บันทึกจอมพลถนอม เล่าครั้งเชิญพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปฯเป็น “รองนายกฯ”

พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ขณะทรงปฏิบัติหน้าที่ประธานสมัชชาใหญ่ องค์การสหประชาชาติ ระหว่าง พ.ศ. 2499-2500 (ภาพจากหนังสือ "100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์")

จอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นอีกหนึ่งนายทหารที่มีบทบาททางการเมืองในยุคเปลี่ยนผ่านของไทย ระหว่างเส้นทางการเมืองนั้น จอมพลถนอม เคยบันทึกเรื่องราวเมื่อครั้งเชิญ “เสด็จในกรมฯ” พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี

การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เกิดปรากฏการณ์หลายประการซึ่งท้ายที่สุดแล้วนำมาสู่การยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอม กิตติขจร ในช่วงต้นปี 2501

จอมพลถนอม และคนจำนวนมากตระหนักดีว่าครั้งนั้นเป็นการดำรงตำแหน่งชั่วคราว ในข้อเขียนเรื่อง “เสด็จในกรมฯ ที่ข้าพเจ้าเคารพ” ซึ่งปรากฏข้อความตอนหนึ่งในหนังสือ 100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์

เนื้อหาส่วนหนึ่ง จอมพลถนอม เล่าถึงประสบการณ์เมื่อครั้งเชิญเสด็จในกรมฯ ร่วมในคณะรัฐบาลทั้งในเหตุการณ์เมื่อพ.ศ. 2501 ที่ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รวมถึงช่วง พ.ศ. 2506 ซึ่งจอมพลถนอมเชิญเสด็จในกรมฯ เข้าร่วมคณะรัฐบาล โดยทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (ด้านต่างประเทศ)

ใจความตอนหนึ่งเล่าว่า

“…เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ข้าพเจ้าได้เชิญเสด็จในกรมฯ เข้าร่วมในคณะรัฐบาลต่อไป ในตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี (ด้านต่างประเทศ) พระองค์ก็ทรงรับด้วยความเต็มพระทัย ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีทุกสมัย เสด็จในกรมฯ มิได้ทรงถือพระองค์ว่าสูงกว่านายกรัฐมนตรี ทั้งด้านชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ ได้ทรงปฏิบัติราชการอย่างเต็มที่ โดยทรงเห็นประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ผลงานที่ทรงปฏิบัติจึงเป็นผลดีต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง พระองค์ได้ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีมาจนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2516

…ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ข้าพเจ้าตั้งใจจะเชิญเสด็จในกรมฯ เป็นรองนายกรัฐมนตรีอีก แต่พระองค์รับสั่งว่าพระชนมายุ 77 ปีเศษแล้ว พระสังขารร่วงโรย ทรงขอพักจากทางการเมืองเสียที แต่ยังทรงดำรงตำแหน่งที่สำคัญบางตำแหน่ง เช่น อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายกราชบัณฑิตยสถาน เป็นต้น…”

หนังสือที่ระลึก 100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ มีข้อเขียนของม.ล. ปีกทิพย์ มาลากุล ชื่อ “พระประวัติ พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์” ซึ่งอธิบายว่า พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงมีพระนามเดิมว่า หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ประสูติเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2434 ที่ตำบลบ้านตะนาว อำเภอสำราญราษฎร์ จังหวัดพระนคร เป็นโอรสของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ในรัชกาลที่ 4 และหม่อมหลวงต่วนศรี วรวรรณ ในสกุล “มนตรีกุล” ซึ่งสืบสายจากพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี

ในส่วนประวัติการรับราชการในช่วงพ.ศ. 2502 บันทึกไว้ว่า ทรงดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ทรงเป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีในงานด้าน รองประธาน ก.พ. ทำหน้าที่แทนประธาน, รองประธานสภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ, รองประธานสภาการศึกษาแห่งชาติ, รองประธานสภาวิจัยแห่งชาติ และกรรมการสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทรงเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2505 ในภายหลัง ทรงลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพราะพระชนมายุมากเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513  แต่ยังทรงดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนถึงเมษายน 2514

เนื้อหาส่วนบรรณานุกรมของหนังสือที่ระลึก 100 ปี เสด็จในกรมฯ ที่อ้างอิงข้อเขียนจากวารสารและ หนังสือพิมพ์จากผู้เขียนชื่อ “ถนอม กิตติขจร” มีข้อความอธิบายเพิ่มเติมว่า “ฯพณฯ จอมพล ถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีหลายสมัย มีโอกาสได้ใกล้ชิดกับสมเด็จในกรมฯ เป็นเวลานาน โดยเฉพาะได้ร่วมอยู่ในคณะรัฐมนตรีหลายสมัย ได้กล่าวถึงพระเกียรติคุณของ พลตรี พระเจ้าวงวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ตั้งแต่พระองค์ยังทรงเป็นหม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ ในเรื่องพระปรีชาสามารถโดยเฉพาะด้านการทูตและด้านภาษาศาสตร์”

เป็นที่ทราบกันว่า เสด็จในกรมฯ ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจอันเป็นประโยชน์ในหลายสาขา หลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นวิชาอักษรศาสตร์ สื่อสารมวลชน สังคมศาสตร์ การศึกษา การทูต การต่างประเทศ และการปกครอง ทรงพระนิพนธ์งานทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษจำนวนมาก

พระกรณียกิจในด้านการปกครองที่ปรากฏในบันทึกอีกประการคือ ในวาทะของนายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในช่วงกล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมก่อนปิดสมัยประชุม ในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2477 (วันสิ้นปีตามปฏิทินเก่า)

พระยาพหลฯ กล่าวถึง เสด็จในกรมฯ ซึ่งเป็นกำลังหลักช่วยเหลือกิจการงานด้านการเมืองมาโดยตลอด (ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าไวทยากร วรวรรณ) และบางครั้งยังเป็นผู้อภิปรายชี้แจงตอบข้อซักถามแทนนายกรัฐมนตรีในสภาตามคำขอของนายกฯ ซึ่ง ส. พลายน้อย ผู้เขียนหนังสือ “พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ผู้ซื่อสัตย์” บรรยายว่า ในทางตำแหน่งแล้ว ท่านไม่ได้เป็นรัฐมนตรี และมิได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

“…ข้าพเจ้ารู้สึกว่าหม่อมเจ้าวรรณฯ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรเลย แต่ว่าตามที่สังเกตดู เราใช้ท่านเสียจนไม่รู้ว่าจะใช้ไปทางไหน ท่านอุตส่าห์มานั่งอยู่ด้วย ถ้าข้าพเจ้าไม่ได้ท่าน ข้าพเจ้าก็ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ได้

แล้วก็ที่ข้าพเจ้าเห็นใจนั้นคืออย่างนี้ เงินเดือนก็ขึ้นไม่ได้ ได้เท่าไรก็ต้องอยู่เท่านั้น เพราะฉะนั้น ในที่นี้ข้าพเจ้าขอแสดงความพอใจให้ท่านทั้งหลายเห็นว่า ลูกมือของข้าพเจ้าคนนี้ข้าพเจ้าพอใจอย่างยิ่ง…”

เมื่อกล่าวจบ พระยาพหลฯ ยังถวายหีบบุหรี่เงินถมแก่หม่อมเจ้าวรรณไวทยากร วรวรรณ โดยบรรดาสมาชิกสภาต่างปรบมือให้เป็นเกียรติยศ


อ้างอิง: 

100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์. คณะอนุกรรมการอำนวยการจัดทำเอกสารสิ่งพิมพ์และหนังสือที่ระลึก ในคณะกรรมการอำนวยการโครงการฉลอง 100 ปี พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์, 2534

ส. พลายน้อย. พระยาพหลฯ นายกรัฐมนตรี ผู้ซื่อสัตย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2555

ถนอม กิตติขจร. “เสด็จในกรมฯ ที่ข้าพเจ้ารู้จัก”. ศิลปากร. 23, 4 (ก.ย. 22) 33-35.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562