ข้อขัดแย้งในข้อมูล-หลักฐานพระอาการพระเจ้าตากทรงเสียพระสติ ตามหลักจิตเวชฯ

พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่วัดปากพิงตะวันตก อำเภอเมืองฯ จังหวัดพิษณุโลก

“สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเสียพระสติจริงหรือไม่” เป็นคำถามใหญ่ที่ยังคงถกเถียงหาข้อสรุปที่มีน้ำหนักพอยึดถือกัน แวดวงนักวิชาการ และผู้สนใจประวัติศาสตร์พยายามค้นหาหลักฐานและเปรียบเทียบกับองค์ความรู้เชิงจิตเวชศาสตร์สมัยใหม่เพื่อหาความเป็นไปได้ต่างๆ ซึ่งจากการสืบค้นพระอาการและเปรียบเทียบกับข้อมูลทางจิตเวชแล้ว อาจพบเห็นข้อขัดแย้งบางประการ

หลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายแหล่งบ่งบอกเรื่องพระอาการของสมเด็จพระเจ้าตากสินว่าด้วย “ทรงเสียพระสติ” มีทั้งหลักฐานที่บันทึกภายในประเทศ และคำบอกเล่าจากชาวต่างชาติมากมาย บทความของ “สุวิทย์ ธีรศาศวัต” ผู้สอนด้านประวัติศาสตร์ เรื่อง “สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงเสียพระสติจริงหรือไม่ : วิเคราะห์ตามหลักฐานประวัติศาสตร์และจิตเวชศาสตร์” เป็นอีกหนึ่งผลงานที่ตั้งข้อสังเกตความขัดแย้งในข้อมูลพระอาการของสมเด็จพระเจ้าตากสินเอาไว้

หลักฐานทางประวัติศาสตร์

บทความนำเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญอย่างจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี และ “ไทยรบพม่า” โดยสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จนถึงพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ มาเปรียบเทียบแล้วสรุปสาระสำคัญได้ 3 ข้อ ดังนี้

1. ทรงเริ่มหมกมุ่นกับการวิปัสสนาตั้งแต่หลังสงครามอะแซหวุ่นกี้ (พ.ศ. 2319) หรือไม่ก็ตอนประหารชีวิตองเชียงสุนกับพวกญวน (พ.ศ. 2323) การวิปัสสนาทำให้พระองค์สำคัญผิดคิดว่าทรงบรรลุโสดาบัน

2. ทรงสั่งทำโทษพระเถระและพระสงฆ์ที่คัดค้านพระภิกษุจะไหว้คฤหัสถ์ที่บรรลุโสดาบัน

3. ทรงระแวงข้าราชการคอยจ้องลักพระราชทรัพย์ ทรงตัดสินความในขณะที่ขาดสติ ทารุณจำเลยในคดีเหล่านี้กันมาก ใส่ความกันมากมาย มีผู้หากินในการเป็นโจทก์ใส่ความผู้อื่นหลายร้อยราย

และยังสืบค้นไปจนถึงหลักฐานที่เขียนโดยบุคคลซึ่งไม่ใช่ข้าราชการของรัชกาลที่ 1 ไม่ใช่ลูกหลานของรัชกาลที่ 1 ซึ่งบันทึกโดยพระ (บาทหลวงต่างชาติ) เพื่อนำมาวิเคราะห์กับข้อมูลทางวิชาการแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์

โดยหลักฐานในส่วนนี้คือ บันทึกของบาทหลวงต่างชาติชื่อ คูเด้ ลงวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2322 ซึ่งข้อมูลจากบันทึกของบาทหลวงคาทอลิก มีสาระสำคัญว่า ทรงเริ่มมีพระอาการทางจิตประมาณ พ.ศ. 2321 และกล่าวถึงเรื่องพระองค์ทรงรับสั่งเรื่องการเหาะเหินเดินอากาศ และเป็นพระผู้เป็นเจ้า หรือเริ่มขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2319 (จากบันทึกของเลอ บอง)

พระอาการจากข้อมูลทางจิตเวชศาสตร์

จากข้อมูลจากการสอบถามจิตแพทย์และนักจิตวิทยา ประกอบกับการสืบค้นตำราทางจิตเวชศาสตร์ ทำให้สามารถร่างสมมติฐานพระอาการที่เข้าข่ายตามข้อมูลจากบันทึกต่างๆ และสรุปพระอาการได้ดังนี้

1. ในกลุ่มโรคจิต (Psychosis) อาการจากข้อมูลในบันทึกคล้ายกับอาการผู้ป่วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) ประเภท paranoid type เป็นอาการหลงผิดชนิดระแวง (Paranoid delusion) ขาดเหตุผล ความคิดไม่เป็นระเบียบ มักคิดว่ามีคนอื่นจะทำร้าย (persecutory) หรือคิดว่าเป็นคนใหญ่โต เป็นผู้วิเศษ เป็นพระเจ้า (grandiose delusion) โดยมักมีอาการประสาทหลอนร่วมด้วย

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า พระอาการของพระองค์จะขัดแย้งกันเองหากพิจารณาตามหลักวิชาจิตเวชศาสตร์ กล่าวคือ คนที่หวาดระแวงมาก กับคนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้วิเศษ เป็นพระเจ้า อาการสองกลุ่มนี้จะไม่เกิดในคนคนเดียวกัน

อาการเกิดมักเกิดกับคนที่ผ่านการเลี้ยงดูไม่ดีมาตั้งแต่เด็ก แต่เมื่อดูจากพระราชประวัติพระเจ้าตากเมื่อทรงพระเยาว์ พ่อแม่มีฐานะค่อนข้างดี (แม้ว่าพ่อแม่ที่แท้จริงจะไม่ได้เลี้ยงดู) ไม่ปรากฏว่ามีปัญหาทะเลาะกันมากหรือไม่ ขณะที่สมุหนายก (สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ) ผู้เลี้ยงดูพระองค์ก็เลี้ยงดูอย่างดี และจากสถิติแล้ว ผู้เป็นโรคจิตเภทกลุ่มนี้ ร้อยละ 59 เป็นผู้อายุต่ำกว่า 35 ปี ในไทยมักพบในคนวัยเด็กถึงวัยรุ่นมากที่สุด ด้านสมเด็จพระเจ้าตากสินมีพระชันษา 44 ปีแล้วตอนที่เริ่มปรากฏอาการ ถือว่าอยู่ในวัยกลางคน

2. กลุ่มโรคประสาท (Neurosis) ตำราจิตเวชฯ กล่าวถึงสาเหตุและอาการของคนเป็นโรคประสาทหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นได้รับความรักจากพ่อแม่ไม่เพียงพอ ประสบการณ์ในวัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ ความกดดันในประสบการณ์ที่ได้รับ ความรู้สึกขัดแย้งที่ถูกกดทับไว้ ไปจนถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

เมื่อพิจารณาเรื่องประสบการณ์ในวัยเด็กแล้ว ไม่พบข้อมูลที่พอบ่งชี้ว่าจะเป็นปัญหาที่ถึงขั้นส่งผลต่อสภาพจิต ส่วนเมื่อเป็นกษัตริย์แล้ว มีคดีที่อาจกล่าวได้ว่า มีแนวโน้มส่งผลให้ “สะเทือนพระทัย” พระองค์อยู่ คือเหตุการณ์เมื่อ พ.ศ. 2312 ที่มีผู้ฟ้องร้องเรื่องพระสนมคนโปรด เป็นชู้กับมหาดเล็กชาวโปรตุเกส

คดีนี้เมื่อสอบสวนแล้ว จำเลยรับเป็นสัตย์ พระองค์จึงให้ประหารชีวิต ไม่ว่าคำสารภาพของจำเลยจะเป็นความจริงหรือไม่ เหตุการณ์ครั้งนี้พอจะเข้าข่ายประสบการณ์ที่อาจทำให้ทรงคิดมาก เมื่อค้นหาหลักฐานจะพบว่า มีบันทึกว่าพระองค์ทรงเสียพระทัยใหญ่หลวงถึงขั้นรับสั่งจะปลงพระชนม์ตาม

หลังจากนั้นไม่ปรากฏเหตุการณ์ที่มีบันทึกว่าส่งผลต่อพระองค์อย่างมาก นอกเหนือจากกรณีพระชนนีของพระองค์ทรงประชวรมาก ในพ.ศ. 2317 ช่วงศึกบางแก้ว ซึ่งพระองค์ได้รับชัยชนะ แต่พระองค์ก็สูญเสียพระชนนีโดยไม่ได้สั่งเสีย หลังจากนั้น ก็ไม่ปรากฏพระอาการผิดปกติ กระทั่งใน พ.ศ. 2321 จึงได้ปรากฏพระอาการ ซึ่งอาจเป็นข้อสังเกตหนึ่งที่ประกอบกับการพิจารณาได้ว่า เหตุการณ์นี้อาจเป็นเหตุที่ส่งผลในภายหลังจนนำมาสู่โรคประสาท

“สุวิทย์ ธีรศาศวัต” ผู้เขียนบทความ อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับโรคประสาทนั้น มีกว่า 10 ชนิด ชนิดที่อาการใกล้เคียงพระอาการของสมเด็จพระเจ้าตากสินมี 2 ชนิด คือ Anxiety Neurosis อาการของโรคจิตชนิดนี้คือ กังวลออกมาอย่างเด่นชัด ไม่สบายใจ หวาดหวั่น หงุดหงิด ขาดสมาธิ

และอีกชนิดคือ Depressive Neurosis ที่ตำราจิตเวชฯ ระบุสาเหตุว่า เกิดจากความเศร้าใจ ความเสียใจอย่างรุนแรงและเป็นเวลานาน อาการของโรค ผู้ป่วยมักเศร้าเสียใจ ผิดหวัง ครุ่นคิด กระวนกระวาย

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปที่จะเอ่ยว่าพระองค์เสียพระสติจริงหรือไม่ และมาจากสาเหตุใดนั้น เชื่อว่ายังไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจน เนื่องจากหลักฐานเกี่ยวกับสาเหตุและอาการที่มีนั้นยังไม่ชัดเจนเพียงพอ และข้อมูลบางจุดยังขัดแย้งกันเองดังที่กล่าวถึงข้างต้น

ยิ่งเมื่อดูจากหลักฐานข้อมูลที่มีผู้อธิบายพระอาการแล้ว หากยึดจากหลักฐานฝ่ายไทยก็อาจพิจารณาได้ว่าใกล้เคียงกับอาการกลุ่มโรคประสาทชนิด Depressive Neurosis และ Anxiety Neurosis แต่หากพิจารณาตามหลักฐานการบอกเล่าของบาทหลวงคาทอลิก ก็อาจบ่งชี้ว่าใกล้เคียงกับกลุ่ม grandiose delusion

แต่ถ้าจะให้สรุปแน่ชัดไปเลย คงต้องอาศัยหลักฐานที่ชัดเจนมากกว่านี้

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

สุวิทย์ ธีรศาศวัต. สมเด็จพระเจ้าตากสิน : ทรงเสียพระสติจริงหรือไม่ : วิเคราะห์ตามหลักฐานประวัติศาสตร์และจิตเวชศาสตร์. ศิลปวัฒนธรรม (กันยายน 2525)

(ตำราจิตเวชศาสตร์ที่สุวิทย์ ธีรศาศวัต ใช้อ้างอิง คือ นพ. จำลอง ดิษยวนิช. จิตเวชศาสตร์. (พระสิงห์การพิมพ์ : 2522).

พญ. สุพัฒนา เดชาติวงศ์ ณ อยุธยา และคณะ (บรรณาธิการ). ตำราจิตเวชศาสตร์. สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (อักษรไทย : 2520).

Lawerence C. Kolb. Noyes’ Modern Clinical Psychiatry. (Oxford & IBH : 1970).

Steven Reiss and Others. Abnormality Experimental Clinical Approaches. ZMaCmillan : 1977).

Perry London and David Rosenhan. Foundation of Abnormal Psychology. (Holt, Rinehart and Winston : 1968).)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2562