Westernization ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช แตกต่างจากโบราณราชประเพณีอย่างไร?

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ประทับพระราชอาสน์ ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2454

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นโบราณราชพระเพณีที่สำคัญของพระมหากษตัริย์ไทยมาทุกยุคทุกสมัย กระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริให้จัด “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช” นับเป็นครั้งแรกที่มีการ “ตีความ” พระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้สอดคล้องกับยุคสมัยใหม่ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์

รัชกาลที่ 6 ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ในพระราชจักรีวงศ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ภายหลังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 สวรรคต โดยทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน

รัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่ได้เสด็จฯ ทรงศึกษาวิชาการแบบตะวันตก ณ ประเทศอังกฤษ ระหว่างทรงศึกษาที่ต่างประเทศ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจเป็นผู้แทนพระองค์รัชกาลที่ 5 เสด็จฯ ในงานพิธีหรือพระราชพิธีสำคัญ ๆ ในต่างประเทศ เช่น พระราชพิธีราชาภิเษกพระเจ้ากรุงสเปน และพระราชพิธีพัชราภิเษกสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร

ดังนั้น รัชกาลที่ 6 จึงทรงมีพระราชปฏิสัมพันธ์กับพระประมุขและพระราชวงศ์ต่างประเทศอย่างแน่นแฟ้น กอปรกับทรงได้รับการศึกษาตามแบบตะวันตกจึงทำให้พระองค์ได้รับแนวความคิดวัฒนธรรมตะวันตกอยู่มาก ผศ. ดร. ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชสมัยนั้น รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริว่า “Coronation” คือวิธีการเผยแผ่เกียรติยศของชาติ

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พุทธศักราช 2454 (ภาพจาก หนังสือพระราชพิธีบรมราชาภิเษก)

ความแตกต่างของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกทั้งสองครั้ง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่ 6 จัดขึ้นวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2453 ไม่กี่วันหลังจากวันสวรรคตของรัชกาลที่ 5 และเนื่องจากยังอยู่ในช่วงการไว้ทุกข์จึงทำให้จัดพระราชพิธีอย่างย่นย่อ ไม่ได้เชิญแขกจากต่างประเทศมาร่วมในพระราชพิธี

รัชกาลที่ 6 ทรงออกพระนามเรียกพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียร” และครั้งที่สองทรงออกพระนามเรียกว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช”

สยามขณะนั้นได้มีการสร้างความเป็นรัฐชาติที่สืบเนื่องมาจากรัชกาลก่อนหน้า จึงทำให้บริบทหลายประการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลสมัย  ดังนั้น รัชกาลที่ 6 จึงตั้งพระราชหฤทัยให้พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเป็นพระราชพิธีครั้งสำคัญของประเทศ และเชิญผู้แทนจาก 14 ประเทศเข้าร่วม ซึ่งเป็นพระบรมราโชบายอันเป็นนัยยะของการประกาศความเป็นรัฐสมัยใหม่ของสยาม (ในบทความต่อจากนี้จะใช้คำว่า พระราชพิธีครั้งแรก และ พระราชพิธีครั้งที่สอง เพื่อความสะดวก – ผู้เขียน)

เจ้าชายวิลเลียม แห่งสวีเดน (ประทับพระเก้าอี้ขวาสุด) ทรงฉายร่วมกับพระราชวงศ์ที่เสด็จมาร่วมในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชพระบาทสมเด็จพระมกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถานที่ประกอบพระราชพิธี

พระราชพิธีครั้งแรกจัดขึ้น ณ หมู่พระมหามณเฑียร แต่ครั้งที่สองจัดขึ้น ณ หมู่พระมหาปราสาท คือ  พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทและวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นสำคัญ ผศ. ดร. ชัชพล อธิบายว่าเหตุที่ไม่ได้จัดพระราชพิธีที่เดิมเพราะรัชกาลที่ 6 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์แล้ว ไม่จำเป็นต้องประกอบพระราชพิธีในหมู่พระมหามณเฑียรตามโบราณราชประเพณี จึงสะท้อนให้เห็นพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงไม่ต้องการให้พระราชพิธีทั้งสองครั้งเหมือนกัน

พิธีสรงพระมุรธาภิเษก

พิธีสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีครั้งแรกถือเป็นพิธีที่สำคัญที่สุดของการเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ คือการรดน้ำตามคติพราหมณ์ ระหว่างพิธีจะมีการยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค ตามกำลังวัน ยิงปืนใหญ่ 101 นัด และย่ำระฆัง 7 ลาในวัดทั่วพระราชอาณาจักร แต่ในพระราชพิธีครั้งที่สอง รัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริให้ยิงปืนมหาฤกษ์ มหาชัย มหาจักร มหาปราบยุค ตามกำลังวัน ยิงปืนใหญ่ 101 นัด และย่ำระฆัง 7 ลาในวัดทั่วพระราชอาณาจักร ขณะที่ทรงรับเครื่องขัตติยราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง อันเป็นขั้นตอนถัดจากพิธีสรงพระมุรธาภิเษก และพิธีรับน้ำอภิเษก

พระราชพิธีราชาภิเษกในต่างประเทศส่วนใหญ่ก็จะให้ความสำคัญกับการสวมมงกุฎ ดังนั้น การปรับขั้นตอนการยิงปืนและลั่นระฆังเหล่านี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า รัชกาลที่ 6 ทรงปรับเปลี่ยนแบบแผนพระราชพิธีให้เป็นแบบตะวันตกเพื่อให้บรรดาผู้แทนจากต่างประเทศเข้าใจพระราชพิธีนี้ง่ายมากยิ่งขึ้น เพราะชาวต่างชาติไม่ได้เข้าใจเรื่องพิธีสรงพระมุรธาภิเษก แต่จะเข้าใจเรื่องการสวมมงกุฎมากกว่า

พิธีรับน้ำอภิเษก

ในพระราชพิธีครั้งแรก รัชกาลที่ 6 ทรงรับน้ำอภิเษกที่พระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ภายใต้พระสัปตฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 7 ชั้น) ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในหมู่พระมหามณเฑียร แต่เมื่อผ่านพระราชพิธีนั้นมาแล้วก็ทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ ต้องได้รับการถวายกางกั้นด้วยพระนพปฎลเศวตฉัตร (ฉัตร 9 ชั้น)

ดังนั้น จึงมีพระราชดำริให้พิธีรับน้ำอภิเษกในพระราชพิธีครั้งที่สองที่มณฑลพิธีชั่วคราว ณ พระที่นั่งอัฐทิศภายใต้พระนพปฎลเศวตฉัตร บริเวณรักแร้พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเหตุที่ไม่ใช้คำว่า “มหา” เศวตฉัตร เนื่องจากไม่ใช่เศวตฉัตรประจำพระที่นั่ง

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับน้ำอภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช พ.ศ. 2454 (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

พระที่นั่งภัทรบิฐ

ในพิธีถวายเครื่องขัตติยราชกกุธภัณฑ์ ขัตติยราชวราภรณ์ และพระแสง ในพระราชพิธีครั้งแรกจัดขึ้น ณ พระที่นั่งภัทรบิฐภายใต้พระสัปตฎลเศวตฉัตร ในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ แต่ในพระราชพิธีครั้งที่สองจัดขึ้นที่ ณ พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ (พระที่นั่งมหาเศวตฉัตรรัตนสิงหาสน์) ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์ให้นำพระแท่นมนังคศิลามาประกอบกับฐานอีกชั้นหนึ่งแล้วพระราชทานนามเรียกใหม่ว่า “พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์” พระแท่นมนังคศิลาเป็นพระแท่นของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงอัญเชิญมาจากสุโขทัย ซึ่งสะท้อนแนวคิดว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีสิทธิธรรมที่สืบเนื่องมาแต่วงศ์สุโขทัย

คติพระราชบัลลังก์จากประเทศอังกฤษ

The Coronation Chair หรือพระราชบัลลังก์กษัตริย์เอ็ดเวิร์ด ประเทศอังกฤษ

The Coronation Chair หรือพระราชบัลลังก์กษัตริย์เอ็ดเวิร์ด (King Edward’s Chair) ซึ่งเป็นพระราชบัลลังก์ที่ใช้ในพิธีราชาภิเษกของประเทศอังกฤษ พระราชบัลลังก์องค์นี้ที่ฐานจะมีหินแห่งสโคน (Stone of Scone) หรือที่เรียกกันว่าหินแห่งโชคชะตา (Stone of Destiny) ซึ่งเป็นแท่นหินของกษัตริย์จากสกอตแลนด์ แล้วนำมาประกอบพระราชบัลลังก์ ดังนั้น จึงมีวิธีการหรือแนวความคิดที่คล้ายคลึงกับพระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของไทยในอดีตได้มีการใช้หนังราชสีห์มาปูลาดบนพระที่นั่ง ตามคติของพราหมณ์เรื่องไกรสรราชสีห์ และเชื่อว่า องค์พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระเกียรติยศอันสูงยิ่ง เมื่อประทับบนพระที่นั่งที่มีหนังราชสีห์ปูลาด

ครั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในกรุงรัตนโกสินทร์ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้แผ่นทองคำสลักลายราชสีห์แทน แต่ครั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชในรัชกาลที่ 6 ก็ได้นำหนังราชสีห์มาปูลาดพระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ ซึ่งพระราชบัลลังก์กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดแห่งประเทศอังกฤษก็มีราชสีห์ที่ฐาน จึงเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงคติความเชื่อเรื่องราชสีห์ที่คล้ายคลึงกัน

“พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์” ปูลาดด้วย “หนังราชสีห์” ภายในพระที่ดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ 6 ครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ดังนั้น พระที่นั่งภัทรบิฐมนังคศิลารัตนสิงหาสน์ จึงแฝงได้ด้วยองค์ความรู้หลายอย่างที่ผูกคติพราหมณ์  แนวความคิดและประวัติศาสตร์อังกฤษ และประวัติศาสตร์ไทย เข้าไว้รวมกัน จึงสะท้อนให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพของรัชกาลที่ 6

เสด็จออกมหาสมาคม

รัชกาลที่ 6 เสด็จออกมหาสมาคมในพระราชพิธีครั้งแรก ณ พระแท่นราชบัลลังก์ภายใต้พระนพปฎลมหาเศวตฉัตร (หรือเรียกว่าพระแท่นมหาเศวตฉัตร) พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยมไหยสูรยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร แต่พระราชพิธีครั้งที่สอง เสด็จออกมหาสมาคมที่บุษบกบนมุขเด็จพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ให้พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร และผู้แทนจาก 14 ประเทศเข้าเฝ้าถวายพระพรชัยมงคล

บรรดาผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ได้บันทึกเหตุการณ์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภช ทั้งยังยกย่องรัชกาลที่ 6 และสยามไว้มากมาย เช่น Ivan de Schaeck ราชองครักษ์ของแกรนด์ดุกบอริส (Grand Duke Boris Vladimirovich of Russia) ผู้แทนพระองค์จากประเทศรัสเซียได้มีบันทึกไว้ว่า

ขณะที่ เจ้าชายวิลเลียมแห่งสวีเดน (Prince William of Sweden) ผู้แทนพระองค์จากประเทศสวีเดนทรงบันทึกไว้ว่า “ทุกพิธีเฉลิมฉลองของโบราณแต่ดั้งเดิมนั้นเป็นของแท้ และมีความเป็นเลิศไม่มีใครเทียบเท่า คาดว่าความอลังการที่คู่ควรพระราชอิสริยยศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยราษฎร 6 ล้าน 5 แสนคน และอากาศร้อนจัด คงก่อให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นแก่ประชาชนและประเทศชาติได้”

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชเป็นพระราโชบายของรัชกาลที่ 6 สมดั่งที่ตั้งพระราชหฤทัยที่มีพระราชประสงค์แสดงให้นานาอารยะประเทศเห็นว่าสยามมีความเจริญทัดเทียมโลก มีความเป็นอารยะแต่ก็สูงส่งด้วยพระราชประเพณีที่งดงามและทรงคุณค่า