เผยสัมพันธ์จิตร ภูมิศักดิ์ กับ วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ ปราชญ์ทางภาษา-อาจารย์ฝรั่งของเขา

(ซ้าย) จิตร ภูมิศักดิ์ [ภาพจาก wikipedia] (ขวา) วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ ปราชญ์ทางภาษา และอาจารย์ฝรั่งของจิตร ภูมิศักดิ์ / ฉากหลังเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในช่วงที่เป็นนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จิตร ภูมิศักดิ์ มีโอกาสศึกษาค้นคว้าทางด้านภาษาศาสตร์ที่เขาหลงใหลอย่างลึกซึ้งและกว้างขวางขึ้น ทั้งจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่มีหนังสือมากมายมหาศาล และอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่าน เช่น พระยาอนุมานราชธน, มหาฉ่ำ ทองคำวรรณ จิตรยังได้มีโอกาสค้นคว้าและทำงานร่วมกับ ดร.วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ นักปราชญ์ทางภาษาศาสตร์คนสำคัญ

ในหนังสือบางเล่มที่เกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ กล่าวว่าจิตรไปอาศัยอยู่กับ ดร. เก็ดนีย์เพื่อสอนภาษาไทยและเป็นโอกาสที่เขาจะได้ฝึกภาษาอังกฤษ ฟังดูแล้วอาจทำให้เข้าใจว่า ดร.เก็ดนีย์เป็นฝรั่งทั่ว ๆ ไปที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยและต้องการเรียนรู้ภาษาไทยเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันเท่านั้น ในขณะที่จิตรก็ต้องการฝึกภาษาอังกฤษ จึงเป็นโอกาสอันเหมาะ

แต่ในความจริงนั้น ดร.เก็ดนีย์เป็นดุษฎีบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ฝ่ายภาษาโบราณตะวันออก และเคยเป็นที่ปรึกษาของหอสมุดแห่งชาติ เขาเดินทางเข้ามาประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2470 เพราะได้ทุนมาศึกษาวรรณกรรมไทยในเมืองไทย 2 ปี และเมื่อหมดทุนแล้วก็ตัดสินใจอยู่ในประเทศไทยต่อเพราะหลงรักเมืองไทยเป็นชีวิตจิตใจ ดร.เก็ดนีย์หาเลี้ยงตนเองด้วยการรับจ้างทำงานแปลต่าง ๆ ให้แก่หน่วยงานต่างประเทศ อาทิ USOM และ USAID

และในช่วงนี้เองที่ ดร.เก็ดนีย์ได้รู้จักกับจิตร ภูมิศักดิ์ โดยคำแนะนำของเพื่อนอาจารย์ 2 ท่าน คือ ม.ร.ว.สุมนชาติ สวัสดิกุล และอาจารย์สมจิต ศิกษมัต ดังที่ ดร.เก็ดนีย์ เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารโลกหนังสือว่า “คุณสุมนชาติและคุณสมจิตมาที่บ้านวันหนึ่ง มาบอกว่า มีเด็กคนหนึ่งเก่งมากทางภาษากับวรรณคดี เขาเรียนที่จุฬาฯ แล้วไม่มีที่พัก พ่อแม่หย่ากันแล้ว แม่ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ มีพี่สาวคนหนึ่งก็ไม่ได้อยู่กรุงเทพฯ ไม่มีที่พัก ก็เห็นว่าถ้าจะมาพักที่บ้านผม เด็กก็ได้ประโยชน์ ได้อยู่ฟรี ผมก็ได้ประโยชน์ เขาพูดเล่น ๆ ว่า ทุกทีผมอ่านอะไรหรือติดอะไรก็ต้องขึ้นสามล้อไปหาเขา (หัวเราะ) ก็ไม่ต้องแล้ว ถ้าเด็กคนนี้มาอยู่บ้านผม ผมติดอะไรก็ถามได้ ผมก็ว่าโอเค (หัวเราะ) เขาก็มาอยู่” (โลกหนังสือ เดือนกรกฎาคม 2530)

วิลเลียม เจ. เก็ดนีย์ ปราชญ์ทางภาษา และอาจารย์ฝรั่งของจิตร ภูมิศักดิ์

แม้ว่าในบทสัมภาษณ์ชิ้นนั้น ดร.เก็ดนีย์จะกล่าวว่าเขาไม่ได้มีอิทธิพลต่อจิตรแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องทางการเมือง แต่การที่ทั้งสองคนอาศัยอยู่ด้วยกัน ทำงานด้วยกันพูดคุยกันทุกวัน และต่างสนใจในเรื่องภาษาศาสตร์เช่นเดียวกัน ทั้งคู่จึงย่อมจะมีการแลกเปลี่ยนถกเถียงทางวิชาการอย่างสม่ำเสมอแน่นอน ดังที่จิตรเองได้เขียนไว้ในบทความเรื่อง “กะลาโหม” ว่า

“ข้าพเจ้าได้เคยปรึกษากับ Dr. William J. Gedney ดุษฎีบัณฑิตทางอักษรศาสตร์ฝ่ายภาษาโบราณตะวันออก อดีตที่ปรึกษาของหอสมุดแห่งชาติ ถึงเรื่องความหมายของคำ ‘กลา’ นี้ Dr. Gedney แนะว่า บางทีผู้แปลคำกลาโหม ว่า กองไฟ จะเห็นว่า กลา แปลว่า ส่วนเสี้ยวอยู่แล้ว เมื่อถึงคราวต้องการก็เลยยืดให้แปลว่า ‘กอง’ เสีย อีกความหนึ่งก็เป็นได้” (จิตร ภูมิศักดิ์.  ภาษาและนิรุกติศาสตร์. ดวงกมล, 2522, หน้า 79.)

และจิตรยังได้ใช้ประโยชน์จากหนังสือเอกสารทางด้านภาษาศาสตร์จำนวนมากที่ ดร.เก็ดนีย์เก็บสะสมไว้ในการค้นคว้าด้วย ดังเช่นในบทความเรื่อง “แผดง-กุมฦาแดง” ซึ่งจิตรได้อ้างถึงบทความเรื่อง Memoire sur les coutumes du Cambodge ใน BEFEO และเขียนเชิงอรรถเอาไว้ว่า “ข้าพเจ้าใช้คำแปลเป็นภาษาอังกฤษของ Dr. William J. Gedney Ph.D. ซึ่งได้รับความสะดวกมาก ข้าพเจ้าขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย” (บทความชิ้นนี้รวมอยู่ใน “ศัพท์สันนิษฐานและอักษรวินิจฉัย” ผลงานชิ้นที่ 3 ในโครงการสรรพนิพนธ์จิตร ภูมิศักดิ์ โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน)

ดร.เก็ดนีย์และจิตรยังได้ร่วมกันทำงานแปลคำทายจากประเทศสยามไปตีพิมพ์ในหนังสือ Riddles of Many Lands ของ Carl Withers และ Suru Benet และ ดร.เก็ดนีย์ได้เคยเขียนจดหมายชมเชยบทความของจิตรเรื่อง “พิมายในด้านจารึก” ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2496 ด้วย

ความสัมพันธ์ระหว่าง ดร.เก็ดนีย์และจิตร ภูมิศักดิ์ จึงเป็นไปได้ด้วยดีทั้งในฐานะศิษย์-อาจารย์ และเพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ “โยนบก” ในเดือนตุลาคม 2496 ดร.เก็ดนีย์ก็ได้พยายายามวิ่งเต้นช่วยเหลือจิตรทุกวิถีทาง รวมทั้งพยายามติดต่อเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ในขณะนั้น แต่ไม่เป็นผล จนแม้กระทั่งตัวเขาเองก็ต้องเดินทางออกไปจากประเทศไทยในปี 2497 แต่ก็นังมีการติดต่อกันอยู่จนกระทั่งจิตรถูกจับด้วยข้อหากระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์

ดร.เก็ดนีย์ได้พบจิตรเป็นครั้งสุดท้ายที่ร้านหนังสือสนามหลวง ขณะที่จิตรถูกควบคุมตัวไปขึ้นศาล เขาได้ข่าวว่า ดร.เก็ดนีย์มาเมืองไทยจึงไปคอยที่ร้านหนังสือพิมพ์ทุกวันจนได้พบ หลังจากนั้น 2-3 สัปดาห์ จิตรก็ได้รับการปล่อยตัวและเดินทางเข้าป่าในเวลาต่อมา

เพราะเหตุผลทั้งการเมืองจึงทำให้นักวิชาการคนสำคัญทั้ง 2 ท่านต้องยุติโอกาสที่จะค้นคว้าและทำงานร่วมกันลงในเวลาอันสั้น และชื่อ ดร.เก็ดนีย์ก็หมดความสำคัญในวงวิชาการไทยลงไป เหลือแต่เพียงบทบาทในฐานะผู้ช่วยเหลือจิตร ภูมิศักดิ์ นักโทษทางการเมืองเท่านั้น ซึ่งเป็นการปิดโอกาสในการศึกษาและค้นคว้าผลงานของทั้ง ดร.เก็ดนีย์ และจิตร ภูมิศักดิ์ ในวงวิชาการไทยไปอย่างน่าเสียดาย

 


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562