เผยแพร่ |
---|
เรื่องพระพุทธเจ้าหลวงทรงตั้งกะทู้ เพื่อลองเป็นโจทย์ฟ้องเจ้าพระเจ้าปราสาททอง ให้พระยาโบราณราชธานินทร์เป็นทนายแก้ต่างๆ นั้นพระยาอนุมานราชธนได้มีหนังสือทูลถามไปยังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งพระองค์ทรงมีหนังสือตอบกลับมา (7 มกราคม 2479) ดังนี้
“เจ้าคุณใคร่จะทราบว่าเพราะเหตุใดสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดให้พระยาโบราณราชธานินทร์แก้คดีพระเจ้าปราสาททองนั้น ฉันพอจะบอกได้ด้วยทราบอยู่
เมื่อพระยาโบราณราชธานินทร์เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา[พระยาโบราณบุรานุรักษ์]นั้น เวลาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับณพระราชวังบางปะอิน มีหน้าที่ต้องมาประจำราชสำนัก และตามเสด็จประพาสที่ต่างๆ เป็นให้ได้เฝ้าแหนใกล้ชิดและได้ทูลสนองพระราชดำรัสเนืองๆ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงตระหนักพระราชหฤทัยว่าพระยาโบราณได้พากเพียรศึกษา รู้โบราณคดีครั้งกรุงศรีอยุธยา ทั้งเรื่องพงศาวดาร และถิ่นสถานต่างๆ ยิ่งกว่าผู้อื่นโดยมาก ก็ทรงพระเมตตาจนสนิทชิดชอบพระราชอัธยาศัย ในเวลาตรัสประภาษเรื่องโบราณคดีมักทรงซักไซ้ให้พระยาโบราณออกความเห็นเนืองๆ
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงสังเกตเห็นว่าพระยาโบราณยำเกรงพระเจ้าแผ่นดินครั้งกรุงศรีอยุธยามาก ถ้าเรื่องที่สนทนากันเนื่องไปถึงพระราชปฏิบัติอันร้ายกาจเลวทรามของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใด พระยาโบราณเป็นแก้แทนเสมอ ข้อนี้แหละเป็นมูลเหตุ เมื่อ พ.ศ. 2449 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประทับ ณ พระราชวังบางปะอิน วันหนึ่ง ตรัสประภาษเรื่องพงศาวดาร ทรงติเตียนพระเจ้าปราสาททอง พระยาโบราณทูลแก้จึงมีพระราชดำรัสว่า ‘พระยาโบราณชอบแก้ก็ดีแล้ว ฉันจะเป็นโจทย์ฟ้องพระเจ้าปราสาททอง ให้พระยาโบราณเป็นทนาย แก้แล้วมาอ่านฟังกันเล่น’
จึงทรงพระราชนิพนธ์กล่าวโทษพระเจ้าปราสาททองพระราชทานไปยังพระยาโบราณๆ ก็แต่งคำแก้ทูลเกล้าฯ ถวายเพราะฉะนั้นหนังสือ 2 ฉบับนี้เป็นแต่อย่างหนังสือแต่งเล่นเท่านั้น”
ส่วน “ข้อกล่าวหา” ที่พระพุทธเจ้าหลวงตั้งกระทู้ฟ้งพระเจ้าปราสาททองนั้น มีดังนี้
พระราชกระทู้ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่าด้วยพระราชอัธยาศัยของสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) แก้ถวายตามความคิดเห็น
ฉลาดในทางอุบายมารยา ฉลาดในทางที่จะเรียนวิชาความรู้ว่องไว แต่ไม่มีความอุตสาหะที่จะเรียนให้รู้จริง คือ ปากรู้มากกว่าใจ จนที่ไหนเดาที่นั่นด้วยความเชื่อว่าคงถูก เชื่อตัวว่ามีสติปัญญามีบุญ ไม่มีผู้ใดเสมอ ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งชอบยอ และกล้าทำอะไรๆ ไม่มีความละอาย ด้วยนึกว่าไม่มีใครรู้เท่า เป็นไพร่ตามสันดานเดิมในเมื่อเวลากริ้ว รวบรวมอัธยาศัยทั้งปวงนี้ จะอ้างพยานให้เห็นได้ ดังต่อไปนี้
ฉลาดในอุบายมารยานั้น คือ เมื่อเวลาพระเจ้าทรงธรรมสวรรคตมีความปรารถนาจะใคร่ได้ราชสมบัติ ข้อนี้ควรจะยกเว้นไม่ติเตียน เพราะพระเจ้าทรงธรรมไม่ได้เป็นผู้ที่ควรจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินยิ่งกว่าพระเจ้าปราสาททอง วิชาก็มีด้วยกัน ฝ่ายหนึ่งถนัดข้างพระไตรปิฎก ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่ามีเวทมนตร์ขลัง และสติปัญญามากกว่า เอาเป็นตีรั้งกันควรปรารถนา
อาการที่จะเอาแผ่นดินนั้น เอาโดยทางมารยา คือยกพระเชษฐาซึ่งคงเป็นคนโง่กว่าพระศรีสิน พระบิดาคงมุ่งหมายจะให้พระศรีสินรับสมบัติ จึงแกล้งไม่ยกสมบัติให้พระศรีสินซึ่งเป็นคนฉลาดแต่มิใช่ฉลาดดี ฉลาดอย่างกักขฬะ พระศรีสินจึงได้หนีออกไป คงจะด้วยถูกอุบายอย่างหนึ่งอย่างใด จึงไม่ได้ทันต่อรบอย่างหนึ่งอย่างใดให้สมกับที่ว่าเป็นขบถ หลอกให้พี่น้องแหนงกัน ฆ่ากันสมประสงค์
แกล้งทำการศพให้คึกคัก แต่งคนให้ลือให้เจ้าแผ่นดินตกใจ ผู้ที่ลือนั้น คือ จมื่นสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นผู้ส่งข่าวนั่นเอง เข้ามาเป็นไส้สึก พอหลอกให้ตกใจให้ไปรับสั่งให้หา ก็เลยพาลเป็นขบถ หาว่าเจ้าแผ่นดินตระเตรียมให้คนขึ้นป้อมวัง ความนี้ก็ไม่จริง ปรากฏเมื่อยกมาแต่เวลาบ่าย 3 โมง อยู่จน 8 ทุ่มเข้าไปฟันประตู ไม่มีใครทันรู้สึก ไม่ได้ต่อสู้กันเลย
คำอธิษฐานซึ่งอ้างเอาความปรารถนาโพธิญาณ เป็นสัจจาธิษฐาน นี่ก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าเย่อหยิ่งมาก ตั้งพระอาทิตย์วงศ์ขึ้นเป็นเจ้าแผ่นดิน จนกระทั่งถอดเสีย เป็นการมารยาทั้งนั้น
ให้ช่างออกไปถ่ายพระนครหลวงจะมาสร้างเป็นที่ประทับร้อน รู้ว่าเจ้าแผ่นดินเขมรมีบุญมาก เป็นไพร่ๆ ลอยมาเป็นผู้มีบุญเหมือนตัวจึงอยากจะเอาอย่าง รู้ว่าใหญ่โตและทำด้วยศิลาทั้งนั้น แต่ไม่รู้ว่ารูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร หมายว่าจะอยู่ได้สบาย ครั้นไปถ่ายมา หน้าตาเป็นวัดมากกว่าเป็นบ้าน แต่จะไม่ทำก็เสียเกียรติยศ จึงทำไปตามเลยเล็กๆ ไม่เอาพระทัยใส่เหมือนวัดชัยวัฒนาราม ด้วยผิดหมาย จึงได้เลยค้างมาจนเดี๋ยวนี้เป็นพยานให้เห็นว่า รู้เร็วแต่ไม่ใช่รู้จริง
เรื่องมีลูกออกมาเห็นเป็นสี่กร ไม่ควรเชื่อก็เชื่อ หรือถ้าไม่ใช่เชื่อจริง แกล้งเชื่อ ก็หาเกียรติยศอย่างฟุ้งสร้าน ลงโทษพระอาทิตย์ว่านั่งบนกำแพงแก้วต่ำสูง ให้ไปปลูกเรือนไม้ไผ่สองห้องอยู่วัดท่าทราย ด้วยหลงว่าตัวมีบุญและคนนับถือมาก คงไม่มีใครนับถือพระอาทิตยวงศ์ ครั้นพระอาทิตย์วงศ์ได้พวกพ้อง 200 คน พระเจ้าปราสาททองไม่ได้คิดต่อสู้ หนีด้วยความขลาด
เผาลูกเธอ พบเนื้อในท้อง เชื่อว่าต้องคุณ เป็นพยานให้เห็นว่าเชื่ออะไรยับเยินมาก เมื่อคนเอาตำราทิ้งน้ำเสียมาก จึงมีผู้คิดทำตำราขึ้นใหม่ ยิ่งเป็นวิชากระซิบกระซาบ คนก็ยิ่งเชื่อมากขึ้น
เห็นจะเป็นคนขี้กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่ามาก ได้ยินเสียงฟ้าผ่า ยังนึกว่าในวัง แล้วกลับเข้ามาดู ก็พอพบพระนารายณ์ไม่ถูกสายฟ้า สมประสงค์ไปข้างทางพระบารมีต่อไปอีก เลยตื่นไปจนถึงฟ้าผ่าโรง ช้างไม่ถูกช้าง ฟ้าผ่าที่บางปะอินไม่เป็นอันตราย ยิ่งรู้สึกพระบารมีกล้าขึ้น
ลบศักราช ฟังงู ๆ ปลา ๆ มาแต่ไหน จากวิชาพราหมณ์ ๆ ที่เขาว่าเวทมนต์คาถาอะไรอ่อนไปหมด เพราะเป็นกลียุค ไม่เหมือนทวาบรยุค จึงคิดจะเปลี่ยนศักราชเป็นปีต้นให้เป็นทวาบรยุค คือเร่งให้เป็นทวาบรยุคเร็ว ๆ เพราะยุคนั้นนับเป็นอนุโลมปฏิโลม เป็นกลียุค แล้วก็เลื่อนขึ้นเป็นทวาบรยุค แล้วเลื่อนขึ้นเป็นไตรดายุค แล้วเลื่อนขึ้นกัตยุค นี่เป็นปฏิโลม จึงได้หมายจะเปลี่ยนให้เลื่อนขึ้นไปตามปฏิโลม ด้วยบุญบารมีมากอาจจะเปลี่ยนกาลของโลก ซึ่งไม่ดี ให้กลับเป็นดีได้ จึงต้องว่าเสี่ยงบารมีลบศักราช และยกย่องตัวเองว่า การที่ทำนั้นเป็นการสงเคราะห์แก่สัตวโลก แต่ไม่รู้วิชานับของการโหรว่าจะเป็นเหตุให้วันคืนเดือนปีศักราชเลอะเทอะได้เท่าใด ครั้นเมื่อลบแล้ว ศักราชนั้นใช้ไปไม่ได้เท่าไร จนแผ่นดินพระนารายณ์ต้องหันไปใช้พุทธศักราช นี่เป็นสุดยอดของความเย่อหยิ่งเชื่อบุญบารมี และปรากฏว่าความรู้ไม่มีอะไรที่รู้จริง
ไม่แต่เท่านั้น ใช้อุบายหลวมๆ จะทึกทักตึงตังเอาเมืองพม่าเป็นเมืองขึ้น โดยรู้เรื่องว่า พระเจ้าอโนรธามังช่อมีชัยชนะแก่เมืองที่ใกล้เคียงทั่วกัน จึงตั้งจุลศักราช เมืองใดที่ใช้จุลศักราช เมืองนั้นเคยอยู่ในอำนาจอโนรธามังช่อ ไม่ได้พิจารณาว่า อโนรธามังช่อนั้นมีบุญด้วยบารมีสร้างมาแต่ปางหลัง มาอบรมให้เป็นผู้มีบุญใหญ่ขึ้นเองหรือด้วยกำลังปราบปราม เชื่อเอาฝ่ายข้างที่ว่าเหาะได้ซึ่งเป็นการอัศจรรย์ อยากจะใคร่เชื่ออยู่แล้วมาเอาอย่างพม่า ไม่ยอมใช้ เพราะใครเลยจะไม่รู้เท่า เขาไม่ได้อยู่ในอำนาจ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำไม่รู้เท่า เขาไม่ยอมใช้ ทรงฉุน
เลยพาลเปะปะให้เอากับข้าวรดหัวทูต ซึ่งเป็นการหยาบคายเหลือเกิน โกรธอย่างไพร่ หากพม่าเวลานั้นกำลังบ้านเมืองไม่ปกติมอญเป็นขบถ จึงมิได้เกิดรบกันขึ้น ก็ไม่สืบดูเหตุผล ว่าทำไมเขาจึงไม่มารบ กลับเชื่อว่าเพราะเขากลัวบารมี
โหรถวายฎีกาว่าไฟจะไหม้วัง ตื่นเต้นขนของ และหนีออกไปอยู่วัด บางคนเขาคิดเห็นว่าจะเป็นแกล้งเผา แต่เห็นจะไม่กล้าเผา เพราะขลาดมากอยู่ มีแต่ไฟไหม้ที่ไหนเจ้าแผ่นดินจะเสด็จไปดับ นี่เจ้าแผ่นดินกลับหนีไฟ
รวมใจความว่า ในแผ่นดินนี้ไม่ได้ทำการอะไร เคยอย่างไร ก็เป็นไปอย่างนั้น ตื่นแต่บารมีกันอย่างเดียว แต่ความดีของพระเจ้าปราสาททองคงมีในทางที่รู้จักใช้คน ชุบเลี้ยงคนเป็น การงานอะไรที่เป็นการธรรมดาบังคับบัญชาได้แข็งแรง สิทธิขาดไม่โลเล จึงอยู่ในราชสมบัติได้ช้านาน ไม่มีภัยอันตรายอันใด
ความที่ว่ามานี้ เป็นกล่าวโทษพระเจ้าปราสาททอง และชมพระเจ้าปราสาททองตามความเห็น ให้พระยาโบราณผู้เป็นเทศากรุงเก่า แก้ไขว่า คำที่กล่าวติเตียนนั้น ไม่เป็นความจริงอย่างไรตามความเห็น จะได้เปลี่ยนความคิดที่หมิ่นประมาทนั้น
พระยาโบราณราชธานินทร์ทนายจำเลยเมื่อได้อ่าน “ข้อกล่าวหา” ของฝ่ายโจทย์แล้วก็อธิบายแก้เป็นข้อๆ ดังนี้
“คำสนองพระราชกระทู้พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) เรียง
บางปะอิน วันที่ 12 พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก 125 [1]
ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ด้วยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระกระแสพระราชดำริที่ทรงเห็นในพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าปราสาททอง มาให้ข้าพระพุทธเจ้าแก้ไขตามความเห็นนั้น พระเดชพระคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้
ข้าพระพุทธเจ้าได้รับใส่เกล้าใส่กระหม่อม พิเคราะห์ใคร่ครวญดูตลอดแล้ว เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การที่จะแก้ไขพระราชดำริที่ได้ทรงกล่าวไว้นั้น เป็นความยากอย่างยิ่ง พ้นจากวิสัยภูมิวิชาซึ่งข้าพระพุทธเจ้าได้เล่าเรียนมา แต่เหตุด้วยมีพระบรมราชโองการฉะเพาะแก่ข้าพระพุทธเจ้า จึงจำเป็นต้องแก้ไขไปตามความเห็น แม้การที่ได้กราบบังคมทูลพระกรุณามานี้ จะมีข้อที่ไม่ถูกต้องตามแบบฉบับและพระราชอัธยาศัยประการใด ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระมหากรุณาพระราชทานอภัยแก่ข้าพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งแรกศึกษาวิชาพงศาวดาร ยังมีความรู้น้อยอยู่นั้น
1. ตามที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า อาการที่พระเจ้าปราสาททองจะเอาแผ่นดินนั้น เอาโดยทางมารยา คือแกล้งยกพระเชษฐา ซึ่งคงเป็นคนโง่กว่าพระศรีสิน ที่พระบิดาคงมุ่งหมายจะให้รับราชสมบัติและหลอกให้พี่น้องแหนงกันจนฆ่ากันสมประสงค์นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าพระเจ้าปราสาททองปองที่จะเอาราชสมบัติอยู่แล้ว ถึงพระศรีสินจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ก็คงจะรักษาพระองค์ไม่รอดไปเหมือนกัน เพราะกำลังวังชาและอำนาจของพระเจ้าปราสาททองในเวลานั้นมีมากนัก ซึ่งยกพระเชษฐาขึ้นครองราชสมบัตินั้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า คงทำตามโบราณราชประเพณีที่ต้องยกพี่ขึ้นเป็นใหญ่กว่าน้อง ประการหนึ่งถ้าหากยกพระศรีสินขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระเชษฐากับพระศรีสินก็คงจะบาดหมางไม่ปรองดอง คิดฆ่าฟันกันไปเหมือนกัน
2. ตามที่ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าปราสาททองแกล้งทำการศพให้คึกคัก แต่งคนให้ลือให้พระเจ้าแผ่นดินตกพระทัย พอให้ไปรับสั่งให้หาก็เลยพาลเป็นขบถนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าในเวลานั้นพระเจ้าปราสาททองเป็นเจ้าพระยากลาโหมสุริยวงศ์ เป็นประธานในราชการแผ่นดิน จะทำการงานอันใดก็คงมีผู้ไปช่วยเหลือเพื่อการประจบ และพระเชษฐาในเวลานั้น ก็คงจะง่อนแง่นเต็มทีอยู่แล้ว ถึงในข้อที่ว่าตระเตรียมคนให้ขึ้นป้อมล้อมวังนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า น่าจะรับสั่งให้ตระเตรียมจริง เพราะทรงตกพระทัยและหวาดอยู่แล้ว แต่เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า คงจะไม่ได้คนมาขึ้นป้อมล้อมวังตามรับสั่ง ด้วยข้าราชการคงจะไปฝักฝ่ายกับพระเจ้าปราสาททองเสียหมด จึงไม่ได้ต่อสู้กัน
3. ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่า ที่ตั้งพระอาทิตยวงศ์ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินจนกระทั่งถอดเสียเป็นการมายานั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในเรื่องนี้จำเป็นพระเจ้าปราสาททองจะต้องทรงทำเช่นนั้น ด้วยอาทิตยวงศ์ยังมีอยู่ ถ้าหากจะเอาราชสมบัติเสียทีเดียว คนทั้งปวงก็จะเห็นว่าเป็นขบถฆ่าพระเชษฐาเพื่อเอาราชสมบัติ
4. ในข้อที่ให้ช่างออกไปถ่ายอย่างพระนครหลวง จะมาทำเป็นที่ประทับร้อน ครั้นไปถ่ายมา หน้าตาเป็นวัดมากกว่าเป็นวัง จึงทำไปตามเล็ก ๆ ไม่เอาพระทัยใส่เหมือนวัดชัยวัฒนาราม ทรง พระราชดำริเห็นว่า เป็นพยานให้เห็นว่า รู้เร็วแต่ไม่ใช่รู้จริงนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า การให้ช่างไปถ่ายอย่างพระนครหลวงมาสร้างในพระนครนั้น ก็ด้วยเหตุที่จะแสดงพระเกียรติยศว่า กรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นมีกำลังและอำนาจมาก ถึงกับไปถ่ายเอาอย่างปราสาทศิลาพระนครหลวงซึ่งคนในเวลานั้นถือว่าเป็นของเทวดาสร้างมาไว้ในบ้านเมืองได้ ถึงจะประทับในนั้นไม่ได้ ดูก็น่าจะไม่เป็นที่เสียหายอย่างไร
5. เรื่องมีพระราชบุตรออกมาเห็นเป็นสี่กรไม่ควรเชื่อก็เชื่อนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้า ฯ ว่า ถ้าไม่ทรงเชื่อและไปทรงคัดค้านผู้อื่นที่เขาเชื่อจนแพร่หลายออกไปแล้ว ก็น่าจะเป็นข้อลดทอนพระเกียริตยศอยู่ และน่าจะทรงเห็นว่า ในการที่เชื่อหรือแกล้งทรงเชื่อนั้น ก็คงเป็นแต่พระเกียรติยศไปอย่างเดียว เป็นทางที่จะเพิ่มพระบารมีให้แก่กล้าขึ้น
6. ในข้อซึ่งทรงหลงว่ามีบุญและคนนับถือมาก ครั้นพระอาทิตยวงศ์ได้พวก 200 คนยกมา พระเจ้าปราสาททองก็มิได้ต่อสู้ หนีด้วยความขลาดนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในเวลานั้นคงจะทรงวางพระทัยว่าจะไม่มีผู้ใดกล้าคิดทำอันตราย จึงมิได้จัดการป้องกันรักษาให้กวดขัน พระอาทิตยวงศ์จึงยกเข้าไปในวังได้โดยไม่ทันรู้พระองค์ ก็ควรจะเสด็จหลบหลีกออกเสียจากวังซึ่งใกล้ต่อข้าศึก เพื่อไปรวบรวมกำลังต่อสู้ และการที่เสด็จนั้น ก็มิได้ไปไกลจากวังเพียงใด เสด็จลงประทับอยู่ในเรือพระที่นั่งลอยลำอยู่ที่หน้าพระฉนวนเท่านั้น จะถือเอาเป็นขลาดแท้ทีเดียวยังไม่ได้ ถ้าตกพระทัยใหญ่ ก็คงเสด็จเปิดไปจนถึงเกาะมหาพราหมณ์ [2]
7. พระราชทานเพลิงพระเจ้าลูกเธอ ได้เนื้อในพระอุทร เชื่อว่าต้องคุณ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ในเวลานั้นเป็นสมัยเล่นเวทมนตร์คาถา และตำรับตำราทำคุณไสยก็คงมีอยู่เป็นอันมาก ก็เมื่อได้พบสิ่งที่ต้องในตำราก็น่าจะเชื่ออยู่ โดยเหตุว่าในชั้นต้นได้เชื่อและนับถือเวทมนตร์คาถาเสียแล้ว และทั้งเวทมนตร์ในเวลานั้นก็ขลังให้ผลแก่ผู้ถือ กล่าวคือพระเจ้าทรงธรรมกับพระเจ้าปราสาททองนั้นเองเป็นผู้ที่ถือเวทมนตร์จัด และเห็นกันว่าได้ราชสมบัติเพราะเวทมนตร์
8. เรื่องฟ้าผ่าไม่ถูกพระองค์กับพระนารายณ์และช้างนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถึงจะผ่าห่างหน่อยใกล้นิด ก็ควรจะทรงปลื้มในพระบารมี ด้วยเหตุถือกันว่า ไฟฟ้าเป็นของสำคัญอันร้ายแรง ก็เมื่อทำให้คนเข้าใจกันไปว่า แต่ฟ้าผ่าก็ยังไม่ถูกต้องพระองค์และพระราชบุตร โดยที่สุดแต่ช้างต้นก็มิได้เป็นอันตรายเช่นนี้ ก็เป็นการเพิ่มพระบารมีที่จะทำให้คนเกรงกลัวพระเดชานุภาพมากขึ้น
9. เรื่อลบศักราชนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ก็เป็นการตั้งพระทัยในทางดี และเพื่อที่จะแสดงพระกรุณาแก่ราษฎร ซึ่งเป็นเหตุที่จะให้ราษฎรมีความนิยมนับถือมากขึ้น แต่ในข้อที่จะทำให้วันคืนเดือนปีศักราชเลอะเทอะไปนั้น จะโทษแต่พระเจ้าปราสาททองพระองค์เดียวเห็นจะไม่ได้ ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า น่าจะเป็นจากพระโหราธิบดี ด้วยเป็นคนที่ทรงเชื่อถือมากอยู่
10. ในข้อที่ใช้อุบายจะเอาเมืองพม่าเป็นเมืองขึ้นนั้น เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า พระเจ้าปราสาททองคงจะทรงทราบอยู่แล้วว่า พม่าเวลานั้นบ้านเมืองกำลังรวนเรไม่เป็นปกติ ก็เป็นช่องที่ควรลองดู ถ้าสำเร็จตามพระราชดำริ ก็เป็นทางดีแก่ไทย ถ้าไม่สำเร็จ ก็คงทรงนึกว่าไม่เป็นการเสียหายอะไร
11. เรื่องเอากับข้าวรดศีรษะทูตพม่านั้น ข้าพระเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ท่านทูตที่จะมาเป็นคนกักขฬะ และมาทำการหรือพูดจาหมิ่นประมาทอย่างแรงขึ้นอย่างไร และเป็นด้วยเหตุเข้าพระทัยอยู่แล้วว่า เมืองพม่าเวลานั้นอ่อนแอ แต่กิริยาของทูตโอหังเกินกับกำลังของบ้านเมือง จึงลงโทษทูตแต่พอให้รู้สึก มิได้ให้เจ็บปวดอย่างใด เห็นจะนับว่าเป็นโทษอย่างเบาในเวลานั้น
12. ในข้อที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า การที่เอากับข้าวราดศีรษะทูตเป็นการหยาบคายเหลือเกิน โกรธเหมือนไพร่นั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า สันดานของบุคคลนั้นก็เป็นเหมือนดังวาสนา ซึ่งมีมาในพระบาลีว่า จะตัดขาดได้ก็ฉะเพาะแต่พระพุทธเจ้าพระองค์เดียวเท่านั้น แต่ถึงชั้นพระอรหันต์ก็ยังขาดไม่ได้ ดังเช่นพระสารีบุตรเดิมเคยเป็นวานร เมื่อถึงชาติที่สุดก็ยังมีกิริยาวานรติดอยู่ในพระองค์
13. เรื่องโหรถวายฎีกาว่าไฟจะไหม้วัง ขนของหนีออกไปอยู่วัดนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า คงจะเป็นด้วยเชื่อพระโหราธิบดี ด้วยท่านโหรผู้นี้ดูแม่นยำนัก และครั้งนี้ดูว่าไฟจะไหม้วัง ก็เมื่อทรงเชื่อแล้วจะประทับอยู่ในวังซึ่งจะถูกไฟไหม้อย่างไรได้ เป็นการจำเป็นที่จะต้องเสด็จออกไปเสียให้ห่างสักหน่อย แต่ถึงกระนั้นก็ปรากฏว่าได้เตรียมการป้องกันไว้เต็มที่ และทั้งไฟก็ไหม้วังจริงด้วย จะหาว่าตื่นและขลาดก็ไม่สู้ถนัดนัก
14. คำอธิษฐานซึ่งอ้างเอาความปรารถนาโพธิญาณ ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นการเย่อหยิ่งนั้น ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า คงจะทรงตาม ๆ กันไป เช่นพระเจ้าทรงธรรมเอง ก็น่าได้กล่าวอย่างนี้เหมือนกัน รวบรวมใจความในแผ่นดินพระเจ้าปราสาททอง ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า ถ้าในสมัยนั้นน่าจะนับเอาว่าเป็นการเรียบร้อยกว่าบางแผ่นดิน เพราะบ้านเมืองก็ราบคาบเป็นปกติปราศจากข้าศึกภายนอกภายใน และจะเป็นแผ่นดินที่มีอำนาจแข็งแรงอยู่ จะทำอะไรก็ทำได้ เช่นกริ้วทูตพม่าเอากับข้าวรดศีรษะ พม่าก็ไม่อาจมาทำอะไรได้ จึงเห็นด้วยเกล้าฯ ว่า คนในสมัยนั้นคงจะเห็นว่าเป็นเกียรติยศและอำนาจของเมืองไทย และน่าจะไม่มีผู้ใดติเตียนในเวลานั้นเลย เพราะความนิยมของคนชั้นนั้นเป็นเช่นนั้น ครั้นต่อมาบัดนี้ เมื่อคิดดูศักราชก็เป็นเวลาที่สิ้นแผ่นดินพระเจ้าปราสาททองมาแล้วถึง 250 ปีเศษ เป็นคนละสมัย ความนิยมก็เปลี่ยนแปลงกันกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมดังนี้
ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมขอเดชะ
ข้าพระพุทธเจ้า พระยาโบราณบุรานุรักษ์”
รับสั่งในจดหมายที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตอบพระยาอนุมานราชธน (7 มกราคม 2479) กล่าวถึงการแก้ต่างให้พระเจ้าปราสาททองว่า
“แต่เมื่ออ่านคำแก้ของพระยาโบราณ ต้องชมที่กล้าปฏิเสธข้อหาทุกข้อหา แต่ใช้ถ้อยคำและหาอุปมามากราบทูลอย่างเรียบร้อย ควรนับว่าเป็นหนังสือแต่งดี แม้สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็โปรดคำแก้ของพระยาโบราณ”
[1] ตรงกับ พ.ศ.2449
[2] พื้นที่ขึ้นกับอำเภอบบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวกันว่ามีพวกพราหมณ์ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เกาะนี้ และเคยเป็นเกาะที่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสด็จลงเรือพระที่นั่งหนีพระศรีสิน ซึ่งก่อการกบฏมาประทับที่เกาะนี้
ข้อมูลจาก
สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณิการ. การเมือง “อุบายมารยา” แบบมาคิอาเวลลี (MACCHIAVELL) ของพระเจ้าปราสาททอง, สำนักพิมพ์มติชน, 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2562