บทสัมภาษณ์ “ขุนพันธ์” กราบทูลตำนาน “กรุงชิง” จ.นครฯ ยุคบุกเบิกที่ร.9ทรงสนพระทัย

ขุนพันธ์ หรือ ขุนพันธรักษ์ราชเดช (ภาพจาก ศิลปวัฒนธรรม, 2526)

นายตำรวจมือปราบที่ชาวไทยคุ้นเคยกันในนาม “ขุนพันธ์” หรือ “ขุนพันธรักษ์ราชเดช” มีชื่อเสียงในภาคใต้หลายทศวรรษ ในช่วงวัย 80 ปีท่านเคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ “กรุงชิง” พื้นที่ทางธรรมชาติในนครศรีธรรมราชซึ่งขุนพันธ์เล่าว่า ในหลวง(รัชกาลที่9)ทรงสนพระทัย มีรับสั่งให้คนมาขอข้อมูลจากขุนพันธ์

นอกเหนือจากวีรกรรมอันเลื่องลือเรื่องการจับโจรผู้ร้ายและความสามารถรอบรู้ด้านไสยศาสตร์และโหราศาสตร์แล้ว ท่านยังเป็นผู้เขียนข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง “กรุงชิง” พื้นที่ตำบลนบพิตำ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ขึ้นทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9)

เมื่อปี พ.ศ. 2526 ประพนธ์ เรืองณรงค์ เดินทางไปสัมภาษณ์ขุนพันธ์ฯ ถึงนิวาสสถานในจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้สัมภาษณ์บรรยายบุคลิกภายนอกของขุนพันธ์ฯในช่วงเวลานั้นที่อยู่ในวัย 80 ปีว่า ยังแข็งแรง พูดจาดังชัดเจน รูปร่างภายนอกที่อาจเป็นบุคคลร่างเล็กแต่แฝงความแข็งแกร่งไว้ภายใน

ตลอดเวลาที่สนทนากับขุนพันธ์ฯก็มีอารมณ์ดีตลอดเวลา นายตำรวจเลื่องชื่อเล่าประสบการณ์ให้ฟังอย่างไม่เหนื่อยหน่ายตั้งแต่ประวัติส่วนตัว ซึ่งท่านเล่าย้อนไปว่ากำเนิดที่บ้านไอ้เขียว ตำบลดอนตะโก อำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เข้าโรงเรียนสวนป่าน เมื่อขึ้นชั้นป.3 โรงเรียนถูกยุบ ต้องย้ายไปเรียนที่โรงเรียนวัดพระนคร ส่วนชั้นมัธยมเรียนที่โรงเรียนวัดท่าโพธิ์ (เบญจมราชูทิศ)

เมื่อชั้น ม.2 จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียนเบญจมบพิตร ไปจนถึงการร่ำเรียนมวยฝรั่ง ยูโด ยิมนาสติก มวยไทย กระบี่ กระบอง ดาบไทยและไม้สั้นจากสำนักต่างๆ

ขุนพันธ์เรียนโรงเรียนนายตำรวจห้วยจระเข้ นครปฐม และยังสอนวิชามวยไปด้วย จากนั้นจึงเริ่มรับราชเมื่อปี พ.ศ. 2473 ในตำแหน่งนักเรียนทำการนายร้อยตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา เงินเดือน 80 บาท และย้ายไปรับราชการที่พัทลุง ปราบเสือสังข์และผู้ร้ายต่างๆ อีก 16 คนจึงได้รับยศเป็นร้อยตำรวจตรีและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น “ขุนพันธรักษ์ราชเดช”

สำหรับเรื่องกรุงชิงที่ขุนพันธ์เล่านี้ เป็นเรื่องราวที่ท่านเขียนทูลเกล้าฯถวายในหลวง โดยขุนพันธ์เล่าว่าพระองค์ทรงสนพระทัยและรับสั่งให้คนมาหาขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้

คลิกอ่านเพิ่มเติม : อ่านเรื่อง “กรุงชิง” ฉบับ “ขุนพันธ์” ทูลเกล้าฯถวายในหลวงตามพระบรมราชโองการ

ผู้สัมภาษณ์ยกคำให้สัมภาษณ์ของขุนพันธ์เกี่ยวกับกรุงชิงในช่วงที่ยังมีการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายคอมมิวนิสต์ระหว่าง พ.ศ. 2517-2524 ดังนี้

“กรุงชิงอยู่ที่ตำบลนบพิตำ อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่เป็นแสนไร่ ไม่มีหัวหน้าราชการใดเข้าไปสำรวจ ผู้บัญชาการกองพล แม่ทัพ นายอำเภอไม่รู้กี่คน ข้าหลวงตั้งแต่ข้าหลวงจันทร์ 4-5 ข้าหลวงแล้วก็ไม่มีผล มีแต่ข้าหลวงปัจจุบันเท่านั้นแหละครับที่เริ่มต้น แม่ทัพสันต์ก็ไม่เคยไป แต่ได้งบประมาณของกลาโหมจะนำมาตัดถนนให้เป็นจุดยุทธศาสตร์และเป็นแหล่งเศรษฐกิจ

ตอนนั้นผมยังเป็นผู้แทนมีการประชุมผู้แทนนครฯ ทุกพรรคทุกคน หัวหน้าหน่วยราชการ นายทหาร นายอำเภอมาหมด โดยหารือว่าจะตัดถนนตรงไหนให้ได้ทั้งเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ผู้รู้ดีว่ากรุงชิงเป็นอย่างไร และควรให้ไปทางไหน ผมเลยเสนอว่าควรต่อจากถนนที่ขึ้นไปจากท่าศาลา ตรงนั้นเดี๋ยวนี้มันเป็นสี่แยกแล้ว แยกหนึ่งมานครฯ มาเข้าตลาดแขก แยกหนึ่งไปพรหมโลก ไปมหาชัย ไปบ้านอ้ายเขียวไปตัดกันที่ดอนคาจนถึงนบพิตำอีกสายหนึ่งขึ้นไปจากท่าศาลา ซึ่งไปทางป่าโน้นเกิดเป็นสี่แยกดอนคา ตัดไปจากนี่แหละครับเข้าไปคลองลุงไสฝ้าย กระไดสามขั้น แล้วไปออกที่บ้านเหนือคลอง บ้านท้ายคลองฉวาง และทางนี้เป็นทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่โบราณ

พม่ามาตีเมืองนครฯก็มาทางนี้ เมื่อครั้งพระนารายณ์และพระเพทราชาเห็นว่าเจ้าเมืองนครฯ ชื่อพระเจ้ารามเดโชคิดแข็งเมือง จึงให้กองทัพอยุธยามาทางนี้เช่นกัน

ผมจึงเห็นว่าควรตัดถนนทางนี้ จะยาวไม่ถึง 30 กม. ถ้ามีเหตุการณ์ ทางฉวางก็เคลื่อนกำลังมาพักเดียว เดี๋ยวนี้ชาวบ้านก็ยังเดินทางไปซื้อช้างซื้อวัวควาย ตอนนั้นครูน้อม อุปมัยยกมือให้เลยมี 2 เสียงเท่านั้น ผู้แทนและนายอำเภออื่นๆ ก็ยกมือให้อำเภอของตน คือตัดไปที่ฉวางทั้งนั้น แต่ไม่ไปทางนี้ คือไปทางลานสะกา ไปลงที่คลองนาออกบ้านจันดี นาบอน และพิปูน

เสร็จแล้วเราก็แพ้เขา พอตัดถนนเสร็จแล้วก็ยกไปตั้งอำเภอและโรงพักที่บ้านท้ายเภา พวกอ้ายคอมอ้ายเณรมันเลยแห่กันมาแล้วยกเข้ากรุงชิงสบายไปเลย ถ้าเอาตามผมว่าคือ ปิดปากกรุงชิงเสียก่อนจะไม่ดีหรือ ไม่กี่วันต่อมาแม่ทัพสันต์ วิ่งมาที่ผมแล้วบอกว่า ‘แล้วกันพี่ขุน ถ้าผมเชื่อหนวดพี่ขุน ป่านนี้พวกผมสองกองพันเข้าไปได้แล้ว’ จนเดี๋ยวนี้ทหารยังเข้าไปไม่ได้เลยครับ (เมื่อ พ.ศ. 2526) ที่ว่าทหารไปตั้งกองไปยิงอ้ายเณรก็ยิงไปจากนี้ให้ลูกปืนตกที่โน่น ไม่กล้าเข้าไปกรุงชิงหรอกครับ”

ขุนพันธ์ฯ เล่าย้อนที่มาของความสนใจกรุงชิงว่า เริ่มสนใจหลังจากญี่ปุ่นขึ้น และมีลุงของท่านที่ชื่อเพชรเข้าไปหาแร่ทองตามห้วยก่อน จากนั้นขุนพันธ์กับพรรคพวก 7 คนจึงเข้าไปสำรวจเพื่อทำน้ำมันยางเพราะเป็นช่วงที่ขายดีมาก

หลังจากนั้นมาจึงเริ่มมีชาวบ้านเข้าไปตั้งที่อยู่อาศัย ปลูกพืช ครั้นเมื่อกลุ่มคอมมิวนิสต์เข้ามาก็บอกว่าจะมาคุ้มครอง โดยตั้งถิ่นที่ฉวาง แต่เมื่อมีโครงการตัดถนนและตั้งโรงพักข้างต้น เลยทำให้แห่กันเข้ามาในกรุงชิง อันเนื่องมาจากเป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งขุนพันธ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ก่อนหน้านี้เป็นห่วงเรื่องคอมฯจะเข้าไปที่กรุงชิง แต่ไม่มีใครเชื่อ จึงเขียนบทความเรื่องลายแทงเข้ากรุงชิงแถมด่าไปพลางก็ยังไม่มีใครสน

ในหลวงทรงสนพระทัย

ขุนพันธ์ฯ ให้สัมภาษณ์ต่อว่า เรื่องผ่านไป กระทั่ง มจ.วิภาวดี รังสิต ตามเสด็จมา และไปพบเรื่องที่ท่านเขียนเกี่ยวกับกรุงชิง ขุนพันธ์ฯ ยังทราบว่า ในหลวงทรงอ่านด้วยและทรงสนพระทัย รับสั่งให้คนมาหาเพื่อขอสัมภาษณ์

“ผมก็ทูลว่าเท่าที่เขียน เป็นส่วนน้อยและทูลว่ากรุงชิง ดีกว่าบรรดาพระราชนิเวศน์ตามหัวเมืองทุกแห่ง เพราะกรุงชิง มีสายน้ำทั้ง 5 สายไหลมารวมกัน เป็นน้ำตกงามถึง 4-5 แห่ง แล้วเป็นแม่น้ำใหญ่ไหลออกอ่าวไทย อีกประการหนึ่ง กรุงชิงเขียวตลอดปีและดอกไม้บานสะพรั่งตลอด สามฤดู

ในหลวงรับสังว่า ท่านขุนไม่รู้หรือ ที่ภูพิงค์มีดอกรักเร่เท่าหน้าคน ดอกกุหลาบเท่าจาน ผมก็ทูลว่ากระหม่อมเคยเห็นแล้ว แต่ที่กรุงชิงถึงไม่มีของอย่างนี้เพราะไม่มีคนปลูก แต่ถ้านําไปปลูกจะโตกว่าเดิมอย่างน้อย 2 เท่า ท่านเลยตกใจและผมยกตัวอย่างของจริงกราบทูลต่อไปว่า แม้แต่ผักกูด ผักชะเอม เพียงยอดเดียวกินอิ่ม แล้วที่ภูพิงค์มีไหมพะย่ะค่ะ ท่านก็เงียบครับ

ผมเลยกราบทูลว่าแม้แต่เต่าตัวหนึ่งคนขึ้นไปนั่ง 2 คนก็ไม่เป็นไร อ้ายบอนเขียวสยามนั่นแหละครับ คนขนาดผู้ใหญ่เท่าอาจารย์นี้แหละขึ้นไปเต้นบน ใบบอนต้นก็ไม่หัก เสร็จแล้วตัดมา 1 ทาง แล้วมัดเป็นท่อน ขี่ข้ามวังน้ำได้อย่างสบาย ท่านก็สนพระทัยใหญ่ครับ แล้วรับสั่งให้ผมไปร่วมเสวย และมีองค์วิภาวดีร่วมอยู่ด้วย ผมกินข้าวได้เพียง 3 คําแล้วไม่ได้กินอีก เพราะท่านถามแต่เรื่องกรุงชิง ในที่สุดในหลวงต้องการเสด็จไปกรุงชิง แต่ผมกราบทูลว่าเวลานี้สงสัยไม่ปลอดภัย ขอพระบรมราชานุญาตไปสำรวจเสียก่อน”

นั่นเป็นเหตุให้ขุนพันธ์ฯ สำรวจกรุงชิงโดยมีพยานเป็นข้าหลวง ผู้การ และรองแม่ทัพอีกคนหนึ่ง บังคับโดยสารเครื่องบินไปเครื่องหนึ่ง เมื่อมองลงมาเห็นชาวบ้านปลูกที่พักริมน้ำเป็นแถว เห็นลานตากพริกขี้หนู จากนั้นจึงบินกลับ ขุนพันธ์ฯ เล่าต่อว่า เมื่อในหลวงเสด็จฯมาที่พัทลุงอีกครั้ง ท่านรับสั่งถามว่าเรื่องกรุงชิงเป็นอย่างไรบ้าง ที่เขียนไปนั้นขาดตกบกพร่องอยู่มาก ให้เขียนใหม่

“ผมยอมรับว่าที่ผมเขียนเรื่องนี้ยากจริงๆ ถ้าเขียนให้ชาวบ้านอ่านเพียง 2-3 วันก็เสร็จ ผมก็กราบทูลว่าขอทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอผลัดไว้ 2 เดือนพระพุทธเจ้าข้า”

ที่ท่องเที่ยวในอนาคต

ขุนพันธ์ฯ เล่าประสบการณ์เพิ่มเติมว่า เคยเข้าไปนอนในบริเวณกรุงชิงแล้วผิดกับป่าอื่นที่ไม่มีหวาดเสียวอะไรเลย เหมือนกับนอนในบ้าน ไม่มีวี่แววเสือแม้จะมีจำนวนมากจากที่เห็นขี้และรอยเท้าในบริเวณทางที่ผ่านมา

ขณะที่สนทนาประเด็นนี้ในช่วงท้าย ขุนพันธ์ฯ เล่าว่า พยายามเชียร์กรุงชิงให้เป็นที่รู้จักแก่คนทั้งหลายจนข้าหลวงติดใจและตั้งคณะกรรมการพิจารณาที่สำหรับท่องเที่ยวในเมืองนครฯ

“ผมบอกว่าข้าหลวงไม่ต้องวิตก นครมีทะเล ป่าเขาดีกว่าใครทั้งหมด ผมท้าได้ว่าตั้งแต่ประจวบฯไปถึงบริเวณตลอดแหลมมลายูทีเดียว น้ำเมืองนครฯไม่เคยอดเลย ทะเลป่าเขาเราดีกว่าแต่เราไม่เคยคิดปรับปรุงเลยสู้เขาไม่ได้ เหตุที่ไม่ปรับปรุงเพราะคนเมืองนครฯไม่ตื่นเพราะอิ่มอยู่แล้ว จะหันไปดูทางป่าก็บริบูรณ์ ดูนาข้าวก็เลี้ยงเพื่อนได้ ดูฝั่งทะเลสัตว์น้ำก็เหลือเฟือจึงไม่จำเป็นต้องตื่น”

“ข้อสำคัญคือ ความปลอดภัย ถ้าเราให้ความปลอดภัยแก่เขาได้ นักท่องเที่ยวก็มาเอง เดี๋ยวนี้ไว้ใจไม่ได้เลย ในเมืองก็ปล้นฆ่ากันบ่อย ข้าหลวงจะรับรองได้หรือไม่? แต่ที่กรุงชิงผมสามารถนำข้าหลวงเข้าไปได้ เสือไม่กินข้าหลวงแน่ มันกินแต่กบตัวใหญ่ดีกว่ากินข้าหลวง”

“นอกจากนี้ ผมยังเสนอให้ตั้งพระราชนิเวศน์ด้วย เพราะทำเลสวยจริงๆ ในหลวงไม่ต้องหนีร้อน เพราะกรุงชิงร่มเย็นและบริบูรณ์ตลอดปี”

ปัจจุบัน กรุงชิงมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอย่างน้ำตกกรุงชิง เปิดให้เข้าชม 7 ชั้น เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญทั้งเชิงธรรมชาติและศึกษาประวัติศาสตร์

อ่านเพิ่มเติม :


อ้างอิง :

ประพนธ์ เรืองณรงค์. “คุยกับนายพลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช”. ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 5 ฉบับที่ 2, ธันวาคม 2526.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ พฤศจิกายน 2561