ชัยชนะการปฏิวัติ “ซินไฮ่” ในจีนที่ส่งผลกระทบการเมืองไทยจนนำไปสู่คณะ ร.ศ. 130

ถนนในเมืองหนานจิง เซียงไฮ้ ระหว่างการปฏิวัติซินไฮ่ (ภาพจาก https://en.wikipedia.org)

บทความนี้คัดย่อจาก หนังสือ “กิจกรรมทางการเมืองของชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย (ค.ศ. 1906-1939)” ของศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนโดย เซี่ยกวง ชาวจีนจากมณฑลไห่หนาน ที่เคยเข้ามาศึกษาและทำงานในเมืองไทย

เซี่ยกวงศึกษาประวัติศาสตร์ไทยหลายสิบปี และยังเคยทำงานในสมาคมชาวจีนโพ้นทะเลแห่งประเทศจีน ส่วนผู้แปลคือ เชาวน์ พงษ์พิชิต เป็นนักวิชาการอิสระ และนักเขียนที่มีผลงานเกี่ยวจีนศึกษาจำนวนมาก หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจที่ใช้ข้อมูลจีนเป็นหลัก ทั้งเขียนและแปลโดยบุคคลที่ทำงานเรื่องจีนศึกษาอย่างแท้จริง แต่เนื่องจากจัดพิมพ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2546 ปัจจุบันอาจจะหาอ่านได้ยาก จึงขอคัดเนื้อหาบางส่วนมาเผยแพร่ดังนี้

Advertisement

การปฏิวัติซินไฮ่[1] (10 ตุลาคม ค.ศ. 1911 ) ที่มีดร.ซุนยัดเซ็น เป็นผู้ก่อการและผู้นำนั้นเป็นการปฏิวัติที่โค้นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และสถาปนาระบบอสาธารณรัฐในประเทศจีน ในเวลาดังกล่าว ประเทศไทยก็ยังอยู่ระบอบการปกครองสมบูรณาญาสิทธิราชย์เช่นกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ทางการไทยต้องหาทุกวิถีทางที่จะสกัดมิให้กระแสแนวคิดชาตินิยมและประชาธิปไตยซึ่งกระบวนการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีนนํามาเผยแพร่นั้นส่งผลกระทบถึงความมั่นคงของ สังคมไทย ทั้งนี้เห็นได้จากท่าทีและมาตรการบางอย่างของทางการไทยที่ได้แสดง ในช่วงก่อนและหลังการปฏิวัติซินไฮ่ ของจีนดังนี้

การเมือง 2 แนวคิด

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งเป็นระยะฟักตัวของการปฏิวัติซินไฮ่นั้น บนเวทีการเมืองจีนเกิดมีความคิดทางการเมือง 2 กระแสต่อสู้กันอย่างดุเดือด กระแสหนึ่งเป็นของกลุ่มนิยมการปฏิวัติที่มีซุนยัดเซ็นผู้จัดตั้งและ ผู้นําการปฏิวัติประชาธิปไตยประเทศจีนเป็นตัวแทน กลุ่มนี้ต้องการก้าวไปตามวิถีทางปฏิวัติประชาธิปไตย อีกกระแสหนึ่งเป็นของกลุ่มนิยมกษัตริย์ที่มีคังโหย่วเหวยและเหลียงฉีเชาเป็นตัวแทน กลุ่มนี้ต้องการก้าวไปตามวิถีทางที่ให้มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

สองกลุ่มดังกล่าวขัดแย้งกันและก็ต่อสู้กัน ต่างฝ่ายต่างก็ส่งคนออกไปโฆษณาแนวความคิดของตนต่อชาวจีนโพ้นทะเลในท้องที่ต่างๆ ทั่วโลก และทั้งสองฝ่ายได้ส่งคนมาทําการโฆษณาต่อชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทย เพื่อแสวงหาผู้สนับสนุน รวบรวมกําลังและตั้งฐานของฝ่ายตนขึ้นมา ฝ่ายนิยมกษัตริยได้รับการสนับสนุนจากนายเจิ้งจื้อหย่ง (แต้ตี้ย่ง หรือ ยี่กอฮง) ผู้มีอิทธิพลในสมัยนั้น เขาเป็นหัวหน้าหงเหมินเทียนตี้ฮุ้ย (อังยี่) สมาคมลับของชาวจีนโพ้นทะเล ฝ่ายปฏิวัติด้รับการสนับสนุนจากนายเซียวฝอเฉิง (เซียวฮุดเส็ง ศรีบุญเรือง ) ผู้ทรงอิทธิพลในสมาคมซันเหอฮุ่ย (ซาฮะหวย) สมาคมลับของชาวจีนดพ้นทะเลอีกแห่งหนึ่ง

เซี่ยวฮูดเส็ง สีบุญเรือง

ซุนยัดเซ็นเองก็เคยเดินทางเข้ามาทําการ โฆษณาการปฏิวัติและจัดตั้งองค์กรปฏิวัติด้วยตนเองในประเทศไทย เหตุนี้เอง สังคมชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยสมัยนั้นจึงได้มีกระแสความคิดทางการเมืองสองกระแส ได้แก่ ฝ่ายปฏิวัติกับฝ่ายนิยมกษัตริย์เผชิญหน้ากัน

ปี ค.ศ. 1909 สมาคมจงหัวฮุยสั่วจัดตั้งโรงเรียนจีนชื่อว่า “หัวอี้เสียถาง” ขณะเดียวกันฝ่ายสาขาถงเหมิงฮุย[2]ก็ได้ตั้งโรงเรียน ขึ้นมาแห่งหนึ่งที่ย่านสามเสนให้ชื่อว่า “กอเหวินเสียถาง” โรงเรียนแห่งนี้ยังมีองค์กรผนวกอีกองค์กรหนึ่งมีชื่อว่า “ผู่ทงซูเป้าเหยียนซัวเซ่อ-สมาคมห้องสมุดและปาฐกถาสามัญ” ต่อจากนั้นในปี ค.ศ. 1910 ยังได้ตั้งโรงเรียน “ซินหมิน” ขึ้นมาอีกแห่งหนึ่งด้วยความร่วมมือของชาวจีนโพ้นทะเลที่ใช้ภาษาแต้จิ๋ว, กวางตุ้งและฮกเกี้ยน ต่อมาอีก ไม่นานนักยังได้ตั้งโรงเรียน “ต้าถง” ขึ้นมาอีกโรงเรียนหนึ่ง

ซุนยัดเซ็น (นั่งกลาง)กับสมาชิกถงเหมิงฮุ่ยสาขาสิงคโปร์ (ภาพจาก zh.wikipedia.org)

การก่อตั้งโรงเรียนและห้องสมุดดังกล่าวล้วนเป็นวิธีการที่สมาคมลงเหมิงฮุ่ย ใช้ดําเนินการโฆษณาและจัดตั้งกําลังปฏิวัติ และก็เป็นฐานปฏิบัติการที่ ถงเหมิงฮุย ใช้ดําเนินการต่อสู้กับกลุ่มนิยมกษัตริย์เพื่อได้มาซึ่งความสนับสนุนของมวลชน “การต่อสู้ระหว่างกลุ่มนิยมกษัตริย์กับกลุ่มปฏิวัติของจีนในประเทศไทย ต่างฝ่ายต่างก็โฆษณาเผยแพร่แนวความคิดที่ปรากฏในประเทศจีน ยังผลกระตุ้นให้ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยมีจิตสํานึกรักชาติจีนอย่างแรงกล้า” “ความแตกต่างทางแนวความคิดระหว่างกลุ่มการเมืองทั้งสองดังกล่าวยังผลให้เกิดการโต้แย้งโดยลายลักษณ์กรุนแรง” ซึ่ง “ได้มีบทบาทเร่งรัดการปลูกฝังความคิดทางการเมืองให้แก่ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยอย่างใหญ่หลวงโดยปราศจากข้อกังขา”

มารดาผู้ให้กำเนิดการปฏิวัติ

ซุนยัดเซ็นดำเนินกิจกรรมปฏวัตินอกประเทศจีน เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากชาวจีนโพ้นทะเล สำหรับประเทศไทยซุนยัดเซ็นเดินทางมาถึง 4 ครั้ง โดยหวังการสนับสนุนขององค์กรอั้งยี่กลุ่มต่างๆ ในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเลที่มีแนวความคิดต่อต้านราชสำนักชิง  แม้ 2 ครั้งแรกจะเป็นการเคลื่อนไหวลับๆ แต่ตํารวจไทยก็ยังได้ไปค้นบ้านของหลินเหวินอิง ซึ่ง ดร.ซุนยัดเซ็นพักอาศัยอยู่ หมายจะจับกุมตัวท่าน ย่อมแสดงว่าทางการไทยไม่ต้อนรับการเข้ามาทำกิจกรรมปฏิวัติในประเทศไทยของเขา

ซุนยัดเซ็นเข้ามาในประเทศไทยเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 และประกอบกิจกรรมอย่างเปิดเผย เพื่อระดมทุนสำหรับใช้จ่ายในกิจกรรมปฏิวัติ  ในช่วงนี้ซุนยัดเซ็น กับนายเซียวฮุดเส็งได้พบปะกับยี่กอฮง หัวหน้าองค์กรอั้งยี่ที่สนับสนุนกลุ่มนิยมกษัตริย์และเชิญให้มาเข้าร่วมสมาคมถงเหมินฮุ่ยเป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีแสดงปาฐกถาเรียกร้องให้ชาวจีนโพ้นทะเลสนับสนุนการปฏิวัติประชาธิปไตยที่ต้องการโค่นล้มราชสํานักชิงแมนจู เป็นที่อึกทึกครึกโครมไปทั่วสังคมชาวจีนโพ้นทะเล

ยี่กอฮงในชุดขุนนางจีน (ภาพจาก www.wikipedia.com0

ชาวจีนโพ้นทะเลในเอเชียอาคเนย์บริจาคเงินร่วมสนับสนุนการปฏิวัติครั้งนี้ โดยระหว่างปี 1907-1908 มียอดรวมถึง 150,000 หยวน ในจำนวนนี้มาจากประเทศอินโดจีนและไทย 60,000 หยวน จนซุนยัดเซ็นยกย่องว่า “ชาวจีนโพ้นทะเลคือมารดาผู้ให้กำเนิดการปฏิวัติ”

กิจกรรมการเมืองของซุนยัดเซ็นในไทย สร้างความไม่พอใจแก่รัฐบาลราชสํานักชิง จึงติดต่อขอความร่วมมือมายังทางการไทย ไทยให้ความร่วมือด้วยการสั่งให้ซุนยัดเซ็นออกไปจากราชอาณาจักรภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งเป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลซุนยัดเซ็น หันไปขอความช่วยเหลือจากอัครราชทูตสหรัฐฯประจําประเทศไทย ทางการไทยจึงอนุญาตให้เขาอยู่ในประเทศได้อีก 1 สัปดาห์ ในฐานะชาวต่างด้าวผู้อาศัยที่โฮโนลูล ซุนยัดเซ็นก็ได้ออกไปจากประเทศไทยกลับไปที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 1908

ปฏิกิริยาทางการไทย

ต่อมากลางปี ค.ศ. 1910 รัฐบาลไทยเพื่อหาแหล่งรายได้เพิ่มขึ้น จึงกําหนดให้เปลี่ยนแปลงวิธีการจัดเก็บรัชชูปการจากชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเดิมที่ 3 ปีเรียกเก็บ 1 ครั้ง มาเป็นเรียกเก็บกันทุกๆ ปี ในอัตราที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก ยังผลให้ชาวจีนโพ้นทะเลพากันประท้วงโดย ร้านค้าต่างๆ นัดหยุดค้าพร้อมๆ กันตั้งแต่วันที่ 1- 5 มิถุนายน 1910 จึงได้ยอมเปิดทําการค้าตามปกติ

ภายใต้แรงกดดันของทางการไทย ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยได้เคยโทรเลขไปขอร้องรัฐบาลราชสํานักชิงช่วยเจรจากับทางการไทย รัฐบาลราชสํานักชิงก็ได้สั่งการไปยังนายหลิวซื่อซิ่น อัครราชทูตจีนประจําประเทศฝรั่งเศสให้ติดต่อเจรจากับอัครราชทูตไทยประจําประเทศฝรั่งเศส (ขณะนั้นจีนกับไทยยังไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน ) อัครราชทูตไทยดังกล่าวนอกจากถ่ายทอดคําตอบของรัฐบาลไทยต่อหลิวซื่อซิ่นว่า

การเรียกเก็บรัชชูปการเพิ่มครั้งนี้ มิได้เจาะจงกระทําต่อชาวจีนโพ้นทะเลเท่านั้น หากเป็นการเรียกเก็บเพิ่มเพื่อให้เท่ากันกับคนชาติอื่นที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย แล้วยังกล่าวอ้างด้วยว่า พวกที่นัดหยุดค้าในครั้งนี้ “เกี่ยวข้องกับสมัครพรรคพวกของดร.ซุนยัดเซ็น” “จึงเกรงว่าจะมีพวกก่อความไม่ สงบคอยยุยงส่งเสริมด้วย”  ทั้งนี้ย่อมเป็นที่ยืนยันได้ว่าทางการไทยถือว่า “สมัครพรรคพวกของ ดร.ซุนยัดเซ็น” เป็น “พวกก่อความไม่สงบ” จึงไม่เห็นดีเห็นชอบด้วย อีกทั้งยังเห็นว่า ชาวจีนโพ้นทะเลที่นัดหยุดค้าเพราะไม่พอใจที่ทางการ เรียกเก็บรัชชูปการเพิ่มนั้นกระทําไปเพราะได้รับการ “ยุยงส่งเสริมจากสมัครพรรคพวก ของ ดร.ซุนยัดเซ็น”

เดือนตุลาคม ปี ค.ศ. 1911 เมื่อรัชกาลที่ 6 ขึ้นครองราชย์ ได้ 1 ปี ประเทศจีนเกิดการปฏิวัติซินไฮ่ที่นําโดยซุนยัดเซ็น รัฐบาลราชสํานักชิงแมนจูสลายตัวไปอย่างรวดเร็ว ซุนยัดเซ็นก็ได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธานาธิบดีชั่วคราว มีการก่อตั้งรัฐบาลชั่วคราวสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้นที่นครนานกิง เมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1912 จนถึงวันที่ 12 ธันวาคมศกเดียวกัน พระจักรพรรดิ์ผู่หยีแห่งราชวงศ์ชิงแมนจูประกาศสละราชบัลลังก์ ระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่สืบทอดมาหลายพันปีในประเทศจีนก็ได้สิ้นสุดลง

ส่วนหนึ่งของคณะ ร.ศ. 130

ชัยชนะของการปฏิวัติซินไฮ่ในประเทศจีน ได้ส่งผลกระทบมาถึงประเทศไทยด้วย ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1912 ได้มีการก่อตั้งพรรคเก็กเหม็ง (ปฏิวัต) เรียก อีกอย่างหนึ่งว่า “คณะรัฐประหาร” ที่มีวัตถุประสงค์ต้องการล้มเลิกระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คืนอํานาจการปกครองให้แก่ปวงชน มีสมาชิกเป็นทหารบก ทหารเรือ และข้าราชการจํานวนหนึ่ง ที่มีความคิดนิยมระบอบประชาธิปไตยขึ้นมาคณะหนึ่ง โดยมี ร.อ.เหล็ง ศรีจันทร์, ร.ต.เหรียญ ศรีจันทร์, ร.ต.จรูญ ษตะเมษ ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์, ร.ท.จรูญ ณ บางช้าง และ ร.ต.เจือ ศิลาอาสน์ เป็นผู้นํา พวกเขาเลียนแบบการปฏิวัติซินไฮ่ของจีน ตระเตรียมจะก่อการยึดอํานาจด้วยการใช้กําลัง แต่ยังไม่ทันได้ก่อการ ข่าวเกิดรั่วไหลเสียก่อน คณะเก็กเหม็งรวม 91 คน จึงถูกจับกุมตัวทั้งหมด

ราชสํานักชิงเพื่อเอาใจชาวจีนโพ้นทะเลออกประกาศใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยสัญชาติฉบับหนึ่ง เมื่อปี 1909 โดยยึดหลักให้ถือ สายเลือดเป็นสําคัญ กําหนดให้บุคคลผู้มีเชื้อชาติเป็นจีน (กล่าวคือผู้มีสายเลือดเป็นจีน) ให้ถือสัญชาติจีนโดยไม่คํานึงว่าเขาผู้นั้นกําเนิดบนแผ่นดินจีนหรือไม่ ยังผลให้ชาวจีนโพ้นทะเลจํานวนมากเกิดความรู้สึกสนิทสนมและความผูกพันกับถิ่น กําเนิดเดิมมากขึ้นความคิดชาตินิยมก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

ทางการไทยมีความกังวลว่า ถ้าปล่อยปละละเลยปัญหานี้ คนจีนในประเทศ ไทยก็จะค่อย ๆ เหินห่างจากสังคมคนไทย และถ้าหากไม่สามารถจูงใจให้คนจีนในไทยรักแผ่นดินไทย ก็จะไม่เป็นผลดีต่อประเทศ พระบาทสมเด็จมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ทรงปลูกฝังความคิดชาตินิยมให้ราษฎรไทยด้วยพระวิริยะอุตสาหะ ได้ทรงนิพนธ์หนังสือเรื่องยิวตะวันออก[3], ชาติไทยตื่นเถิด เป็นต้น ทรงตักเตือนให้เห็นว่าคนจีนเป็นภัยและไม่ซื่อสัตย์

ขณะเดียวกันก็ทรงดําเนินนโยบายให้คนจีนผสมกลมกลืนกับคนไทย ทรงตรากฎหมายสัญชาติขึ้นมาฉบับหนึ่งเมื่อปี ค.ศ. 1913 โดยยึดหลักถือถิ่นกําเนิดและสายเลือดเป็นมาตรฐานควบคู่กัน กล่าวคือให้บุคคลที่กําเนิด บนแผ่นดินไทยมีสัญชาติเป็นไทยโดยไม่คํานึงว่าบิดาและมารดาถือสัญชาติใด ขณะเดียวกันก็กําหนดว่าบุคคลที่มีบิดาหรือมารดามีสัญชาติไทย บุคคลผู้นั้นก็ให้มีสัญชาติเป็นไทยด้วย โดยไม่คํานึงว่าเขาจะถือกําเนิดในหรือนอกราชอาณาจักรไทย

มาตรการดังกล่าวนี้มีผลทําให้ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยเป็นคนไทยทุกคน ราชอาณาจักรไทยก็เป็นปิตุภูมิของพวกเขา เพื่อส่งเสริมให้พวกเขารู้สึกนึกคิดจงรักภักดีต่อประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ลดกระแสแนวคิดชาตินิยมที่โน้มไปทางประเทศจีน

นอกจากนี้ในปี ค.ศ. 1918 ยังได้ทรงประกาศใช้ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ฉบับหนึ่งเพื่อควบคุมโรงเรียนของคนจีนที่กําลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว (โรงเรียนจีนทั้งหมดเป็นโรงเรียนราษฎร์) เพื่อป้องกันมิให้โรงเรียนจีนกลายเป็นสถานที่เผยแพร่ความคิดของคนจีน ลูกหลานคนจีนจะได้เป็นคนไทยอย่างเต็มตัว เช่น กฎหมายฉบับนี้ บัญญัติไว้ว่า“โรงเรียนราษฎร์จะต้องสอนนักเรียนให้อ่าน เขียน และเข้าใจภาษาไทยได้” “ต้องอบรมนักเรียนให้เป็นพลเมืองดีของประเทศไทย รักประเทศไทย และมีความรู้ประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ประเทศไทยพอสมควร” โรงเรียนจีนทุกแห่ง ล้วนต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้

เพื่อให้บุตรหลานคนจีนกลายเป็นคนไทยและจงรักภักดีต่อประเทศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานบรรดาศักดิ์แก่คนจีนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี เพื่อให้เขาเหล่านั้นยอมรับวัฒนธรรมขนบประเพณีไทยโดย สมัครใจ กลมกลืนกับคนไทย และลูกหลานคนเหล่านี้ก็จะรู้สึกเป็นเกียรติที่ตัวเองเป็นคนไทยและจงรักภักดีต่อประเทศไทย ความจริงการพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่ คนจีนนั้นมีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว แต่การพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้แก่บุคคล เป็นจํานวนมากนั้นเริ่มมีในรัชกาลที่ 6 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง

ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติซินไฮ่ของจีน ด้วยเหตุทางการไทยจึงมีความรู้สึกไม่ดีการปฏิวัติประชาธิปไตยของจีนภายใต้การนําของซุนยัดเซ็น (นับแต่เวลานั้นจนกระทั่งถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดเป็นเวลานานกว่า 30 ปี รัฐบาลไทยไม่เคยรับรองรัฐบาลคณะก๊กมิ่นตั้งของจีนเลย) และมาตรการที่ทางการไทยนํามาใช้เพื่อลดและขจัดผลกระทบที่การปฏิวัติซินไฮซึ่งนําโดยซุนยัดเซ็นมีต่อชาวจีนโพ้นทะเลและสังคมไทย เพื่อจูงใจคนจีนในประเทศไทยให้มาฝักใฝ่ในประเทศไทยและรักษาความมั่นคง ความสงบสุขของสังคมไทย


เชิงอรรถ

[1]ปฏิวัติซินไฮ่ เนื่องจากปี 1911 ที่ทำการปฏิวัติ เป็นปีซินไฮ่ (辛亥) ตามระบบกานจือนับเวลา วัน เดือน ปี และนักษัตร ของจีน

[2] สมาคมถงเหมินฮุ่ย ซุนยัดเซ็น ตั้งขึ้นเมื่อ สิงหาคม 1905 ที่ประเทศญี่ปุ่น เพื่อการปฏิวัติและสถาปนาระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐในจีน กภายหลังมีการตั้งสาขาเพิ้มในประเทสต่างๆ ในประเทศไทยตั้งในปี 1906 มีนายเซียวฮุดเส็ง สีบุญเรือง เป็นประธาน

[3] เล่มเดียวกับ “ยิวแห่งบูรพทิศ”


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์เมื่อ: 8 มีนาคม 2562