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 4 คน คือ
1. นายบึ้ง ติณสูลานนท์
2. นางช่วย (มีสามีชื่อ นายรอด ศรีจํานอง)
3. นายเที่ยง (มีภรรยาชื่อ นางสัง)
4. นางยก (มีสามีชื่อ นายชื่น รสมัย)
จากการสัมภาษณ์บรรดาญาติพี่น้องของหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) คือ นายชื่น รสมัย (สามี นางยก) ปัจจุบันอายุ 85 ปี (เมื่อพ.ศ. 2529) …นาง ปาน ยอดพิจิตร (ธิดานางช่วย) ปัจจุบันอายุ 71 ปี (เมื่อพ.ศ. 2529) นายฟอง ยอดพิจิตร (สามีนางปาน ยอดพิจิตร) ปัจจุบัน อายุ 75 ปี … และผู้สูงอายุในตําบลท่าดี คือ นายคล้อย ศรีจํานอง ปัจจุบันอายุ 87 ปี (เมื่อพ.ศ. 2529) …เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2528 ทําให้ได้ทราบชีวประวัติของหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) เพิ่มเติมดังต่อไปนี้
หลังจากที่ หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ได้ถือกําเนิด ณ บ้านหมู่ที่ 1 ตําบลท่าดี อําเภอเมือง (ตําบลนี้ขึ้นกับอําเภอลานสกา) จังหวัดนครศรีธรรมราชแล้ว เมื่อมีอายุอันสมควร นายสุก – นางขลิบ บิดามารดาก็ได้ส่งให้ไปอุปสมบทที่สํานักวัดพระนครเมืองนครศรีธรรมราช (โดยที่เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันจากตําบลท่าดีไปศึกษาเล่าเรียนด้วย คือ นายแคล้ว นายสุย และ นายคลึง) หลังจากอุปสมบทได้ 1 พรรษา ก็ได้ไปเรียนหนังสือไทยที่โรงเรียนสุขุมาภิบาลวิทยา ในสํานักวัดท่าโพธิ์ (ต่อมาคือโรงเรียนศรีธรรมราช และเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงเรียน “เบญจมราชูทิศ”) เรียนได้หนึ่งปีก็สอบไล่ได้รับประกาศนียบัตร สําหรับความรู้หนังสือไทยชั้น 2-3 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2443 ขณะนั้นอายุได้ 19 ปี
ในช่วงระหว่างการศึกษาเล่าเรียน หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ได้มาเยี่ยมเยียนบิดามารดาที่บ้านท่าดี โดยการเดินทางทางเรือที่บ้านหัวท่า ตําบลนา อําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปตําบลท่าดี ใช้ระยะเวลาการเดินทางรวม 2 วัน ในระหว่างการเดินทางต้องแวะพักค้างคืนที่บ้านชัน 1 คืน แล้วไปขึ้นที่ท่าเรือใกล้วัดปะ (ในขณะนั้นประชาชนใช้เส้นทางคลองท่าใหญ่เพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างนครศรีธรรมราชกับบ้านคีรีวง) ส่วนการเดินทางจากท่าเรือวัดปะ (ตําบลท่าดี) ไปบ้านหัวท่า ตําบลนา อําเภอเมืองนครศรีธรรมราช ใช้ระยะเวลาการเดินทาง 1 วัน เนื่องจากเรือล่องตามสายน้ำจากคลองท่าใหญ่ซึ่งมีต้นน้ำที่บ้านคีรีวง อําเภอลานสกาในปัจจุบัน
ชีวิตราชการ
เมื่อสําเร็จการศึกษา ได้สมัครเข้ารับราชการเป็นเสมียนกองมหาดไทย เมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2445 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รับราชการ และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการมาโดยลําดับ ตําแหน่งครั้งสุดท้าย คือ พะทํามะรงพิเศษเมืองสงขลา รวมเวลารับราชการทั้งสิ้น 32 ปี ได้รับตําแหน่งและเงินเดือนดังนี้
พ.ศ. 2445 เสมียนกองมหาดไทย เมืองนครศรีธรรมราช เงินเดือน 10 บาท
พ.ศ. 2446 เสมียนกองมหาดไทย เมืองนครศรีธรรมราช เงินเดือน 15 บาท
พ.ศ. 2447 เสมียนกองอัยการ เมืองนครศรีธรรมราช เงินเดือน 20 บาท
พ.ศ. 2448 เสมียนกองอัยการ เมืองนครศรีธรรมราช เงินเดือน 30 บาท
พ.ศ. 2449 เสมียนกองอัยการ เมืองนครศรีธรรมราช เงินเดือน 35 บาท
พ.ศ. 2450 แพ่งเมืองนครศรีธรรมราช เงินเดือน 50 บาท
พ.ศ. 2455 ยกกระบัตร เมืองประจำอำเภอปากพนัง เงินเดือน 100 บาท
พ.ศ. 2457 พะทํามะรง เมืองสงขลา เงินเดือน 120 บาท
พ.ศ. 2470 พะทํามะรงพิเศษ เงินเดือน 150 บาท
พ.ศ. 2474 พะทํามะรงพิเศษ เงินเดือน 190 บาท
พ.ศ. 2477 พะทํามะรงพิเศษ เงินเดือน 190 บาท
ลําดับยศ
25 ตุลาคม 2457 รองอํามาตย์ตรี
19 ธันวาคม 2460 รองอํามาตย์โท
ลําดับบรรดาศักดิ์
2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรบรรดาศักดิ์ให้เป็นขุนวินิจทัณฑกรรม ถือศักดินา 400 ไร่
2462 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นหลวงวินิจทัณฑกรรม ถือศักดินา 600 ไร่
ภายหลังจากการรับราชการ หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ก็ต้องโยกย้ายไปปฏิบัติราชการ จึงทําให้ห่างเหินจากบ้านเกิดเมืองนอนและญาติพี่น้อง แต่ก็ได้มาร่วมงานศพบิดามารดาและน้องๆ ที่วัดปะตามประเพณีนิยมของสังคมไทยเป็นครั้งคราว นอกจากนั้นยังได้อนุเคราะห์ช่วยเหลือน้องๆ ตามสมควร เช่น ได้มอบกระเบื้องมุงหลังคาบ้านให้นางช่วย น้องสาว (ภายหลังเป็นบ้านของนางปาน ยอดพิจิตร บ้านเลขที่ 68 หมู่ที่ 2 ตําบลท่าดี อําเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งยังใช้กระเบื้องมุงหลังคาเรื่อยมา) และได้มอบกรรมสิทธิ์ที่ดินให้น้อง ๆ คือ นางช่วย นายเทียง และนางยก ซึ่งมีทายาทครอบครองต่อมา
รักแรกพบ ของหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์)
จากการสัมภาษณ์ นางจุก เกตุกําพล อายุ 82 ปี และ นายสุด เพชรศรี อายุ 69 ปี นางจุก เกตุกําพล และนายสุด เพชรศรี เป็นบุตรธิดาของนายพรัด – นางเสน เพชรศรี ซึ่งเป็นญาติผู้ใหญ่ของนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) … เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2528 ได้ทราบประวัติเบื้องต้นของนางวินิจ ทัณฑกรรม (ออด ติณสูลานนท์) เพิ่มเติมว่า
นางออด ติณสูลานนท์ เป็นธิดาของนายหมี – นางสัง (บางคนเรียกว่า นางมุดสัง) ตั้งบ้านเรือนอยู่ บ้านหัวคูตะวันตก ตําบลนา อําเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน คือ
1. นางแหมะ มัฏฐกุล (มีสามีชื่อ นายปั้น)
2. นายพลับ มัฏฐกุล (มีภรรยาชื่อ นางปลีก)
3. นางออด มัฏฐกุล (มีสามีชื่อ นายบึ้ง ติณสูลานนท์)
ลักษณะบ้านเรือนของนายหมี – นางสัง เป็นบ้าน ใหญ่ยกพื้น ทําเสาด้วยไม้มังคุด มี 3 ห้องใหญ่ หลังคามุงจาก บ้านเดิมอยู่ติดกับบ้านนายพรัด – นางเสน มีบ่าวไพร่อาศัยอยู่ในบ้านหลายคน นางออดมีรูปร่างหน้าตาสวยงาม มีอุปนิสัยโอบอ้อมอารีช่วยเหลือลูกหลานเสมอมา
รักแรกพบของนายบึ้ง ติณสูลานนท์ กับนางออดเริ่มต้นจากงานฉลองซึ่งกํานันตําบลนา อําเภอเมืองนครศรีธรรมราช ได้จัดให้มีขึ้นครั้งนั้น มีลิเกมาแสดง บรรดาข้าราชการ เสมียนกองมหาดไทยเมืองนครศรีธรรมราช คือ นายบึ้ง ติณสูลานนท์ และเพื่อนคือ นายกลอน มัลลิกะมาส (ขุนอาเทศคดี) ก็ได้มาดูลิเกในครั้งนั้นด้วย หลังจากนั้น นายบึ้ง ติณสูลานนท์ ก็เกิดความสนิทสนมคุ้นเคยกับนางออด จนกระทั่งได้แต่งงานมีบุตรธิดาสืบต่อมา
ภายหลังจากการแต่งงานแล้ว นายบึ้ง ติณสูลานนท์ ก็ได้มาพักอาศัยอยู่กับพ่อตาแม่ยาย คือ นายหมี – นางสัง ที่บ้านหัวคูตะวันตก จนกระทั่งมีบุตรคนแรก คือ นายชุบ ติณสูลานนท์ จึงได้ย้ายไปรับราชการที่อําเภอปากพนัง และมีบุตรธิดาต่อมา คือ นายเลข ติณสูลานนท์ และ นางขยัน (ติณสูลานนท์) โมนยะกุล ต่อมาได้ย้ายไปรับราชการที่จังหวัดสงขลา มีบุตรธิดา คือ นายสมนึก ติณสูลานนท์ นายสมบุญ ติณสูลานนท์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เด็กหญิงปรี ติณสูลานนท์ และ นายวีระณรงค์ ติณสูลานนท์
ภายหลังจากย้ายไปอยู่จังหวัดสงขลาแล้ว นางออด ติณสูลานนท์ ก็ได้กลับมาบ้านเกิดอีก ในช่วงการจัดงานศพบิดามารดาที่วัดโคกธาตุ ภายหลังจาก นางออด ติณสูลานนท์ ได้ถึงแก่กรรมที่จังหวัดสงขลาแล้วก็ได้นำอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ต่อมาจึงได้นำอัฐิไปบรรจุที่วัดดอนรัก จังหวัดสงขลา
การปูพื้นฐานการศึกษาให้แก่บุตรธิดา
หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ได้วางพื้นฐานการศึกษาให้แก่บุตรธิดาเป็นอย่างดี ดังจะเห็นได้จากข้อความที่ลูก ๆ ได้เขียนไว้ในคําไว้อาลัยในหนังสือที่เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ รองอํามาตย์โท หลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ณ ฌาปนสถานวัดโสมนัสวิหาร วันเสาร์ที่ 30 มิถุนายน พุทธศักราช 2516 ตอนหนึ่งว่า
“ทั้งพ่อและแม่เป็นชาวนคร (นครศรีธรรมราช) ลูกบางคนเกิดที่นคร แต่ส่วนมากเกิดที่สงขลา เนื่องจากพ่อย้ายไปรับราชการที่สงขลาเป็นเวลานานมาก จนเกษียณอายุออกรับบํานาญเมื่อ พ.ศ. 2477 ออกจากราชการแล้วพ่อก็ยังคงอยู่ที่สงขลาอีกหลายปี แล้วจึงเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ กับลูก ๆ เลย
แม้ว่าพ่อเรียนหนังสือจากวัด แต่พ่อก็ส่งเสริมให้ลูกได้เรียนหนังสือจากโรงเรียนทุกคน เราเริ่มเรียนชั้นประถมกันที่โรงเรียนมหาวิชราวุธ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจําจังหวัด โรงเรียนมหาวชิราวุธ ปัจจุบันมีชื่อเสียงอย่างไร ย้อนไป 40 ปี ก็มีชื่อเสียงอย่างนั้น มหาวชิราวุธเมื่อ 40 ปีมาแล้ว เป็นโรงเรียนเดียวของมณฑลนครศรีธรรมราช ที่สอนจนถึงชั้นมัธยมปีที่ 8 ถึงกระนั้นก็ตาม พ่อก็ยังส่งลูกเข้าเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ทุกคน ตามวาระต่าง ๆ กัน โดยส่งมาให้อาศัยอยู่กับผู้ใหญ่ที่พ่อเคารพนับถือบ้าง กับญาติบ้าง อยู่วัดบ้าง และเช่าบ้านอยู่รวมกับเพื่อน ๆ บ้าง เพราะพ่อเล็งเห็นว่าการเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพฯ จะถูกต้องและเป็นประโยชน์มากกว่า
ขณะที่ยังรับราชการอยู่นั้น ครอบครัวเรามีฐานะปานกลาง พ่อจึงมีแรงส่งเสียให้ลูกเรียนหนังสืออย่างสม่ำเสมอ ครั้นถึง พ.ศ. 2477 พ่อออกจากราชการประกอบกับความผันแปรของวิถีชีวิตพ่อ ครอบครัวเราเริ่มยากจนลง ลูก ๆ ก็โตเป็นหนุ่มเป็นสาวขึ้น เรียนหนังสือสูงขึ้น รายจ่ายก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น ลูกคนโตเพิ่งเรียนจบไป 2 คนเท่านั้น และทํางานได้เงินเดือน เล็ก ๆ น้อย ๆ และเรียนต่อในมหาวิทยาลัยไปด้วย
พ่อจึงจําเป็นต้องขายทรัพย์สินที่พ่อและแม่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาไว้ได้ตั้งแต่ยังหนุ่มสาว พ่อขายทุกอย่างจนหมดสิ้น ไม่เหลือแม้แต่ที่ดินสักตารางวาเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่พ่อไม่ขาย คือการศึกษาเพื่ออนาคตของลูก พ่อไม่เคยปริปากถึงความลําบากยากเข็ญในการหาเงิน ไม่เคยพูดว่าเงินไม่มีแล้ว ลูกเห็นจะเรียนต่อไปไม่ได้อีกแล้ว อย่างมากพ่อก็แสดงออกมาทางแววตาให้เห็นรอยแห่งความทุกข์บ้างเท่านั้น แต่ก็ตั้งใจแน่วแน่ที่จะให้ลูกเรียนจบกันทุกคน และลูกก็สํานึกเสมอว่า นี่คือส่วนหนึ่งของพระคุณพ่อที่ไม่มีวันจะทดแทนให้หมดสิ้นไป.. ”
“แล้วลมหายใจครั้งสุดท้ายของพ่อก็หยุดลง เมื่อเวลา 17.15 น. ของวันอาทิตย์ที่ 18 กุมภาพันธ์ 2516 นั้นคือวาระสุดท้ายของต้นตระกูล “ติณสูลานนท์” ผู้ซึ่งใช้ชีวิตมา 91 ปี กับ 3 เดือน เพื่อหยิบยื่นความสุข และความเจริญให้แก่ลูกหลานทุกคนด้วยความเหนื่อยยาก โดยมิได้หวังสิ่งใดตอบแทน ยิ่งไปกว่าความภาคภูมิใจ”
อ่านเพิ่มเติม :
- การเมืองไทยสมัยชาติชาย จากเปรม-บ้านพิษณุโลก-รถโมบาย สู่รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534
- “พอแล้ว” พลเอกเปรมวางมือจาก “นายกรัฐมนตรี”
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “เกิดมาเป็นนายกฯ” โดย นรนิติ เศรษฐบุตร ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ, 2529
แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 27 กรกฎาคม 2563