พัฒนาการการเสด็จออกมหาสมาคมสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก 2562 ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้ นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยมหาดเล็กเชิญเครื่องอิสริยราชูปโภคตามตำแหน่ง เสด็จออกมหาสมาคม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก/กระทรวงวัฒนธรรม)

การเสด็จออกมหาสมาคมคือพระราชพิธีเสด็จออกรับการถวายพระพรชัยมงคลจากคณะบุคคลกลุ่มต่างๆ อาทิ พระบรมวงศานุวงศ์ คณะรัฐมนตรี ผู้แทนรัฐสภา ทูตานุทูต ผู้นำทางศาสนา ข้าราชการ และประชาชน เนื่องในการพระราชพิธีสำคัญต่างๆ หรือในโอกาสสำคัญของชาติ

สำหรับการออกมหาสมาคมในการพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ พระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จะมีขึ้น ณ สถานที่ในพระบรมมหาราชวัง พระราชวัง และพระที่นั่งซึ่งอาจจัดสร้างขึ้นเป็นการชั่วคราวในมณฑลพิธี ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

การเสด็จออกมหาสมาคมในครั้งก่อนหน้านี้ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงเครื่องบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ ทรงพระมหาพิชัยมงกุฎ ประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ บนพระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร แวดล้อมด้วยมหาดเล็กเชิญเครื่องอิสริยราชูปโภคตามตำแหน่ง เสด็จออกมหาสมาคม ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ ท้องพระโรง พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย

(พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ : เป็นพระราชบัลลังก์ทองขนาดย่อม ทำด้วยไม้แกะสลักปิดทอง มีรูปครุฑและเทพนม แกะสลักประดับเรียงรายโดยรอบฐานทั้ง 2 ชั้น เมื่อมีพระราชพิธีจะเชิญมาทอดบนพระราชบัลลังก์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตรอีกชั้นหนึ่งเรียกว่า “พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์”

พระมหากษัตริย์จะเสด็จขึ้นประทับบนพระราชบัลลังก์นี้ในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาเพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคล เมื่อใช้เป็นพระราชยาน เรียกว่า“พระราชยานพุดตานทอง” ใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค)

ในการเสด็จออกมหาสมาคม เจ้าหน้าที่เชิญพระราชพาหนะมาเทียบที่เกย และท่าน้ำ ตามโบราณราชประเพณี ได้แก่ พระที่นั่งราเชนทรยาน (พระราชยานที่มีบุษบก ใช้คนหาม 56 คน เป็นที่ประทับเมื่อเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพระราชอิสริยยศในพระราชพิธีสำคัญ เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก) พระยาช้างต้น เทียบที่เกยหน้าพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ พระยาม้าต้น เทียบที่สนามหญ้าหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท รถยนต์พระที่นั่งเทียบที่หน้าอัฒจันทร์พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เทียบที่ท่าราชวรดิฐ

รายละเอียด

การพระราชพิธีช่วงนี้ถือว่าเป็นการพระราชพิธีเบื้องปลาย ซึ่งแต่ละรัชกาลมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เช่น เดิมการเสด็จออกมหาสมาคมโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ และขุนนางทั้งฝ่ายทหารและพลเรือนเข้าเฝ้าฯ เพื่อรับการถวายราชสมบัติ จากนั้นท้าวนางกราบบังคมทูลถวายสิบสองพระกำนัล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ยกเลิกพิธีส่วนนี้ มีเพียงการถวายพระพรชัยมงคลจากขุนนางฝ่ายหน้าและข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายในเท่านั้น

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงประทับพระที่นั่งบุษบกมาลา เสด็จออกมหาสมาคม ณ มุขเด็จหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาท เฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล

ในรัชกาลที่ 6 โปรดให้ทำพิธีประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภกในพระบวรพุทธศาสนา ซึ่งทำสืบมาในรัชกาลที่ 7 และรัชกาลที่ 9 (รวมถึงรัชกาลที่ 10)

ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พ.ศ. 2562 หมายกำหนดการเสด็จออกมหาสมาคม ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ทรงรับการถวายพระพรชัยมงคลจากพระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ จากนั้นเสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ ไปยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อทรงประกาศพระองค์เป็นพุทธศาสนูปถัมภก


อ้างอิง

หนังสือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก. จัดพิมพ์โดยกระทรวงวัฒนธรรม