“ไฮด์ปาร์ค” วิถีแห่งประชาธิปไตย กล้าวิจารณ์การเมือง-โจมตีรัฐบาล มีที่มาจากไหน?

บรรยากาศไฮด์ปาร์ควิจารณ์การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลจอมพล ป.

“ไฮด์ปาร์ค” เป็นที่รู้จักของคนไทยในช่วงไม่กี่ปีก่อนปี พ.ศ. 2500 โดยเป็นการออกมาร่วมชุมนุมเพื่อ พูด-ปราศรัย-ถก-วิจารณ์ เรื่องต่าง ๆ ในสังคม และส่วนมากในไทยก็มุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมือง

ไฮด์ปาร์คในไทยนั้นดูเป็น “การชุมนุมทางการเมือง” ซึ่งแตกต่างจากไฮด์ปาร์คเวอร์ชันต้นฉบับที่มีที่มาจากประเทศอังกฤษ ซึ่งชาวอังกฤษไม่ได้มุ่งเน้นไปที่เรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว พวกเขาให้ความสำคัญและเน้นย้ำบนรากฐาน “เสรีภาพแห่งการพูด” จึงพูดทุกเรื่องในสังคม เช่น สิทธิสตรี แรงงาน การทหาร ศาสนา มังสวิรัติ สิ่งแวดล้อม สภาพอากาศ ฯลฯ

Advertisement

อุทยานไฮด์ปาร์ค (Hyde Park) สวนสาธารณะในอังกฤษจะมีพื้นที่หนึ่งที่เรียกว่า Speakers’ Corner ซึ่ง Speakers’ Corner ใช้เรียกพื้นที่มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยาน ซึ่งมักมีคนมาชุมนุมกันเพื่อพูดคุย/วิพากษ์วิจารณ์/เรียกร้อง หรืออะไรก็ตามแต่ที่พวกเขาต้องการที่จะ “พูด”

ที่มาที่ไปของ Speakers’ Corner นี้ มีจุดเริ่มห่างจากมุมนั้นไม่กี่ก้าว ตรงบริเวณที่เรียกว่า Tyburn Gallows ซึ่งเป็นตะแลงแกงไว้ประหารชีวิตนักโทษโดยการแขวนคอมาเนิ่นนานหลายร้อยปี คาดการณ์ว่า นับตั้งแต่อดีตถึง ค.ศ. 1783 มีผู้ถูกแขวนคอไปกว่า 50,000 คน

ตะแลงแกงที่ Tyburn ต้นกำเนิดของ “เสรีภาพแห่งการพูด” (ภาพจาก wikipedia)

ก่อนที่นักโทษจะถูกแขวนคอนั้น พวกเขาจะกล่าว “Final Speech” บ้างยอมรับสารภาพความผิด บ้างสวดอ้อนวอนพระเจ้า บ้างกล่าวโทษเจ้าหน้าที่ บ้างก็สาปแช่งอย่างเคียดแค้น นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดปราศรัยในที่สาธารณะต่อหน้าประชาชนที่มาชุมนุมอย่างเนื่องแน่น

รูปแบบของ Speakers’ Corner ในปัจจุบันนี้ เริ่มต้นในกลางศตวรรษที่ 19 จากเหตุการณ์ที่ประชาชนออกมาต่อต้านรัฐสภาที่ออกกฎหมาย Sunday Trading Bill ห้ามการซื้อ-ขายของในวันอาทิตย์ ซึ่งตรงกับวันหยุดเพียงวันเดียวของแรงงานอังกฤษ

ความไม่พอใจต่อกฎหมายนี้จึงนำมาสู่การรวมตัวชุมนุม ซึ่งต่อมากลายสภาพเป็นการจราจล โดยกลุ่มหัวรุนแรงที่เรียกว่าสมาคมปฏิรูป (Reform League) สุดท้ายรัฐบาลก็ปราบปรามการขุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมไว้หลายคน

ในปี ค.ศ. 1872 รัฐสภาอังกฤษจึงออกพระราชบัญญัติระเบียบอุทยาน (Parks Regulation Act) ให้สิทธิแก่ประชาชนในการพบปะและพูดอย่างอิสระในอุทยานไฮด์ปาร์ค แต่ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขและกฎระเบียบต่าง ๆ รวมไปถึงการขอใบอนุญาตในการปราศรัย

ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการเดินขบวนชุมนุมกันขนาดใหญ่ทั่วอุทยาน ซึ่งชาวอังกฤษออกมาเรียกร้อง “สิทธิสตรี” ให้สตรีมีสิทธิในการออกเสียงเลือกตั้ง มีการชุมนุมมาเรื่อย ๆ ทุก ๆ สัปดาห์ตั้งแต่ ค.ศ. 1906 จนเมื่อถึงวันสตรีแห่งชาติ ในวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1908 ผู้หญิงออกมาเดินขบวนชุมนุมกันมากกว่า 250,000 คน แล้วกระจายตัวกันไปฟังปราศรัยในจุดต่าง ๆ ในอุทยานซึ่งมีกว่า 20 แห่ง

การชุมนุมเรียกร้องสิทธิสตรีชาวอังกฤษ วันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 1908 ที่อุทยานไฮด์ปาร์ค (Hyde Park)

การปรากฏขึ้นของ “ไฮด์ปาร์ค” และ Speakers’ Corner ในกรุงลอนดอน ได้สร้างแรงบันดาลใจให้ชาวอังกฤษในเมืองอื่น อีกทั้งยังแพร่กระจายไปทั่วทุกมุมโลก ในการพูดหรือการปราศรัย ผู้พูดต้องยืนอยู่ในจุดที่มองเห็นได้ง่าย เมื่อขบวนการไฮด์ปาร์คเริ่มแพร่หลายไปทุกท้องที่ ในช่วงทศวรรษ 1930 ผู้พูดจึงนิยมใช้ Soapbox หรือลังสบู่มาวางเป็นเวทีเพื่อให้ง่ายและสะดวก โดยมักพบมากในบริเวณตลาดสด

แม้เสรีภาพของการพูดจะได้รับการยอมรับจากฝ่ายรัฐ แต่ก็ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะพูดได้เสมอไป เจ้าหน้าที่รัฐมักสอดส่องดูแลการปราศัยเสมอ ซึ่งบางครั้งก็อาจหาเหตุจับกุมประชาชน กล่าวโทษว่าวาทกรรมทางการเมืองที่รุนแรงนั้นเป็นรูปแบบหนึ่งของการปลุกเร้าอาชญากรรม ความรุนแรง และเป็นภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อย

“Speakers corner” ในอุทยานไฮดปาร์ค (Hyde Park) เมื่อ 17 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002. (Photo by ODD ANDERSEN / AFP)

เสรีภาพแห่งการพูดนี้จึงเป็นประเพณีอย่างหนึ่งของชาวอังกฤษที่ถือปฏิบัติกันมายาวนานจวบจนได้รับการยอมรับให้เป็นกฎหมายในที่สุด ถือเป็นชัยชนะของประชาชนที่เรียกร้องสิทธินี้มาอย่างยาวนาน บุคคลสำคัญ ๆ ทางประวัติศาสตร์ เช่น คาร์ล มาร์ซ (Karl Marx) และวลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) ต่างก็เคยมาพูดที่ Speakers’ Corner แล้วทั้งนั้น

อุทยานไฮด์ปาร์คนอกจากจะเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรม พักผ่อน และออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับ “ออกกำลังฝีปาก” ของชาวอังกฤษ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การกล่าวโจมตีให้ร้ายกันอย่างเดียวเท่านั้น แต่ด้วยการพูดที่ถูกวางบนหลักของเสรีภาพ นั่นจึงก่อให้เกิด “การวิพากษ์วิจารณ์” อย่างมีเหตุมีผลบนหลักการของ “ประชาธิปไตย”

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Marble Arch London. (2017). The History of Speakers Corner, from marble-arch.london/culture-blog

The Royal Parks. (2019). Speakers’ Corner, from www.royalparks.org.uk


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ กุมภาพันธ์ 2562