พระราชหัตถเลขา “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ถึง “แอนนา เลียวโนเวนส์”

ที่ ๑๐๘                                                                                          พระบรมมหาราชวัง

                                                                                                        กรุงเทพฯ

๑๒ พฤษภาคม ๑๘๖๔

ถึง

เลดี้ เลียวโนเวนส์

มาดามผู้เป็นที่รัก

     ฉันขอแจ้งให้เธอทราบว่า ฉันย่อมจะมีอำนาจเป็นสิทธิขาดแก่ตัวที่จะเข้าไปสอบสวนทวนความในเรื่องของหญิงทาสทั้งสอง, ที่เธอร้องเรียนมายังฉัน, ชื่อแม่แฉ่งกับแม่แดงเรียงตัวกัน: หญิงทาสที่กล่าวชื่อมานี้ เดี๋ยวนี้เป็นของคุณแพ, เป็นลูกของพ่อแม่ที่เป็นทาสมาแต่เดิม, เกิดมาในบ้านของบิดาคุณแพคนที่ว่านี้ ส่วนตัวฉันเองนั้น, ถึงจะเป็นเจ้าแผ่นดินของชาวสยามก็จริง, ที่จะไปถอดถอนหญิงดังกล่าวทั้งสองจากข้อผูกมัดให้รับใช้สอยนายที่ถูกต้องตามบทกฎหมายแล้ว ก็ย่อมจะเป็นการล่วงล้ำกฎหมายแลธรรมเนียมของชาวสยามหนักหนาทีเดียว, หรือว่าจะช่วยเอื้อเฟื้อให้เธอไปซื้อหาหญิงทาสดังกล่าวมาแล้วค่อยปล่อยไปโดยไม่ได้ขอความยินยอมพร้อมใจจากคุณแพผู้เป็นนายเสียก่อน ก็เห็นเป็นการอุกอาจหนักหนาเท่ากัน. แต่เธอจะแวะไปเยี่ยมคุณหญิงผู้มีชื่อนั้นด้วยตัวเธอเองก็ย่อมทำได้, เชื่อว่าเธอคงได้มาเป็นแน่ ด้วยสติปัญญาแลด้วยการพูดจาหว่านล้อมชักชวน ขอซื้อหญิงทาสที่ว่าในราคาเงินไม่สูงนัก ลางทีจะสัก 100 บาทรวมกันทั้งสองคน, ให้สมความปรารถนาอันแรงกล้าของตัวเธอ ที่จะปล่อยทาสนั้นให้หลุดเป็นไทแก่ตัวไป

ฉันขอคงเป็นมิตรที่สัตย์ซื่อ

แลเป็นผู้ปรารถนาดีต่อเธอเป็นนิจ

ส.พ.ป. มหามงกุฎ พระเจ้ากรุงสยาม

ปัจฉิมลิขิตส่วนตัวแท้ๆ อย่างเดียว

      เธอคงจะยังจำได้ดอกกระมังว่าครั้งหนึ่ง แต่สามเดือนที่ผ่านมา หรือว่ากว่านั้นสักหน่อย เธอได้พูดให้เราฟังว่า “การมีทาสนั้นย่อมจะเป็นมลทินใหญ่หลวงบนแผ่นดินสยามมิใช่หรือ?” แลฉันได้ค้านคำของเธอ, กับว่ากะเธอว่า การมีทาสอย่างที่มีอยู่ในประเทศของเรานี้ก็มิได้เลวทรามต่ำช้าเช่นอย่างกับทาสแรงงานหลายแบบหลายพวกนักบนเนื้อดินที่ไม่ก่อดอกออกผลอะไร แลในบ่อแร่ลึกใต้พื้นโลก, แลในโรงงานที่ทำการกันไปทั้งผู้ชาย, ผู้หญิง แลแม้เด็กๆ เล็กๆ, อย่างที่เดี๋ยวนี้มีอยู่ชุกชุมไปในประเทศที่จำเริญยิ่งแล้วในทวีปยุโรป: แลเธอได้ออกปากให้เราฟังอย่างแน่แก่ใจนัก, ว่า “ไม่มีประเทศไหนดอกที่มีหรือปล่อยให้ขายคนกันได้ในตลาดเพื่อเงินทองจะอาจเป็นประเทศยิ่งใหญ่สำคัญได้.” ตอนนี้ฉันอยากให้เธอตริตรองเสียให้ดี แล้วตอบมา จะโดยทางหนังสือ หรือโดยวาจาก็ได้ทั้งสิ้น, ในข้อที่เธอรู้ดีเป็นที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลย คือที่ว่า เป็นเรื่องเหมาะเรื่องควร หรือเป็นผู้เป็นคนกว่าหรือหาไม่ กับที่จะซื้อแลถือครองทาสทั้งชายแลหญิง, หรือตลอดกระทั่งทั้งครอบครัว, พวกแรก คือของพวกทาสเชลย จับมาเมื่อมีสงครามกับบ้านเมืองใกล้เคียง, พวกที่สอง คือทาสขบถที่หมดความเป็นไทแก่ตัวไปเพราะทรยศแลไม่ภักดีต่อพระเจ้าแผ่นดินผู้ปกครองอยู่, พวกที่สาม ครัวราษฎรสามัญตลอดทั้งครัวที่เกิดมาแต่ไพร่ในที่ของเจ้านายแลขุนนางผู้ดี, พวกที่สี่, พวกทาสลูกหนี้ อันได้แก่ เงินที่ให้หยิบยืมไปแก่พ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย, ยังไม่ได้ใช้คืน. นายของบรรดาทาสทั้งปวงเหล่านี้ ซึ่งก็มีอยู่มากมายในประเทศของเรา ต่างก็เอาใจใส่ดูแลความมีความเป็นของทรัพย์สินของเขา, จะมีที่ยกไว้บ้างก็แต่น้อยรายดอก, แลเต็มใจเกื้อหนุนให้ปันข้าวของสารพัดบรรดาที่ว่าจะอยู่ดีมีสุขแล้วก็จำต้องมีต้องได้, มีข้าวปลาอาหารไว้กิน, ผ้าผ่อนทำผ้านุ่ง, กระต๊อบไม้ไผ่สำหรับอยู่อาศัย, แลแม้กระทั่งให้เรียนวิชาในสำนักสอนที่มีตั้งตามวัด แลจากอารามเอง กับทั้งบรรดาการละเล่นสนุกแลการประชันขันแข่งต่างๆ นานาอย่างที่ทำที่เล่นกันตามชอบใจในหมู่คนสามัญของพวกเรา, ดั่งนี้มาจนแม้ทุกวันนี้: ก็นั่น ย่อมดีกว่าหรือหาไม่ กับการที่เป็นคนฟรี ไม่ต้องขึ้นกับใคร แล้วก็จากผู้คนทั้งหลายไปอยู่ใต้ส้นของกัมปนีใหญ่ๆ, หรือของเหล่าจ้าวมหาชีวิตการโรงจักรกับบรรดาพวกเป็นข้าหลวงต่างหูตา, หรือของพวกจ้าวน้อยใหญ่ของโรงงาน, โดยว่าจะต้องทำงานแสนสาหัส จนถึงว่าจะเป็นเด็กเล็กๆ ก็เถิดเล่า จนดึกจนดื่น, ตามค่าจ้างต่ำจนสุด, มากมายเหลือหลายนักก็ไปยัดทะนานอยู่ในกระต๊อบเดียว, หรือกระทั่งว่าในห้องเดียว, ก็ในบรรดาเมืองที่จำเริญรุ่งเรืองของเธออย่างลอนดอน, แมนเชสเตอร์, กลาสโกว นั้นแล. ก็คนงานอย่างนั้น ที่จะหาของกินมาอุดหนุนจุนเจือครอบครัวอย่างนั้น ก็มักไม่พออยู่ร่ำไป จนหลายคนก็ต้องแขวนท้องทนหิว แลอยู่ในฐานะที่เสื่อมทรามต่ำช้าเช่นนั้น จนเหล่าพวกผู้ชาย, แลถึงแต่ผู้หญิงเองก็เถิด ก็ต้องร่อนไปเหล้าเข้ม หรือวิสกี้ หรือจนบรั่นดีเพื่อผ่อนทุกขเวทนา แลความเหนื่อยยากที่จำทนอยู่. แล้วอย่างนี้ ก็การเป็นอย่างไหนกันเล่าที่เธอเห็นว่าจะดีกว่ากัน? เธอคงไม่ค้านความสัตย์ความจริงในคำที่ฉันชี้ให้เห็นมานี้เลย, แลคงเสนอความเห็นของเธอในเรื่องที่ว่ามาทั้งนี้มาอย่างไม่ต้องปิดๆ บังๆ อะไร, แล้วไม่ใช่อย่างที่พวกมิชชันนารีได้ทำไปด้วยอคติ หรือเหมือนอย่างกับผู้หญิง ส่วนมากเลย. ในคำสอนตามพระธรรมของฝ่ายเรา คือในพระธรรมบท, อันเป็นไบเบิลของพุทธศาสนิก, ก็หาได้มีข้ออนุญาตให้ใช้ทาสอย่างที่ถือปฏิบัติกันในคัมภีร์เก่าที่มีมาจากพวกยิวไม่. ถึงว่าพระธรรมของพุทธศาสนาจะเก่าแก่มาก่อนคริสตกาลก็ดี, แล้วเธอ ก็จะต้องเอามาไตร่ตรองเสียด้วยว่า แม้ศาสนาคริสต์เองที่จะได้ช่วยยกเลิกการใช้ทาสแต่อย่างไรก็เปล่า. บรรดาชาติคริสเตียนทั้งหลายต่างก็สร้างตัวให้มั่งคั่งหากำไรจากการ ค้าขาย. อังกฤษเองก็เถิดก็ยิ่งไม่ยกเว้นไว้ได้เลยว่าได้มีทาส พอกับที่มีเรือค้าทาส ฯลฯ  ฯลฯ เช่นกันนั้นเอง, มาจนเกือบจะถึงประจุบันนี้อยู่แล้ว จะยกตัวอย่างให้เห็น สงคราม ในอเมริกาก็เป็นเรื่องหนึ่ง. ก็เหมือนอย่างที่ฉันเคยบอกกล่าวกะเธอมาแล้วเมื่อก่อนนี้ที่เราได้พูดคุยกันเรื่องกิจการบ้านเมืองที่หน้าท้องพระโรงพระบรมมหาราชวัง ว่า ฉันเองก็จะยกเลิกการมีทาสในราชอาณาจักรสยามอย่างไม่ลังเลใจเลย เช่นกับความปรารถนา ที่เธอสำแดงออกมานั้นเอง เพื่อว่าจะได้เป็นหมายสำคัญแห่งรัชกาลของฉัน, แต่ก็อย่าง ที่ฉันบอกมานี่แหละ ถึงจะเป็นการจำเพาะแก่เธอคนเดียวก็เถิดว่า ราษฎรทั่วไปไม่ได้ปลาบปลื้มในตัวฉันแลเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ลูกศิษย์ที่รักของเธอนักดอก หากปลาบปลื้มดื่มด่ำกับครอบครัวอื่นที่น่ารักน่าชื่นชมเสียยิ่งกว่า: ถึงว่าฉันจะไม่ได้ทำอะไรให้เป็นที่ขัดแย้งแก่ราษฎร หรือที่ไม่เป็นผลดีแก่ความผาสุกของราษฎรเลยก็จริง: พวกเขาก็คงจะเห็นเป็นแน่แท้ว่าการกระทำของฉันนั้น ทำไปด้วยถือเอาอำเภอใจเป็นที่ตั้ง แลเป็นการล่วงล้ำก้ำเกินบทบัญญัติกฎหมายส่วนมากแลธรรมเนียมโบราณของคนสยาม ไม่ต้องสงสัยเลย. เพราะเหตุดั่งนี้ ถึงบัดนี้เธอก็คงจะเข้าใจได้แล้วกระมังว่า จะเป็นการดีแท้แก่ฉันสักเท่าใดที่จะทำการต่างๆ ไปโดยรอบคอบ คือมองเสียให้รอบตัวก่อน แลไม่ยอม บ้ายุบ้ายอให้เดินผลีๆ ผลามๆ ถลำไปตามคำแนะนำที่แข็งแรงนักของคนใจบุญคนหนึ่งคนใดเลย ไม่ว่าคำแนะนั้นจะได้จัดแจงแต่งไว้ให้ดูเป็นที่วิเศษสักปานใดก็ดี

ฉันขอคงเป็นมิตรที่สัตย์ซื่อ

แลเป็นผู้ปรารถนาดีต่อเธอเป็นนิจ

(ลงพระนาม) ส.พ.ป. มหามงกุฎ พระเจ้ากรุงสยาม

ผู้เขียนข้อความมาทั้งนี้ คงไว้วางใจในตัวเธอเสมอ


๑ เวลานั้นเรายังคงเรียกชื่อเดือนตามภาษาอังกฤษจนมาถึงรัชสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้คิดคำเป็นชื่อไทยขึ้น: เพื่อให้ง่ายแก่ความเข้าใจในการแปลจึงแปลไปตามชื่อที่บัญญัติใช้กันต่อมา. อนึ่ง ที่คงใช้คริสต์ศักราชแทนที่จะแปลงเป็นพุทธศักราชนั้น ก็ด้วยเหตุผลว่า ในเวลานั้นการนับปีมีลักลั่นกันอยู่, จึงคงไว้เพื่อมิให้เป็นที่สับสน-ผู้แปล