สำรวจความเปลี่ยนแปลงของ “ปากพนัง” อู่ข้าวอู่น้ำสำคัญของภาคใต้

"กระถางต้นไม้ที่สูงที่สุดในโลก" หรือ ปล่องโรงสีข้าวเก่าที่กลายเป็นแลนด์มาร์คริมแม่น้ำปากพนัง (ภาพจาก https://localguide.thailandtourismdirectory.go.th)

“ปากพนัง” เป็นชื่อของแม่น้ำและอำเภอ แม่น้ำปากพนังมีความยาวประมาณ 120 กิโลเมตร ไหลผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด พัทลุง, ตรัง, และนครศรีธรรม แม่น้ำปากพนังไหลขึ้นเหนือ และออกทะเลที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในตำแหน่งที่ตรงกับแม่น้ำเจ้าพระยา (ไหลลงใต้) ออกทะเลที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ

แม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายสำคัญซึ่งหล่อเลี้ยงผู้คนและไร่นา, เป็นเส้นทางคมนาคม นั้นทำให้ปากพนังเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สมัยในอดีต

เมื่อประมาณ พ.ศ. 2448  ข้าวพันธุ์พื้นชื่อ “นางพญา” ของปากพนังมีชื่อจนส่งไปขายไกลถึงมาเลเซีย, สิงคโปร์, อังกฤษ ฯลฯ มาแล้ว แม้ไม่มีบันทึกปริมาณการส่งออกข้าวของปากพนัง แต่จำนวนโรงสีไฟในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้กลับมีถึง 14 โรง ซึ่งยังไม่นับรวมโรงสีด้วยมืออีกนับสิบแห่ง พอช่วยให้จินตนาการได้ว่าแต่ละปีปากพนังมีผลผลิตข้าวมากเพียงใด

โรงสีไฟจีนโก๊หักหงี ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน

นอกจากนี้ ความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อคราวเสด็จประพาสปากพนัง เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2448 บันทึกว่า “วันที่ 8 เวลา 3 โมง ได้ลงเรือมาต ไม่ใช่เพราะน้ำตื้น เพราะเพื่อจะหาความสุขถึงปากพนัง แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ…

ถึงโรงสีไฟจีนโก๊หักหงีซึ่งตั้งใหม่ มีความปรารถนาจะให้ไปเปิดโรงสีนั้น เมื่อไปถึงจีนหักหงีน้องแลบุตรหลายคน และราษฎรซึ่งอยู่ในคลองริมโรงสีนั้นเปนอันมาก ได้ต้อนรับโดยแขงแรง เวลาบ่าย 3 โมงครึ่ง จึงได้ลงเรือกลับมาถึงเรือมหาจักรี..

อำเภอปากพนังนี้ โดยทราบอยู่แล้วว่าเปนที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงที่ยังรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปมาก…ในลำน้ำนั้น มีเรือกำปั่นแขก สำเภาจีนค้าขาย ทอดอยู่กลางน้ำเกือบ 31 ลำ แต่เปนเรือตรังกานู 18 ลำ สินค้าไม่มีอื่นเท่าข้าว…

เมื่อจะคิดดูว่าตำบลนี้มีราคาอย่างไรเทียบกับเมืองสงขลา เงินผลประโยชน์แต่อำเภอเดียวนี้ น้อยกว่าเมืองสงขลาอยู่ 20,000 บาทเท่านั้น บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออกเห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง…”

แม้ปากพนังจะมีโรงสีข้าวจำนวนมาก แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ในหนังสือ “100 ปีโรงเรียนปากพนัง” ปี พ.ศ. 2462 ในภาคใต้มีโรงสีไฟขนาดใหญ่ 7 โรง ในจำนวนนั้นอยู่ในอำเภอปากพนัง 3 โรง

โรงสีบริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้ หรือโรงสี 9 ห้อง เป็นโรงสีข้าวและโกดังใหญ่ที่สุดในภาคใต้ขณะนั้น

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482) รัฐบาลผูกขาดการค้าข้าว ด้วยการจัดตั้งบริษัทข้าวไทยขึ้นเป็นผู้ดูแลการค้าข้าวของประเทศ พร้อมกับกฎเกณฑ์การค้าอื่น ประกบการสร้างทางหลวงหมายเลข 4 และการสร่งทางรถไฟสายใต้ ที่ทำให้ศูนย์กลางการคมนาคมเปลี่ยนจากปากพนังเป็นทุ่งสง การดำเนินชีวิตของคนเปลี่ยนจากชาวน้ำเป็นชาวบก และวาตภัยจากพายุโซนร้อนแฮร์เรียตที่แหลมตะลุมพุก (พ.ศ. 2505)

ทั้งหมดนี้คือแรงผลักที่ทำให้ปากพนังเปลี่ยนแปลง

โรงสีไฟจำรวนมากเลิกกิจการไป ปล่องไฟโรงสีที่ทิ้งร้างจนมีต้นไม้เล็กๆ งอกขึ้นอนุสรณ์รำลึกถึงยุคทองของเมือง ซึ่ง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียกว่า “กระถางต้นไม้ที่สูงสุดในโลก” และเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของปากพนัง


ข้อมูลจาก

วิภา จิรภาไพศาล. “บันทึกการเดินทางที่ปากพนัง”, ศิลปวัฒนธรรม สิงหาคม 2548

100 ปี โรงเรียนปากพนัง, โรงพิมพ์เลิฟแอนด์ลิพเพรส พ.ศ. 2542


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2562