นักล่าหัวมนุษย์ “ละว้า” แห่งรัฐฉาน ตำนานตลาดค้าศีรษะคน-อังกฤษโดนจนถึงต้องปราบ

ภาพประกอบเนื้อหาจากบทความ "ว้าฮ้าย-นักล่าหัวมนุษย์แห่งรัฐฉาน" (ศิลปวัฒนธรรม, 2524)

ชนชาติละว้ามีอาศัยในหลายพื้นที่มายาวนาน ท่ามกลางการศึกษาเรื่องชนชาติเหล่านี้มีตำนานที่น่าสนใจว่าด้วยละว้าในรัฐฉาน ถิ่นที่ผู้คนเกรงขามอันเนื่องมาจากละว้ากลุ่มนี้มีชีวิตอย่างครึ่งมนุษย์ครึ่งปีศาจ นิยมล่าศีรษะคนต่างถิ่นหรือพวกคนเดินทางเพื่อใช้เซ่นบูชาผีไร่เป็นประจำ

ที่มาที่ไปของคำว่า “ละว้า” บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ ผู้เขียนหนังสือ “ชาวเขาในไทย” อธิบายว่า เป็นคำที่ชาวไทยภาคกลางเรียกชาวเผ่าหนึ่งซึ่งชาวภาคเหนือเรียกว่า “ลัวะ” ขณะที่ชาวจังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ และเพชรบูรณ์เรียกว่า “ชาวบน”

Advertisement

ชาว “ละว้า” หรือ “ลัวะ” ตั้งถิ่นอาศัยในไทยหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นในอำเภอแม่สะเรียง และขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน หรืออำเภออื่นในจังหวัดเชียงใหม่, เชียงราย, ลำปาง และแพร่

นอกเหนือจากในไทยยังมีชาวละว้าดั้งเดิมตั้งถิ่นในอีกหลายประเทศ อาทิ เขตรัฐฉาน (ไทยใหญ่) ซึ่งพวกไทยใหญ่ในรัฐฉานแห่งสหภาพพม่าก็ยอมรับว่า ดินแดนที่ตัวเองอยู่ในยุคสมัยนี้เป็นของพวกละว้ามาก่อน

ในเขตรัฐฉานของพม่า พวกละว้าจะถูกเรียกว่า “วะ” หรือ “ล้า” โดยในเขตนี้จะมีรัฐของ “วะ” หรือ “ละว้า” อยู่ติดพรมแดนมณฑลยูนนานตอนใต้ของจีน บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ อธิบายว่า ภูมิประเทศในแถบนั้นเป็นป่าลึก มีภูเขายอดสูงจำนวนมาก ยากต่อการเดินทางไปถึง ขณะที่ถิ่นพักอาศัยของของละว้าตั้งอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน ล้ำเข้าไปในเขตจีนจนเกือบถึงแม่น้ำโขง ถิ่นนี้เองเป็นถิ่นที่ผู้คนเกรงกลัวกัน

“ละว้าเหล่านี้มีชีวิตอยู่อย่างครึ่งมนุษย์ครึ่งปีศาจ พวกเขานิยมล่าศีรษะคนเดินทางเพื่อนำไปเซ่นบูชาผีไร่เป็นประจำทุกๆ ปี”

นักวิชาการหลายรายอ้างอิงตำนานความเชื่อของชาวละว้าที่อาศัยและตั้งพื้นภูมิลำเนาในถิ่นสืบต่อมาถึงต้นตระกูลของของพวกเขาอันเป็นตำนานเกี่ยวกับกบผัวเมีย ชื่อยาถำ และฟากภรรยาชื่อยาไถ่ (เสรี ชมภูมิ่ง เรียกชื่อว่า “ยาต่อม” กับ “ยาต่าย”) ทั้งสองอาศัยในหนองน้ำใหญ่ ระดับน้ำลึกจึงเรียกกันว่า “หนองเขียว” จับสัตว์ป่ากินเป็นอาหาร ไม่มีบุตร

ครั้งหนึ่งยาถำจับมนุษย์มาได้คนหนึ่ง จึงนำมากินเป็นอาหารร่วมกัน และเอากะโหลกมาแขวนไว้ดูเล่น ต่อมาไม่นาน กบยักษ์ตัวเมียก็ตั้งครรภ์ คลอดบุตรออกมาเป็นมนุษย์ชาย 9 คน หญิง 9 คน หลังจากนั้นทั้งยาถำ และยาไถ่ จึงบูชาหัวกะโหลกมนุษย์แขวนไว้บนเสากลางลานบ้าน ส่วนบุตรและบุตรีต่างแต่งงานกันและมีลูกด้วยกัน จากนั้นก็แยกย้ายไปอยู่ในหุบเขา 9 แห่ง (ซึ่งตำนานกล่าวไว้ว่าเป็นต้นกำเนิดของพวกเขาที่แยกย้ายไปตั้งบ้านเมืองกัน)

แม้จะมีบุตรเป็นมนุษย์ แต่ทั้งคู่ยังจับมนุษย์มาเป็นอาหาร เนื่องจากเห็นว่าเนื้อมนุษย์รสชาติอร่อยกว่าสัตว์ป่าอื่นๆ ครั้นทั้งคู่เข้าสู่วัยชรา ก็ยังดักจับมนุษย์อยู่ บังเอิญจับหลานของตนมากิน ทำให้บุตรทั้ง 9 ต้องหารือกันว่าบิดามารดาแก่ชรามาก กลายเป็นแม้แต่หลานก็ไม่ละเว้น และกลัวว่าสักวันอาจถูกจับกินบ้าง จึงตกลงใจฆ่ายาถำและยาไถ่มากิน

บุญช่วย เล่าว่า ตำนานช่วงท้ายนี้ตกทอดมาสู่ธรรมเนียมฆ่าบิดามารดาเมื่ออายุมากที่ส่งต่อกันมา และเพิ่งมาเลิกเมื่อ 300 ปีหลังนี้ และยังนับถือกบว่า เป็นบรรพบุรุษของตนเอง

อย่างไรก็ตาม พวกละว้ากลุ่มที่ยังถูกเรียกว่า “ว้าป่าเถื่อน” ยังคงบูชาผีไร่ด้วยศีรษะมนุษย์เป็นประจำทุกปี ที่มาของธรรมเนียมนี้เชื่อมโยงกับตำนานเสริมที่ว่า หัวหน้าชาวละว้าไปซื้อพันธุ์ข้าวจากชาวจีนฮ่อซึ่งตั้งบ้านอยู่เชิงเขา แต่ข้าวที่ซื้อมากลับปลูกไม่ขึ้น หัวหน้าชาวละว้าโกรธที่ล้มเหลว หาว่าจีนฮ่อนำข้าวพันธุ์ลวกน้ำร้อนมาขายให้

หัวหน้าชาวละว้าออกคำสั่งให้ลูกน้องไปซื้อข้าวจากพ่อค้าคนเดิม ซื้อแล้วให้ตัดศีรษะพ่อค้ามาด้วย ลูกน้องก็ปฏิบัติตาม ขากลับก็ใส่หัวในตะกร้า โดยด้านล่างตะกร้ามีข้าวที่ซื้อมา ข้าวที่นำกลับมามอบให้หัวหน้าเต็มไปด้วยเลือดและน้ำหนอง เมื่อนำไปปลูกก็เจริญพันธุ์งอกงาม เชื่อกันว่าเป็นพันธุ์ข้าวที่ผีโปรด จึงถือเป็นธรรมเนียมต้องตัดศรีษะมนุษย์มาบูชาผีไร่

การล่าศีรษะมนุษย์จะทำเป็นฤดู บุญช่วย อธิบายว่า ปีหนึ่งจะแบ่งเป็น 3 เวลา

1. กำลังจะเริ่มปลูกข้าวไร่
2. เก็บเกี่ยวข้าวไร่ ที่เรียกกันว่า “ไปหาหัวฮ้า” ฮ้าในที่นี้คือ “ร้า” หรือ ของบูดเน่าของหมักดอง
3. ก่อนปีใหม่ 7-8 วัน ประมาณเดือนเมษายน เพื่อให้ฝนตกลงมาสำหรับการปลูกข้าวไร่

เสรี ชมภูมิ่ง ผู้เขียนบทความ “ว้าฮ้าย-นักล่าหัวมนุษย์แห่งรัฐฉาน” เล่าว่า การล่าหัวมนุษย์ของละว้า จะไม่ทำนอกเขตบ้านเมืองของตัวเอง และมีความเชื่อว่าหัวของคนต่างเมืองที่เข้าไปในเมืองของเขาเป็นหัวกะโหลกที่ผีชอบนัก

การล่าหัวมนุษย์ของแต่ละหมู่บ้านจะจัดนักล่าไว้ประมาณ 10 คน พวกนี้จะเรียกกันว่า “ว้าฮ้าย” พากันซุ่มในเส้นทางที่เชื่อว่าจะมีพ่อค้าหรือคนต่างถิ่นผ่านไปมาในช่วงค่ำ

จากข้อมูลของเสรี อธิบายว่า พวกว้าล่าหัวมนุษย์ไม่ถือว่าการเอาหัวคนไปบูชาเป็นการกระทำของผู้ร้ายฆ่าคนตาย แต่เป็นการปฏิบัติเพื่อความสุขความเจริญของบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ว้าบางกลุ่มที่ติดต่อกับคนภายนอก อาทิ จีน หรือฉาน และรับความเจริญเข้ามา ประเพณีดั้งเดิมก็เริ่มลดลง ไม่เคร่งครัดเหมือนเก่า ปรับเปลี่ยนหรือเลี่ยงเป็นการซื้อกะโหลกมาบูชา แต่ก็เกิดนักล่าหัวมนุษย์มาขาย เปิดเป็นตลาดขึ้นในเมืองว้า พวกที่เหลือที่ยังล่าหัวมนุษย์มาขายก็คือกลุ่มว้าฮ้าย หรือว้าเลิน เสรี เขียนอธิบายตอนหนึ่งในบทความซึ่งอ้างอิงแหล่งข้อมูลจากการปะติดปะต่อ การบอกเล่า และหนังสือตำนานพื้นเมืองของจีนและฝรั่งว่า

“หัวของพวกฉาน พวกจีน นี่แพงที่สุด มันหายาก เพราะพวกนี้ระมัดระวังตัวกันแจทีเดียว หาไม่ค่อยได้ ถึงขนาดอังกฤษได้พม่าและเข้ายึดครองแคว้นฉาน (Shan Site) ทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีนักล่าหัวมนุษย์อยู่ประปราย ทหารอังกฤษยังโดนเข้าไปหัวหนึ่ง ถึงกับต้องทำการปราบปรามกันอย่างหนักแหละครับ”

สำหรับรายละเอียดหลังจากใช้งานในพิธีการบูชาหัวมนุษย์ บุญช่วย อธิบายว่า เมื่อเสร็จพิธีแล้วก็จะนำไปรวมกันที่เรือนผีหรือศาลหัวกะโหลกซึ่งปลูกติดกับหมู่บ้าน มีบูชาเซ่นกะโหลกปีละ 1 ครั้ง โดยใช้กระบือสีดำ การบูชามีเต้นรำหิ้วหัวกะโหลกมนุษย์เวียนไปมารอบๆ พร้อมกับกระแทกกระบอกไม้ลงดิน

การเต้นรำของกลุ่มละว้าล่าศีรษะมนุษย์คล้ายกับธรรมเนียมก่อนพวกอินเดียนแดงออกศึก ย่างเท้ากวัดแกว่งมืออย่างรวดเร็วเหมือนคนที่เสียสติ ส่งเสียงโห่ร้อง กระทืบเท้า ยิ่งกับการเต้นรำหลังล่าได้ศรีษะมนุษย์มาฉลองชัยและพืชพันธุ์ข้าวไร่แล้ว จะยิ่งทุ่มเทเวลาและกำลังกายแสดงความยินดีผ่านการร่ายรำอย่างสุดเหวี่ยง ซึ่งผู้เขียนหนังสือ “ชาวเขาในไทย” อธิบายว่า กิริยาราวกับถูกพวกปีศาจสิงร่างก็ว่าได้

บางหมู่บ้านในรัฐว้าก็นำฟางมาทำเป็นหุ่นผูกเข้ากับศีรษะที่ล่ามาได้ กระทุ้งกระบอกไม้ไผ่ลงดินเป็นจังหวะ พวกเขาจะสังเกตใบหน้าของศีรษะว่าเป็นอย่างไร หากดูแล้วโศกเศร้าเสียใจ มีน้ำเหลืองไหลจากขอบตา หมายความว่าพืชไร่ในปีนี้ได้ผลไม่ดีนัก ถ้าใบหน้ามีร่องรอยเปื้อนรอยยิ้มแจ่มใส ก็ถือว่าปลูกข้าวไร่ได้ผลผลิตดี

สำหรับการยังชีพทั่วไปของกลุ่มละว้าล่าศีรษะมนุษย์ พวกเขาจะทำไร่ ปลูกข้าว ผัก พริก และฝิ่น เลี้ยงสัตว์ประเภท หมู, ไก่, สุนัข สำหรับเซ่นผียามเจ็บป่วย แต่พวกเขาไม่ใช้เงินในการซื้อขายสิ่งของ พวกเขาใช้ฝิ่นสำหรับแลกกับปืนหรือสิ่งของที่จำเป็น ส่วนอาวุธที่ใช้คือหอก, ดาบ, มีดสั้น, หน้าไม้ และปืน

แม้จะมีการล่าหัวมนุษย์ แต่ก็แค่เป็นธรรมเนียมบางเวลาเท่านั้น จากบันทึกของบุญช่วย พบว่า ปกติแล้วพวกเขาต้อนรับแขกผู้เยี่ยมเยือนบ้านด้วย อย่างไรก็ตาม แขกที่เยี่ยมบ้านเมื่อเห็นเนื้อตัว ผมรุงรัง มีกลิ่น หรืออาหารที่ไม่สะอาดขั้นมีหนอนไต่ ก็ห้ามแสดงอาการรังเกียจ และเมื่อได้รับรินสุราให้ ห้ามดื่มในทันที จะถือว่าเป็นการดูหมิ่นพวกเขา โดยสุราแก้วแรกต้องเทลงพื้นเพื่อให้ผีเรือนดื่มก่อน ละว้าถือว่าอาหารทุกอย่างผีเป็นผู้ปัน จำเป็นต้องเซ่นผีแล้วจึงดื่มได้

ข้อมูลเหล่านี้บันทึกไว้เป็นประวัติสืบต่อกันมาและส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการศึกษา แต่การศึกษาขนบธรรมเนียมของชาติพันธุ์ย่อมต้องมาพร้อมความเข้าใจในความแตกต่างด้วย



อ้างอิง:

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. ชาวเขาในไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2545

เสรี ชมภูมิ่ง. “ว้าฮ้าย-นักล่าหัวมนุษย์แห่งรัฐฉาน”. นิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (ธันวาคม, 2524)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 ธันวาคม 2562