วิวัฒนาการหาบเร่แผงลอย รัฐหนุนเองยุคตั้งต้น สู่บันไดเปลี่ยนชนชั้นชาวจีนที่กำลังอวสาน?

ภาพประกอบเนื้อหา - ร้านค้าข้างทางในไทย

ข้อถกเถียงเรื่องการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในทุกวันนี้ยังคงวนเวียนอยู่ว่าจะใช้มาตรการผ่อนปรน หรือจะไม่อนุโลมแล้ว ซึ่งดูเหมือนว่ามาตรการล่าสุดจะโน้มเอนมาในทิศทางหลังมากกว่า แต่เมื่อย้อนกลับไปในบริบทต้นรัตนโกสินทร์แล้ว งานวิจัยว่าด้วยการจัดการหาบเร่แผงลอยในกทม.นั้น ระบุว่า หาบเร่แผงลอยถือเป็นบันไดเชื่อมระหว่างชนชั้นและรัฐสนับสนุนเสียด้วยซ้ำ

การเติบโตของเมืองที่ถือเป็นศูนย์กลางการปกครองของไทยในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจมากมาย ในบรรดารูปแบบวิถีชีวิตที่เกิดขึ้น คนไทยย่อมคุ้นเคยกับภาพการค้าขายข้างทางหรือที่เรียกกันว่าเป็น “หาบเร่-แผงลอย” แทบทั่วทุกหนแห่งในเมือง

Advertisement

บทความทางวิชาการของรศ.ดร. นฤมล นิราทร เรื่อง “การจัดการการค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร : ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ” อธิบายการปรากฏตัวของการค้าข้างทางย้อนไปตั้งแต่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นว่า การค้าเริ่มต้นมาจากฐานันดร “ไพร่” ที่เป็นเพศหญิงมาค้าขายเพื่อหารายได้คู่กันไปกับการทำนา การค้าก็อยู่ในระดับยังชีพเท่านั้นไม่ได้มีลักษณะขยายการค้า ขณะที่ฝ่ายเพศชายถูกเกณฑ์เป็นผู้ใช้แรงงานในระบบศักดินา

ลักษณะการค้าในยุคแรกเริ่มย่อมเป็นการค้าทางน้ำที่ต้องอาศัยเรือ กล่าวคือ อาจใช้พายเรือไปตามริมแม่น้ำลำคลอง หรือตั้งค้าขายอยู่กับที่

เมื่อสภาพบ้านเมืองเริ่มมีสร้างถนน การคมนาคมหลักเปลี่ยนจากทางน้ำมาเป็นทางบก การค้าข้างทางจึงเริ่มมีความสำคัญมากขึ้น การค้าขยับมาจากทางน้ำเป็นทางบก แต่ยังอยู่ในรูปแบบไม่อยู่กับที่จึงปรากฏเป็นหาบเร่ขายสินค้าตามถนน การค้าอยู่กับที่จะอยู่นอกกำแพงพระนคร มีให้เห็นในพื้นที่ซึ่งเรียกว่า “ตลาดบก” โดยสินค้าที่ขายส่วนใหญ่ก็เป็นอาหาร

รศ.ดร.นฤมล อธิบายว่า ผู้ที่สนับสนุนการค้าหาบเร่แผงลอยก็เป็นรัฐบาลเอง มีตลาดนัดส่งเสริมอาชีพและรายได้ให้เกษตรกร

รายละเอียดที่ลงลึกไปถึงลักษณะของผู้ค้าข้างทางในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ถูกอธิบายว่ามีทั้งชาวจีนและชาวไทย สำหรับกรณีผู้ค้าชาวไทยที่กล่าวไปข้างต้นว่ามักเป็นผู้หญิง รศ.ดร.นฤมล อธิบายต่อว่า ผู้ค้าชาวจีนกลับเป็นผู้ชาย จากเหตุผลเรื่องการเกณฑ์แรงงานในระบบไพร่ แม้แต่ช่วงที่เลิกระบบไพร่และทาสแล้วก็ตาม ชาวไทยก็ยังยึดอาชีพเกษตรกรรมทำไร่ทำนาเป็นหลักด้วยสาเหตุหลายประการ สาเหตุหนึ่งคือเรื่องชาวจีนที่เข้ามาค้าขายในพระนครจำนวนมากด้วย เหตุผลอีกประการคือสภาพสังคมในสมัยนั้น อาทิ ช่วงระยะเวลาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 จนถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 จะอุบัติขึ้น การทำนาสร้างรายได้ดีเพราะการส่งออก

สำหรับรูปแบบการค้าขายของชาวจีนที่แตกต่างจากชาวไทยนั้น ในด้านการค้าข้างทาง ผู้วิจัยมองว่า “การค้าข้างทางเป็นบันไดให้ก้าวไปสู่การเป็นชนชั้นนายทุน” เมื่อชาวจีนต้องส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในประเทศ การค้าที่ทำเงินได้เร็วจึงเป็นทางเลือกอันดับต้นๆ และนั่นทำให้ชาวจีนเริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็นแรงงานรับจ้าง

หลังจากนั้น ชาวจีนจำนวนหนึ่งจึงเริ่มปรับไปสู่การค้าข้างทาง สะสมทุนจนเป็น “ผู้ประกอบการ” สำหรับกลุ่มนี้ ปฏิเสธได้ยากว่า การค้าข้างทางเป็นบันไดที่พาดจากชนชั้นหนึ่งไปสู่อีกชนชั้นหนึ่ง จากชนชั้นชาวนาในจีน มาสู่ชนชั้นแรงงาน และสู่ชนชั้นนายทุนในไทย

ส่วนชาวไทยก็เข้ามาประกอบการค้าข้างทางในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ที่น่าสนใจคืออิทธิพลจากนโยบายรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งออกกฎห้ามผู้ค้าหาบเร่แผงลอยชาวจีนไปค้าขายในที่ทำการกระทรวงธรรมการและโรงเรียนรัฐบาล จนถึงสภาพราคาข้าวที่ตกต่ำและสภาพเศรษฐกิจหลังสงครามที่ดิ่งลงต่อเนื่องในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ชาวนาในชานพระนคร ที่ราบภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือขายที่นาเข้ามาเป็นแรงงานรับจ้างในกทม. ทำงานกับโรงงานอุตสาหกรรมที่เริ่มเข้ามาก่อตั้งกันบ้างแล้ว

เมื่อผนวกเข้ากับนโยบายของรัฐบาลที่เริ่มสนับสนุนอุตสาหกรรมมากขึ้น แรงงานภาคการเกษตรก็เข้ามาในกรุงเทพฯมากขึ้นก่อนที่จะประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2504

หลัง พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อาชีพอิสระก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว บทความของรศ.ดร.นฤมล อ้างอิงการศึกษาการประกอบอาชีพค้าขายข้างทางพบว่า เหตุผลของการขยายตัวมาจาก นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมมากกว่าภาคเกษตรกรรม และการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และภาคบริการสืบเนื่องมาจากนโยบายเน้นการผลิตเพื่อส่งออกจึงทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มสูงขึ้น เรียกได้ว่า แรงงานกลุ่มนี้เป็นลูกค้าของผู้ค้าขายข้างทางไปโดยปริยาย

หลังจากยุค พ.ศ. 2523 งานวิทยานิพนธ์เมื่อปี 2526 อธิบายปรากฏการณ์สตรีจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มเข้าสู่อาชีพหาบเร่แผงลอยสืบเนื่องมาจากปัญหารายได้ในภาคเกษตรกรรมและการกระจายรายได้ที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างพื้นที่กทม.กับชนบท

งานวิจัยยุคต่อมาในปี 2534 ว่าด้วยผู้ค้าหาบเร่สตรีในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2530-2534) ก็มีนโยบายส่งเสริมการประกอบอาชีพส่วนตัวขนาดเล็กในเขตเมือง แถมยังมีเน้นผู้ค้าหาบเร่แผงลอย

หากผู้ค้าชาวจีนสามารถสะสมทุนจนสามารถเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจจากการค้าขายหาบเร่แผงลอยได้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่งานศึกษาวิจัยก็พบว่าหาบเร่แผงลอยก็ช่วยแรงงานย้ายถิ่นจากชนบทมาสู่เมืองในไทยให้มีรายได้ หลุดพ้นจากสถานะ “ความยากจน” หลายกรณีก็พบว่าผู้ค้าเหล่านี้สะสมทุน เลื่อนฐานะทางเศรษฐกิจ ขยายการประกอบอาชีพได้เช่นกัน



อ้างอิง:

กุสุมา โกเศยะโยธิน. “แบบแผนการเข้าสู่อาชีพและความพึงพอใจในอาชีพของสตรีที่ย้ายถิ่นเข้าทำงานในกรุงเทพมหานคร”. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2526

ประชุม สุวัตถี และคณะ. หาบเร่ในกรุงเทพมหานคร. กรุงเทพฯ : คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2523

นฤมล นิราทร. “การจัดการการค้าหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร : ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะ”. บทความประกอบการสัมมนา “อภิวัฒน์การเรียนรู้…สู่จุดเปลี่ยนประเทศไทย”. สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.), 6-8 พฤษภาคม 2557.

เรณู สังข์ทองจีน. “การประกอบอาชีพของแรงงานหญิงในกรุงเทพมหานคร”. วิทยานิพนธ์มหาบัณฑิต คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2534


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 พฤศจิกายน 2561