เผยแพร่ |
---|
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก “มณฑปพระกระยาสนาน” เป็นสถานที่สำหรับพระมหากษัตริย์สรงสนานในพิธีสรงพระมุรธาภิเษก โดยจะประดิษฐานบริเวณชาลารอยต่อพระที่นั่งไพศาลทักษิณ กับ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง
ในพระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชาธิบายเรื่องสรงพระมุรธาภิเษกว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ อย่างไรก็ตาม การสรงพระมุรธาภิเษกนี้มิได้มีเฉพาะในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่านั้น มีปรากฏในวันพระราชพิธีอื่น ๆ เช่น พระราชพิธีสงกรานต์และวันเถลิงศก พระราชพิธีวันเฉลิมพระชนมพรรษา เป็นต้น
การสรงพระมุรธาภิเษกที่รัชกาลที่ 5 กล่าวถึงในพระราชนิพนธ์นั้นเกี่ยวข้องกับพระราชพิธีสงกรานต์ (ในหัวข้อการพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์) มีพระบรมราชาธิบายการสรงพระมุรธาภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกแต่เพียงประกอบบริบทเท่านั้น แม้จะมิได้มีพระบรมราชาธิบายโดยตรง แต่ในเนื้อความนั้นสามารถนำมาประกอบความรู้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกได้ไม่น้อย
รัชกาลที่ 5 มีพระบรมราชาธิบายว่า พระแท่นสรงในงานพระราชพิธีอื่น ๆ นอกเหนือจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในอดีตจะเป็นพระแท่นแว่นฟ้า มีบัวกลุ่มทาขาวปิดทองตามขอบ ตั้งบนฐานเฉลียงมีพนัก ปักฉัตร เพดานพระแท่นมีแต่ระบายรอบ ไม่ได้ปักเศวตฉัตรสหัสธารา ไม่ได้ใช้ทุ้งสหัสธารา [(หมายถึง น้ำที่ออกมาจากภาชนะคล้ายฝักบัว มีจำนวนนับพันสาย (สหัสหมายถึงหนึ่งพัน)] โดยพระมหากษัตริย์จะทรงตักน้ำในขันมาสรงด้วยพระองค์เอง
พระแท่นสรงพระมุรธาภิเษกนี้มักจะมีรูปทรงแปดเหลี่ยมหรือสี่เหลี่ยม ดังเช่นภาพด้านบนเป็นพระแท่นแปดเหลี่ยม มีเสาสูงขึ้นไปตามรูปทรงของพระแท่น เสาแต่ละด้านจะมีพระวิสูตร มีเศวตฉัตรตั้งอยู่บนหลังเพดานพระแท่น เป็นที่บังถังน้ำสำหรับสหัสธารา
พระราชนิพนธ์ “พระราชพิธีสิบสองเดือน” อธิบายด้วยว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 มีพระราชดำริให้สร้างพระแท่นสรงแบบใหม่ขึ้น เนื่องจากครั้งพิธีสรงพระมุรธาภิเษก ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ 4 ทรงประทับ ณ มณฑปพระกระยาสนาน ปรากฏว่าเจ้าพนักงานจัดการไม่ชํานาญ เมื่อกระตุกเชือกแล้วสหัสธาราไม่ไหลเพราะแป้นขัดเสีย เจ้าพนักงานกระตุกแรงเกินไปเชือกจึงขาด น้ำที่อยู่ด้านบนก็ไม่ได้ไหลงลงมา จึงจำเป็นต้องปีนขึ้นไปเปิด
รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริว่า “พระแท่นเช่นนี้เมื่อจะว่าไป ดูงามยิ่งกว่ามณฑปพระกระยาสนานเสียอีก เมื่อจะตั้งจะประกอบควบคุมก็ง่าย ด้วยเป็นของเบาๆ ทั้งสิ้น เป็นพระราชดําริอันดียิ่งนัก” ฉะนั้นแล้วพระราชพิธีอื่นใดที่จะต้องสรงพระมุรธาภิเษกจะใช้พระแท่นสรงแบบใหม่นี้ ส่วนในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นยังคงใช้มณฑปพระกระยาสนานสืบต่อกันเป็นราชธรรมเนียม
มณฑปพระกระยาสนาน หรือ พระมณฑปพระกระยาสนาน ประดิษฐานบริเวณชาลารอยต่อพระที่นั่งไพศาลทักษิณกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง เป็นสถานที่สรงสำหรับพระมหากษัตริย์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ลักษณะเป็นมณฑปหลังคาเครื่องยอดทรงจอมแห ผนังเปิดโล่ง หุ้มผ้าขาวแต่งด้วยเครื่องทองคำ เพดานดาดผ้าขาว ผูกพระวิสูตรขาวทั้ง 4 ด้าน ภายในมณฑปตั้งตั่งอุทุมพรหรือไม้มะเดื่อซึ่งเป็นไม้มงคล ตั้งบนถาดทองรองน้ำสรง ข้างตั่งไม้อุทุมพรตั้งโต๊ะทอง 2 ชั้น บนโต๊ะตั้งครอบมุรธาภิเษก บนเพดานเป็นที่เก็บน้ำสรงพระมุรธาภิเษกสำหรับสรงผ่านทุ้งสหัสธารา
วันสรงพระมุรธาภิเษกจะตั้งถาดสรงพระพักตร์ วางใบไม้นามวันกาลกิณีสำหรับทรงเหยียบบนฐานมณฑปตั้งราชวัติทรงเครื่องพื้นขาวลายทอง ตั้งฉัตร 7 ชั้นทองแผ่ลวดพื้นโหมดทองเงินนาคทั้ง 4 ด้าน ด้านละ 3 องค์ มีบุษบกน้อยสำหรับประดิษฐานพระชัยนวโลหะทางทิศตะวันออก และประดิษฐานพระมหาพิฆเนศทางทิศตะวันตก
ที่ชาลาทางขึ้นลงทางด้านทิศตะวันออกตั้งศาลพระอินทร์ หน้าศาลพระอินทร์ตั้งโต๊ะเครื่องสังเวยเทวดากลางหาว ที่มุมฐานมณฑปทั้ง 4 มุม ตั้งศาลจัตุโลกบาลพร้อมตั้งเครื่องสังเวยสำหรับบูชาพระฤกษ์ ได้แก่ ทิศตะวันออก ท้าวธตรฐ, ทิศใต้ ท้าววิรุฬหก, ทิศตะวันตก ท้าววิรูปักษ์ และทิศเหนือ ท้าวกุเวร