แรกเริ่มธรรมศาสตร์สร้างที่พำนักนศ. ถึงระเบียบก่อนรับปริญญาต้องกินนอนร่วมกัน 15 วัน

ภาพวาดปรีดี พนมยงค์ และโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, สิงหาคม 2526)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งสถาบันทางการศึกษาที่ติดกับภาพจำเหตุการณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับประชาธิปไตยครั้งสำคัญหลายเหตุการณ์ในไทย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับพัฒนาไปมากในทุกวันนี้ แต่หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงเริ่มต้น “อาจารย์หลวงประดิษฐ์มนูธรรม” ผู้ประศาสน์การ ดำเนินการให้มีที่พำนักของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเรียกว่า “นิคมมหาวิทยาลัย” และยังวางระเบียบก่อนเข้าพิธีรับปริญญาต้องอยู่ร่วมกินนอน ณ มหาวิทยาลัย 15 วันก่อนพิธี

หลังจากสภาผู้แทนราษฎรผ่านร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอแนะให้ใช้อันเรียกว่า “พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พุทธศักราช 2476” มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองจัดพิธีเปิดปฐมฤกษ์ เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2477 ซึ่งจัดที่ตึกโรงเรียนกฎหมายเดิม

ภายหลังหลวงประดิษฐ์ฯ (ปรีดี พนมยงค์) เจรจากับกระทรวงกลาโหมขอซื้อที่ดินกองพันทหารราบที่ 11 ตำบลท่าพระจันทร์ให้เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย และปรับปรุงอาคารเดิมซึ่ง สงัด ศรีวณิก ธรรมศาสตร์บัณฑิต พ.ศ. 2481 อดีตรองเลขาธิการทำเนียบนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง บรรยายว่า มีการปรับปรุงดัดแปลงอาคารเดิมซึ่งมีลักษณะเป็นโรงทหารให้มีลักษณะเป็นอาคารเดียวติดต่อกันและมีสัญลักษณ์โดมอยู่ตอนกลาง (ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างโดยนายหมิว อภัยวงศ์)

กิจการของมหาวิทยาลัยพัฒนาอย่างต่อเนื่อง มีสาขาวิชาเปิดสอนมากขึ้น แต่ก็มีจุดที่ต้องปรับปรุงอยู่ ระเบียบในมหาวิทยาลัยที่ว่าไม่บังคับนักศึกษาต้องเข้าฟังคำสอนคำบรรยายทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับอาจารย์ และตัวมหาวิทยาลัยมีน้อยเกินไป

ยิ่งมีนักศึกษาที่มาจากต่างภูมิลำเนามากพอสมควร ความสัมพันธ์ทั้งระหว่างนักศึกษาด้วยกันเองก็น้อยลง อาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ จึงดำเนินการให้มีที่พำนักของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เรียกว่า “นิคมมหาวิทยาลัย” โดยขอให้ผู้ใจบุญบริจาคทรัพย์ช่วยสร้างหอพักนักศึกษาพร้อมด้วยอุปกรณ์สำหรับใช้อำนวยความสะดวกในการพำนักอาศัยและใช้ตึกหลังหนึ่งจัดเป็นนิคม

ระเบียบอีกประการที่อาจารย์หลวงประดิษฐ์ฯ วางไว้คือให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาสอบไล่ได้วิชาต่างๆ แล้ว ต้องเข้ารับอบรมก่อนรับปริญญา โดยให้ผู้ที่สำเร็จมาอยู่ร่วมกินนอน ณ มหาวิทยาลัย 15 วันก่อนเข้าพิธีรับปริญญา

การอบรมจะมีผู้ทรงเกียรติและผู้ทรงคุณวุฒิมาปราศรัยในเรื่องต่างๆ และยังมีกิจกรรมหลากหลาย อาทิ เตรียมอาหารประจำวัน เล่นกีฬา ออกไปดูงานราชการและเอกชน รวมถึงศึกษาเกี่ยวกับพิธีทางการทูต

สงัด ศรีวณิก ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ช่วงเวลานั้นมหาวิทยาลัยเป็นองค์กรอิสระ รัฐบาลให้เงินอุดหนุนปีละไม่มาก และต้องจัดหารายได้เองจากการบริจาคค่าธรรมเนียมการศึกษา และสอบไล่

เมื่อครั้งสงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น ไทยเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น (หลวงประดิษฐ์ฯ ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลในขณะนั้น) จึงเสนอให้พื้นที่บางส่วนทางเหนือของมหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่กักขังเชลย ภายหลังการดำเนินการของขบวนการเสรีไทยก็สำเร็จลุล่วง ไทยไม่ต้องถูกลงโทษจากฝ่ายพันธมิตรในฐานะฝ่ายแพ้สงครามตามญี่ปุ่น

ครั้นเกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 สถานะของมหาวิทยาลัยและหลวงประดิษฐ์ฯ ก็ได้รับผลไปด้วย บริเวณที่เคยเป็นพื้นที่กักขังเชลย (เลิกไปเพราะสงครามสิ้นสุด) ถูกฝ่ายทหารใช้เป็นกรมการรักษาดินแดน โครงสร้างของมหาวิทยาลัยถูกยกเลิก และเปลี่ยนชื่อเป็น “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”


อ้างอิง:

สงัด ศรีวณิก. “บันทึกความทรงจำเรื่องปรีดี พนมยงค์, ใน” . ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 4 ฉบับที่ 10 (สิงหาคม 2526)


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 6 มีนาคม 2562