พระเจ้าหย่อนตีน กับ พระเจ้าจงกรม ที่วัดพระพายหลวง เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติตอนไหน?

พระเจ้าหย่อนตีนกับพระเจ้าจงกรมที่วัดพระพายหลวง

 

พระเจ้าหย่อนตีนกับพระเจ้าจงกรมเป็นคำที่ปรากฏในจารึกวัดสรศักดิ์ พ.ศ. 1960 หมายถึง พระพุทธรูปลีลา ตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์และตอนยมกปาฏิหาริย์ พระพุทธรูปลีลาของสุโขทัยที่พบเป็นงานปูนปั้นประดับผนัง มักแสดงพุทธประวัติสองตอนนี้เสมอ เช่นที่ปรากฏบนผนังมณฑปของวัดตระพังทองหลางและมณฑปของวัดตึกในบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย

ที่มณฑปพระสี่อิริยาบถทางด้านทิศตะวันออกของวัดพระพายหลวง มีพระพุทธรูปลีลาขนาดใหญ่สององค์ก่ออิฐถือปูนติดไปกับแกนกลางของมณฑป ซึ่งนับว่าพิเศษกว่ามณฑปพระสี่อิริยาบถของวัดอื่นที่มีพระพุทธรูปลีลาเพียงองค์เดียว พระพุทธรูปลีลาบนผนังด้านทิศตะวันตกพังทลายจนหมดแต่เคยพบเศษเทวดาปูนปั้น ส่วนบนผนังทางด้านทิศตะวันออกยังคงเห็นเค้าโครงของพระวรกาย ทรงย่างพระบาทและยกพระกรซ้าย ผินพระวรกายไปทางด้านทิศเหนือ ด้านข้างมีภาพปูนปั้นรูปพระสาวกที่เหลือเพียงเท้า

พระพุทธรูปลีลาบนผนังด้านทิศตะวันออกน่าจะหมายถึง พระเจ้าจงกรม ตอนแสดงมหาปาฏิหาริย์เพื่อสั่งสอนพวกเดียรถีย์ที่เมืองสาวัตถี อรรถกถาของนิกายเถรวาทระบุว่าพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปจงกรมแก้วบนต้นมะม่วง ที่ทรงปลูกไว้ท่ามกลางพุทธบริษัทเป็นลำดับแรก และเน้นอิริยาบถจงกรมของพระพุทธองค์มากกว่าอื่นใด

การพบพบปูนปั้นรูปกิ่งก้านและผลของต้นมะม่วงอยู่ที่ซอกภายในมณฑปด้านทิศเหนือ จึงเป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่าพระพุทธรูปลีลาบนผนังด้านนี้คือพระเจ้าจงกรม ชวนให้นึกถึงพระพิมพ์ชินภาพยมกปาฏิหาริย์จากกรุปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ อยุธยา แสดงภาพพระพุทธรูปลีลาจงกรมแก้วอยู่โคนต้นมะม่วงพร้อมพระสาวกยืนพนมเรียงกัน หรือไม่ก็จงกรมบนยอดมะม่วงและมีพระสาวกยืนอยู่ที่โคนต้นมะม่วง

พระพุทธรูปลีลาบนผนังด้านทิศตะวันตกจึงควรได้แก่ พระเจ้าหย่อนตีน ตอนเสด็จลงจากดาวดึงส์ที่เมืองสังกัสสะ ตามขนบนิยมของการสร้างพระพุทธรูปลีลาสุโขทัย สอดคล้องกับการพบเศษปูนปั้นรูปเทวดาที่มาชุมนุมกันเพื่อส่งเสด็จพระพุทธองค์ และยังรับกันกับพุทธประวัติทั้งสองตอน เพราะหลังจากพระพุทธองค์ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์แล้วก็เสด็จขึ้นไปโปรดพุทธ มารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

การสร้างพระพุทธรูปลีลาเป็นหนึ่งในพระสี่อิริยาบถที่ประกอบด้วยพระพุทธรูป นั่ง เดิน ยืน และนอน ยังสอดคล้องกับการเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฎฐาน คือ การพิจารณาใจโดยวิธีต่างๆ ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ของสติปัฎฐาน 4 ในกระบวนการวิปัสสนากรรมฐานนำไปสู่การบรรลุนิพพานในมหาสติปัฏฐานสูตร โดยใช้การพิจารณาอิริยาบถ 4 ประการ กล่าวคือ ภิกษุเมื่อเดินอยู่ย่อมรู้ชัดว่าเราเดินอยู่ เมื่อยืนย่อมรู้ชัดว่า เรายืนอยู่ เมื่อนั่งย่อมรู้ชัดว่าเรานั่งอยู่ เมื่อนอนย่อมรู้ชัดว่าเรานอนอยู่ เธอตั้งกายไว้ด้วยอาการใดๆ ย่อมรู้ทั่วถึงกายนั้นด้วยอาการอย่างนั้นๆ

(ขอบพระคุณ เพจห้องเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ https://www.facebook.com/ArtHistoryClassroom/ ที่อนุญาตให้นำข้อมูลมาลง)