รัฐบาลคณะราษฎร พ.ศ. 2476-90 ทำอะไรไว้บ้าง?

รัฐบาลคณะราษฎรสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2481-88

คณะราษฎรได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (นับอย่างปฏิทินปัจจุบัน) และได้ปิดฉากลงเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490, รวมเป็นเวลาทั้งสิ้น 2 ทศวรรษ.

ในช่วงเวลาดังกล่าว คณะราษฎรได้เป็นรัฐบาลรับผิดชอบดูแลประเทศไทยเป็นเวลา 14 ปี ภายใต้นายกรัฐมนตรี 6 คน. รัฐบาลคณะราษฎรได้เริ่มต้นในรัชกาลที่ 7 และหมดบทบาทในรัชกาลที่ 9.

ในระหว่างระยะเวลาที่บริหารราชการแผ่นดิน, รัฐบาลคณะราษฎรได้สร้างผลงานที่ยิ่งใหญ่ฝากไว้ในประวัติศาสตร์อย่างน้อย 5 ประการ คือ

  1. ปลูกฝังการปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิไตยเอาไว้ได้อย่างถาวรในประเทศไทย โดยคณะราษฎรเองได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2475
  2. นำมาและธำรงไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยที่สมบูรณ์สำหรับประเทศไทย อีกทั้งความเสมอภาคเท่าเทียมกับนานาชาติ
  3. สร้างระบบการบริหารราชการที่เป็นสากลในด้านการป้องกันประเทศ, การเงินการคลัง, การศึกษา, การสาธารณสุข, การเศรษฐกิจ, การรักษาความสงบเรียบร้อยและกระบวนการยุติธรรม, รวมถึงระเบียบราชการบริหารในส่วนกลาง, ส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น
  4. รักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติในระหว่างและภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482-88) รวมทั้งศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของชาติ
  5. สืบทอดสาระสำคัญของ “สำนักความคิดไทย” (Thai School of Thought) ที่ปรากฏมาตั้งแต่ “ยุคจุฬาลงกรณ์” ซึ่งมุ่งหล่อหลอมความเป็นไทย, ความรักชาติไทย, และความพยายามพึ่งตนเอง ไม่ยอมให้อยู่ในความครอบงำของต่างชาติ.

รัฐบาลคณะราษฎรที่บริหารบ้านเมืองในระยะเวลา 14 ปีดังกล่าวมิได้ประกอบด้วยบุคลากรเฉพาะที่มาจากสมาชิกของคณะราษฎรเท่านั้น, หากมาจากบุคลากรอีกหลายกลุ่มซึ่งมีความเต็มใจเข้ามาร่วมงานกับคณะราษฎร ทั้งนี้เพราะมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบ้านเมืองไปในทางเดียวกันกับคณะราษฎร, โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน “หลัก 6 ประการ” ของคณะราษฎรที่ประกาศเมื่อคราวทำการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อีกทั้งการมุ่งมั่นขับเคลื่อนประเทศชาติภายใต้หลักดังกล่าว.

นอกจากนั้นการเข้าร่วมงานกับคณะราษฎรในการบริหารราชการแผ่นดินก็ยังมาจากความศรัทธาในบรรดาผู้ที่เป็นแกนนำของคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในความรักชาติ, ความรู้ความสามารถ, และความมั่นคงในสิ่งที่ถูกต้อง (integrity).

ดังนั้นบุคลากรในรัฐบาลคณะราษฎรในระหว่างปี พ.ศ. 2476-90 จึงประกอบด้วย 1. สมาชิกคณะราษฎร หรือ “ผู้ก่อการ”, 2. มิตรสหายของ “ผู้ก่อการ”, 3. ข้าราชการในระบอบเดิมที่มีประสบการณ์สูง, และ 4. ผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง, ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ขนานไปกับความมั่นคง และการขยายพื้นที่ประชาธิปไตย.

(จากซ้ายไปขวา) หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์) พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) และหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) (ภาพจากหนังสือสมุดภาพพระยาพหลพลพยุหเสนา ภาค 1 จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ต้นฉบับ พ.ศ. 2556)

สมาชิกคณะราษฎรที่ได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลของคณะราษฎรมีจำนวนประมาณ 30 คน โดยส่วนหนึ่งเป็นทหารและอีกส่วนหนึ่งเป็นพลเรือน. ในสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี พ.ศ. 2476-81, สมาชิกคณะราษฎรที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีก็จะเป็นในระดับ “แกนนำ” และผู้ใกล้ชิดกับ “แกนนำ”.

ในด้านของทหารก็มีอาทิ หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ), หลวงศุภชลาศัย, หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน), หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ (ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์). ซึ่งคุณหลวงธำรงฯ จะได้รับมอบหมายงานในด้านพลเรือน เพราะมีคุณวุฒิ เนติบัณฑิตสยามด้วย. สำหรับในฝ่ายพลเรือนก็มีหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นหลัก โดยมีหลวงนฤเบศร์มานิต (สงวน จูฑะเตมีย์), หลวงสิริราชไมตรี (จรูญ สิงหเสนี) และหลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) ได้เข้าร่วมรัฐบาลบ้าง.

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา, ก็ได้มีสมาชิกคณะราษฎรเข้าร่วมคณะรัฐบาลเพิ่มขึ้น ได้แก่ พระยาฤทธิอาคเนย์ (สละ เอมะศิริ), หลวงชำนาญยุทธศิลป์ (เชย รมยะนันท์), หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) และหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (ช่วง ขวัญเชิด).

สำหรับบุคลากรซึ่งเป็น “มิตรสหาย” ของผู้ก่อการที่ได้เข้าร่วมในรัฐบาลคณะราษฎรในสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีอาทิ พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา), พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน), พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (วัน จามรมาน), พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค), พระยาอภัยสงคราม (จอน โชติดิลก), พระเวชยันตรังสฤษฏ์ (มุนี มหาสันทนะ), พระยาวิชิตชลธี (ทองดี สุวรรณพฤกษ์), พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สุนทานนท์), พระสารสาสน์ประพันธ์ (ชื้น จารุวัสตร์), หลวงเดชสหกรณ์ (ม.ล. เดช สนิทวงศ์) และหลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปฤดา). บุคคลเหล่านี้ได้รับเชิญเข้ามาร่วมรัฐบาลเนื่องจากเป็นมิตรสหายหรือผู้ที่บุคคลสำคัญในคณะราษฎรนับถือเป็นส่วนตัว, มิใช่ในฐานะข้าราชการในระบอบเดิม.

สำหรับข้าราชการผู้มีประสบการณ์และมีทัศนคติที่ไม่ขัดแย้งกับคณะราษฎร ซึ่งได้รับเชิญเข้ามาร่วมในรัฐบาลคณะราษฎรสมัยที่พระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีอาทิ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา), เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ (จิตร ณ สงขลา), พระยามานวราชเสวี (ปลอด วิเชียร ณ สงขลา), พระยาอภิบาลราชไมตรี (ต่อม บุนนาค), พระยาศรีเสนา (ฮะ สมบัติศิริ), พระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ), พระยาโกมารกุลมนตรี (ชื่น โกมารกุล ณ นคร), พระยาประเสริฐสงคราม (เทียบ คมกฤส), พระยามไหสวรรย์ (กอ สมบัติศิริ) และเจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (ม.ร.ว. เย็น อิศรเสนา).

กลุ่มสุดท้ายอันได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งได้เข้าร่วมในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนา ก็มีอาทิ พระยาสมันตรัฐฯ (สตูล), พระดุลยธารปรีชาไวท์ (เชียงราย), พระยาศรีธรรมราชฯ (สงขลา), พระยาสัจจาภิรมย์ (นครนายก), พระยาอมรวิสัยฯ (ลำปาง), ขุนสุคนธวิทศึกษากร (สมุทรสาคร) และขุนสมาหารหิตะคดี (กรุงเทพฯ).

ต่อมาเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่างปี พ.ศ. 2481-88), ก็ได้มีสมาชิกของคณะราษฎรได้เข้าร่วมในรัฐบาลเพิ่มมากขึ้น อาทิ หลวงชำนาญนิติเกษตร (อุทัย แสงมณี), หลวงสฤษฎิ์ยุทธศิลป์ (เพียร พิริยะโยธิน), หลวงพรหมโยธี (มังกร ผลโยธิน), ดร. ตั้ว ลพานุกรม, ประยูร ภมรมนตรี, หลวงสวัสดิ์รณรงค์ (สวัสดิ์ ดาระสวัสดิ์), หลวงเกรียงศักดิ์พิชิต (ค้วน จินตะคุณ), หลวงนาวาวิจิตร (ผัน นาวาวิจิตร), หลวงสังวรยุทธกิจ (สังวร สุวรรณชีพ), หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล), หลวงกาจสงคราม (เทียน เก่งระดมยิง), นายดิเรก ชัยนาม, นายทวี บุณยเกตุ, นายวิลาศ โอสถานนท์ และหลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ (ม.ล. กรี เดชาติวงศ์).

รัฐบาลคณะราษฎรสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม (หลวงพิบูลสงคราม) เป็นนายกรัฐมนตรีระหว่าง พ.ศ. 2481-88

สำหรับบุคคลที่เป็นคนสนิทมิตรสหายของสมาชิกแกนนำของคณะราษฎรที่ได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลก็มีอาทิ หลวงอธึกเทวเดช (เจียม โกมลมิศร์), พระบริภัณฑ์ยุทธกิจ (เภา เพียรเลิศ), พระอุดมโยธายุทธ (อุดม รัตนาวดี), นายวนิช ปานะนนท์ และ ดร. เดือน บุนนาค.

ส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มีหลายนายได้เข้าร่วมในรัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนานั้น มาในสมัยรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่สืบเนื่องมา มีแต่ขุนสมาหารหิตะคดี (โป๊ โปรคุปต์) เท่านั้น. ไม่ปรากฏว่าได้มีผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ผู้ใดได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาล.

ในคณะรัฐบาลระหว่างปี พ.ศ. 2487-90 ซึ่งยังคงเป็นรัฐบาลคณะราษฎรอยู่นั้น คือรัฐบาลของ พ.ต. ควง อภัยวงศ์ (หลวงโกวิทอภัยวงศ์) ระหว่างปี พ.ศ. 2487-88, รัฐบาลของ นายทวี บุณยเกตุ, นายปรีดี พนมยงค์ (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) และ พล.ร.ต. ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์) นั้น ได้มีสมาชิกของคณะราษฎรเข้าร่วมในรัฐบาลต่างๆ เหล่านั้นอีกหลายคน เพิ่มเติมจากรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา และรัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก่อนหน้านั้น อาทิ ขุนเรืองวีรยุทธ (บุญเรือง วีระหงส์), ทวน วิชัยขัทคะ, ทหาร ขำหิรัญ, ชลิต กุลกำม์ธร, นายแนบ พหลโยธิน, ม.ล. อุดม สนิทวงศ์, หลวงสุนทรเทพหัสดิน (สพรั่ง เทพหัสดิน ณ อยุธยา), ประจวบ บุนนาค, เล้ง ศรีสมวงศ์, หลวงอรรถกิติกำจร (กลึง พนมยงค์), สงวน ตุลารักษ์, หลวงอรรถสารประสิทธิ์ (ทองเย็น หลีละเมียร) และ นายจรูญ สืบแสง.

ในขณะที่เป็นบุคคลที่ใกล้ชิด หรือเป็นผู้ที่แกนนำของคณะราษฎรเคารพนับถือ ก็รวมถึงพระยาประกิตกลศาสตร์ (รุณชิต กาญจนวณิชย์), หลวงบรรณกรโกวิท (เปา จักกะพาก), หลวงวิชิตสงคราม (จิร วิชิตสงคราม), หลวงเทวฤทธิ์พันลึก (กาพย์ ทัตตานนท์), หลวงสินาดโยธารักษ์ (ชิต มั่นศิลป์), นายวิจิตร ลุลิตานนท์, และ นายทวี ตะเวทิกุล.

สำหรับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งก็ได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลจำนวนมาก อาทิ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี), นายเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร), นายถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด), นายจำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม), นายทอง กันทาธรรม (แพร่), นายพึ่ง ศรีจันทร์ (อุตรดิตถ์), นายชิต เวชประสิทธิ์ (ภูเก็ต), นายวุฒิ สุวรรณรักษ์ (สุราษฎร์ธานี), ขุนระดับคดี (สุโขทัย), วิโรจน์ กมลพันธ์ (อยุธยา), เยื้อน พานิชวิทย์ (อยุธยา), หลวงนรัตถรักษา (สุโขทัย), พระยาสุรพันธ์เสนี (เพชรบุรี), ม.จ. นนทิยาวัด สวัสดิวัตน์ (ชลบุรี), หลวงนาถนิติธาดา (ชัยภูมิ) และ ดร. ทองเปลว ชลภูมิ (ปราจีนบุรี).

รัฐบาลคณะราษฎรระหว่างปี พ.ศ. 2476-90 ประกอบด้วยบุคคลซึ่งมีคุณภาพ, วุฒิภาวะ, และความมั่นคงในสิ่งที่ถูกต้อง, ไม่ว่าจะเป็นบุคคลในคณะราษฎรซึ่งก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2475, หรือบุคคลต่างๆ ที่ได้รับการเชิญเข้ามาร่วมในคณะรัฐบาล. สำหรับบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งนั้น ต่างก็เป็นผู้ที่รักชาติบ้านเมือง และทำหน้าที่เป็น “ผู้แทนของราษฎร” ในภารกิจการปกครองตนเองในระบอบประชาธิปไตย, อีกทั้งส่วนใหญ่ก็ได้รับใช้ชาติในปฏิบัติการเสรีไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2.

รัฐบาลคณะราษฎรมีเสถียรภาพ ไม่ “ล้มลุกคลุกคลาน” และมิได้ปรากฏว่ามีการแตกแยกแย่งชิงอำนาจ ตามที่มีผู้ประสงค์ร้ายในช่วงเวลาภายหลังพยายามที่จะปลุกเสก. ความเห็นของบุคคลภายในคณะราษฎรก็ดี หรือภายในรัฐบาลคณะราษฎรก็ดี อาจมีความแตกต่างกันได้ในหลายกรณี, ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของบุคคลหมู่มาก และก็เป็นสิ่งที่รับได้ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย.

ในกรณีของสงครามมหาเอเชียบูรพา (พ.ศ. 2484-88) นั้น ได้มีความเห็นต่างกันระหว่างบุคคลภายในคณะราษฎร โดยฝ่ายหนึ่งคาดหมายว่าญี่ปุ่นอาจจะเป็นฝ่ายชนะสงคราม โดยฝ่ายสัมพันธมิตรยอมสงบศึกและผ่อนปรนตามข้อเรียกร้องต่างๆ ของญี่ปุ่น, ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งของคณะราษฎรได้วิเคราะห์ว่าฝ่ายสัมพันธมิตรจะต้องเป็นฝ่ายที่ชนะสงครามในที่สุด เพราะมีศักยภาพทั้งทางเศรษฐกิจ, กำลังคนและเทคโนโลยีเหนือกว่าญี่ปุ่นมาก. สำหรับประเทศไทยนั้นจะดำรงความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดจนถึงที่สุด และหากจะต้องเลือกข้าง ก็จะต้องอยู่ข้างฝ่ายที่ชนะสงคราม จึงจะสามารถรักษาอธิปไตยเอาไว้ได้ภายหลังสงคราม. ซึ่งเป็น “จุดยืน” ที่ไม่แตกแยกกันของรัฐบาลคณะราษฎร.

สิ่งที่หล่อหลอมคณะราษฎรมิให้แตกแยกก็คือ การยึดมั่นในระบอบรัฐธรรมนูญประการหนึ่ง และการยึดมั่นใน “หลัก 6 ประการ” เป็นอีกประการหนึ่ง.


หมายเหตุ : เนื้อหานี้มีชื่อบทความเดิมว่า “รัฐบาลคณะราษฎร พ.ศ. 2476-90” เขียนโดยอาจารย์วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร ราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ท่านได้เขียนให้กับนิตยสารศิลปวัฒนธรรมนำลงเผยแพร่ในฉบับกุมภาพันธ์ 2561 ก่อนที่อาจารย์วิชิตวงศ์จะถึงแก่กรรมเมื่อเช้าวันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 และอาจารย์ได้อุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่

ศิลปวัฒนธรรมขอนำบทความนี้ทั้งหมดมาเผยแพร่ในเว็บเพื่อเป็นองค์ความรู้ยังประโยชน์ในวงกว้างต่อไป ตามเจตนารมณ์ของอาจารย์วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร

เผยแพร่เนื้อหาครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2561 จัดย่อหน้าใหม่และเน้นคำใหม่