ชาวบ้านบริเวณปราสาทพระวิหาร บูชาเขาพนมดงรักในฐานะภูเขาศักดิ์สิทธิ์

ภูเขาที่เห็นเป็นที่ตั้งของปราสาทพระวิหาร ปลายด้านซ้ายมือเป็นหน้าผาตัดลงไป


ความเชื่อในการบูชาภูเขาเป็นความเชื่อดั้งเดิมแต่โบราณ

ธิดา สาระยา ได้อธิบายไว้ว่า การเคารพนับถือปราสาทพระวิหารสะท้อนถึงรากทางความเชื่อดั้งเดิมในการนับถือผี (Spiritual Worship) และความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ (Animistic Belief) ที่ผนวกเข้ากับการนับถือพระศิวะในศาสนาพราหมณ์

กล่าวคือ การนับถือผีบรรพบุรุษเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อในการบูชาผี คนโบราณเชื่อว่าชีวิตยังคงดำรงอยู่หลังความตาย จึงพยายามหาทางที่จะเชื่อมโยงติดต่อระหว่างผู้ที่ตายแล้วกับผู้ที่ยังมีชีวิต เพื่อให้พลังอำนาจของผู้ที่ตายไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรพบุรุษมาช่วยเหลือคุ้มครอง ดังเห็นได้จากการสร้างปราสาทของเขมรเพื่อบูชาบรรพบุรุษหรือการสถาปนาศิวลึงค์เพื่อเป็นตัวแทนของกษัตริย์

ส่วนความเชื่อเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติ เป็นความเชื่อที่เชื่อว่าสิ่งต่างๆ มีวิญญาณที่เป็นอำนาจเหนือธรรมชาติสิงสถิตอยู่ โดยสามารถดลบันดาลให้ความช่วยเหลือคุ้มครองมนุษย์ได้ อำนาจเหนือธรรมชาติเหล่านี้มาจากสิ่งที่มีอยู่โดยธรรมชาติและมีลักษณะที่โดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น ป่าทึบ เขาใหญ่ ต้นไม้สูงอายุนาน และสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์ เช่น ก้อนหิน เนินดิน เป็นต้น เป้าหมายของการนับถือสิ่งเหล่านี้คือ ความต้องการให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ และให้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ ตัวอย่างเช่น ลัทธิในการบูชาภูเขาของพวกเขมรและจาม เป็นต้น ซึ่งเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่ซ้อนทับไปกับการบูชาพระศิวะซึ่งเป็นเจ้าแห่งขุนเขา

กษัตริย์เขมรถือว่าการสร้างศิวลึงค์ที่ศาสนสถานบนภูเขาถือเป็นการเฉลิมฉลองกษัตริย์ และเป็นสัญลักษณ์แห่งการบูชาเจ้าแห่งภูเขาหรือเทวะอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นผีบรรพบุรุษที่สถิตอยู่ ณ ภูเขา

ในขณะเดียวกัน การสถาปนาศิวลึงค์ตามความเชื่อของกษัตริย์เขมรถือได้ว่าเป็นพัฒนาการทางความคิดในการตีความลัทธิการบูชาภูเขาเสียใหม่ ซึ่งเป็นการผสมผสานความเชื่อพื้นเมืองเข้ากับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์

กล่าวคือ กษัตริย์เขมรจะสร้างศิวลึงค์เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอำนาจ บ้างก็สร้างรูปเคารพบรรพบุรุษให้อยู่ในรูปของเทพเจ้า หรือสร้างปราสาทอันเป็นสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุเพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษ โดยนับตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 เป็นต้นมาได้เกิดจารีตในการสร้างปราสาทและศิวลึงค์บนภูเขาหรือการสร้างปราสาทที่มีรูปทรงคล้ายพีระมิดเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนภูเขา

ดังนั้น ในบางกรณีผีบรรพบุรุษของกษัตริย์จึงได้รับการนับถือจากคนส่วนใหญ่ในสังคมสอดคล้องกับความเชื่อดั้งเดิมที่มีอยู่ ในขณะเดียวกันพระเป็นเจ้าและบรรพบุรุษยังสิงสถิตอยู่บนภูเขาเช่นเดียวกับกษัตริย์เมื่อสวรรคตแล้ว ความเชื่อที่ซ้อนทับกันนี้ทำให้กษัตริย์อยู่ในความเชื่อของคนทั้งสังคม และเสริมสร้างพระราชอำนาจและสถานภาพของกษัตริย์อีกด้วย ซึ่งความเชื่อที่ผสมผสานกันนี้รวมเรียกว่า ลัทธิเทวราชา

ในบันทึกของเอเจียน แอมอนิเย ได้แสดงให้เห็นร่องรอยความเชื่อในการบูชาภูเขาของคนท้องถิ่นเช่นกัน ซึ่งอาจจะมีความหมายที่แตกต่างไปจากการบูชาภูเขาตามความเชื่อของชาวเขมรโบราณ ในบันทึกได้กล่าวว่า คนนำทางจากบ้านมึงมะลู (เบ็งเมลู) ได้ทำพิธีกรรมบูชาเทวดาอารักษ์ประจำป่าดงและภูเขาด้วยการตัดเอาใบตองมารวมกันเข้าเป็นแผ่นๆ แล้วมัดติดกับกิ่งไม้ จากนั้นจึงจุดเทียนและคนที่สูงอายุที่สุดได้ไว้วอนเทวดาอารักษ์ประจำป่าดงและภูเขาว่า

“เทพเจ้าทั้งหลาย ขอให้รับทราบว่าพวกเราได้นำคนต่างถิ่นเหล่านี้มาจากเขตล่าง เพื่อมาเยี่ยมชมพระวิหาร ขอบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับโบราณสถาน ขอให้ดูแลรักษาให้พวกเราพ้นจากภัยพิบัติทั้งปวงด้วยเทอญ”

สำหรับข้อมูลในปัจจุบัน นายป่าน กิ่งเกต (เกิดเมื่อ พ.ศ. 2468) ได้เล่าให้ฟังว่าชาวบ้านแถบนี้มีความเชื่อเรื่องผีภูเขากันโดยทั่วไปตัวอย่างเช่น การนับถือว่าเขาตาโสมเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเขาพระวิหาร เชื่อว่าเป็นเขาที่มีผีสิงสถิตอยู่

เหตุการณ์หนึ่งที่เห็นได้ชัดถึงการนับถือผีประจำภูเขาและช่องเขาคือเมื่อปี พ.ศ. 2551 ที่ชาวบ้านในเขตตำบลเสาธงชัยได้เกิดปัญหากับกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย นายเชย มาทอง ได้เล่าให้ฟังว่าทางหมู่บ้านได้มีการเล่นแม่มด โดยมีการทรงตาเฒ่า โดนตวล ตาดี และตาเงิด ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผีที่สิงสถิตอยู่ตามแนวภูเขา ตาเฒ่าคือผีตนเดียวกับช่องตาเฒ่า

ปราสาทโดนตวลตั้งอยู่ใกล้กับหน้าผาที่ใช้แบ่งเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา
ปราสาทโดนตวลตั้งอยู่ใกล้กับหน้าผาที่ใช้แบ่งเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชา

โดนตวลเป็นชื่อของปราสาทอิฐหลังหนึ่งที่สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 16 ชาวบ้านมีตำนานท้องถิ่นว่าปราสาทหลังนี้เป็นที่คุมขังนักโทษ ตาดีเป็นชื่อของบุคคลคนหนึ่งที่เคยอาศัยอยู่ที่หน้าผา (เป้ย) ตรงปราสาทพระวิหารแล้วตายที่นั่น ส่วนตาเงิดเป็นบุคคลคนหนึ่งที่ไปตายที่ภูเขาเช่นกัน นายเตน ตั้งมั่น เป็นชาวเขมรได้เล่าให้ฟังว่าทุกปีจะมีการเข้าทรงตาโสม ตาเฒ่า และโดนตวล ถือกันว่าเป็น “ผีภูตาภูยาย” หรือผีบรรพบุรุษที่สถิตอยู่ที่ภูเขา การรับรู้เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ของภูเขานี้เป็นเรื่องที่บรรพบุรุษรุ่นปู่ย่าตายายเล่าสืบต่อกันมา ในพิธีจะมีการเอาใบไม้ไป “นบ” (ไหว้) เพื่อให้ “อยู่ดีมีแฮง” นอกจากนี้แล้ว ในพิธีกรรมจะมีการทำกองหินขนาดใหญ่เพื่อบูชาอีกด้วย

ดังนั้น กล่าวโดยสรุปได้ว่าชาวบ้านในปัจจุบันยังคงมีการนับถือบูชาภูเขาในฐานะที่เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ที่อาจเป็นวิญญาณของบรรพบุรุษ มีชื่อเรียกกันว่า “ผีภูตาภูยาย” น่าเสียดายที่เราไม่มีข้อมูลว่าชาวเขมรในเขตประเทศกัมพูชามีความเชื่อแบบเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าพรมแดนในสมัยโบราณมีลักษณะเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่าจะสร้างความรู้สึกแบบพรมแดนของรัฐชาติสมัยใหม่ที่สร้างความรู้สึกของการทำผิดกฎหมาย

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ผู้คน บนเส้นพรมแดนเขาพระวิหาร” เขียนโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ (สำนักพิมพ์มติชน, 2556)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2559