ร.5 มีพระราชปรารภถึง “สาเหตุการตาย” ทำดีสร้างชื่อ ถึงอายุสั้นก็ดีกว่าอยู่จนแก่หงำตาย

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ภาพจาก สังคมไทยสมัยรัชกาลที่ 5)

พระพุทธเจ้าหลวง มีพระราชปรารภถึงสาเหตุการตายของคนทั่วไป ทั้งทรงย้ำ ทำดีสร้างชื่อ ถึงอายุสั้นดีกว่าอยู่จนแก่หงำตาย

รายละเอียดดังกล่าวอยู่่ในพระราชปรารภของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เรื่อง ความตายในท่ามกลางอายุ ทรงพระราชนิพนธ์ พระราชทานให้พิมพ์ในหนังสือวชิรญาณวิเศษ เมื่อ พ.ศ. 2431 มีเนื้อหาใจความดังนี้ (เน้นคำใหม่และจัดย่อหน้าใหม่ – กองบรรณาธิการ)

Advertisement

๏ ท่านกรรมสัมปาทิก หอพระสมุดวชิรญาณ ขอให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องอะไร ๆ ลงในหนังสือวชิรญาณ ในคราวซึ่งเปนพนักงานของท่านพวกนี้สักเรื่องหนึ่ง เวลานี้ว่างจึงเขียนให้ ตามที่นึกได้ง่ายๆ

เมื่อพูดกันถึงเรื่องตาย ๆ กรมหลวงเทวะวงศ์ฯ ได้ว่าแก่ข้าพเจ้าบ่อย ๆ ว่าชีวิตรมนุษย์นี้ ถ้ารักษาดีๆ แล้ว คงจะอยู่ไปได้จนแก่หงำแล้วจึงจะตายเปนธรรมดา ข้าพเจ้าได้ยอมรับคํานี้ว่าเปนจริงมานานแล้ว เพราะได้พิเคราะห์ดูในอาการกิริยาของตัวเองที่ประพฤติมาเสมอ ๆ ก็เห็นว่าถ้ารักษาดีจริงคงจะอยู่ได้ แต่เหตุที่จะรักษาไม่ได้นั้น นึกนับดูเดี๋ยวนี้เห็นมีอยู่ 4 อย่าง

อย่างหนึ่งตั้งแต่เกิดมาก็มีโรคภัยพิการในเครื่องจักรของร่างกาย ที่จะแก้ไขให้หายเปนปรกติดีไม่ได้ เหมือนกับเครื่องจักรนาฬิกาฤาเครื่องจักรเรือกลไฟที่ทําจากร้านไม่ดี ฝีมือเลวมาแต่ต้น ถึงจะแก้ไขประคับกระคองรักษาสักเท่าใดก็ไม่พ้นเสียเร็วได้

อิกอย่างหนึ่งนั้น เพราะไม่สามารถที่จะรู้ได้ ว่าการประพฤติอย่างนี้ทําสิ่งนี้จะเปนอันตรายแก่ชีวิต การประพฤติสิ่งนี้ ทําสิ่งนี้ จะเปนเครื่องเกื้อกูลให้ชีวิตรยืนยาวไปได้

อิกอย่างหนึ่งนั้น รู้แล้วว่าสิ่งนี้ไม่สู้ดี เปนทางมาของความตาย แต่เพราะความอยาก จะเว้นอดกลั้นไม่ได้จําต้องทํา เพื่อความสุขในประจุบันทันใดนั้น ฤาเพราะรู้แล้วแต่เผลอ ๆ ไป บางที่ตั้งใจว่าจะไม่ประพฤติ แต่มันเลยเปนไปผืนไม่ไหว รู้แล้วว่าทางนี้จะเปนเครื่องเกื้อกูลแก่การอายุยืน นึกแล้วว่าจะทํา แต่มามีอย่างอื่นชักเชื่อนแชไป ฤาไม่ข่มขี่ใจที่จะทําให้แรงกล้าไปได้ สักแต่ว่าทําฤาเปนแต่จะทําแล้วเรื่อย ๆ ไป

อิกอย่างหนึ่ง รู้แล้วว่าสิ่งนี้เปนเครื่องที่จะพาไปถึงความอายุสั้นตายเร็ว แต่จําเปนต้องทํา ไม่ทําไม่ดี ถึงทําแล้วถ้าตายก็เปนตายดี ฤาไม่เปนตายดีแต่จําเปนจําทํา จนตายด้วยความรู้ว่าทางนี้เปนทางจะตาย

ในหนทางที่เปนทางมาของความตายทั้ง 4 อย่างนี้ ถ้าผู้ใดละหลีกหนีให้พ้นไปทีเดียวได้ ผู้นั้นจะมีอายุยืนยาวเปนแน่แท้ เว้นไว้เสียแต่จะมีโรคประจุบันที่คนตายมาก ๆ จะหนีไปไม่ได้ แต่อย่างไรอย่างไรคงจะดีกว่าที่ไม่ได้ประพฤติได้ แต่การที่จะประพฤติหลีกหนีทางที่มาของความตายทั้ง 4 อย่างนี้เกือบจะว่าไม่มีใครประพฤติได้ ฤาประพฤติเข้าแล้ว จะเปนการดีแก่ตัวฝ่ายเดียวนั้น ว่าไม่ได้เลย

คือข้อ 1 ซึ่งว่าด้วยร่างกายไม่บริบูรณมาแต่เดิม จะรักษาชีวิตรไปไม่ได้เอง ๆ นั้น จะยกตัวอย่างให้ เห็นได้ คือศรีพัฒนา(1) ตั้งแต่ออกมาก็เกือบจะว่าได้ว่ามีแต่กระดูกที่หนังหุ้มอยู่ ตั้งแต่เล็กจนโตไม่เห็นมีเวลาที่มีผิวแดงเลย สีซีดๆ นิ้วมือนิ้วตื่น เขียวๆ ตามเล็บเหมือนกับถูกกระทบอะไร เปนสีน้ำเงินทั้งสิบนิ้ว ตั้งแต่เกิดมาหมอไม่ได้ขาดขึ้นเรือนจนสักวันหนึ่ง เจ็บจนไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเจ็บอะไร เขียวเย็นชืดไปทั้งตัวบ้าง เพื่อโซมตัวบ้าง ร้อนจี๋ไปทั้งตัวบ้าง จะพรรณาไปไม่มีที่สุด

จนเปนสาวอายุสิบห้าสิบหก ก็ไม่มีผู้ใดเห็นได้ว่าเปนสาว อายุมากเช้าจนถึงสิบแปดสิบเก้ากลับเห็นเปนคนแก่ แต่รักษาชีวิตรดีอย่างยิ่งที่ผู้ใดจะรักษาได้ (อยู่มาได้ ถึงอายุยี่สิบปีจึงได้ตาย ถ้าจะไปหาผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งไม่รู้จักชื่อเสียงเรื่องราวเลย มาดูศพแล้วให้ทายว่าอายุเท่าไร จะต้องทายว่าอายุ 70 ขึ้นไปหา 80 ปี ท้าววรหณานันท์(2) เดี๋ยวนี้ดูยังมีเนื้อมีหนังมากกว่า นี่เปนอย่างเอกในการโรคภัยที่มีมาแต่กําเหนิด เหลือที่จะป้องกัน ถึงจะรักษาชีวิตรดีสักเท่าใด ก็รักษาได้เพียงเท่านั้นเอง ไม่มีอายุแลร่างกายที่จะอยู่ต่อไปอิกได้

อย่างที่ 2 ซึ่งว่าตายด้วยความไม่รู้ว่าจะตาย เหมือนหนึ่งคนเดินไปดีๆ ไม่มีฝนตกฟ้าร้อง แต่เมื่อเดินไปถึงกลางทาง ฝนตกลงมาฟ้าคนอง จะกลับมาสู่ที่เก่าที่ไกล จะไปจนถึงที่ข้างน่าก็ไกล จะหาที่อาไศรยกลางทางก็ไม่มี ฟ้าผ่าลงมาถูกผู้นั้นตาย ผู้นั้นตายด้วยไม่รู้ว่าอันตรายจะมี ฤาลงเรือไปในเรือที่มั่นคงแขงแรงดี เชื่อว่าจะไม่มีอันตราย แต่มีเรืออื่นมาโดนเรือล่มต้องจมน้ำตายเช่นนี้ เปนตายด้วยไม่รู้เหตุว่าจะตาย เปนเครื่องตัดไม่ให้อยู่อายุ ยืนไปได้เปนที่สอง

อย่างที่ 3 ซึ่งว่ารู้แล้วว่าเปนทางมาของความตาย แต่เว้นไม่ได้ จําต้องทําเพราะเหตุหลายประการ นั้น มีตัวอย่างกว้างขวางมาก เกือบจะไม่ต้องยกขึ้นพรรณา จะว่าแต่ย่อๆ อย่างต่ำที่สุดเพียงว่า ถ้าตื่นเช้านอนหัวค่ำจะทําให้มีกําลังวังชาดีกว่านอนดึกตื่นสาย จนได้ลองแล้ว นึกว่าจะทําก็ทําไปไม่ได้ เพราะอะไรอะไรจิปาถะร้อยอย่างสําหรับที่จะชักลง ไปหาทางที่รวังอยู่แล้ว ว่าถ้าขืนเปนอย่างนี้คงจะตาย แต่มิใช่มีอะไรบังคับ ว่าถ้าไม่ทําเช่นนั้นไม่ได้ เปนเพราะความศุขในการที่ประพฤติ เช่นนั้นเล็กน้อยในประจุบัน ทําให้เผลอไม่กลัวความตายได้โดยความประมาท

คือยังเช่นอ่านหนังสือค้างอยู่ อีกนิดเถอะ อีกนิดเถอะ เมื่ออีกนิดหนึ่งอ่านหนังสือไปได้เท่าใด ก็ให้ความสบายทุกอีกนิดหนึ่ง แต่ใกล้เข้าไปข้างความตายทุกอีกนิดหนึ่งเหมือนกัน แต่ความตายอยู่ทางไกล ความศุขอยู่ทางใกล้ ทําให้เผลอหลง ไปตามความศุขนั้น จนเปนเครื่องร่อยหรอแก่อายุได้ นี่เปนตัวอย่างที่ไม่อยากจะพูดถึงเหตุการอันร้ายกาจ ที่ไม่น่าจะเอามาไว้ในหนังสือเช่นนี้ เช่นกันปีนกําแพงวัง เปนผู้ร้ายปล้น สูบยื่นกินเหล้าเมาเหลือเกิน แลอะไรอะไรต่างๆ นับไม่ถ้วน ล้วนแต่รู้ แล้ว แลยั้งไม่ได้ มีเครื่องสําหรับล่อให้ตามไปใกล้เขาบางตายทั้งสิ้น นี่เปนเครื่องที่จะทำให้รักษาชีวิตรยืนยาวไปไม่ได้เปนที่สาม

อย่างที่ 4 ซึ่งรู้แล้วว่าเปนทางของความตาย แต่จําต้องทํานั้น เหมือนอย่างกับทหารที่จะต้องเข้าสู้สึกสงคราม เมื่อมีพวกหนึ่งถืออาวุธมาคอยจะยิงจะแทงฟันตัวอยู่ รู้แล้วว่าเปนเครื่องสําหรับทําให้ตาย แต่ต้องฝ่าฝืนเข้าไปเพื่อจะเอาไชยชนะ เพราะเปนการฉลองพระเดชพระคุณเจ้านาย และเปนการรักษาบ้านเมือง รักษาความสุขของเพื่อนมนุษย์ชาติเดียวกัน

ฤาตัวเจ็บไข้อยู่ แต่มีราชการหลวงฤาบิดามารดา บุตรภรรยาป่วยไข้ ฤาต้องอันตรายอันใด จําต้องไปรับราชการแลป้องกันรักษา เพื่อจะให้เจ้านายแลบิดามารดาบุตรภรรยาพ้นจากอันตราย ฤาเห็นคนทั้งปวงเจ็บไข้ มีเปนโรคประจุบัน ที่รู้ว่าไข้เช่น นั้นติดกันได้ แต่เห็นว่าไม่มีผู้ใดดูแลรักษาคนไข้นั้นได้ทุกข์เวทนาเข้าไปช่วยรักษา คลุกคลีอยู่ที่คนไข้ อย่างนี้ก็ต้องเปนการจําเปนที่จะต้องเข้าไปใกล้ ความตายนับเปนอย่างที่ 4

เพราะฉนั้นการที่จะรักษาชีวิตรตามที่ว่า ถ้ามนุษย์รักษาชีวิตรดีๆ อยู่แล้ว จะอยู่จนแก่หงำได้ เปนธรรมดานั้น มีเครื่องกีดกั้นอยู่มากเช่นว่ามาแล้ว จึงรักษาชีวิตรไปจนแก่หงำไม่ได้โดยมาก ต้องอาไศยความผเอินช่วยการป้องกันรักษาด้วย จึงได้รอดอยู่ได้จนแก่หงําบ้าง น้อยกว่าผู้ที่ตายเสียแต่หนุ่มแต่สาว แต่ถ้าจะว่าถึงความดีความชั่วในการรักษาชีวิตรแล้ว อย่างที่หนึ่งที่สองนั้นเปนธรรมดาอยู่เอง แต่อย่างที่สามเปนการที่ควรจะรักษา ตามทางซึ่งเห็นว่าเปนเครื่องจะให้อายุยืน หลีกละทางซึ่งเห็นว่าจะเปนเครื่องทําให้อายุสั้นให้เต็มกําลัง โดยความตั้งใจที่จะทําได้

แต่ในที่สี่นั้นเปนการจําเปนที่จะต้องทํา ถึงจะเปนทางมาของการที่อายุสั้น ก็ยอมให้สั้นดีกว่ายาว เพราะคนเกิดมาจะว่าอายุเปนสําคัญกว่าการที่ทําว่าไม่ได้ ผู้ที่มีอายุอยู่จนแก่ชรา ถึง 90 ฤา 100 ก็ดี เมื่อตายแล้วสูญชื่อในทันที่มีโดยมาก แต่ผู้ซึ่งมีอายุเพียง 20 เศษ 30 ปี มีชื่อเสียงที่ชนภายหลังรู้จักไปอีกหลายๆ พันปี มีอยู่แต่น้อย ควรจะนับว่าผู้ที่มีอายุสั้นแต่ชื่อเสียง อยู่นานนั้นมีอายุยืนหลายพันปี ดีกว่าผู้ที่มีอายุ 100 ด้วยประการฉนี้แลฯ

บางปอิน วันจันทร์เดือนหกขึ้นหกค่ำ

ปีชวดสัมฤทธิศก ศักราช 1250

 

หมายเหตุ: 

(1) พระเจ้าน้องนางเธอพระองค์ 1 ประสูติเมื่อ ปีฉลู พ.ศ. 2396 สิ้นพระชนม์เมื่อปีระกา พ.ศ. 2416

(2) ท้าววรคณานันท์ ชื่อมาลัย


ข้อมูลจาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. พระราชปรารภในพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรื่องความตายในท่ามกลางอายุ. โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร พ.ศ. 2465.

แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 17 ธันวาคม 2561