การเสด็จฯ เลียบพระนครจากให้ปชช.ชมพระบารมี ถึงนมัสการพระรัตนตรัย

รัชกาลที่ 6 เสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครทางสถลมารค ในภาพคือบริเวณพลับพลาเปลื้องเครื่อง หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร (ภาพจากประมวลภาพประวัติศาสตร์ไทย พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์, กรมศิลปากร 2550)

ศาสตาจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ อุปนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีความสนใจค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์กล่าวว่า เนื่องจากการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในอดีตหรือแม้กระทั่งในรัชกาลปัจจุบันนี้ที่จะเกิดขึ้น พระราชพิธีส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในพระบรมมหาราชวัง ในหมู่พระมหามณเฑียร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จํากัด ไม่สามารถรองรับผู้ที่เข้าไปเฝ้าฯ ได้เป็นจํานวนมาก อีกทั้งเมื่อคํานึงว่าในสมัยก่อน การรับรู้ ข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็ยิ่งน้อยกว่ายุคปัจุบันที่ ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีเครื่องมือ ไลน์ เฟซบุ๊ก

“ครั้งนี้น่าจะเป็นหนแรกของประเทศไทยที่มีการถ่ายทอดโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจสู่สายตาประชาชน ในขณะที่เกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง เพราะฉะนั้น ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกที่ผ่านมา ความรับรู้ของประชาชนในพระนคร ยิ่งต่างจังหวัดก็ยิ่งไม่กว้างขวางเท่าปัจจุบัน ในแบบแผนแต่เดิมมา การเสด็จฯ เลียบพระนครจึงเป็นโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในพระราชพิธี ได้ชื่นชมพระบารมี ได้ถวายพระพรชัยมงคล”

“อย่างไรก็ตาม ในยุคแรกที่เดียวการเสด็จฯ เลียบพระนครไม่มีที่หมายปลายทาง คือเสด็จฯ ออกจากพระบรมมหาราชวังไปตามเส้นทางที่กําหนด และเสด็จฯ กลับเข้าพระบรมมหาราชวัง ด้วยวัตถุประสงค์หลัก คือให้ประชาชน ได้เฝ้าฯ ชมพระบารมี”

“แต่เมื่อถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงพระผนวชมานาน 27 ปี การพระราชพิธีทั้งหลายทรงเพิ่มเติมเรื่องของพระพุทธศาสนาลงไปให้มีความเด่นชัด มีพระราชดําริว่าการเสด็จฯ เลียบพระนครนั้น แทนที่จะเสด็จฯ ไปอย่างไม่มีที่หมายปลายทาง ได้ทรงกําหนดให้มีที่หมายไปตามพระอาราม สําคัญต่างๆ เพื่อไปทรงบําเพ็ญพระราชกุศล เป็นต้น”

เมื่อเป็นเช่นนี้ ในรัชกาลต่อๆ มา การเสด็จฯ เลียบพระนครทางบกที่เรียกว่า สถลมารค และทางน้ำ ที่เรียกว่า ชลมารค จึงกําหนดให้มีรายการเสด็จฯ ไปยังพระอารามสําคัญ สถลมารค มีสองพระอาราม คือ วัดบวรนิเวศวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ส่วนชลมารค ได้แก่ วัด อรุณราชวราราม โดยในรัชกาลปัจจุบัน จะเสด็จฯ เลียบ พระนครสถลมารคไปยังสามพระอาราม คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ส่วนการเสด็จฯ เลียบพระนครชลมารคไปยังวัดอรุณราชวรารามจะมีในช่วงปลายปี

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ประธานอนุกรรมการด้านสารัตถะและสร้างสรรค์ผลิตสื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 กล่าวว่า

“พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ จะมีลักษณะคล้ายพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 6 และรัชกาล ที่ 9 เป็นหลัก โดยเพิ่มรายละเอียดจากที่ประกาศเป็นพุทธศาสนูปถัมภก ที่พระอุโบสถวัดพระแก้วแล้ว จะไม่ได้เสด็จฯ ไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเลย แต่เพิ่มการเสด็จฯ ไปปราสาทพระเทพบิดร แล้วจึงเสด็จฯ ไปพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท รวมทั้งการเสด็จฯ เลียบพระนคร ที่รัชกาลอื่นจะเสด็จฯ ไป 2 วัด

แต่ในรัชกาลที่ 10 เพิ่มเป็น 3 วัด คือ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จสังฆราชประทับ และเป็นวัดประจํารัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ขณะที่วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ทรงจําพรรษา 14 ปี รัชกาลที่ 6 รัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 ทรงจําพรรษาที่นี่ทั้งสิ้น และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เป็นวัดประจํารัชกาลที่ 1 ซึ่งมีความสําคัญเช่นเดียวกัน”


ข้อมูลจาก

ฉบับพิเศษ “บรมราชาภิเษก” สัมภาษณ์ ศาสตาจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ในหนังสือพิมพ์มติชน, ข่าวสด วันที่ 1 พฤษภาคม 2562

ฉบับพิเศษ “บรมราชาภิเษก” สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. หม่อมราชวงศ์ สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์  ในหนังสือพิมพ์มติชน, ข่าวสด วันที่ 30 เมษายน 2562