พระนาม“จุฬาลงกรณ์”ถูกนำไปใช้อย่างคาดไม่ถึง ?!?

ถนนจุฬาลงกรณ์ ในประเทศสวีเดน (ภาพจาก www.si9am.com)

การถวายพระเกียรติโดยใช้พระนาม “จุฬาลงกรณ์” เป็นชื่อสิ่งของ, สถานที่ต่างๆ แต่มีการใช้พระนามที่คาดไม่ถึง ตั้งเป็นชื่อเด็กต่างชาติ และชื่อยาในสยาม 

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสประเทศต่างๆ ในเอเชีย และยุโรป ผู้นำและรัฐบาลประเทศที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินได้อัญเชิญพระนาม “จุฬาลงกรณ์” ไปใช้เป็นชื่อสิ่งของ, สถานที่ต่างๆ เพื่อเป็นการถวายพระเกียรติ หรือเป็นเครื่องระลึกถึงเหตุการณ์อันสำคัญนั้น

จึงมีพระนามของพระองค์เป็นชื่อของสิ่งต่างๆ ดังนี้ 1. จุฬาลงกรณ์ธรรมศาลา ที่วัดศรีปรมานันนทมหาวิหาร เมืองกอล ประเทศศรีลังกา 2. ถนนจุฬาลงกรณ์ 2 สาย ที่ประเทศสวีเดน และที่ประเทศเยรมนี 3. บ่อน้ำจุฬาลงกรณ์ ที่เมืองบาดฮอมบวร์ก ประเทศเยอรมนี

แต่ที่ออกจะแปลกใจคือ เด็กฝรั่ง และยาในเมืองไทยที่ชื่อตรงกับพระนามของพระองค์

เรื่องนั้นมีที่มาดังนี้ เมื่อครั้งเสด็จประพาสเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี เมื่อปี พ.ศ. 2440 ทรงพบเด็กชายชาวอิตาลีชื่อว่า จีโน นาร์ซิโซ ฟอร์ตูนาโต้ มาร์เตลลิ ผู้นี้ขณะยังเป็นทารกกำลังรับการประกอบพิธีศีลจุ่ม (Baptism) ที่โบสถ์ซาน จิโอวานนีทรงทราบว่าครอบครัวของเด็กผู้นี้มีฐานะยากจนต้องไปทำงานในเมืองไม่สามารถมาร่วมประกอบพิธีได้ จึงฝากให้หญิงเพื่อนบ้านพามาประกอบพิธีแทน พระองค์จึงพระราชทานเงินพร้อมกับรับเด็กผู้นี้เป็น “ก๊อดฟาเธอร์” หรือพ่อทูนหัวตามธรรมเนียมของอิตาลีเพื่อให้ช่วยดูแลกรณีที่พ่อแท้ๆ เสียชีวิตลง และได้พระราชทานชื่อว่า “จุฬาลงกรณ์”

หลังจากนั้นอีก 10 ปี รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสเมืองฟลอเรนซ์อีกครั้งหนึ่ง ทรงพบเด็กคนนี้อีกครั้งหนึ่ง ดังความในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ว่า

“เมื่อวานนี้พูดถึงเรื่องเคยไปเที่ยวที่วัดเมื่อคราวก่อนพบเขากำลังพาเด็กมาคริสเตนิง พ่อแม่เลยขอให้ลูกชื่อจุฬาลงกรณ์บ้าง ให้พ่อเปนกอดฟาเดอ ก็ได้ตกลงยอมรับ ชายอุรุพงษ์บ่นว่าอยากจะเห็นเด็กจุฬาลงกรณ์

ครั้นวันนี้เมื่อกลับมาถึงโฮเต็ลมีเด็กคนหนึ่งวิ่งเอาช่อดอกไม้มาส่งให้ มีแม่ตามมาด้วย บอกตัวเองว่าชื่อจุฬาลงกรณ์ ชายอุรุพงษ์ดีใจกระไร ทายไว้แล้วว่าคงจะโตกว่าอุรุพงษ์ อายุมัน ๑๐ ขวบ มันโตกว่าจริงๆ หาเงินได้ปอนด์เดียวให้ไปแต่เท่านั้น มากอดรัดปลื้มดี”

ส่วนกรณี “น้ำยาจุฬาลงกรณ์” ในสยามนั้น

สืบเนื่องจากการเสด็จประพาสยุโรปของรัชกาลที่ 5 ทรงได้รับความสนใจจากประชาชนในประเทศนั้นๆ เมื่อพระองค์เสด็จนิวัติพระนครทรงได้รับการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ เป็นการแสดงถึงการรับรู้ในเหตุการณ์ครั้งสำคัญนี้โดยทั่วไป ไม่เว้นแม้กระทั่งธุรกิจจำหน่ายยารักษาโรคที่อาศัยเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการจำหน่ายสินค้าผ่านทางโฆษณา “น้ำยาจุฬาลงกรณ์”

ห้าง เอส.เอ.บี ถนนเจริญกรุง (ภาพจาพหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

น้ำยาจุฬาลงกรณ์ เป็นสินค้าของห้าง เอส.เอ.บี (S.A.B- Socie’te’ Annonyme Belge Pour le Commerce et l’ Industrie au Siam) ก่อตั้งโดย ดร. เอ. เดอ คีเซอร์ (Dr. A. de Keyser) ชาวเบลเยียม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2450 จำหน่ายเครื่องเพชรพลอยและสินค้าทั่วไปจากต่างประเทศ

ห้าง เอส.เอ.บี ได้ลงโฆษณาน้ำยาจุฬาลงกรณ์ในหนังสือพิมพ์ไทย วันอังคารที่ ๒๗ ตุลาคม ร.ศ. ๑๒๗ ดังนี้

“บริษัท เอช.เอ.บี แจ้งความมาให้ทราบ ด้วยห้างข้าพเจ้าเปนเอเยนต์จำหน่ายน้ำยาจุฬาลงกรณ์ของเมืองแฮมเบิก

น้ำยาจุฬาลงกรณ์นี้ แก้โรคที่เกิดหินเพราะธาตุพิการ แก้ลมในลำไส้แก้แน่นแก้เฟ้อ แก้จุกแก้เสียด แก้กระเพาะขี้พิการต่างๆ แก้โรคตับบวมม้ามบวม แก้ลมเข้าข้อ แก้ปวดกระดูก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนาม ให้เรียกว่า น้ำยาจุฬาลงกรณ์ เมื่อประพาศยุโรป ร,ศ, 126

น้ำยาอิลิซาเบตต์ของประเทศฮัมเบิกนี้ โปรเฟศเซอร์ โมเซนกิอิลโบน ได้รับรองว่าเปนยาดี ใช้แก้โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพราะกระเพาะอาหารฤาลำไส้พิการ มีอาการท้องผูก ท้องขึ้นแน่นอืด แก้พันระดึก โปรเฟศเซอ ซุลเลอเปอลิน ได้รับรองว่าน้ำยาอิลิซาเบตนี้เปนยาดี แก้โรคทุราวะสา แก้ไตพิการ แก้กระเพาะปัสสาวะเปนพิษ โปรเซอร์ยอนดีกวนดอดแมกเก็บอิน ได้รับรองว่ายานี้ใช้แก้โรคตับบวมที่เกิดขึ้นจากตับพิการ แก้ปวดเมื่อยตามสันหลัง แก้คลื่นไส้ แก้ธาตุพิการ

โปรเฟศเซอร์ ทาราไลติกศ์ แกลศโคยุนีเวอซิติ ได้รับรองว่ายานี้แก้โรคลม แลแก๊ศที่เกิดขึ้นในท้องในลำไส้ แก้อุจจาระผูก แก้ปวดหัว แก้คนท้องใหญ่อ้วนฉุ แก้มดลูกพิการ แก้ท้องมารต่างๆ แก้โลหิตพิการ แก้ระดูพิการ ยาน้ำอิลิซาเบตขนานนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงเสวยหายพระโรคทรงสบายเพราะยาน้ำชนิดนี้ เมื่อเสด็จประพาศยุโรป ร.ศ. 126 มีขายที่ห้างยอร์ชอิศฟอกส์”

โฆษณา “น้ำยาจุฬาลงกรณ์” (ภาพจากหอสมุดแห่งชาติ)ข้อมูลของน้ำยาชนิดนี้ปรากฏเพิ่มอีกในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่ วันเสาร์ที่ 28 มกราคม ร.ศ. 129 ระบุถึงราคา ว่า

“น้ำยาจุฬาลงกรณ์ ซึ่งเปนยามีคุณอย่างประเสริฐ ท่านกินแล้วอาจบำรุงโลหิต แลกันโรคเหน็บชาได้ แลเปนยาเจริญอาหารบำรุงร่างกายให้มีกำลัง ยานี้มีขายที่ห้างเอสเอบี ถนนอุนากรรณ์ ราคาขวดละ 75 สตางค์ ถ้าท่านซื้อทั้งโหลๆ ละ 8 บาท 50 สตางค์ ถ้าซื้อทั้งหีบๆ หนึ่งมี 50 ขวด ราคา 33 บาทถ้วน”

น้ำยาจุฬาลงกรณ์ตามที่โฆษณานั้นเกี่ยวพันกับการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 ของรัชกาลที่ 5 หรือไม่

หากพิจารณารายละเอียด กล่าวถึงเมืองแฮมเบิก ที่ห้าง เอส.เอ.บี รับน้ำยาชนิดนี้มาจำหน่าย อาจตรงกับเมืองฮอมเบิค ที่รัชกาลที่ 5 กล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์ไกลบ้าน ซึ่งเป็นเมืองเดียวกับชื่อเมืองบาดฮอมบวร์ก ที่พระองค์เสด็จฯ มารักษาพระวรกายด้วยน้ำแร่ และในขั้นตอนการรักษานั้นคณะแพทย์ได้ถวายน้ำยาชนิดหนึ่งมีผลต่อหัวใจทำให้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง ทรงบันทึกว่า

“ข้อต้นยานี้ใช่วิไสยที่จะผสมทิ้งไว้หลายวัน ที่จะเอาเข้าไปใช้ในเมืองไทยไม่ได้กลายเสียแล้ว แต่ที่ผสมมาให้ไว้ใช้ได้สองวัน พรุ่งนี้ต้องผสมใหม่ หมอซึ่งเปนแต่สถานประมาณไม่กล้าใช้ ต้องให้ท่านผู้รู้ หมอใหญ่เปนโปรเฟสเซอเปนผู้จัดการวางยาขนานนี้ การที่จะวางยานั้น ต้องตรวจหัวใจทุกครั้งควรวางจึงวาง ยานั้นอาจจะผ่อนอ่อนผ่อนแรงได้ ที่วางพ่อนี้เปนอย่างอ่อนแลยังกำหนดไม่ได้ว่าจะวางสักกี่ครั้งต้องรีดเลือดแลตรวจหัวใจดูทุกเวลาเช้า”

จะเห็นได้ว่าน้ำยาที่พระองค์ทรงกล่าวถึงเกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจเพียงอย่างเดียว ไม่ได้มีสรรพคุณ “ครอบจักรวาล” ดังโฆษณาของทางห้าง อีกทั้งยังเป็นน้ำยาที่ไม่สามารถผสมสำหรับใช้ได้หลายวัน ทำให้การรักษาคุณภาพของยาที่ต้องสั่งเข้ามาจากดินแดนที่ห่างไกลจึงเป็นไปได้ยาก และหากพิจารณาจากแพทย์ที่รับรองสรรพคุณของ “น้ำยาจุฬาลงกรณ์” หรือน้ำยาอิลิซาเบตต์ ตามโฆษณาล้วนแต่ไม่ใช่คณะแพทย์ผู้ถวายการรักษาที่เมืองฮอมเบิคแม้แต่คนเดียว

ดังนั้นโฆษณา “น้ำยาจุฬาลงกรณ์” จึงอาศัยเหตุการณ์สำคัญครั้งนี้สร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าของทางห้างซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของโฆษณาขายยาฝรั่งในยุคที่ไม่มีการควบคุมจริยธรรมและมาตรฐานของสินค้าในธุรกิจประเภทนี้

ขณะเดียวกันก็เห็นถึงการรับรู้ข้อมูลข่าวการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ ในรูปแบบของโฆษณาโดยเอกชนบางกลุ่ม ซึ่งเป็นมุมมองที่ต่างออกไปแม้จะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเล็กๆ ของเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานั้น


ข้อมูลจาก

นนทพร อยู่มั่งมี. “‘จุฬาลงกรณ์’ในต่างแดน และ‘น้ำยาจุฬาลงกรณ์’”, ศิลปวัฒนธรรม กุมภาพันธ์ 2552