ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2557 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
“—ตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อไปเฝ้าเสด็จแม่–กลับจากวังพญาไท ตอนตี 2—“
เป็นข้อความที่ปรากฏเสมอๆ ในจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงถือเป็นกิจวัตรประจําที่ต้องทรงปฏิบัติ คือ การเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระราชชนนี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ที่วังพญาไทในเวลาทุกเที่ยงคืน และเสด็จกลับวังปารุสกวันที่ประทับเวลาประมาณตี 2
นับจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต ในวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453 ความโศกเศร้าเสียพระทัยไม่เคยคลายจางจากพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ซึ่งทรงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระพันปีหลวง” ตลอดเวลา
พระองค์ทรงฉลองพระองค์สีดําเป็นการไว้ทุกข์พระบรมราชสวามี และมิได้เปลี่ยนแปลงตราบจนวาระสุดท้ายในพระชนมชีพ และประการสําคัญคือ นับแต่เสด็จมาประทับที่วังพญาไทเป็นการถาวร ในช่วงแรกยังมักเสด็จประพาสหัวเมืองในช่วงฤดูร้อนของทุกๆ ปี ซึ่งเรียกกันว่าเสด็จเปลี่ยนอากาศนานครั้งละ 2-3 สัปดาห์ แต่ในช่วงหลังๆ พระองค์จะใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ในห้องบรรทมในวังพญาไท นายแพทย์มัลคอล์ม สมิธ (Dr. Malcolm Smith) แพทย์ประจําพระองค์สมเด็จพระพันปีหลวง เล่าถึง ลักษณะของห้องบรรทมไว้ว่า
“—ขนาดของห้องไม่ใหญ่โตนัก วัดได้ประมาณ 25 X 15 ฟุต ตรงกลางห้องกั้นพระวิสูตร ภายในมีพระแท่นบรรทมและโต๊ะไม้สีดําตัวเล็กๆ ตั้งวางอยู่ พระแท่นบรรทมค่อนข้างเตี้ย-ติตกับฝาผนังมีโต๊ะขนาดไม่เล็กนักตั้งวางอยู่ 2 ตัว บนโต๊ะมีดอกไม้ตั้งประดับอยู่เป็นประจํา นอกเหนือจากที่กล่าวมา แล้ว ภายในห้องไม่มีเก้าอี้หรือเครื่องตกแต่งห้องอื่นใด พื้นห้องปูด้วยลาดพระบาท—”
สมเด็จพระพันปีหลวงทรงดําเนินพระชนมชีพส่วนใหญ่ และปฏิบัติพระราชภารกิจส่วนพระองค์ภายในห้องพระบรรทมนี้ ด้วยเหตุที่เดิมทรงเคยชินกับการบรรทมดึก ครั้งเมื่อไม่มีพระราชภารกิจเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองหรือสังคมภายนอกแล้ว พระนิสัยบรรทมดึกของพระองค์ก็ยิ่งทวีมากขึ้นจนถึงขั้นไม่ทรงบรรทมตลอดคืน จะเริ่มเข้าบรรทมในตอนเช้าตรู่ และตื่นบรรทมในเวลาพลบค่ำ ซึ่งได้กลายเป็นกิจวัตรประจําพระองค์ในบั้นปลายพระชนมชีพ
หมอสมิธเคยทูลถามเกี่ยวกับพระกิจวัตรที่แปลกประหลาดนี้ ซึ่งก็ได้ทรงตอบว่าเป็นความพอพระทัยของพระองค์ จึงกล่าวได้ว่าทรงใช้เวลากลางคืนเป็นกลางวันและเวลากลางวันเป็นกลางคืน เพราะทรงตื่นบรรทมเวลา 6 โมงเย็น หรือช้ากว่านั้น และทรงปฏิบัติกิจส่วนพระองค์คือ สรงน้ำ เปลี่ยนฉลองพระองค์ แล้วจึงทรงเริ่มปฏิบัติพระราชภารกิจอื่นๆ
ทรงเริ่มด้วยการทรงพบพูดคุยกับพระราชนัดดา พระองค์เดียวคือ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ประสูติแต่หม่อมแคทยา ชายาชาวรัสเซีย ในช่วงเวลาที่ทรงพบปะพูดคุยกับพระราชนัดดานั้นน่าจะนับว่าเป็นช่วงเวลาที่ทรงพระสําราญเวลาหนึ่ง จะรับสั่งถามเกี่ยวกับเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในวังปารุสกวัน ที่ประทับของพระราชโอรสและพระสุณิสา เช่น ในวังมีงานอะไร มีใครมาบ้าง หรือสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ และหม่อมแคทยาเสด็จไปงานที่ใด แต่งองค์อย่างไร ใช้เครื่องประดับชุดไหน
หลังจากนั้นก็รับสั่งคุยด้วยเรื่องทั่วไป เช่น ทรงเล่านิทานตํานานพระราชพงศาวดาร หรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระราชวงศ์จักรี และประวัติความเป็นมา ของบ้านเมือง หรือทรงปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ที่พระราชนัดดามีพระประสงค์ แม้แต่การนําเครื่องเพชรต่างๆ มาให้พระราชนัดดาได้ทอดพระเนตร และ หลังจากที่พระอภิบาลทูลเชิญพระราชนัดดาเข้าบรรทมบนพระยี่ภู่ที่โปรดให้ปูหลังพระแท่นบรรทม ต่อจากนั้นจึงถึงเวลาเสวยพระกระยาหารมื้อหลัก ซึ่งเป็นมื้อเดียวของทั้งคืน
พระกระยาหารมีหลากหลาย แต่ที่หมอสมิธระบุและบรรยายไว้ในบันทึก ได้แก่ ซุปข้น ซึ่งมีส่วนผสมของข้าว และใช้ปลาปรุงรสแทนเนื้อ ซึ่งก็น่าจะคือข้าวต้มปลา และพระกระยาหารที่พบบ่อยๆ ได้แก่ เนื้อวัวหั่นเป็นชิ้นบางๆ นําลงทอดในน้ำมันมากๆ เติมเกลือและน้ำตาลลงไปในปริมาณที่เท่ากัน ทอดจนเกรียม เสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวยอย่างเดียว หรือเสิร์ฟพร้อมกับแกง
หมอสมิธเล่าว่า อาหารทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นพระกระยาหารจานโปรดของสมเด็จพระพันปีหลวง ในระหว่างการเสวยซึ่งใช้เวลานานมาก เล่ากันว่าบางครั้งพระกระยาหารมื้อหลักนี้ถูกยกออกไปเมื่อเวลาตี 3 แต่ในระหว่างเสวยนั้นก็ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น รับรองผู้คนที่เข้ามาเฝ้ารับฟังข่าวสารประจําวัน
แม้ยุคสมัยภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่ภายในพระราชสํานักเล็กๆ ของสมเด็จพระพันปีหลวง ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลง เพราะมีพระราชประสงค์เช่นนั้น นับแต่การแต่งกายของข้าหลวง กิริยา มารยาท การเพ็ดทูล หมอสมิธเล่าเกี่ยวกับประเพณีการเข้าเฝ้าในพระราชสํานักนี้ไว้ว่า “—ประเพณีการหมอบคลานเวสเข้าเฝ้าเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงได้รับมาจนเคยชิน และไม่อาจผ่อนผันได้ ผู้ที่มาเข้าเฝ้าทุกคนไม่ว่าจะมีฐานันดรศักดิ์ หรือมีความสัมพันธ์กับพระองค์ในฐานะใดก็ตาม จะต้องใช้มือและเข่าคลานเข้าไปยังที่ประทับ และคลานถอยหลังเวลาที่กลับออกไป—“
ตลอดช่วงเวลากลางคืนตั้งแต่ 5 ทุ่มเป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า เป็นเวลาที่ผู้คนซึ่งมีพระราชเสาวนีย์ให้เข้าเฝ้าก็จะเวียนกันเข้าเฝ้า ในบรรดาผู้เข้าเฝ้าที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษคือหมอสมิธ ซึ่งเป็นนายแพทย์ประจําพระองค์ ซึ่งมีหน้าที่ที่จะต้องเข้าเฝ้าเพื่อสังเกต และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับพระพลานามัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหาร หรือพระบังคนหนักบังคนเบาก็จะถูกจดบันทึกสําหรับวินิจฉัยพระโรค
หมอสมิธเล่าถึงพระจริยวัตรในช่วงกลางคืนนี้ไว้ว่า กิจกรรมหลักในชีวิตของพระองค์คือการได้ทรงสนทนาวิสาสะกับผู้เข้าเฝ้าด้วยเรื่องราวต่างๆ ดังที่ หมอสมิธเล่าไว้ว่า “—สําหรับสมเด็จพระพันปีฯ การพูดคุยดูจะเป็นกิจกรรมหลักในชีวิตของพระองค์ และพระองค์ไม่เคยที่จะทรงเบื่อหน่าย หากจะทรงเศร้าพระทัยมากกว่าถ้าไม่มีใครมาพูดคุยด้วย—” ทรงเลือกหัวข้อสนทนาให้เข้ากับบุคคลที่ทรงสนทนาด้วย เช่น เมื่อทรงสนทนากับหมอสมิธ ก็จะทรงสนทนาด้วยเรื่องข่าวคราวความเคลื่อนไหวของชาวโลก ดังที่หมอสมิธ เล่าไว้ว่า
“—หัวข้อในการสนทนาของสมเด็จพระพันปีหลวง ดําเนินไปอย่างกว้างขวาง แม้ว่าพระองค์จะไม่เคยทรงเข้ารับการศึกษาสมัยใหม่ แต่ก็ทรงเรียนรู้ทุกอย่างจากประสบการณ์ ตลอดจนพระสติปัญญาอันเฉลียวฉลาดรอบรู้ และความช่างสังเกตของพระองค์ที่ทรงมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม—“
หมอสมิธ ยังเล่าถึงบรรยากาศในพื้นที่มีผู้ใกล้ชิดสนิทสนมและโปรดปรานเข้าเฝ้าโดยเฉพาะพระราชโอรส ซึ่งจะทรงดูสดใสขึ้นอย่างเห็นได้ชัด “—เรื่องราวสนุก สนานที่พระราชโอรสแต่ละพระองค์ทรงนำมาเล่า ทําให้สมเด็จพระพันปีหลวงทรงดูอ่อนวัยลงและทรงลืมพระอาการประชวรไปได้ และดูช่างเป็น กลุ่มชนที่สนุกสนานร่าเริง—“
นอกจากหมอสมิธแล้ว ผู้ที่สามารถเข้าเฝ้าได้ทันทีโดยมิต้องมีรับสั่งอนุญาต คือสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระพี่นางพระองค์เดียว ซึ่งนานๆ จะเสด็จมาทรงเยี่ยมเยียน เมื่อเสด็จมาถึง จะทรงตรงไปยังห้องพระบรรทมทันที เมื่อทั้ง 2 พระองค์ทรงพบกัน ก็เป็นเครื่องยืนยันบันทึกของหมอสมิธ ที่ว่า การพูดคุยดูจะเป็นกิจกรรมหลักในสมเด็จพระพันปีหลวงเพราะหมอสมิธเล่าไว้ว่า “ถึงแม้เจ้านายทั้ง 2 พระองค์ จะมิได้ทรงมีธุระอื่นใดพูดคุยกันเป็นพิเศษ แต่ทั้ง 2 พระองค์ก็ทรงมีพรสวรรค์ในการพูดคุยด้วยกันทั้งคู่ พระองค์จึงมิได้สนพระทัยเรื่องอื่นๆ เจ้านายทั้งสองยังทรงเพลิดเพลินอยู่กับการพูดคุยแล เสวยพระกระยาหารอยู่ด้วยกัน” ซึ่งบางครั้งก็เกือบตลอดคืน
จึงเป็นที่แน่นอนว่าผู้ที่คอยเข้าเฝ้าจํานวนมากมายในท้องพระโรงก็จะไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าในคืนนั้น แต่ในคืนอื่นๆ นอกจากพระราชโอรสและพระประยูรญาติสนิทซึ่งมักเข้าเฝ้าเป็นประจํา ได้แก่ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฎ์ พระเชษฐา และพระอนุชาร่วมพระชนกชนนี ก็ยังมีผู้ขอเข้าเฝ้าอื่นๆ ที่ทรงเลือกมีพระราชเสาวนีย์ให้เข้าเฝ้า
แต่ละท่านจะใช้เวลาเข้าเฝ้านาน หรือเร็วไม่เท่ากัน ผู้เข้าเฝ้าท่านใดสามารถที่จะทูลถวายคําตอบ หรือทูลเล่าเรื่องที่ทรงสนพระทัยได้ดีเป็นที่พอพระทัยก็จะได้เวลาเข้าเฝ้านาน ผู้เข้าเฝ้าคนสุดท้ายจะกลับออกไปประมาณเวลา 6 โมงเช้า จึงถึงเวลาเตรียมพระองค์เสด็จเข้าที่บรรทม พนักงานจะชักพระวิสูตรปิดห้องพระบรรทม ทั้งห้องตกอยู่ในความมืด เหลือเพียงพนักงานอ่านบทกลอนขับกล่อม ซึ่งเสียงจะค่อยๆ เงียบลงเมื่อทรงบรรทมหลับ
และการกระทําใดๆ ที่ก่อให้เกิดเสียงรบกวนจะถูกสั่งห้าม เช่น เสียงผู้คนสัญจรไปมาบนถนน หรือแม้เสียงนกร้อง จนกว่าจะถึงเวลาตื่นพระบรรทมตอนพลบค่ำ วนเวียนอยู่เช่นนี้จนตลอดพระชนมายุ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของข้อความในบันทึกจดหมายเหตุรายวันของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่ทรงเป็นที่โปรดปรานพระองค์หนึ่งที่ว่า
“—ตื่นขึ้นมากลางดึก เพื่อไปเฝ้าเสด็จแม่–กลับจากวังพญาไท ตอนตี 2—“
เพราะทรงถือเป็นกิจวัตรประจำวันที่จะต้องเสด็จไปเฝ้าสมเด็จพระบรมราชชนนีในเวลาประมาณเที่ยงคืนและเสด็จกลับวังปารุสกวันที่ประทับตอนตี 2
หมายเหตุ : แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562