คนอยุธยาผ่าน “เกาะเซนติเนลเหนือ” จริงหรือ? “สุนทรภู่” ได้ชื่อเกาะจากไหนใส่ “พระอภัยมณี”

(ซ้าย) ชาวเซนติเนล ในเกาะเซนติเนลเหนือ เล็งธนูมาที่เฮลิคอปเตอร์ของทางการอินเดีย เมื่อปี 2004 (ขวา) อนุสาวรีย์สุนทรภู่ จ.ระยอง

เรื่องราวของเกาะเซนติเนลเหนือในหมู่เกาะอันดามัน เป็นเรื่องที่คนทั่วโลกสนใจ และเมื่อสืบค้นข้อมูลในช่วงปลายอยุธยาก็พบว่ามีคณะสงฆ์จากสยามเดินทาง “ผ่าน” หมู่เกาะอันดามัน และหมู่เกาะนิโคบาร์ แต่ยังไม่พบหลักฐานชัดเจนว่าผ่านเกาะเซนติเนลเหนือ ขณะที่ชื่อเสียงของชนพื้นเมืองในหมู่เกาะแถบนี้ก็นำมาสู่ชื่อเกาะใน “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่

ข่าวจอห์น อัลเลน เชา วัย 27 ปีจากรัฐอลาบาม่า ประเทศสหรัฐอเมริกา ถูกชนพื้นเมืองบนเกาะเซนติเนลเหนือสังหารได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก จากปากคำของชาวประมงที่พาหนุ่มรายนี้เข้าไปบนเกาะเซนติเนลเหนือ ซึ่งอยู่ในพื้นที่อ่าวเบงกอลของอินเดีย และเป็นเกาะในหมู่เกาะอันดามัน จอห์น ถูกชนพื้นเมืองยิงด้วยธนูและนำร่างของหนุ่มแปลกหน้าจากโลกตะวันตกมาไว้บนชายหาด (อ่านเพิ่มเติม เปิดสังคม “ชาวเซนติเนล” ที่ยิงธนูใส่หนุ่มมะกัน ชนพื้นเมืองไม่ติดต่อโลกภายนอกนับหมื่นปี)

Advertisement

สำหรับข้อมูลเรื่องการเดินทางของชาวสยามที่ว่ากันว่าเคยพูดถึงการผ่านหมู่เกาะบริเวณนั้น ในหนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” (พระนิพนธ์ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ) บันทึกเรื่องการเดินทางของคณะสงฆ์จากราชอาณาจักรสยามไปประดิษฐานสยามวงศ์ในลังกาเมื่อ พ.ศ. 2298 โดยต้องเดินทางอ้อมแหลมมลายูผ่านเมืองมะลักกา และมีบันทึกว่าต้องผ่านเกาะอันดามันกับเกาะนาควารี หรือนิโคบาร์ (Nicobar Islands) ซึ่งอยู่กลางทะเลอันดามัน

Nicobar Islands มีเกาะใหญ่น้อยจำนวนมากเรียงรายตามแนวเหนือใต้ มีหมู่เกาะใหญ่สำคัญ 2 หมู่ยาวต่อเนื่องกันคือ หมู่เกาะอันดามัน อยู่ตอนบน และหมู่เกาะนิโคบาร์ อยู่ตอนล่าง

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายในหนังสือ “อันดามัน สุวรรณภูมิ ในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์” ว่า ชื่อนิโคบาร์ (Nicobar) เพี้ยนมาจากชื่อ “นาควาระ” หมายถึงถิ่นนาค หรืองู หรือคนเปลือย เป็นชื่อเรียกที่เหยียดคนพื้นเมืองลงเป็นสัตว์เลื้อยคลาน เป็นสถานที่สำคัญและเป็นที่รู้จักในหมู่คนเดินเรืออย่างกว้างขวาง เนื่องจากสมุดภาพไตรภูมิที่ทำขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และต้นรัตนโกสินทร์ ซึ่งเขียนแผนที่โบราณระบุเมืองท่าชายฝั่งจนถึงลักกา ต้องมีชื่อและภาพนาควารีเกาะคนเปลือยทุกฉบับ

หนังสือ “เรื่องประดิษฐานพระสงฆ์สยามวงศ์ในลังกาทวีป” เล่าเรื่องเกาะนาควารีว่า “ในเกาะนั้นมีคนอยู่เป็นอันมาก แต่ว่าหามีข้าวกิน หามีผ้านุ่งห่มไม่ ผู้หญิงนั้นนุ่งเปลือกไม้แต่พอปิดที่อายหน่อยหนึ่ง ผู้ชายนั้นเอาเชือกคาดเอวแล้วเอาผ้าเตี่ยวเท่าฝ่ามือห่อที่ความอายไว้”

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังส่งพระสงฆ์ไปลังกาอีกเมื่อ พ.ศ. 2357 พระสงฆ์อาศัยเรือค้าช้างของพ่อค้าลงเรือที่ควนธานี เมืองตรัง ผ่านเกาะยาวหน้าเกาะถลาง แล้วไปเกาะนาควารีใช้เวลา 6 วัน มีบันทึกไว้ว่า

“แลเกาะนาควารีย์นั้น ผู้คนอยู่เป็นอันมาก คนเหล่านั้นไม่กินข้าว กินแต่เผือกมันแลหมากพร้าว ครั้นเห็นเรือเข้าไปใกล้เกาะแล้ว ก็เอาเผือกมันหมากพร้าวกล้วยอ้อยลงมาแลกยา”

บันทึกของพระสงฆ์ที่ไปลังกายังบันทึกถึงคำบอกเล่าเกี่ยวกับคนบนหมู่เกาะอันดามันว่า

“คนในเกาะนั้นกินคน ถ้าแลเรือซัดเข้าไปเถิ่งที่นั้นแล้ว มันช่วยกันไล่ยิงด้วยหน้าไม้ จับตัวได้เชือดเนื้อกินเป็นอาหาร อันนี้เป็นคำบอกเล่าหลายปากแล้ว ก็เห็นจะมีจริง แต่มิได้เห็นด้วยจักษุ”

สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า สุนทรภู่ที่มีความรู้เกี่ยวกับสถานที่จากประสบการณ์นอกระบบ คือสนทนาหาความรู้จากบรรดาประชาชาติต่างๆ และกะลาสีเรือที่เข้ามาค้าขายกับกรุงสยามในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 รวมถึงเอกสารต่างๆ มีแนวโน้มได้ยินเรื่องมนุษย์กินคนอยู่ตามหมู่เกาะจากคำบอกเล่าของชาวเรือ จึงสร้างตัวละครชื่อ “เจ้าละมาน” แม้จะไม่ได้กินคนแต่ก็กินของสดๆ คาวๆ เจ้าละมานนี้ “กาญจนาคพันธุ์” ว่า หมายถึงเจ้าแห่งเกาะละมาน หรือสุละมาน นั่นคือเกาะนิโคบาร์หรือนาควารี ซึ่งข้อมูลตรงกันกับบันทึกของพระสงฆ์ที่พบชาวเกาะนาควารี

เทียบข้อมูลปัจจุบัน (ภาพจาก Google Map, 2018) กับ “ภูมิศาสตร์สุนทรภู่” ที่จินตนาการใช้ทะเลอันดามันเป็นฉากสมมติเรื่องพระอภัยมณี [เสนอโดย “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2490]
แผนที่แสดงฉากและบ้านเมืองต่างๆ ในพระอภัยมณีอยู่ทางทะเลอันดามัน ปรับปรุงใหม่จากข้อเสนอของ “กาญจนาคพันธุ์” (ขุนวิจิตรมาตรา) เป็นท่านแรก ตั้งแต่ พ.ศ. 2490

ส่วนในเรื่องพระอภัยมณี เมื่อท้าวสิลราชเจ้าเมืองผลึกพาลูกสาวชื่อสุวรรณมาลีไปเที่ยวทะเลแล้วถูกพายุไม่รู้อนาคต จึงตั้งพิธีเซ่นผีปู่เจ้าเพื่อถามทางแล้วจะต้องกลับเมืองทางไหน ปู่เจ้าบอกว่าอยู่ในทะเลชื่อ “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” แนะนำให้ไปทางทิศอิสาน ซึ่งก็ทำให้ได้พบพระฤาษี เกาะแก้วพิศดาร พบพระอภัยมณีกับสินสมุทร และอีกมากมายรอบทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร”

ชื่อทะเล “นาควารินทร์สินธุ์สมุทร” ที่สุนทรภู่เขียนนี้ สุจิตต์ วงษ์เทศ อธิบายว่า ได้มาจากเกาะนาควารีหรือ Nicobar Islands ในสมุดภาพไตรภูมิ แล้วสมมติให้ทะเลแห่งนี้กว้างไกล จึงอาจหมายถึงทะเลอันดามัน-อ่าวเบงกอล-และมหาสมุทรอินเดียทั้งหมดก็ได้

จากข้อมูลที่อ้างอิงมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า การเดินทางในสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ระบุถึงเกาะอันดามันกับเกาะนิโคบาร์ ซึ่งมีเกาะน้อยใหญ่จำนวนมาก ซึ่งในละแวกนั้นก็มีเกาะเซนติเนลเหนือที่เป็นถิ่นของชนพื้นเมืองอย่าง “ชาวเซนติเนล” อยู่ แต่จะ “ผ่าน” เกาะเซนติเนลเหนือโดยตรงหรือไม่ เฉียดในระยะแค่ไหนนั้นยังต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป



อ้างอิง:

สุจิตต์ วงษ์เทศ. อันดามัน สุวรรณภูมิ ในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548