ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม พฤศจิกายน 2555 |
---|---|
ผู้เขียน | ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย |
เผยแพร่ |
“—ลูกทำไม่ดีจะฟ้องพ่อ หน่อยก็จะดีกันไปใหม่ ภัยจะมาถึงตัว อีกข้อหนึ่งจะดีจะชั่วก็ชั่งเป็นไร ถ้าขัดขวางอย่างใด ไม่เป็นที่พอใจ ฉวยว่ามีวาสนา ไปภายหน้าจะไม่ได้ดี—”
เป็นข้อความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีถึงเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี ขณะมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ทำหน้าที่อภิบาลพระราชโอรสขณะเสด็จไปทรงศึกษาในทวีปยุโรป แสดงถึงความห่วงใยพระราชโอรสยามอยู่ไกลพระเนตรพระกรรณ ทรงเกรงว่าเมื่อพระราชโอรสทรงประพฤติปฏิบัติพระองค์ไม่ดีงาม พระอภิบาลจะไม่กล้ากราบทูลความจริงให้ทรงทราบ เพราะกลัวว่าเมื่อพระราชโอรสทรงเติบโตมีอำนาจต่อไปจะเป็นภัยกับตนเองเพราะอาจทรงผูกพระทัยเจ็บ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราโชบายในการส่งพระราชโอรสทุกพระองค์ไปทรงศึกษาวิชาการสมัยใหม่ เพื่อนำวิทยาการนั้นมาพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ การเสด็จไปห่างไกลพระเนตรพระกรรณตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ของพระราชโอรส ทำให้ทรงห่วงใยทั้งความเป็นอยู่ การศึกษา และพระจริยวัตรปฏิบัติพระองค์ เพราะทรงตระหนักพระทัยดีว่าพระราชโอรสทุกพระองค์ทรงได้รับการอภิบาลเลี้ยงดูในฐานะลูกพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งเป็นที่เกรงกลัวของคนทั่วไป พระราชโอรสจึงได้รับทั้งการพะเน้าพะนอตามพระทัยดังที่ทรงกล่าวถึงพระราชโอรสว่า “—เด็กๆของเราเคยเป็นเด็กมีแต่พี่เลี้ยงคอยประคับประคองอุ้มชูรักษา ไม่เหมือนลูกฝรั่ง—”
เพราะการเลี้ยงดูด้วยวิธีดังกล่าว ทำให้พระราชโอรสมีพระอุปนิสัยเอาแต่พระทัยพระองค์เอง ไม่เกรงกลัวผู้ใด และช่วยพระองค์เองได้น้อยมาก ดังนั้นการอภิบาลพระราชโอรสขณะห่างพระเนตรพระกรรณจึงเป็นความยากลำบาก คือทั้งมิใช่ตามพระทัย แต่ก็ไม่เข้มงวดจนเกิดความอึดอัดพระทัย และต้องทำให้พระราชโอรสทุกพระองค์ปฏิบัติพระองค์ตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนก คือตั้งพระทัยในการเรียนวิทยาการจากประเทศนั้นๆ แต่ต้องเรียนภาษาไทยควบคู่ไปอย่างเข้มข้น สนพระทัยความรู้รอบตัวอันจะเป็นประโยชน์กับบ้านเมือง รักษาพระเกียรติยศทั้งของพระองค์และของประเทศชาติ ทั้งหลายเหล่านี้นับเป็นภาระหนักสำหรับผู้ที่จะมาทำหน้าที่พระอภิบาล
ด้วยเหตุดังกล่าวทั้งหมด ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงเข้มงวดพิถีพิถันคัดเลือกพระอภิบาลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามพระราชประสงค์ คือเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยในความซื่อสัตย์สุจริตจงรักภักดี ตั้งใจทำหน้าที่อย่างเต็มที่เต็มใจและเต็มสติกำลัง ที่สำคัญคือต้องจริงใจในการทำหน้าที่นี้
การที่ทรงตัดสินพระทัยเลือกพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์เป็นพระอภิบาลนั้น เพราะทรงรู้จักทั้งตัวพระยาวิสุทธิฯ เองและรู้จักไปถึงบรรพบุรุษซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระบรมวงศ์ เป็นที่ประจักษ์ในความสามารถ ความจงรักภักดี และความซื่อสัตย์สุจริต คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ประสูติแต่เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงปฏิบัติราชการสนองพระเดชพระคุณจนทรงดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก สืบมาจนถึงพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นปราบปรปักษ์ ซึ่งทรงเป็นผู้รอบรู้ในขนบธรรมเนียมราชการ และรับราชการสนองพระเดชพระคุณในการช่างต่างๆ ด้วยความวิริยะอุตสาหะเป็นที่พอพระราชหฤทัยปรากฏพระคุณสมบัตินี้ในหนังสือเฉลิมพระยศเจ้านาย ความตอนหนึ่งว่า “—เป็นผู้อยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง เมื่อราชการอันใดขุกค่ำคืนก็ได้เข้ามารับราชการฉลองพระเดชพระคุณทันท่วงที—”
จนถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ซึ่งเป็นโอรสของกรมหมื่นปราบปรปักษ์ เกิดแต่หม่อมเปี่ยม มีนามเดิมว่า ม.ร.ว. เปีย มาลากุล เพราะว่าเป็นกำพร้ามารดาแต่เยาว์วัย จึงได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพิเศษ เช่น เมื่อถึงกำหนดตัดจุกก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นพิธีหลวงและเสด็จฯ มาพระราชทานตัดจุกให้ด้วยพระองค์เอง
ในส่วน ม.ร.ว. เปียก็ได้แสดงความสามารถให้ประจักษ์แก่พระเนตรพระกรรณถึงสติปัญญาอันฉลาดเฉลียวในการศึกษา โดยสามารถสอบประโยค 1 และประโยค 2 ได้ภายในปีเดียว และเมื่อเข้ารับราชการในกระทรวงธรรมการก็ได้แสดงถึงความสามารถและวิริยะอุตสาหะจนได้รับคัดเลือกให้ตามเสด็จเจ้านายในฐานะเลขานุการถึง 2 ครั้ง คือตามเสด็จพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ไปดูงานในประเทศต่างๆทางยุโรป และตามเสด็จสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย ซึ่งการปฏิบัติงานในฐานะเลขานุการทั้ง 2 ครั้ง เป็นที่พอพระทัยของเจ้านายทั้ง 2 พระองค์ ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์สูงขึ้นเป็นลำดับ จนถึงพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประจักษ์ถึงคุณสมบัติพิเศษของพระยาวิสุทธิฯ ที่ว่า “—พระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นผู้มีปัญญาวิจารณญาณอย่างสุขุม มีความสามารถในราชกิจน้อยใหญ่ ได้กระทำความดีไว้ในราชการเป็นอันมากทั้งมีอัธยาศัยเยือกเย็นมั่นคง ทั้งตั้งใจปฏิบัติราชกิจต้องตามพระบรมราโชบายซึ่งเข้าใจถ่องแท้เพราะเป็นผู้ที่ได้ทรงคุ้นและรับราชการใกล้ชิดพระองค์อย่างสนิท—”
ด้วยคุณสมบัติพิเศษดังกล่าวทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตัดสินพระทัยเลือกพระยาวิสุทธิฯ ทำหน้าที่พระอภิบาลพระราชโอรสที่เสด็จไปทรงศึกษาในยุโรปในการทำหน้าที่พระอภิบาลนี้มีพระราชดำรัสฝากฝังพระราชโอรสเป็นการส่วนพระองค์ โดยเฉพาะในพระราชหัตถเลขาล้วนแสดงถึงพระปรีชาสามารถทั้งวิจารณญาณในการเลือกใช้คนและวิธีการใช้คน ทรงใช้ความจริงพระทัยและพระเดชพระคุณอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ที่รับสนองพระบรมราชโองการซาบซึ้งพร้อมที่จะทำตามพระราชประสงค์อย่างเต็มที่และเต็มใจเช่น การที่ทรงแสดงถึงความห่วงใยพระราชโอรสดังเช่นพ่อทั่วไปที่ห่วงลูกยามลูกอยู่ห่างไกลด้วยข้อความที่ทำให้ผู้เป็นพ่อเข้าใจและซาบซึ้ง
“—เจ้าต้องเป็นผู้มีส่วนอันหนึ่งในการรักษาชีวิตของข้า ด้วยลูกอันเป็นที่รัก ซึ่งจะได้อยู่ในความปกครองของเจ้า—”
นอกจากข้อความที่ก่อให้เกิดความซาบซึ้งแล้วยังมีข้อความที่ทำให้พระอภิบาลเบาใจและมุ่งมั่นในการช่วยพระองค์ให้คลายความเป็นห่วงพระราชโอรส “—ก็ได้กล่าวตักเตือนไปที่ลูก เพื่อจะให้ประพฤติตัวตามประเพณีบ้านเมืองเขา แต่ก็นั่นแลเป็นการไกลตา พูดกันจะเข้าใจฤๅมิเข้าใจก็ไม่รู้ และจะทำตามฤๅมิทำตามก็ไม่รู้ แต่ที่อยู่ใกล้ๆ กันยังว่ายาก ทั้งนี้ก็สุดแต่วาสนาของเขา เพราะความมั่นใจอันใดก็ไม่มีที่มั่นใจนัก—” และยังทรงปรารภความกลัวที่เกิดขึ้นในพระทัยให้พระยาวิสุทธิฯ ได้ทราบอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา “—ลูกทำไม่ดีจะฟ้องพ่อหน่อยก็จะดีกันไปใหม่ ภัยจะมาถึงตัวอีกข้อหนึ่งจะดีจะชั่วก็ชั่งเป็นไร ถ้าขัดขวางอย่างใด ไม่เป็นที่พอใจ ฉวยว่ามีวาสนาไปภายหน้าจะไม่ได้ดี—”
จากข้อความที่ทรงปรารภความห่วงใยพระราชโอรสอย่างพ่อทุกคนที่ห่วงใยลูก ข้อความที่ทรงปรารภเรื่องการตักเตือนพระราชโอรสให้ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมและทรงปรารภถึงผลว่าจะได้หรือไม่นั้นทรงไม่มั่นพระทัย ก็ทำให้พระอภิบาลเข้าใจและเห็นพระทัย มุ่งมั่นจะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มสติกำลังอยู่แล้ว ครั้นทรงปรารภถึงความกลัวอันมีผลกระทบถึงพระอภิบาล ก็ยิ่งทำให้พระอภิบาลรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชประสงค์นั้นอย่างเคร่งครัด
ผลของพระปรีชาสามารถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและความซื่อสัตย์จงรักภักดีอย่างจริงใจของพระยาวิสุทธิสุริยศักดิ์ เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้พระราชโอรสทุกพระองค์ที่ทรงศึกษาในทวีปยุโรปประสบความสำเร็จในการศึกษาอย่างสมบูรณ์แบบตามพระราชประสงค์
หมายเหตุ: บทความในนิตยสารชื่อ “พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับความห่วงใยพระราชโอรสขณะทรงศึกษาในยุโรปและความพิถีพิถันคัดเลือกพระอภิบาล” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 ธันวาคม 2561