Girl Scouts เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เนตรนารีกองแรกของไทย เรียนและฝึกอะไรกัน

เนตรนารีรุ่นแรกของวังหลัง พ.ศ. 2458 (จากซ้าย) น.ส. หนุ่ย โชติกเสถียร, น.ส. สาย นรินทรางกูร (นางนรพรรคพฤฒิกร), มิสแมคค็อด (อาจารย์), น.ส. จี๊ สรรกุล, น.ส. สงัด วีระเธียร (สงัด สกุลกัน), น.ส. ผิว ฮิกส์, น.ส. เจนนี่ บราวน์ (น.ส. เจนจิรา เบราวนกุล) , น.ส. นิด ฮิกส์ (นางพิจิตรวารสาร) (ภาพจาก นิตยสารวัฒนาวิทยาลัย)

Girl Scouts เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เนตรนารีกองแรกของไทย คำบอกเล่าของ Scout รุ่นแรกจากพวกเธอเรียนทำอาหาร-ปลูกผัก ฝึกหัดปฐมพยาบาล-ขี่ควาย ฯลฯ

เป็นที่ทราบกันดีว่ากิจการลูกเสือในประเทศไทยนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงก่อตั้งขึ้น ซึ่งมีต้นแบบมาจากกิจการลูกเสือในประเทศอังกฤษที่โรเบิร์ต เบเดน โพเอลล์ (Robert Baden Powell) ดำเนินการ โดยทรงเริ่มจากทรงจัดตั้ง “กองเสือป่า” ที่มุ่งฝึกหัดให้ข้าราชการและพลเรือน

Advertisement

ต่อมาวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้ง “ลูกเสือ” ด้วยมีพระราชปรารภว่า ควรที่จะมีการฝึกเด็กชายประถมวัยให้มีความรู้ทางเสือป่าด้วย เมื่อเติบโตขึ้นจะได้รู้จักหน้าที่และประพฤติตนให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ลูกเสือกองแรกของไทยจึงตั้งขึ้นที่โรงเรียนมหาดเล็กหลวง (โรงเรียนวชิราวุธในปัจจุบัน) พร้อมพระราชทานคำขวัญให้ลูกเสือว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์”

หลังจากนั้นไม่นาน ก็มี Girl Scouts ลูกเสือหญิง หรือ เนตรนารี เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2457

เนตรนารีวัฒนาวิทยาลัยที่สืบเนื่องมาจากวังหลัง เป็นนักเรียนระหว่างชั้นมัธยม 3-7 พ.ศ. 2463 (ภาพจาก นิตยสารวัฒนาวิทยาลัย)

ว่าแต่ร้อยกว่าปีที่แล้ว Girl Scouts เขาฝึกหัดอะไรกันบาง นางสาวหนุ่ย โชติกเสถียร เนตรนารีกองแรกของประเทศ และของโรงเรียนกุลสตรีวังหลัง (โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยในปัจจุบัน) บันทึกถึงการฝึกหัดที่เมื่อปลาย พ.ศ. 2457 ไว้ว่า

“เวลานั้นสถานที่จะตั้งโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัยได้ซื้อไว้แล้ว มีเรือนไม้เก่าๆ เป็นที่พักอยู่หลังหนึ่ง ทุกคราวที่อาจารย์พานักเรียนไปเที่ยวก็มักจะพาไปที่นั่น เราลงเรือจ้างจากวังหลังเวลาเช้า พอสายๆ ก็ถึงเวลาเดินทางจะนานเท่าใดเราไม่รู้สึกเบื่อ เพราะว่าได้ร้องรำทำเพลงกันไปตลอดทาง

คราวที่เราไปฝึกหัด Scout ไปจำเพาะชั้นเรา มีมิสแมคคอร์ดไปเป็นผู้นำ แม่ล้วนไปทำกับข้าวเลี้ยงเรา เราต้องหอบที่นอน หมอนมุ้ง หม้อข้าว-หม้อแกงไปด้วย อพยพกันด้วยเรือจ้างสามลำ ข้าพเจ้ายังจำและรู้สึกความสนุกสนานของเวลานั้นได้จนบัดนี้ ช่วยกันขนเข้าของและจัดห้องหลับนอนห้องนอน ตลอดจนช่วยแม่ล้วนในเรื่องครัว

ห้าโมงเย็นก็ลงมือรับประทานอาหาร สองทุ่มก็เข้านอนกันหมด เข้าเรียนเวลาสามโมงเช้า และเรียนกันตามใต้ร่มต้นไม้”

ส่วนวิชาที่เรียนนั้นเป็นการฝึกหัดจริงทั้งสิ้น ได้แก่

วิชาพฤกษศาสตร์ เป็นวิชาที่ให้ฝึกหัดเพาะเมล็ดพืช ผัก ดอกไม้ มันฝรั่ง และหัวหอม

วิชาปฐมพยาบาล หัดช่วยคนเป็นลม วิธีพันผ้าพันแผลและเข้าเฝือก การชำระล้างและพันแผล โดยนำเด็กชาวนาบริเวณใกล้เคียงมาชำระล้างและพันแผลให้ เด็กๆ มักวิ่งหนีด้วยความกลัว จึงต้องสร้างความคุ้นเคยด้วยการซื้อขนมไปฝาก

วิชาทำกับข้าว หุงข้าว วิชานี้เป็นงานไปในตัว เพราะต้องผลัดเวรกันช่วยแม่ครัวไปตลาด และทำกับข้าวตามตำราฝรั่งให้อาจารย์ และนักเรียนก็สอนให้อาจารย์แหม่มหัดรับประทานผักของไทย เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯลฯ ที่หาได้ในบริเวณสวน

ช่วงบ่ายต้องเรียนและฝึกซ้อมกฎของ Girl Scouts ตามนัยที่ว่า “Seek beauty and Presume Knowledge” คือ พยายามหาความงามในทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนประพฤติ โดยมีความสุภาพ อ่อนโยน และพยายามความรู้เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วมและส่วนตัว อดทนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ส่วนร่วม

เมื่อเป็นการฝึก Girl Scouts การเรียกประชุมจึงต้องไม่ธรรมดา

แต่จะใช้การกู่ว่า “Vo-vi-lo” หลายๆ ครั้ง นักเรียนก็จะรีบวิ่งมาทัน หากมีครั้งหนึ่งที่ไม่ว่าอาจารย์จะกู่เรียกอย่างไรก็ไม่มีนักเรียนมาเลยสักคน เมื่อออกไปตามจึงพบว่านักเรียนทั้งหมดลอยคออยู่ในน้ำและบอกว่ากำลังหัดว่ายน้ำอยู่ อาจารย์ก็ไม่ได้เอ็ดหรือทำโทษอะไร เพียงแต่บอกว่า เมื่อสนุกพอแล้วให้ขึ้นมาเสียทีจะได้หัดอย่างอื่นต่อไป

อย่างอื่นที่ต้องหัดก็มีการหัดกายกรรมและพากันเดินตัดทุ่งไปอย่างไกลสุดก็แค่ทางรถไฟเท่านั้น ระหว่างที่อยู่ที่บางกะปิก็จะได้เรียนวิชาเบ็ดเตล็ดอื่นๆ แม้แต่หัดขี่ควาย เมื่อฝึกหัดอยู่ 3 เดือนก็กลับ

ตั้งแต่นั้นมามีการฝึกหัด Girl Scouts ประจำอยู่ในโรงเรียนเรื่อยไป ทีหลังตั้งให้ครูแพร ประทีปะเสน เป็น Scout ฝึกหัดและซ้อมการออกกำลังเดินแถวอยู่เสมอ จนวังหลังไปเกิดเป็นวัฒนาวิทยาลัยปีแรก ก็ได้มีการอบรมและจัดขบวน Scouts แปรเป็นรูปต่างๆ ต้อนรับแขกที่มาในงานปีของโรงเรียน ต่อนั้นมาก็มีโรงเรียนหญิงบางแห่งตั้ง Girl Scouts ขึ้นบ้าง


ข้อมูลและภาพประกอบจาก หนุ่ย โชติกเสถียร. “เนตรนารีแรก”, นิตยสารวัฒนาวิทยาลัย ปีที่ 67 ฉบับพิเศษ ธันวาคม พ.ศ. 2502


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 มิถุนายน 2562