พระบรมราโชบายทางการทหารของรัชกาลที่ 5 ในฐานะ “กษัตริย์-พ่อ”

การแสดงแสนยานุภาพทางการทหารของกองกำลังสยามบริเวณท้องสนามหลวง (ภาพจาก หนังสือสยามรัฐวัฒนาใต้ฟ้าพระสยามมินทร, โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง ธันวาคม 2551)

การปฏิรูปกองทัพตามอย่างตะวันตกของสยามเริ่มขึ้นตั้งแต่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มแรกของการปฏิรูปกองทัพได้มีการว่าจ้างร้อยเอก อิมเปย์ (Captain Impey) นายทหารกองทัพอังกฤษที่ประจําการอยู่ในประเทศอินเดียเข้ามาเป็นครูฝึกทหารให้แก่กรมทหารอาสาลาวและกรมทหารอาสาเขมร โดยเรียกกองทหารหน่วยนี้ว่า “ทหารเกณฑ์หัดอย่างยุโรป” ต่อมาได้มีนายทหารชาวต่างชาติทั้งชาวอังกฤษ เช่น ร้อยเอก โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ (Captain Thomas George Knox) และชาวฝรั่งเศส เช่น ลามาช (Lamache) เข้ามาเป็นครูฝึกทหาร

ทั้งนี้การฝึกทหารในสมัยนี้ก็เป็นเพียงแต่การฝึกหัดเบื้องต้นยังไม่ได้รับการฝึกหัดในยุทธวิธีการรบแต่อย่างใด รวมถึงจํานวนทหารที่ได้รับการฝึกก็มีจํานวนน้อย หน่วยทหารนี้จึงมีหน้าที่เป็นเพียงกองทหารเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ ยังมิได้เป็นกองทหารที่ทําการรบได้อย่างเป็นรูปธรรม ความรู้เกี่ยวกับการทหารตามอย่างตะวันตกในระยะแรกจึงมีอยู่อย่างจํากัดและต้องอาศัยการถ่ายทอดความรู้จากครูฝึกชาวต่างชาติเท่านั้น

Advertisement

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กองทัพสยามยังคงว่าจ้างชาวต่างชาติจํานวนมากเข้ามารับราชการทหาร ทั้งทําหน้าที่ฝึกทหารและเป็นผู้บังคับการกองทหารหน่วยต่างๆ แม้ชาวต่างชาติที่เข้ามารับราชการทหารในประเทศสยามจะทํางานด้วยความซื่อสัตย์ จงรักภักดี อย่างไรก็ตาม เรื่องการทหารนับได้ว่ามีความสําคัญเป็นอย่างมากต่อความมั่นคงของชาติ จําเป็นที่จะต้องใช้คนที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงไว้วางพระราชหฤทัย

ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ศ. 2428 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการรับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชทรงเข้ารับการศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศเดนมาร์ก ตามคํากราบบังคมทูลเชิญของพระเจ้า คริสเตียนที่ 4 แห่งเดนมาร์ก (Christian VI) สาเหตุสําคัญที่ทรงมีพระบรมราชโองการให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดชทรงเข้ารับการศึกษาวิชาทหารที่ประเทศเดนมาร์กอันเป็นประเทศชั้นสองของยุโรป แทนที่จะทรงเข้ารับการศึกษาในประเทศมหาอํานาจ

เนื่องจากประเทศเดนมาร์กใช้ลักษณะการเกณฑ์ทหารเช่นเดียวกับประเทศสยาม ที่ผู้ชายทุกคนต้องเข้ารับการฝึกทหารทุกคน อีกทั้งยังเป็นการถ่วงดุลอํานาจของชาติมหาอํานาจในยุโรป เพื่อไม่ให้ชาติหนึ่งชาติใดเข้ามามีอิทธิพลและบทบาทในกองทัพสยาม จนกลายเป็นข้ออ้างให้อีกชาติหนึ่งเรียกร้องผลประโยชน์ในลักษณะเดียวกันอย่างที่เคยเกิดขึ้นในกิจการอื่นๆ

เหตุการณ์ ร.ศ. 112 ที่กองทัพฝรั่งเศสนําเรือเข้ามาปิดปากอ่าวสยาม ทั้งยังบังคับให้สยามมอบดินแดนบริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ได้ส่งผลต่อแนวทางการศึกษาของพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยต่างทรงมุ่งหวังที่จะศึกษาวิชาทหารเพื่อนําความรู้เหล่านี้กลับมาพัฒนากองทัพให้มีความเจริญก้าวหน้า ไม่ให้ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นอีก

ด้วยเหตุนี้พระราชโอรสหลายพระองค์ที่เสด็จไปทรงศึกษาหลัง พ.ศ. 2436 ทรงเลือกเรียนวิชาการทหาร ประกอบกับพระราชดําริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานแด่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2443 ซึ่งมีพระราชประสงค์จะให้พระราชโอรสชั้นเจ้าฟ้าทุกพระองค์ทรงศึกษาวิชาทหาร

เพราะทรงมองว่าทหารเป็นสิ่งที่มีความจําเป็นต่อชาติบ้านเมือง แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง เจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่ทรงดํารงตําแหน่งทางทหารก็คงจะได้ทํางานราชการต่อไป นอกจากนี้แล้วการทหารจะเป็นกําลังสําคัญของประเทศชาติต่อไปในอนาคต เมื่อประเทศชาติได้พัฒนาความเจริญในด้านอื่นๆ ครบถ้วนแล้ว

“แต่ความวินิฉัยของพ่อข้อ 1 เจ้าจะรู้ฤาไม่ ไม่ทราบ ในเรื่อง ที่มีผู้ถือว่าการทหารดีที่สุด พลเรือนไม่ดี อีกพวก 1 ถือว่าการทหารไม่มีประโยชน์อะไร พลเรือนต้องการมากเมือ่พ่อได้กลับมาจากยุรปแล้ว ได้ยืนยันต่อแม่ว่าขออย่าให้มีความวิตกอันใด ที่เปนทหารนั้นดีมากกว่าพลเรือนเพราะอาจจะเรียนได้ทั้ง 2 อย่าง แลได้วินิจฉัยไว้ว่า

บรรดาลูกที่เปนเจ้าฟ้าควรจะต้องเปนทหาร เพราะเหตุว่าที่ปรมาทว่าเมืองไทยในภายน่าจะไม่มีเวลาเปนคอนสติตุชแนลไม่ได้ ถ้าหากว่าจะเลิกเจ้านายรับราชการ ในน่าที่พลเรือนเมื่อใด เจ้าฟ้าแลจะหลุดไปก่อนไม่มีอไรทํา ถ้าหากว่าเปนทหารอยู่คงจะได้เปนทหารอย่างเจ้านายฝรั่ง

อีกปรการหนึ่ง การในเมืองไทยเดี๋ยวนี้กลับกันกว่าแต่ก่อน แต่มิใช่ก่อนทีเดียว เพราะก่อนทีเดียวนั้น การทหารเปนสําคัญ สําหรับป้องกันศัตรูภายนอก เจ้านายย่อมเปนทหารมาก ภายหลังกลัวเปนขบถ ไม่ยอมให้ผู้ใดไปแตะต้องการข้างฝ่ายทหารจึงได้ทําการอยู่แต่ข้างฝ่ายพลเรือน ภายหลังมาการฝ่ายพลเรือเปนสําคัญขึ้นในเวลาบ้านเมืองสงบเรียบร้อย เจ้านายก็กลายเปนต้องถูกกันจากราชการฝ่ายพลเรือน เลยแกว่งอยู่เปล่าๆ

มาบัดนี้เจ้านายทําการฝ่ายพลเรือนมาก เพราะเหตุว่าเปนผู้ที่แกว่งอยู่เปล่าๆ ตามธรรมเนียมเดิม พ่อเหนว่าถ้าให้ทําการจะดีใจ และจะเปนพาหนะอันแขงแรง จึงเอาเจ้านายเข้าในการพลเรือน เพราะเหตุว่าพ่อเปนคนไม่มีไภยมีเวรแก่ผู้ใด ไม่กลัวใครจะคิดขบถ เพราะเชื่อว่าปราบแล้วด้วยความเย็นจึงได้เอาเข้าใช้ ก็นับว่าเปนพาหนะ อันดีที่จะทําให้ความประสงสําเรจได้ เวลานี้ก็เปนเวลานิยม การพลเรือน จึงมีผู้เหนการพลเรือนเปนดี เพราะเขาดูการแต่ชั่วชั้นเดียวเสมอมา

แต่พอคิดเหนว่า ถ้าการพลเรือนบริบูรณ์เข้าจนถึงออกแล่นได้สะดวก ในภายน่าการทหารจะกลับเปนดี แต่คนอย่างเช่นชั้นเจ้า พลเรือนคงยังจะเปนดีมาก แต่ถ้าหากว่าสืบไปภายน่าไม่มีตัวพ่อแล้ว การพลเรือนยังคงดีอยู่เช่นนี้ ถ้าหากว่าเปนที่รังเกียจคงจะไม่ได้ทําการพลเรือน ถ้ามีวิชาฝ่ายทหารไว้ ทหารนั้นแลจะเปนที่พึ่ง…”

ด้วยเหตุนี้พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพจระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรุ่นต่อมาจึงได้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารที่ประเทศยุโรป และเมื่อทรงสำเร็จการศึกษาแล้วพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการให้บรรดาพระราชโอรสเหล่านี้ทรงเข้ารับราชการทหารในตำแหน่งต่างๆ  โดยเฉพาะพระราชโอรสที่ทรงมีบทบาทสำคัญทางการทหารในรัชสมัยของพระองค์ประกอบด้วย

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงสําเร็จวิชาทหารเรือจากประเทศอังกฤษและทรงกลับ มาเข้ารับราชการในตําแหน่งรองผู้บัญชาการทหารเรือ และเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พระกรณียกิจสําคัญขณะที่ทรงรับราชการนั้น พระองค์ทรงมีส่วนสําคัญเป็นอย่างยิ่งต่อ การปรับปรุงการศึกษาวิชาการทหารเรือให้ทันสมัย ทรงก่อตั้งโรงเรียนนายเรือขึ้นที่พระราชวังเดิม ซึ่งเป็นโรงเรียนสําหรับผลิตนายทหารชั้นสัญญาบัตร นอกจากนี้ยังทรงนํานักเรียนนายเรือออกไปฝึกภาคทะเลยังต่างประเทศ  ตามอย่างหลักสูตรโรงเรียนนายเรือของชาติตะวันตก

 

จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ

จอมพล สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ทรงสําเร็จการศึกษาวิชาทหารบกจากประเทศรัสเซีย เมื่อเสด็จกลับมารับราชการทหาร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งพระองค์เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการกรมยุทธนาธิการ ต่อมาใน พ.ศ. 2449 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พระองค์ดำรง ตําแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบกอีกตําแหน่งหนึ่ง นอกจากนี้เมื่อตําแหน่งเสนาธิการทหารว่างลงใน พ.ศ. 2452 พระ สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงมีพระบรมราชโองการ ให้ทรงดํารงตําแหน่งเสนาธิการทหารบก เท่ากับว่าสมเด็จฯเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถทรงดํารงตําแหน่งที่สําคัญของกองบกพร้อมๆ กันถึง ๓ ตําแหน่งในเวลาเดียวกัน ซึ่งตําแหน่งกลายเป็นฐานพระราชอํานาจที่สําคัญของพระองค์

 

จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

จอมพล จอมพลเรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงสําเร็จการศึกษาวิชาทหารบกจากประเทศเยอรมนี โดยทรงกลับเข้ารับราชการทหารใน พ.ศ. 2446 ในตอนแรกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงดํารงตําแหน่งเสนาธิการทหารบก ต่อมาเมื่อสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ผู้บัญชาการทหารเรือทรงมีพระพลานามัยทรุดโทรมจนไม่สามารถปฏิบัติราชการได้ จึงทรงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ทรงดํารงตําแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือแทน หลังจากที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตทรงรับตําแหน่ง ผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ได้มีการปรับปรุงแก้ไขระเบียบราชการภายในกองทัพเรือเสียใหม่ให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงการ ซ่อมบํารุงเรือและแผนกพยาบาลทหารเรือให้มีประสิทธิภาพ

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน ทรงสําเร็จการศึกษาวิชาทหารช่างจากประเทศอังกฤษ ทรงกลับมารับราชการในตําแหน่งผู้บัญชากองพลและจเรทหารช่าง ในระยะแรกที่ทรงเสด็จกลับมารับราชการในกองทัพบก ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทรงทําหน้าที่เป็นอาจารย์สอนวิชาทหารช่างให้แก่นักเรียนนายร้อย ต่อมาใน พ.ศ. 2451 มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธินทรงดํารงตําแหน่งจเรทหารช่าง ซึ่งมีหน้าที่ตรวจการช่างกลต่างๆ ในกองทัพบก อํานวยการฝึกสอนในโรงเรียนฝึกหัด ทหารช่างและเก็บรักษาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกําแพงเพ็ชรอัครโยธิน

นอกจากนี้ยังมีพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่เสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารในรัชสมัยพระองค์ แต่ทรงกลับมาเข้ารับราชการทหารในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ พลเรือเอก สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนครราชสีมา ที่ในตอนแรกเสด็จไปทรงศึกษาวิชาทหารบกที่ประเทศอังกฤษ แต่ด้วยปัญหาด้านพระวรกายทําให้ต้องเสด็จกลับมาทรงศึกษาวิชาทหารที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก, จอมพลเรือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรม หลวงสงขลานครินทร์ทรงสําเร็จการศึกษาวิชาทหารเรือจากประเทศเยอรมนี และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสําเร็จการศึกษา วิชาทหารบกจากประเทศอังกฤษ

กองทัพในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกองทัพที่เริ่มปรับตัวเข้าสู่การเป็นกองทัพสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจําเป็นต้องอาศัยความรู้ทางการทหารสมัยใหม่ที่มีการเรียนการสอน อยู่แต่ในต่างประเทศเป็นสําคัญในการพัฒนากองทัพ ด้วยเหตุนี้บรรดาพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เสด็จไปทรงศึกษาวิชาการทหารยังต่างประเทศ และเมื่อทรงกลับมารับราชการในกองทัพต่างมีตําแหน่งที่สําคัญภายในกองทัพ ก็เพื่อที่จะได้เป็นกําลังสําคัญในการพัฒนากองทัพให้มีความเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น


ข้อมูลจาก

เทพ บุญตานนท์. การเมืองในการทหาร สมัยรัชกาลที่ 6, สำนักพิมพ์มติชน ธันวาคม 2559