ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2537 |
---|---|
ผู้เขียน | ทอง โรจนวิธาน |
เผยแพร่ |
มนุษย์ชายหญิงคู่แรกของโลกนั้น ถ้าถือเอาตามความเชื่อถือของฝรั่งสมัยโบราณ น่าจะได้แก่ อาดัม กับ อีวา ตามที่มีกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิลของทางฝ่ายคริสต์ศาสนา แต่ทางไทยเราไม่ว่าจะเป็น ไตรภูมิพระร่วง (เตภูมิกถา) หรือไตรภูมิโลกวินิจฉัย ซึ่งแต่งขึ้นในชั้นหลังไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ แต่ในวรรณคดีลานนาและลานช้างโบราณมีกล่าวไว้ว่า ปู่สังกะสา กับ ย่าสังกะสี เป็นมนุษย์ชายหญิงคู่แรกของโลก โดยถือตามคัมภีร์ปฐมกัปป์
ปฐมกัปป์นี้ดูเหมือนจะเรียกชื่อควบคู่ไปกับ ปฐมปันนา หรือ ปฐมพันนา (พรรณนา) หรืออย่างไร ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจ เพราะเคยได้อ่านนานมาแล้ว (กว่าห้าสิบปี) และที่ได้อ่านนั้นก็ไม่ได้อ่านจากฉบับเต็มหรือฉบับใบลานดั้งเดิม เป็นแต่ได้อ่านจากที่มีผู้คัดลอกมาไม่สมบูรณ์ดีทีเดียว
และเท่าที่ได้ทราบมา ทั้งวรรณคดีลานนาและลานช้างมีเรื่องของ ปู่สังกะสา และ ย่าสังกะสี นี้เหมือนกัน แต่จะเรียกชื่อคัมภีร์หรือหนังสืออย่างเดียวกันหรือไม่ก็ไม่ทราบ และผู้เขียนก็ไม่เคยได้อ่านฉบับของลานนาเลย เคยอ่านแต่ฉบับภาษาอีสาน (ซึ่งจะขอเรียกว่า ฉบับลานช้าง) ที่มีผู้คัดลอกมาดังกล่าวแล้ว จึงไม่อาจทราบได้ว่ามีเนื้อเรื่องอย่างเดียวกันหรือมีส่วนที่แตกต่างกันอย่างไรบ้าง…
ปฐมกัปป์ คงจะไม่ใช่หนังสือชั้นเก่าถึงขนาดไตรภูมิพระร่วง และมีแนวการแต่งผิดแผกไปจากไตรภูมิฯอยู่ไม่น้อย แม้ว่าจะมีส่วนที่อิงอาศัยหลักความเชื่อคือทั้งทางพุทธและพราหมณ์อยู่ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวอย่างเด่นชัด หนังสือนี้ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่งและสมัยที่แต่ง และไม่เป็นที่แน่นอนว่ามีกําเนิดจากทางลานนาหรือลานช้างก่อน แต่พอจะสันนิษฐานได้อย่างคร่าว ๆ ว่า คงจะเป็นวรรณคดีร่วมสมัยของทางลานนาและลานช้าง ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ระหว่าง พ.ศ. 2000-2250 ซึ่งเป็นตอนที่การวรรณคดีของทั้งสองอาณาจักรกําลังเฟื่องฟูมาก หนังสือนี้เป็นที่สนอกสนใจของคนโบราณมาก มีการศึกษาเล่าเรียนกันอย่างจริงจังและแพร่หลายเช่นเดียวกับคัมภีร์สําคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา
หนังสือปฐมกัปป์นี้ มีลักษณะคล้ายกับคัมภีร์ไบเบิลในส่วนที่เกี่ยวกับกําเนิดของโลก หรือ ตํานานการสร้างโลก (GENESIS) แต่มีเนื้อหาหรือรายละเอียดแตกต่างกันไปคนละทาง ตามความเชื่อของแต่ละฝ่าย และคงไม่อาจนํามากล่าวถึงในที่นี้โดยละเอียดได้ จึงขอกล่าวถึงในบางแง่บางมุมแต่โดยย่อ
สิ่งที่ตรงกันอย่างน่าประหลาดใน GENESIS แห่งคัมภีร์ไบเบิลกับปฐมกัปป์ก็คือ ก่อนที่พระเจ้าจะสร้างฟ้าหรือสวรรค์ (Heavens) และแผ่นดินหรือโลก (Earth) หรือก่อนมีฟ้าและดินนั้น ได้มีน้ำและลมอยู่ก่อนแล้ว หากจะตั้งสมมติฐานตามทางวิทยาศาสตร์ก็น่าจะเป็นว่า สสารจําพวกของเหลว (Liquid) และแก๊ส (Gas) นั้น มีมาก่อนสสารจําพวกของแข็ง (Solid) และดินนั้นเกิดทีหลังลม ตามคัมภีร์ปฐมกัปป์นั้นดินเกิดจากความแข้นแข็งของน้ำ
ในตอนต้น ๆ ของ GENESIS กล่าวว่า -and duriness was on the face of the deep; and the Spirit of God was moving over the face of the waters ในไบเบิลอธิบายว่า the Spirit of God หมายถึงลม และว่า And God said “Let there be a firmament in the midst of the waters and 4 it separate the waters from the waters. คํา firmament น่าจะหมายถึงสสารที่เปลี่ยนสภาวะเป็นของแข็ง (ดิน) แล้วนั่นเอง และมีข้อความต่อมาอีกว่า … And God said. “Let the waters under the heavens he gathed. together into one place, and let the dry land appear.”
ในคัมภีร์ปฐมกัปป์มีว่า
ลมชูนําน้ำกะเล่าซูปลา
ปลาชูหินหินชุดินจังบ่จมลงได้
ลมพัดให้เป็นดินสองแผ่น
แผ่นหนึ่งหญิงอยู่เฝ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน
แผ่นหนึ่งชายอยู่เฝ้าเป็นเจ้าแผ่นดิน
ไกลกันล้ำพอประมาณฮ้อยโยชน์
แล้วจั่งติดต่อจ้ำกันเข้าแผ่นเดียว
หญิงกับชายที่กล่าวถึงในที่นี้ก็คือ ปู่สังกะสา และ ย่าสังกะสี ในเวลาต่อมา
ในคัมภีร์ไบเบิลได้พูดถึงผู้สืบเชื้อสาย (Generations) ต่อจากอาดัมกับอีวาไว้อย่างละเอียดและยืดยาว แต่ในคัมภีร์ปฐมกัปป์ไม่มีที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่มีเรื่องที่เกี่ยวกับกําเนิดของชีวิตไว้อย่างละเอียดและยืดยาว เริ่มด้วย “สิบสองสูญตั้งวิญญาณญับเกิด” เรื่องกําเนิดของชีวิตวิญญาณนี้มีรายละเอียดที่แตกต่างไปจากไตรภูมิพระร่วงอยู่มาก
สิ่งที่แตกต่างระหว่างคัมภีร์ไบเบิลกับปฐมกัปป์ที่สําคัญอย่างหนึ่งคือ ในคัมภีร์ปฐมกัปป์ได้กล่าวถึงการกลับชาติตามคติความเชื่อถือของทางฝ่ายพุทธศาสนา และการกลับชาติที่ว่านี้ก็คือ การกลับชาติมาเกิดของปู่สังกะสานั่นเอง
การกลับชาติของปู่สังกะสาตามที่กล่าวในคัมภีร์ปฐมกัปป์นี้ หากคิดตามทรรศนะทั่ว ๆ ไป ดูจะไม่คู่ควรหรือสมศักดิ์ศรีของปฐมบุรุษหรือผู้ชายคนแรกของโลกเลย ดูจะอาภัพและด้อยเกียรติภูมิอยู่มาก
ตามเรื่องมีว่าย่าสังกะสีตายก่อน ปู่สังกะสาตายที่หลัง ปู่สังกะสาเสียอกเสียใจและคร่ำครวญถึงเมียอยู่เป็นเวลาช้านาน เมื่อปูสังกะสาตายแล้วได้เกิดมาเป็นนกเล็ก ๆ ชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกในภาษาไทยอีสานว่า นกกะแดแคดเค้า ชื่อนี้ฟังไม่ค่อยรื่นหูนัก เฉพาะอย่างยิ่งคําสุดท้าย แต่ก็ไม่สามารถเลี้ยงพูดเป็นอย่างอื่นได้
ในพจนานุกรมไทยอีสาน – ไทยกลาง ของท่านเจ้าคุณสมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสสเถระ) และในสารานุกรมภาษาไทยอีสานของ ดร.ปรีชา พิณทอง ก็มีชื่อนกชนิดนี้อยู่ด้วย นกกะแดแดดเด้า นี้ เป็นนกตัวเล็ก ๆ โตกว่านกกระจิบเล็กน้อย สีลายหม่น ส่วนท้องมีสีขาว ขายาว ชอบหากินอยู่ตามริมบึงหรือหนองใหญ่ ๆ เวลาบินไปมาส่งเสียงร้อง ปี๊บ ๆ ยาว ๆ นกชนิดนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากนกชนิดอื่นในขนาดเดียวกันคือ เวลายืนลําตัวตั้งเกือบตรง แต่ส่วนหางหรือส่วนท้ายของมันจะทําอาการกระดกขึ้น ๆ ลง ๆ อยู่เป็นนิตย์ (ทําอาการเหมือนคําสุดท้ายของชื่อมันนั่นแหละ)
ที่เป็นเช่นนี้ในปฐมกัปป์กล่าวไว้ว่า
อันว่าสังกะสาเจ้าเดาดากะพือปีก
กี้กกี้กฮ้องหาก้ำฝ่ายเมีย
เสียใจด้วยภรรยาตายจาก
ทางปากฮ่ำฮ้อง ทางก้นฮ่อนหา
เป็นแต่ปางปฐมพุ้นมีมาตั้งแต่เก่า
นกกะแดแดดเด้า เซาก้นอยู่บ่อเป็น
ทางก้นฮ่อนหา และ เซาก้นอยู่บ่อเป็น ก็คือทําอาการดังที่ว่ามาแล้วอยู่เป็นนิตย์นั่นเอง
แม้ว่าจะดูคล้ายกับนิยายปรัมปรา แต่หนังสือปฐมกัปป์ก็เป็นเรื่องที่น่าศึกษาอยู่ไม่น้อย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับวรรณคดีโบราณของไทยทั่วไป เป็นการขยายขอบข่ายของการศึกษาวรรณคดีให้กว้างขวางขึ้น
ปฐมกัปป์ น่าจะเป็นหนังสือเก่าไม่น้อยไปกว่าพงศาวดารลานช้างที่เราได้เคยพิมพ์เผยแพร่กันมานานแล้ว หากจะมีการสืบค้นหามาพิมพ์ ทั้งฉบับลานนาและลานช้าง ก็คงจะมีประโยชน์อยู่ไม่น้อย
อ่านเพิ่มเติม :
- “พระร่วง” ลูกนางนาค สะท้อนสัมพันธ์ร่วมเมืองน่านและกลุ่มชนลุ่มน้ำโขง
- “ผีบรรพบุรุษ” รอยต่อโลกวิญญาณ และการจัดระเบียบทางสังคม
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ “นกปู่สังกะสา” เขียนโดย ทอง โรจนวิธาน ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกันยายน 2537
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2562