ที่มา | หนังสือ ภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์ |
---|---|
ผู้เขียน | เอนก นาวิกมูล |
เผยแพร่ |
การพิมพ์ปฏิทินในเมืองไทย เริ่มมีในสมัยรัชกาลที่ 3 คือมีบันทึกของหมอบรัดเลย์นักสอนศาสนา ระบุว่า เมื่อ ค.ศ. 1842 หรือ พ.ศ. 2385 นั้น มีการพิมพ์ปฏิทินเป็นครั้งแรกในเมืองไทย แต่ไม่ได้ให้รายละเอียดว่าปฏิทินนั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ผู้เขียนเข้าใจว่าปฏิทินครั้งแรกนั้น น่าจะเป็นแบบหนังสือเล่ม เพราะ Bangkok Calendar หรือปฏิทินบางกอกที่หมอบรัดเลย์พิมพ์ขายในสมัยหลังปรากฏในรูปหนังสือ
สมัยรัชกาลที่ 5 หมอสอนศาสนาอีกคนหนึ่งที่ชื่อหมอสมิทก็พิมพ์ปฏิทินออกขาย ในราชสำนักมีการแจกปฏิทินหลวง ส่วนปฏิทินแขวนก็มีให้ซื้อหา ดังโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไตมส์ ร.ศ. 117 (พ.ศ. 2441) บอกว่ามีปฏิทิน “สำหรับติดฝา” จำหน่าย ขณะนี้เรายังหาไม่พบว่าปฏิทินติดฝาสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างไร จึงเป็นเรื่องของนักสะสมต้องทำหน้าที่ค้นหากันอีก
ปฏิทินติดฝาหรือปฏิทินแขวนรุ่นเก่าที่พบกันอยู่ในเวลานี้ ยังหาได้แค่สมัยรัชกาลที่ 6 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2453 – 68)
เมื่อ พ.ศ. 2542 ผู้เขียนเพิ่งเคยเห็นปฏิทินสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นครั้งแรก เอาสไลด์มาคลี่ดูพบว่าเป็นของปีเถาะหรือปีกระต่าย พ.ศ. 2458
ข้างบนมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 6 พิมพ์ด้วยหมึกสีน้ำตาลอ่อนพิมพ์กลางกรอบลายไทย ส่วนรูปตัวนางสงกรานต์พิมพ์ด้วยหมึก สีเขียวปฏิทินแผ่นนี้เป็นของนักสะสมชั้นปรมาจารย์ท่านหนึ่ง ถือว่าค่อนข้างสมบูรณ์และเก็บรักษาได้ดี
พอถ่ายและเขียนถึงปฏิทินจากร้านมรดกไทยคราวนี้ พบว่า อ้าว เป็นปฏิทินของ พ.ศ. 2458 เหมือนกัน แต่นึกสงสัยขึ้นมาได้ว่า เอ๊ะ ไฉนสีจึงไม่เหมือนกันเล่า เมื่อเอาสไลด์มาเทียบดูพบว่าฉบับแรกเป็นของโรงพิมพ์พานิชศุภผล ต.สำเพ็ง กรุงเทพฯ พิมพ์จำหน่าย มีตัวหนังสือบอกไว้ล่างสุดเห็นราง ๆ
ส่วนฉบับของร้านมรดกไทย พระบรมฉายาลักษณ์พิมพ์สีน้ำตาลเข้ม เห็นชัดว่า ตัวรูปนางสงกรานต์รวมทั้งกรอบและตัวหนังสืออื่น ๆ พิมพ์ด้วยหมึกดำ แต่ดูเพียงไม่กี่นาทีต้องร้องเอ๊ะอีกเป็นครั้งที่ 2 เพราะทั้งพระบรมฉายาลักษณ์ รูปนางสงกรานต์และข้อความ ตำแหน่งทั้งปวงเหมือนฉบับแรกหมด จะมีต่างบ้างก็เพียงสีหมึกเท่านั้น
ในที่สุดจึงสรุปได้ว่าทั้งสองฉบับเป็นของโรงพิมพ์พานิชศุภผลเจ้าเดียวกัน ที่ไม่เหมือนกันก็เพราะพิมพ์คนละที เข้าใจว่าคงขายดี จึงต้องพิมพ์เป็นหนที่ 2 ที่ 3 โดยตั้งใจให้สีผิดแผกกันไป
คัดลอกส่วนหนึ่งจาก “แบบว่าสี่ร้อยห้าสิบจำพวก กับปฏิทิน พ.ศ. 2458”. จากหนังสือ “ภาพถ่ายและสิ่งพิมพ์”. โดย เอนก นาวิกมูล. สำนักพิมพ์มติชน. 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 พฤศจิกายน 2561