ปมใน “กฎหมายสยาม” ตั้งแต่ปลายอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ ที่ล่อเป้าฝรั่งผิวขาว

เรือรบฝรั่งเศสขณะมุ่งสู่ปากน้ำเจ้าพระยาพร้อมเล็งปืนใหญ่เข้าหาพระสมุทรเจดีย์ (ภาพจากหนังสือพิมพ์ Le Petit Parisien)

ชาร์ลส ดาร์วิน (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ นำเสนอทฤษฎีเรื่องต้นกำเนิดของมนุษย์ว่า มีวิวัฒนาการมาจากลิงเมื่อศตวรรษที่ 19 ข้อเสนอนี้ตามต่อมาด้วยแนวคิดเรื่องผู้เข้มแข็งจะอยู่รอด และการคัดสรรของธรรมชาติ แนวคิดนี้ส่งอิทธิพลต่อชนชั้นนำชาวยุโรปผิวขาวซึ่งภายหลังกลายรูปเป็นความเชื่อว่า ผู้เหนือกว่า (คนผิวขาว) มีสิทธิปกครองผู้ที่ด้อยกว่า ช่วงเวลาที่คนผิวขาวปฏิบัติกับคนผิวดำและผิวเหลืองด้วยสถานะที่สูงกว่า บรรดาผู้คนในแอฟริกาและเอเชียต่างได้รับผลกระทบจากแนวคิดนี้อย่างมาก

หนังสือ On the Origin of Species โดยชาร์ลส ดาร์วิน ตีพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2402 (ค.ศ. 1859) แนวคิดของชาร์ลส ดาร์วิน ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่ยึดมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์กับฝ่ายเทววิทยาอย่างรุนแรง แนวคิดของดาร์วิน ขัดแย้งกับคำสอนของศาสนาคริสต์ที่สอนว่าพระเจ้าสร้างโลกและสรรพสิ่งทั้งปวง

แม้ว่าช่วงแรกจะทำให้เกิดความขัดแย้งทางความเชื่อ แต่เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดนี้ส่งผลต่อชนชั้นนำในยุโรป ลัทธิดาร์วินเริ่มตอบสนองในทางปฏิบัติในกลุ่มชนชั้นนำผิวขาว พวกเขาใช้แนวคิดนี้นำไปสู่การปฏิบัติ เป็นเหตุผลในภารกิจที่จะต้องพัฒนาคนที่ด้อยกว่า นำอารยธรรมที่สูงส่งกว่าไปเผยแพร่

สิ่งที่ชาวตะวันตกยึดถือว่าตัวเองเหนือกว่าชนชาติอื่นคือเรื่องระบบสังคมการปกครองและกระบวนการยุติธรรม การค้า การศึกษา และการแพทย์

ข้อมูลในเว็บไซต์ศาลฎีกาและการสืบค้นของพลเอก นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่นำเสนอในหนังสือ “พระยอดเมืองขวาง” ล้วนสอดคล้องกันและชี้ให้เห็นว่า บริบทกระบวนการยุติธรรม (ระบบการศาล) ในสยามช่วงต้นรัตนโกสินทร์ยังมีลักษณะบางส่วนเป็นเช่นเดียวกับสมัยอยุธยา โดยมีศาลจำนวนมาก อาทิ ศาลหลวง ศาลนครบาล ศาลกรมวัง ศาลกรมนา ศาลต่างๆ ขึ้นกับกระทรวง เมื่อมีคดีที่เกี่ยวกับกระทรวงใดขึ้น กระทรวงนั้นจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบ

ประเด็นที่น่าสนใจคือระบบจารีตนครบาลซึ่งใช้ในการลงโทษ พลเอก นิพัทธ์ บรรยายว่า ยังใช้การเฆี่ยน ตอกเล็บ บีบขมับ เพื่อให้รับสารภาพ

เว็บไซต์ศาลฎีกาอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบการศาลสมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่า กรณีคู่ความไม่พอใจคำตัดสินแล้วฟ้องร้องว่าตระลาการพิจารณาคดีไม่ยุติธรรม เข้ากับอีกฝ่ายหนึ่งหรือรับสินบน เป็นต้น โดยร้องต่อศาลหลวงซึ่งอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ศาลหลวงจะรับคดีอุทธรณ์ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ตระลาการที่ตกเป็นจำเลยต้องแก้ตัวต่อตระลาการชั้นอุทธรณ์ว่า ความจริงตนได้ตัดสินคดีโดยสุจริตไม่มีอคติ

เว็บไซต์ศาลฎีกาบรรยายว่า รัชกาลที่ 5 ทรงอธิบายถึงวิธีพิจารณาความอุทธรณ์ของศาลหลวงว่า

“ถ้าเป็นความหัวเมือง คู่ความจะอุทธรณ์ตระลาการ เจ้าเมืองกรมการเป็นผู้ชำระอุทธรณ์ชั้นตระลาการ ถ้าอุทธรณ์ผู้พิพากษา เจ้าเมืองกรมการที่ไม่ได้ลงชื่อในคำพิพากษาเป็นผู้พิจารณาอุทธรณ์ ถ้าจะอุทธรณ์เจ้าเมืองต้องบอกอุทธรณ์ที่ศาลหัวเมืองนั้นก่อน หัวเมืองชำระไม่ได้จึ่งเข้ามาฟ้องศาลหลวง ประทับฟ้องไปศาลอุทธรณ์ ส่วนในกรุงถ้าจะฟ้องอุทธรณ์ก็ฟ้องศาลหลวงแล้วประทับไปศาลอุทธรณ์…”

นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ล้วนยอมรับว่า ปัจจัยเรื่องข้อกฎหมายในยุคนั้นเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ต่างชาติมักใช้หยิบยกมาอ้างเป็นเหตุสำหรับการเข้ามามีอิทธิพลในดินแดน โดยอ้างว่ากระบวนการยุติธรรมในดินแดนนั้นยังไม่มีมาตรฐาน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงที่เริ่มมีชาวต่างชาติเข้ามาติดต่อหรือทำการค้ามากขึ้น ทรงให้ยกเลิกการเฆี่ยน แล้วให้ร้องทุกข์ต่อพระองค์เอง

พลเอก นิพัทธ์ วิเคราะห์เรื่องนี้ในหนังสือ “พระยอดเมืองขวาง” ว่า “อนุมานได้ว่าในสมัยปลายในหลวง ร.4 มาถึงสมัยในหลวง ร. 5 มีชาวต่างชาติเข้ามาในกรุงเทพฯ ไม่น้อย คดีความมากโข ชาวตะวันตกทั้งหลายจึงต้องการให้มีการพิจารณาคดีในมาตรฐานตะวันตก โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย ความยุติธรรม ระบบจารีตนครบาลของสยาม ซึ่งเซอร์จอห์น เบาว์ริง ของอังกฤษมาขอสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากสยาม หมายถึงคนอังกฤษไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายและศาลของสยาม เพราะระบบศาลและกฎหมายของสยามไม่เป็นที่ยอมรับ”

ในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 ฝ่ายฝรั่งเศสเข้ายึดเมืองคำม่วน ดินแดนลาวในปัจจุบัน ซึ่งในสมัยนั้นยังมีพระยอดเมืองขวาง ข้าหลวงฝ่ายสยามเป็นเจ้าเมืองคำม่วนปกครองในช่วง พ.ศ. 2436 พระยอดเมืองขวางนำกำลังเข้าต่อสู้กับกองกำลังของฝั่งฝรั่งเศสที่ใช้ทหารญวนเข้าปิดล้อมที่ทำการ การปะทะครั้งนั้นทั้งฝ่ายฝรั่งเศส สยาม และญวน ต่างมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต ซึ่งกลายเป็นชนวนให้ฝรั่งเศสยื่นข้อเสนอให้สยาม 6 ข้อ อันรวมถึงให้สยามยอมสละกรรมสิทธิ์ทั้งหมดในดินแดนเหนือฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เหตุการณ์ครั้งนี้ที่เรียกกันว่า เหตุการณ์ ร.ศ. 112

การพิจารณาคดีครั้งนั้นเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสะพานที่ฝรั่งเศสหวังว่าจะใช้ข้ามเข้ามาปกครองสยาม และนำมาสู่การใช้เรือรบเข้ามากดดันสยามในระหว่างการเจรจา ในสมัยนั้นฝรั่งเศสวิจารณ์ว่า กระบวนการยุติธรรมของสยามยังไม่มีมาตรฐาน แน่นอนว่า เป็นใครก็ต้องมองว่า บริบทช่วงเวลานั้น ฝรั่งเศสจะทำอะไร จะพูดอะไรก็ถูกไปหมด

วิกฤตการณ์ครั้งนั้นนำมาสู่การปฏิรูประบบกฎหมายและการศาลขึ้นใหม่ รัชกาลที่ 5 ทรงให้ยกเลิกจารีตนครบาล ภายหลัง การเสด็จประพาสยุโรปของในหลวงรัชกาลที่ 5 ก็ถือว่าเป็นการตอบโจทย์เพื่อไม่ให้ชาติในยุโรปมองสยามดังเช่นคนป่า รัชกาลที่ 5 และพระเจ้าซาร์นิโคลัส ที่ 2 แห่งรัสเซียทรงฉายพระรูปร่วมกันในพ.ศ. 2440 กลายเป็นภาพที่ทำให้เห็นว่ากษัตริย์สยามทรงสง่างามน่าเกรงขาม ฝรั่งเศสก็ลดท่าทีดุร้าย และลดระดับการรังควานสยามลงไปด้วย

จากปรากฎการณ์แนวคิดของชาร์ลส ดาร์วิน ที่กลายเป็นอิทธิพลถึงแนวคิดชนชั้นนำของยุโรป มาสู่การหาข้ออ้างในการเข้าไปปกครองดินแดนที่ชนชั้นนำผิวขาวมองว่าด้อยกว่านั้น สะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทางความคิดที่สำคัญในประวัติศาสตร์โลก ส่วนหนึ่งย่อมทำให้เห็นที่มาที่ไปของความคิดซึ่งทำให้เกิดการรบกันทั้งระหว่างภูมิภาค และภายหลังยังมีผลทำให้มหาอำนาจในยุโรปรบกันเองอีกด้วย แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงแนวคิด “ความเป็นอารยะ” ซึ่งต้องยอมรับว่า ข้อดีของลัทธิดาร์วิน (ในทางอ้อม) ก็ทำให้เกิดวิทยาการและการพัฒนาที่ต่อยอดมาเป็นวิทยาการทั้งทางสังคมและทางวิทยาศาสตร์เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันด้วย

 


อ้างอิง:

นิพัทธ์ ทองเล็ก, พล.อ. พระยอดเมืองขวาง. กรุงเทพฯ : มติชน, 2558

วอร์เบอร์ตัน, ไนเจล. ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับกะทัดรัด. กรุงเทพฯ : สำนักหนังสือไต้ฝุ่น, 2556

“ศาลในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนการปฏิรูปการศาลไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและการสถาปนากระทรวงยุติธรรม”. ศาลฎีกา. ออนไลน์. เข้าถึงเมื่อ 8 พ.ค. 2562. <http://www.supremecourt.or.th/webportal/supremecourt/content.php?content=component/content/view.php&id=81>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์เมื่อ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2562