พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ (ภาพจาก หนังสือ “ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า” ซึ่งรวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวโดยสรวิช ภิรมย์ภักดี กรรมการพิพิธภัณฑ์สิงห์ และจัดทำขึ้นในโอกาสรำลึก ๑๒๕ ปี วันพระราชสมภพรัชกาลที่ ๗)

หากย้อนประวัติศาสตร์ไปเมื่อ ๑๒๕ ปีก่อน วันนี้ ๘ พฤศจิกายน คือวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระมหากษัตริย์ไทยที่มีบทบาทสำคัญยิ่งอีกพระองค์หนึ่ง

พระองค์เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ มีพระนามเดิมว่าสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์ ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต บรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเหล่าเสนาบดีกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบราชสันตติวงศ์ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘

นับจากวันเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงทำเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างมากมาย ทรงเจริญรอยตามพระยุคลบาทสมเด็จพระบรมชนกนาถในการเสด็จพระราชดำเนินเลียบมณฑลต่างๆ เพื่อทรงทราบทุกข์สุขของราษฎร โปรดเกล้าฯ อุปถัมภ์บำรุงกิจการหอสมุด จัดตั้งพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร สร้างสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์พระนคร หรือสะพานพระพุทธยอดฟ้า เพื่อเชื่อมฝั่งพระนครและธนบุรี ทรงส่งเสริมการศึกษาของชาติหลายประการ โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลิกการเก็บเงินศึกษาพลีเร่งรัดการประกาศพระราชบัญญัติประถมศึกษา

ในขณะที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปทั่วโลก พระองค์ทรงใช้มาตรการรัดเข็มขัดทุกๆ ด้านและทรงเป็นแบบอย่างด้วยการตัดเงินเดือนของพระองค์เองพร้อมกับพระราชทานเงินส่วนพระองค์ในการก่อสร้างสิ่งจำเป็นต่างๆ แก่สาธารณชน เพื่อผ่อนเบางบประมาณรายจ่ายของรัฐ ทรงช่วยเหลือและสนับสนุนด้านธุรกิจมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ชาวไทยมีงานทำ  ทั้งยังมุ่งดำเนินสัมพันธไมตรีกับประเทศทั่วโลก เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่ยังได้รับการเคารพในระดับที่สมควรในเวทีโลกอย่างต่อเนื่อง

พระองค์ยังทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระราชนิยมเรียบง่าย มีพระราชานุกิจประจำวันตั้งแต่ตื่นพระบรรทมในช่วงเช้า แล้วเสวยพระกระยาหารเช้าและกลางวันรวมกัน จากนั้นจึงทรงงานทรงหนังสือราชการ ตกเย็นก็ทรงออกกำลังกาย ก่อนจะเสวยกระยาหารเย็น แล้วทรงหนังสือหรือทอดพระเนตรภาพยนตร์ ก่อนจะเสด็จเข้าที่พระบรรทม

พระยาภิรมย์ภักดีนำพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และเสด็จกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ดูงานก่อสร้างอาคารหม้อต้มของบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ทรงรับสั่งว่า “สนุกดี จะกลับมาดูอีก” (ภาพจากหนังสือ “ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า”)

ตลอดระยะเวลาแห่งพระชนมชีพ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งพระราชหฤทัยในการปรับปรุงแก้ไขการปกครองให้ดีขึ้น ในการเสด็จพระราชดำเนินต่างประเทศทุกครั้ง นอกจากมีพระราชประสงค์ที่จะเจริญสัมพันธไมตรีที่มีมาช้านานตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมชนกนาถ ทอดพระเนตรภูมิสถานและศึกษาการปกครองของประเทศนั้นๆ เพื่อทรงนำข้อดีและข้อเสียของแต่ละระบบมาปรับใช้ และนำสิ่งที่ทรงเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง มาพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ โดยพระราชกรณียกิจสำคัญของพระองค์ที่คนไทยและทั่วโลกรับรู้เป็นอย่างดีคือพระราชทานประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญฉบับแรก

จากวันนั้นถึงวันนี้เป็นเวลา ๘๖ ปีแล้วที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยในขณะนั้นเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่มีการเสียเลือดเนื้อแต่อย่างใด เพราะพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเสียสละเพื่อพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริง พวกเราคนไทยสมควรอย่างยิ่งที่จะน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์นี้ตลอดไป

(ภาพและข้อมูลจากส่วนหนึ่งของหนังสือ ประชาธิปก พระบารมีปกเกล้า ซึ่งรวบรวมพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ พระราชจริยวัตร ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวโดย สรวิช ภิรมย์ภักดี กรรมการพิพิธภัณฑ์สิงห์ และจัดทำขึ้นในโอกาสรำลึก ๑๒๕ ปี วันพระราชสมภพรัชกาลที่ ๗)