พลับพลาเปลื้องเครื่อง “เรือนฐานันดรสูง” วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อกระบวนพยุหยาตราสถลมารคแห่ถึงวัดบวรนิเวศวิหาร เทียบพระราชยานพุดตานทอง ณ เกยพลับพลาเปลื้องเครื่อง แล้วพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นบนพลับพลา ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ 7 ธันวาคม 2506 (ขอบคุณภาพจากเพจ: เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ)

พลับพลาเปลื้องเครื่องวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นอาคารทรงโรงแบบไทยประเพณี มีขนาดเล็ก ก่อผนังทึบทั้ง 4 ด้านมีประตุและหน้าต่าง ตามหน้าที่ใช้งานคือ การเปลี่ยนเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์ ส่วนหลังคาลดชั้น 2 ชั้น มีเครื่องลำยองประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ และรวยระกาเป็นแบบนาคสะดุ้ง แต่ไม่มีคันทวยรองรับชายคา ทั้งนี้อาจเพราะเป็นอาคารขนาดเล็ก

การทำหลังคาซ้อนชั้นอันหมายถึง เรือนฐานันดรสูง รวมทั้งการทำนาคสะดุ้ง แสดงให้เห็นถึง สถานะของผู้สร้างและผู้ใช้คือพระมหากษัตริย์

รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค ในภาพคือบริเวณพลับพลาเปลื้องเครื่อง หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร (ภาพจากประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์, กรมศิลปากร 2550)

ส่วนหน้าบันเป็นงานปูนปั้นประดับตราพระมหามงกุฎพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประดิษฐานบนพานแว่นฟ้า มีฉัตรประกอบทั้ง 2 ข้าง และมีเทวดาพนมมือทั้ง 2 ข้าง

รูปแบบอาคารดังกล่าวนี้มีลักษณะเช่นเดียวกับ พระที่นั่งไชยชุมพล พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ในพระบรมมหาราชวัง และพลับพลาเปลื้องเครื่องวัดพระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม สันนิษฐานว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนราชสีห์วิกรม ซึ่งเป็นช่างผู้รับสนองพระราชดำริในรัชกาลที่ 4 ทรงเป็นผู้ออกแบบ

พลับพลาเปลื้องเครื่องวัดบวรนิเวศวิหาร

คัดข้อความจาก : หนังสือ ศิลปกรรมวัดนิเวศวิหาร, 2556. และขอขอบคุณภาพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จากเพจ: เล่าเรื่อง..วัดบวรฯ)

เส้นทาง “กระบวนพยุหยาตราสถลมารค” สู่วัดบวรนิเวศฯ: Matichon TV