กรุงศรีปฏิวัติ : ศึกเจ้าพี่น้อง 2 ราชวงศ์ วงศ์พระรามรบวงศ์พระอินทร์ ใครได้ราชบัลลังก์

ภาพกรุงศรีอยุธยาท่ามกลางพายุ โดยฟาน เดอ อา เป็นภาพมุมกว้างที่มองจากหมู่บ้านวิลันดา ชุมชน เครือข่ายของฮอลันดา (ภาพจากกรุงศรีอยุธยาในแผนที่ฝรั่ง โดย ธวัชชัย ตั้งศิริวาณิช)

มีใครสามารถอดทนรอเก็บความคั่งแค้นไว้ด้วยความสงบได้ถึง 18 ปี

สมเด็จพระราเมศวร ทรงผ่านเหตุการณ์นี้มาได้ พระราชบัลลังก์ที่ต้องตกเป็นของพระองค์ชัดๆ ในฐานะ “หน่อพระพุทธเจ้า” ของสมเด็จพระรามาธิบดี (อู่ทอง) ก็เป็นจริงเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เพราะถูกสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) “ยึด” ไป ส่วนพระองค์ต้องทรงล่าถอยกลับไปยังฐานที่มั่นเก่า ณ เมืองลพบุรี เฝ้ารอจังหวะและโอกาสอย่างอดทนถึง 18 ปี

Advertisement

ที่น่าเจ็บปวดยิ่งขึ้น คือการเฝ้ารออย่างอดทนเกือบ 2 ทศวรรษนี้ กลับเป็นการเฝ้าดูความสําเร็จอันยิ่งใหญ่ของศัตรู

เพราะในรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ถือเป็นยุคสมัยเริ่มแรกของการขยายความมั่นคงยิ่งใหญ่ให้กับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะการ “กําราบ” หัวเมืองเหนือในอํานาจของรัฐสุโขทัย เช่น ในปีพุทธศักราช 1914 หรือปีรุ่งขึ้นหลังจากทรงทํารัฐประหารยึดกรุงศรีอยุธยา ก็เสด็จขึ้นไปยึดเมืองเหนือ แม้จะมีคําอธิบายว่าการศึกครั้งแรกนี้ ทรงยึดได้ไม่เกินนครสวรรค์ก็ตาม

“ศักราช 733 กุญศก สมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้า เสด็จไปเอาเมืองเหนือ แลได้เมืองเหนือทั้งปวง”[1]

การเสด็จขึ้น “ไปเอาเมืองเหนือ” นั้น มิได้สําเร็จเด็ดขาดในคราวเดียว แม้ตลอดรัชกาลของพระองค์ก็ยังทําไม่สําเร็จดังที่ทรงตั้งพระทัยไว้ ดังนั้นเหตุการณ์สําคัญในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงมีแต่เสด็จ “ไปเอาเมืองเหนือ” ทั้งสิ้น

เหตุที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ต้องมี “การบ้าน” ในการทําสงครามกับเมืองเหนือ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ทรง “ญาติดี” กับรัฐสุโขทัยอยู่ ก็เพราะว่ากษัตริย์สุโขทัยที่เป็นพี่เขยคือพระมหาธรรมราชา (ลิไทย) นั้นเสด็จสวรรคตในช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ขึ้นปกครองกรุงศรีอยุธยานั่นเอง[2] ทําให้กษัตริย์สุโขทัยพระองค์ใหม่คือ พระมหาธรรมราชา (ที่ 2) และหัวเมืองใหญ่น้อย ไม่ยอมรับอำนาจจากกรุงศรีอยุธยาอีกต่อไป

และนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราชวงศ์สุพรรณภูมิเมื่อถูกทำรัฐประหารหลังรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงไม่มีการต่อต้าน หรือยื่นมือเข้าช่วยเหลือจากรัฐพันธมิตรเมืองเหนือใดๆ เลย

ยึดหัวเมืองเหนือ “การบ้าน” ของขุนหลวงพ่องั่ว

เมืองชากังราวหรือเมืองกำแพงเพชร เป็นเมืองหน้าด่านสําคัญของรัฐสุโขทัย ที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) หมายมั่นปั้นมือจะต้องพิชิตให้ได้ ดังนั้นระยะเวลา 18 ปี ตลอดรัชกาลของพระองค์จึงทรงยกทัพเข้าตีเมืองนี้หลายต่อหลายครั้ง เช่น ในปีจุลศักราช 735 (พ.ศ. 1916) เสด็จไปเมืองชากังราวรบกับพระยาคําแหง เจ้าเมืองชากังราว โดยมีพระยาใสแก้วที่ฝ่ายสุโขทัยส่งให้ลงมาช่วยรบ การศึกคราวนี้พระยาใสแก้วตายในสนามรบ ส่วนพระยาคําแหงหนีเข้าไปตั้งมั่นอยู่ในเมืองทําให้สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ไม่สามารถตีเมืองชากังราวแตกได้

และดูเหมือนว่าหัวเมืองเหนือ จะไม่ยอมให้กรุงศรีอยุธยากวาดรวมเข้าเป็นเมืองบริวารได้ง่ายๆ ดังนั้น 2 ปี ถัดมา ในปีจุลศักราช 737 (พ.ศ. 1918) สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ก็ยกทัพขึ้นไปตีเมืองพิษณุโลก “หัวใจ” ของรัฐสุโขทัยในขณะนั้น ครั้งนี้ได้ทั้งตัวเจ้าเมืองขุนสามแก้วและกวาดต้อนชาวเมืองมาเป็นจํานวนมาก

ปีรุ่งขึ้น จุลศักราช 738 (พ.ศ. 1919) เสด็จไปตีชากังราวเป็นการแก้มืออีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้ทรงทําได้ดีกว่าคราวก่อน แม้จะมีท้าวผ่าคองจากเมืองเหนือมาช่วยรบเสริมทัพชากังราว แต่ปรากฏว่าท้าวผ่าคองแตกทัพหนีไป

ส่วนพระยาคําแหงเจ้าเมืองนั้น ไม่แน่ชัดว่าถูกจับตัวได้หรือไม่ เพราะพระราชพงศาวดารบันทึกเพียงว่า “จับได้ตัวท้าวพระญาและเสนาขุนหมื่นครั้งนั้นมาก” ซึ่งเป็นไปได้ว่าการศึกคราวนี้ก็คงยังไม่ได้ตัวพระยาคําแหงและเมืองชากังราว เพราะอีกเพียง 2 ปีต่อมา กรุงศรีอยุธยาก็ยกทัพเข้าตีชากังราวอีก

“ศักราช 740 มะเมียศก เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นมหาธรรมราชาออกรบทัพหลวงเปนสามารถ แลเห็นว่าจะต่อด้วยทัพหลวงมิได้ จึงมหาธรรมราชาออกถวายบังคม”[3]

ผลจากการได้เมืองชากังราวมาในครั้งนี้ ย่อมมีความหมายถึงการได้รัฐสุโขทัยมาด้วย เนื่องจากทรงมีชัยเหนือพระมหาธรรมราชา (ที่ 2) กษัตริย์แห่งรัฐสุโขทัย เป็นอันว่า “การบ้าน” สําคัญของพระองค์บรรลุผลระดับหนึ่งแล้ว

ต่อมาสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรงตัดสินใจที่จะ “ทําการบ้าน” ให้ถึงเมืองเชียงใหม่ ซึ่งคอยสนับสนุนช่วยเหลือรัฐสุโขทัยอยู่เรื่อยๆ และที่สําคัญ การจะขึ้นไปถึงเมืองเชียงใหม่ในขณะนั้นถือว่า “ทางสะดวก” เพราะไม่มีรัฐสุโขทัยกีดขวางอีกต่อไป

ดังนั้นในปีจุลศักราช 748 (พ.ศ. 1929) จึงยกทัพไปหมายจะตีเมืองเชียงใหม่ให้จงได้ แต่ทัพกรุงศรีอยุธยายกมาได้เพียงเมืองลําปาง เพราะไม่สามารถตีเมืองลําปางแตกได้ ต้องยกทัพหลวงกลับกรุงศรีอยุธยา

จะเห็นได้ว่าตลอด 18 ปีในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) นั้น ทรงติดพันอยู่กับราชการ “หัวเมืองเหนือ” เกือบตลอดเวลา คือในปีจุลศักราช 733, 734, 735, 737, 738, 740 และทิ้งห่างไปอีก 8 ปี จึงยกทัพไปหมายจะตีเชียงใหม่ในปีจุลศักราช 748

เหตุที่ทรงทิ้งห่างไว้ถึง 8 ปีนั้น อาจจะเป็นเพราะทรงพอพระทัยเพียงแค่ได้รัฐสุโขทัย ซึ่งเป็นอันตรายต่อกรุงศรีอยุธยามากกว่าเมืองเชียงใหม่ เท่ากับ “การบ้าน” เสร็จแล้ว หรืออาจจะเป็นเพราะทรงพระชราแล้วก็เป็นได้

หากคํานวณพระชนมายุตามพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ว่าทรงครองราชสมบัติเมื่อพระชนมายุได้ 63 พรรษา[4] ดังนั้นเมื่อคราวยกทัพไปตีเชียงใหม่จึงมีพระชนมายุมากถึง 79 พรรษาแล้ว

แม้จะทรงพระชรามากถึงเพียงนี้แล้ว แต่ก็ยังเกิดเหตุศัตรูประชิดหัวเมือง ทําให้ต้องทรง “ออกกําลัง” อีกครั้ง

สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรง “ฝืนสังขาร” ด้วยพระชนมายุ 81 พรรษา เสด็จออกสงครามครั้งสุดท้ายเพื่อตีเมืองชากังราวในปีจุลศักราช 750 (พ.ศ. 1931)

เหตุที่ต้องทรงนําทัพออกรบคราวนี้ ไม่ได้เป็นเพราะเมืองชากังราวแข็งเมือง แต่เป็นเพราะเจ้ามหาพรหม กษัตริย์เชียงรายประสงค์จะได้พระสีหลปฏิมาหรือพระพุทธสิหิงค์ จึงยกทัพมาประชิดเมืองชากังราว ฝ่ายเจ้าเมืองกําแพงเพชร ขณะนั้นคือพระยาญาณดิส หรือในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ เรียกว่า ติปัญญาอํามาตย์ ก็ส่งสาสน์ขอความช่วยเหลือมายังกรุงศรีอยุธยา

สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงต้องยกทัพมาหมายจะรบกับเจ้ามหาพรหม แต่ทัพทั้งสองยังไม่ทันได้รบพุ่งกัน เพราะพระยาญาณดิสขอให้เจ้ามหาพรหมถอยออกไปตั้งทัพที่เมืองตาก เจ้ามหาพรหมก็ยินยอมทําตามเพราะได้พระสีหลปฏิมาไปแล้ว พร้อมกับประกาศว่า หากกองทัพกรุงศรีอยุธยายกตามมาก็พร้อมจะรบกัน กองทัพกรุงศรีอยุธยาซึ่งตั้งทัพอยู่เพียงปากน้ำโพก็ไม่ได้ยกตามขึ้นไป

เหตุหนึ่งที่กองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่คิด “ปิดบัญชี” กับเจ้าเมืองเหนือ ก็อาจเป็นเพราะถึงคราว “สุดวิสัย” แล้วก็เป็นได้

“ศักราชได้ 750 มะโรงศก เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้นสมเด็จพระบรมราชาธิราชเจ้าทรงพระประชวรหนัก แลเสด็จกลับคืน ครั้งเถิงกลางทางสมเด็จพระบรมราชาเจ้านฤพาน…”[5]

แม้จะเป็นการประชวรสวรรคตที่ค่อนข้างปัจจุบันทันด่วน แต่หากคิดถึงพระชนมายุที่มากถึง 81 พรรษาแล้ว ก็คงจะไม่ใช่เรื่องเหนือการคาดหวังหยั่งเชิงแต่ประการใด ที่สําคัญสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) น่าจะทรงเตรียมการทางการเมืองไว้พอสมควรแล้ว โดยเฉพาะเรื่ององค์รัชทายาท

แต่สิ่งที่ทรงคิดไม่ถึงก็คือ ปัญหาทางการเมืองหลังจากพระองค์สวรรคต ไม่ได้เกิดขึ้นภายในกรุงศรีอยุธยา ไม่ใช่ปัญหาการแก่งแย่งราชบัลลังก์ระหว่างพี่น้องหรือขุนนางอํามาตย์ แต่เป็นปัญหาที่ทรง “ปล่อย” ไปเมืองลพบุรีเมื่อ 18 ปีก่อน และบัดนี้ได้ย้อนกลับมา “ทวง” ราชบัลลังก์คืนนั่นเอง

ปฏิวัติครั้งที่ 2 วงศ์พระรามขอคืนราชบัลลังก์

หนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวถึงศึกครั้งสุดท้ายของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ว่า “เสด็จมาแค่ ปากน้ำโพ”[6] ยังไม่ได้ขึ้นไปจนถึงเมืองชากังราว ก็มีการเจรจาหย่าศึกกันเสียก่อน

การยุติศึกครั้งนี้ดูจะเป็นผลดีต่อกรุงศรีอยุธยาอย่างยิ่ง เพราะหากสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทรงฝืนพระวรกายเข้ารบด้วยเจ้ามหาพรหม ผลอาจจะเพลี่ยงพล้ำพ่ายแพ้ และบานปลายถึงเสียบ้านเสียเมืองได้ เพราะมีพระอาการประชวรหนักอยู่ ไม่น่าจะนําทัพจนมีชัยเหนือศัตรูได้

ดังนั้นเมื่อทรงยกทัพกลับพระนครได้เพียงกลางทางก็เสด็จสวรรคต การอัญเชิญพระบรมศพกลับพระนคร คงใช้เวลาประมาณ 1 วัน

ช่วงเวลาเช่นนี้ย่อมเกิด “ความเคลื่อนไหว” จากฝ่ายต่างๆ ไปทั่วแผ่นดิน

ข่าวการสวรรคตย่อมไปเร็วกว่าพระบรมศพ นี่คือจังหวะและโอกาสในการ “ขยับตัว” ทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม

เวลานั้นภายในพระนครคงจะโกลาหลพอสมควร ไม่ว่าจะต้องเตรียมการรับพระบรมศพกลับสู่พระนคร การจุกช่องล้อมวังเตรียมอัญเชิญ “หน่อพระพุทธเจ้า” ขึ้นครองราชสมบัติในทันที

เมื่อข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) และการอัญเชิญ “เจ้าทองลัน” พระราชกุมารที่มีพระชนมายุเพียง 15 พรรษา ขึ้นสู่ราชบัลลังก์แพร่กระจายออกไป เจ้าเมืองใหญ่น้อยจากหัวเมืองต่างๆ ทั้งที่เป็นมิตรและศัตรู ย่อมตระเตรียมการเดินทางมาสู่พระนครเพื่อถวายบังคมพระบรมศพและถวายพระพรพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่

แต่สมเด็จพระราเมศวรทรงเตรียมไพร่พลเพื่อการอื่น ทรงรอเวลาเช่นนี้มาอย่างยาวนานและน่าจะทรง “พร้อมเสมอ” สําหรับการทวงราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยากลับคืนมาสู่ราชวงศ์อู่ทองอีกครั้ง

ด้วยเหตุนี้การรัฐประหารครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ กรุงศรีอยุธยาจึงสําเร็จเด็ดขาดภายในเวลาเพียง 7 วัน

“แลจึงเจ้าทองลันพระราชกุมาร ท่านได้เสวยราช สมบัติพระนครศรีอยุทธยาได้ 7 วัน จึงสมเด็จพระราเมศวรยกพลมาแต่เมืองลพบุรี ขึ้นเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุทธยา แลท่านจึงให้พิฆาฎเจ้าทองลันเสีย”[7]

วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี เมืองสำคัญศูนย์อำนาจที่สมเด็จพระราเมศวรครองอยู่ถึง 18 ปีก่อนเป็นกษัตริย์กรุงศรีอยุธยา (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม ก.ค., 2554)

ส่วนพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาและฉบับอื่นๆ ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นอีกเล็กน้อยดังนี้

“สมเด็จพระราเมศวรเสด็จลงมาแต่เมืองลพบุรี เข้าในพระราชวังได้กุมเอาเจ้าทองจันทร์ได้ ให้พิฆาตเสีย วัดโคกพระยา แล้วพระองค์ได้เสวยราชสมบัติ”[8]

และพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับเยเร เมียส ฟาน ฟลีต กล่าวถึง “เทคนิครัฐประหาร” ไว้ว่า

“เมื่อทรงทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวทรงประชวรจนหมด พระสติแลสิ้นหวังว่าจะหายประชวรจึงแสดงพระองค์ขึ้นโดยเปิดเผย ทรงรวบรวมพวกข้าราชบริพารเท่าที่จะหาได้ขึ้นไว้อย่างลับๆ

ครั้นเมื่อพระราชกุมารขึ้นเสวยราชสมบัติแล้ว พระองค์จึงลอบเสด็จเข้าไปยังพระนครศรีอยุธยาในเพลากลางคืน บุกโจมเข้าไปในราชฐานแล้วกระทําประทุษร้าย แก่เยาวกษัตริย์ให้สําเร็จโทษเสียด้วยความขัดเคือง แล้วสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง”[9]

สรุปว่าพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ บันทึกไว้ตรงกันว่าทรง “ยกพลมาแต่เมืองลพบุรี” ในทํานองยกพลเข้ายึดเมือง ส่วนวัน วลิต บันทึกว่าเป็น “แผนลอบสังหาร” คือ “ลอบเข้าไปในกรุงศรีอยุธยาในยามค่ำคืน”

ส่วนใครจะถูกหรือผิดนั้นไม่สําคัญเท่ากับตอนจบที่เหมือนกันคือ สมเด็จพระราเมศวรทรงทํารัฐประหารครั้งนี้สําเร็จโดยง่าย เป็นการนํากรุงศรีอยุธยาคืนจาก “วงศ์พระอินทร์” แห่งสุพรรณบุรี กลับมาเป็นของ “วงศ์พระราม” แห่งอโยธยาอีกครั้ง

การรัฐประหารที่จบลงด้วย “บัลลังก์เลือด” ครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยานี้ ได้สร้างความยากลําบากต่อคําอธิบายของสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพพอสมควร เพราะเมื่อคราวที่สมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ทํารัฐประหารสมเด็จพระราเมศวรครั้งก่อนนั้น ทรงเห็นว่าสมเด็จพระราเมศวรทรง “ยอม” ยกราชบัลลังก์ให้แต่โดยดี

โดยมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะมีการ “คืน” ราชบัลลังก์ให้เมื่อสิ้นรัชกาล คล้ายกับความพยายามที่จะอธิบายเรื่องการ “แทรก” ขึ้นสู่บัลลังก์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และจะ “คืน” ให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัตนโกสินทร์ อย่างไรอย่างนั้น

“ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เมื่อสมเด็จพระราเมศวรถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระบรมราชาธิราช น่าจะมีความตกลงหรือเข้าพระทัยกันว่า สมเด็จพระราเมศวรเป็นรัชทายาทของสมเด็จพระบรมราชาธิราช คือตกลงกันว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาธิราชแล้ว ก็ให้สมเด็จพระราเมศวรเข้ามาครองกรุงศรีอยุธยาอย่างเดิม ด้วยเหตุนี้จึงปล่อยให้สมเด็จพระราเมศวรไปครองเมืองลพบุรีอย่างเดิม”[10]

แต่แล้วเหตุการณ์กลับกลายเป็นว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ยกราชสมบัติให้กับเจ้าทองลัน พระราชโอรส เสมือนมีการ “หักหลัง” กันขึ้น ดังนั้นสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพจึงทรงอธิบายแก้ให้ว่า

“เห็นจะไม่ทันได้ทรงสั่งเสียจัดวางการเรื่องรับรัชทายาท ข้าราชการพวกหนึ่งซึ่งมีความนิยมต่อเจ้าทองลัน หรือไม่นิยมต่อสมเด็จพระราเมศวร จึงยกเจ้าทองลัน ราชโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราช อันหนังสือพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานี้ ว่ามีพระชันษาได้ 15 ปี ขึ้นครองราชสมบัติ”[11]

แต่เมื่อเหตุการณ์รัฐประหารจบลงด้วยการนําเอากฎมนเทียรบาล ว่าด้วยการสําเร็จโทษเจ้านายมาใช้เป็นครั้งแรก สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพจึงทรงอธิบายในบรรทัดต่อมาว่า มีผู้นิยมต่อเจ้าทองลันน้อย

“พอสมเด็จพระราเมศวรทราบว่าพวกข้างกรุงศรีอยุธยายกเจ้าทองลันขึ้นครองราชสมบัติ ก็รีบรวบรวมไพร่พลยกลงมากรุงศรีอยุธยา เห็นจะไม่ได้มีผู้ใดต่อสู้เท่าใดนัก ด้วยผู้นิยมต่อเจ้าทองลันมีน้อย สมเด็จพระราเมศวรจึงได้กรุงศรีอยุธยา และจับเจ้าทองลันได้ภายใน 7 วัน ถ้าหากว่าการที่ยกเจ้าทองลันขึ้นครองราชสมบัติ ต้องด้วยความนิยมของคนทั้งหลาย เห็นสมเด็จพระราเมศวรจะชิงราชสมบัติได้ด้วยยาก หากจะได้ก็คงจะช้ากว่า 7 วัน”

สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพคงจะมีพระประสงค์ดี ไม่ต้องการให้คนเห็นว่าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เริ่มต้นด้วยการแก่งแย่งชิงราชบัลลังก์ ดังนั้นจึงทรงอธิบายการรัฐประหารครั้งแรกของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) ว่าเป็นการ “ยอม” มากกว่า “ยึด” แต่เมื่อข้อเท็จจริงแสดงออกไปอีกทางหนึ่ง จึงต้องทรง “อธิบายแก้” อีกในครั้งต่อๆ มา แม้แต่คําว่า “พิฆาต” ก็ทรงเลี่ยงที่จะไม่พูดถึง ทรงใช้แต่เพียงว่า “จับเจ้าทองลันได้”

แต่สิ่งหนึ่งที่สมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพทรงตั้งข้อสังเกตไว้โดยไม่ได้ตั้งใจ กลับเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังไม่มีคําตอบจนบัดนี้ นั่นคือ “ความนิยมต่อเจ้าทองลัน”

เหตุใดสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) จึงทรงเลือกเจ้าทองลันให้เป็นรัชทายาท แน่นอนว่าพระองค์คงจะต้องมีพระราชโอรสจํานวนมาก หากไม่นับ “พระเทพาหูราช” ที่ประสูติจากพระมหาเทวีแห่งราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งคงจะเป็นการลําบากหากจะให้ “ข้ามฟาก” มาครองกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะในเรื่อง “ความนิยม” แต่พระราชโอรสพระองค์อื่นๆ ก็น่าจะมีไม่น้อย เพราะทรงเป็นทั้งกษัตริย์แห่งสุพรรณบุรีและกรุงศรีอยุธยา

แต่เหตุผลที่จะต้องเป็นเจ้าทองลันพระองค์นี้เท่านั้น ก็คงจะเป็นเพราะเป็นพระราชโอรสพระองค์โตหรือทรงเป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” ที่เกิดในเศวตฉัตรแผ่นดินกรุงศรีอยุธยานั่นเอง

เพราะเมื่อเทียบเวลาที่ทรงครองราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา 18 ปี กับพระชนมายุของเจ้าทองลันเมื่อขึ้นครองราชสมบัติคือ 15 พรรษา (วัน วลิต ว่า 17 พรรษา) ก็เป็นเวลาที่สอดคล้องกันพอดี

ส่วนพระราชโอรสในแผ่นดินอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสุพรรณบุรีหรือสุโขทัย ล้วนไม่มีสิทธิเทียบเท่ากับเจ้าทองลันได้ และอาจจะก่อปัญหา เรื่อง “ความนิยม” ที่เลวร้ายกว่ากรณีของเจ้าทองลันก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี “ความนิยมต่อเจ้าทองลัน” ก็อาจจะไม่ใช่เงื่อนไขสําคัญที่พระองค์ไม่สามารถรักษาเมืองจากการรัฐประหารครั้งนี้ได้ เพราะสมเด็จพระราเมศวรไม่ยอมรอนานไปกว่านี้อีกแน่ และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการรัฐประหารครั้งนี้ ทรง “เตรียมพร้อม” อยู่เสมอ ตลอด 18 ปี

เมื่อการรอคอยสิ้นสุดลง พระราเมศวรทรงทํามากกว่าการยึดเมืองคืน ทรงสําเร็จโทษกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเชื้อสายราชวงศ์สุพรรณภูมิ และทรงสยบรัฐสุพรรณบุรีไว้ไม่ให้เคลื่อนไหวอันจะเป็นภัยต่อกรุงศรีอยุธยาได้นานกว่า 20 ปี ใน 2 รัชกาล

รัชกาลสมเด็จพระราเมศวร กษัตริย์อันเป็นที่รักของขุนนางและราษฎร

สมเด็จพระราเมศวรทรงครองกรุงศรีอยุธยาไม่ยาวนานนัก เมื่อเปรียบเทียบกับเวลาที่ทรงรอคอย คือเป็นเวลาเพียง 7 ปี (บางฉบับว่า 6 ปี) แต่นับว่าเป็น 7 ปีที่มีความหมายต่อราชวงศ์อู่ทองอย่างยิ่งโดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงทางการเมืองภายในกรุงศรีอยุธยาและการควบคุมนครรัฐอื่นๆ ที่เคยมีปัญหากับกรุงศรีอยุธยา

พระราชพงศาวดารไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสมเด็จพระราเมศวรมากนัก โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ไม่ได้พูดถึงเลยแม้แต่น้อย ส่วนฉบับอื่นๆ ก็พูดถึงแต่เพียงทรงทําศึกกับเชียงใหม่และกรุงกัมพูชา แต่ที่ชัดเจนคือ ตลอดรัชกาลของพระองค์ กรุงศรีอยุธยาและกรุงสุโขทัย ไม่เคยกระทบกระทั่งกันเลย

ส่วน วัน วลิต ได้บันทึกเรื่องราวที่ทําให้เราได้รู้จักกับพระองค์มากขึ้นบ้าง โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลง หลังจากทรงขึ้นครองแผ่นดิน ก่อนหน้านี้ วัน วลิต ได้ กล่าวถึงพระองค์ในทํานองว่าเป็นคนไม่ฉลาด โหดร้าย กระหายเลือด โลภ ตัณหาจัด และเรื่องในทางลบอื่นๆ จนเมื่อทรงขึ้นครองราชสมบัติครั้งที่ 2 แล้ว ก็ทรงเปลี่ยนเป็นคนละคนเลยทีเดียว

“พระองค์ได้ละพระนิสัยเดิมแล้วทั้งสิ้น ในรัชสมัยครั้งที่สองนี้ พระองค์ทรงพระคุณอันเลิศผิดกว่าความชั่วร้ายที่เป็นมนทินคราวเสวยราชครั้งที่แล้ว ทรงพระเมตตา มีพระการุณยภาพ ละเมียดละไม ไม่ด่วนลงพระราชอาญา แต่กลับพระราชทานอภัยโทษให้โดยง่ายดาย

พระองค์ทรงพระปัญญา สุขุมคัมภีรภาพ แกล้วกล้าในการใช้พระแสงบนช้างทรงและม้าทรง อีกทั้งอย่างทหารราบเดินเท้าด้วย ทรงบําเพ็ญทานแด่พระภิกษุสงฆ์ แลยาจกวณิพก

ทรงสร้างและปฏิสังขรณ์วัดวาอารามไว้หลายแห่ง เนื่องจากทรงศรัทธาเลื่อมใสในพระศาสนา จึงมักเสด็จไปทรงสักการะบูชาพระพุทธเจ้า (gods – พระมหาเจดีย์ ฐานทั้งห้า?) อยู่เนืองๆ ทําให้พระองค์ดูดุจภิกษุมากกว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์ พระองค์ทรงเป็นที่รักของเหล่าขุนนางและสามัญชน”[13]

ไม่ว่า วัน วลิต จะถูกต้องหรือคลาดเคลื่อนไปเพียงใด แต่สําหรับประโยคที่ว่า “พระองค์ทรงเป็นที่รักของเหล่าขุนนางและสามัญชน” (He was much loved by the mandarins and the common man) ได้พิสูจน์ ไว้อย่างชัดเจน เห็นได้จากการเมืองภายในและภายนอกปลอดจากการรบกวนไปยาวนานทั้งในรัชสมัยของพระองค์และรัชสมัยต่อมา ซึ่งปกครองโดยพระราชโอรสของพระองค์

แม้ภายนอกจะดูสงบก็จริงอยู่ แต่คลื่นใต้น้ำนั้นเกิดขึ้นใหม่ได้ตลอดเวลา มหากาพย์แห่งสองราชวงศ์ ทั้ง “วงศ์พระราม” และ “วงศ์พระอินทร์” จึงยังไม่ถึงตอนอวสาน

ภาพเขียนกรุงศรีอยุธยาโดยชาวดัตช์

ปฏิวัติโค่น “วงศ์พระราม”

“ศักราช 757 กุญศก สมเด็จพระราเมศวรเจ้า นฤพาน จึงพระราชกุมารท่านเจ้าพระญารามเสวยราช สมบัติ”[14]

สมเด็จพระราเมศวรเสด็จสวรรคตในปีพุทธศักราช 1938 ด้วยพระชนมายุ 56 พรรษา ครองราชสมบัติ 7 ปี

สมเด็จพระราเมศวรทรงพระประชวรก่อนเสด็จสวรรคต ดังนั้นจึงน่าจะมีโอกาส “สั่งราชการ” ไว้ล่วงหน้าถึงองค์รัชทายาท หรือไม่เช่นนั้น “สมเด็จพระรามราชาธิราช” ก็คงจะเป็น “หน่อพระพุทธเจ้า” จึงได้สืบราชสมบัติต่อจากพระองค์โดยอัตโนมัติ

พระราชประวัติของสมเด็จพระรามราชาธิราชนั้น เรารู้เพียงว่าเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระราเมศวรเท่านั้น นอกเหนือจากนี้ล้วนเป็นปริศนา

แม้แต่จํานวนปีที่ทรงครองราชสมบัติก็ยังสับสน พระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ระบุใกล้เคียงกันคือ 14-15 ปี, สังคีติยวงศ์ว่า 3 ปี, วัน วลิต ว่า 3 ปี เป็นต้น

หากยึดเอาพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐฯ ที่แม่นยําเรื่องศักราชที่สุดเป็นหลัก ก็จะได้ปีที่ทรงครองราชสมบัติตั้งแต่ปีจุลศักราช 757-771 นับปีเริ่มต้น และปีสุดท้ายด้วยก็จะได้ 15 ปี

อย่างไรก็ดี จํานวนปีที่ทรงปกครองกรุงศรีอยุธยานั้นไม่น่าสงสัยมากไปกว่า ไม่มีพระราชพงศาวดารฉบับใดที่กล่าวถึงพระราชกรณียกิจไว้แม้แต่เพียงเหตุการณ์เดียว เรื่องราวของพระองค์มาปรากฏก็เมื่อทรงถูกทํารัฐประหารในตอนท้ายเท่านั้น

ส่วน วัน วลิต ได้พูดถึงพระราชประวัติไว้เล็กน้อย ดังนี้

“พระราม กษัตริย์สยามองค์ที่ 6 เสวยราช 3 ปี

พระราชโอรสของสมเด็จพระราเมศวร เสด็จขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อพระชนม์ 21 พรรษา ทรงพระนามพระราม (Prae Rhaem) เสวยราชอยู่ 3 ปี”

ข้อความต่อจากนี้ วัน วลิต ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระองค์ถูกทํารัฐประหาร แต่ค่อนข้างคลาดเคลื่อนจากหลักฐานชิ้นอื่นอย่างมาก

“พระองค์ทรงพระปัญญาน้อย ตัดสินพระทัยผิดพลาดที่ส่งพระเชษฐาของพระทองจัน (ซึ่งถูกพระราเมศวร พระราชบิดาพระองค์จับสําเร็จโทษ) ให้เสด็จไปครองเมืองสุพรรณบุรี (Soupanana Boutry) และพระราชทานอํานาจให้ล้นมือ จนท่านเจ้าเมืองนี้ประสบชัยชนะและสามารถปลงพระชนม์กษัตริย์พระรามลงได้ แล้วสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์

ไม่มีสิ่งใดที่จะกล่าวถึงพระรามกษัตริย์พระองค์นี้อีกต่อไป ก็ดังกล่าวมาแล้วว่าพระองค์ครองราชอยู่เป็นเวลาอันสั้น มิได้ทรงกระทําสิ่งใดที่สลักสําคัญขึ้นไว้”[15]

แต่หลักฐานจากพระราชพงศาวดารอื่นๆ กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ไว้ตรงกันว่า การรัฐประหารเกิดขึ้นจากเสนาบดีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งขัดแย้งกับสมเด็จพระรามราชาธิราชจนถึงขั้น “แตกหัก”

“ศักราช 771 ฉลูศก สมเด็จพระรามเจ้ามีความพิโรธแก่เจ้าเสนาบดี แลท่านให้กุมเจ้าเสนาบดีๆ หนีรอด (แลข้ามไป) อยู่ฟากปท่าคูจามนั้น แลเจ้าเสนาบดีจึงให้ไปเชิญสมเด็จ (พระอินท) ราชาเจ้ามาแต่เมืองสุพรรณบูรี ว่าจะยกเข้ามาเอาพระนครศรีอยุทธยาถวาย…”[16]

“เจ้าเสนาบดี” ท่านนี้ ดูท่าจะเป็นใหญ่สูงสุดในบรรดาขุนนางอํามาตย์ และอาจจะเป็นเชื้อพระวงศ์อีกด้วย เพราะพระราชพงศาวดารฉบับนี้ไม่นิยมเรียกขุนนางอํามาตย์ทั่วไปด้วยคําว่า “เจ้า” (พระราชพงศาวดารฉบับอื่นเรียกท่านผู้นี้ว่า “เจ้าพระยามหาเสนาบดี” แต่ตําแหน่ง “เจ้าพระยา” เกิดขึ้นหลังจากนี้หลายรัชกาล)

แต่จะเป็น “เจ้า” ฝ่ายไหนนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัด เพราะจากเหตุการณ์ความขัดแย้งครั้งนี้เห็นที่ “เจ้าเสนาบดี” คงจะไม่นับญาติกับ “วงศ์พระราม” อีกต่อไป ดังนั้นพอหนีรอดได้ก็ “ย้ายพรรค” ไปสนับสนุนเจ้า “วงศ์พระอินทร์” ราชวงศ์สุพรรณภูมิทันที

ความผิดพลาดครั้งนี้ของสมเด็จพระรามราชาธิราช คือการปล่อยให้ “เจ้าเสนาบดี” หนีไปตั้งหลักได้ คงคิดไม่ถึงว่าผลของมันจะบานปลายถึงขั้นนําไปสู่จุดจบของพระองค์ ความสงบเรียบร้อยตลอด 15 ปี ที่ทรงรับอานิสงส์จากสมเด็จพระราเมศวรก็เป็นอันหมดสิ้นลง

“เจ้าเสนาบดี” ไม่ได้หนีตายออกจากพระนครไปเพียงลําพังแต่เป็นการ “ยกพล” ออกจากพระนคร ก่อนจะตัดสินใจ “ยกพลเข้าไปปล้นเอาพระนคร” ได้ในที่สุด โดยมีสมเด็จพระอินทราชาหรือสมเด็จพระนครอินทราธิราช เจ้าผู้ครองนครรัฐสุพรรณบุรี หลานของสมเด็จพระบรมราชาธิราช (พ่องั่ว) แห่งราชวงศ์สุพรรณภูมิ ยกพลเข้ามาสนับสนุน

“ครั้นแลสมเด็จพระอินทราชาเจ้าเสด็จมาเถิงไซ้ จึงเจ้าเสนาบดียกพลเข้าไปปล้นเอาพระนครศรีอยุทธยาได้ จึงเชิญสมเด็จพระอินทราชาเจ้าขึ้นเสวยราชสมบัติ”[17]

“เทคนิครัฐประหาร” ครั้งนี้คงเป็นการล้อมพระนครทั้ง 2 ด้าน โดยมี “เจ้าเสนาบดี” เป็นแม่ทัพใหญ่เป็นฝ่ายบุกเข้าตีกรุงศรีอยุธยาจากทางทิศใต้ของเกาะเมือง คือบริเวณปทาคูจาม จนกระทั่งบุกเข้าถึงพระราชวังหลวงปล้นเอาราชบัลลังก์ได้สําเร็จ

ฝ่ายสมเด็จพระอินทราชานั้นคงจะทรงเข้าร่วมเป็น “ทัพสนับสนุน” นํากําลังพลล้อมพระนครฝั่งทิศเหนือ หรือตะวันออกในคราวนี้ด้วย เมื่อบุกเข้าพระราชวังได้ ทํารัฐประหารสําเร็จ “เจ้าเสนาบดี” ท่านนี้ ก็ทําตัวเป็น “ผู้จัดการรัฐบาล” โดยอัญเชิญสมเด็จพระอินทราชาขึ้นครองกรุงศรีอยุธยาต่อไป

หลังจากนั้นสมเด็จพระอินทราชาก็ไม่ได้ “สําเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์” สมเด็จพระรามราชาธิราช เพื่อเป็นการแก้แค้นให้กับเจ้าทองลัน “พระญาติ” ของพระองค์ที่ถูกสมเด็จพระราเมศวรสําเร็จโทษไปเมื่อรัฐประหารครั้งก่อน แต่ทรงพระเมตตา “ให้สมเด็จพระญารามเจ้าไปกินเมืองปท่าคูจาม” ทางทิศใต้ของเกาะเมืองนั่นเอง

การรัฐประหารครั้งที่ 3 ในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา มีผลทําให้ราชวงศ์อู่ทองสลายตัว หมดบทบาท และหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอย่างถาวร

ศึกแย่งชิงบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์อู่ทองกับราชวงศ์สุพรรณภูมิถึงตอนอวสานอย่างแท้จริง

ต่อจากนี้ไป ก็ได้เวลารบกันเองแล้ว!


เชิงอรรถ

[1] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับพิมพ์ตามฉบับพิมพ์ครั้งแรก ร.ศ. 126, 2540), น. 1

[2] ประเสริฐ ณ นคร. สารนิพนธ์ ประเสริฐ ณ นคร (กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2541), น. 311.

[3] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ น. 2.

[4] ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล), พระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต. (ม.ป.ท. : ม.ป.พ., ม.ป.ป) น. 11.

[5] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ น. 2.

[6] แสง มนวิทูร (แปล). ชินกาลมาลีปกรณ์ (กรุงเทพฯ : พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายพงษ์สวัสดิ์ สุริโยทัย, 2518), น. 112

[7] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ น. 3.

[8] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1 (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 115.

[9] ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล). พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเมียส ฟาน ฟลีต. น. 12.

[10] พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 1, น. 427.

[11] เรื่องเดียวกัน, น. 428.

[12] พิเศษ เจียจันทร์พงษ์. ศาสนาและการเมืองกรุง สุโขทัย (กรุงเทพฯ : เจ้าพระยา, 2528), น. 18.

[13] ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล). พระราชพงศาว ศารกรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรเนียส ฟาน ฟลีต. น. 12.

[14] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ น. 3.

[15] ม.ร.ว. ศุภวัฒย์ เกษมศรี (แปล), พระราชพงศาวดาร กรุงศรีอยุธยา ฉบับ เยเรมียส ฟาน ฟลีต. น. 13.

[16] พระราชพงษาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์, น. 3.

[17] เรื่องเดียวกัน, น. 3.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อ 8 มกราคม พ.ศ. 2562