ผู้เขียน | อดิเทพ พันธ์ทอง |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวานนี้ (7 มิถุนายน) ผู้เขียนได้ลงบนความชิ้นหนึ่งลงในเพจเฟซบุ๊กของศิลปวัฒนธรรม แต่ไม่นานหลังจากนั้นเฟซบุ๊กก็ส่งข้อความมาหาระบุว่ารูปประกอบบทความดังกล่าว “ขัดต่อมาตรฐานทางสังคม” ของเฟซบุ๊ก
รูปที่ผู้เขียนใช้มาจากบทความที่ลงในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับ พฤษภาคม 2559 เป็นภาพของหญิงไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยในภาพหน้าอกข้างหนึ่งของหญิงคนนี้มิได้มีผ้าปกปิด “หัวนม” ของเธอเอาไว้
เฟซบุ๊กรีบส่งข้อความมาหาผู้เขียนในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 3 ชั่วโมง นับแต่ผู้เขียนได้ลงรูปนี้ไป พร้อมกับระงับการเข้าถึงเพจศิลปวัฒนธรรมเอาไว้ชั่วคราวจนกว่าจะยืนยันว่า รูปทุกรูปที่มีในเพจศิลปวัฒนธรรมเป็นรูปที่สอดคล้องกับมาตรฐานทางสังคม (ของเฟซบุ๊ก) พร้อมรับปากว่าจะไม่ลงรูปลักษณะเช่นนี้อีก
ได้รู้ดังนั้นผู้เขียนรู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากภาพดังกล่าวเป็นภาพที่สะท้อนการแต่งกายตามปกติในอดีตของผู้หญิงในภูมิภาคอุษาคเนย์ที่มักนิยมการเปลือยอกอยู่แล้ว ผู้เขียนมิได้มีเจตนาปลุกเร้าความต้องการทางเพศของผู้อ่านแต่อย่างใด
และเมื่อผู้เขียนได้เข้าไปตรวจสอบนโยบายของเฟซบุ๊กในหัวข้อ “Nudity” (ภาพเปลือย) มีเนื้อความตอนหนึ่งว่า “การห้ามการเผยแพร่ทั้งภาพเปลือยและกิจกรรมทางเพศ ให้รวมถึงข้อมูลที่สร้างขึ้นด้วยระบบดิจิตอลด้วย เว้นแต่ข้อมูลดังกล่าวจะมีขึ้นเพื่อใช้ในทางวิชาการ ขำขัน หรือล้อเลียน”
นั่นก็คือ แม้กระทั่งภาพที่สร้างขึ้นโดยคอมพิวเตอร์ก็จะถูกแบนเช่นกัน เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น 3 ประการข้างต้น ซึ่งความจริงภาพประกอบบทความที่ผู้เขียนลงไปเมื่อวานก็น่าจะเข้าข่ายได้รับการอนุโลมให้สามารถใช้ได้เพื่อประโยชน์ทางวิชาการเช่นกัน แต่เฟซบุ๊กกลับไม่มองเช่นนั้น (สงสัยจะยังวิชาการไม่พอ?)
เฟซบุ๊กไม่ได้เหตุผลอะไรมากมายในการห้ามเผยแพร่ภาพ “หัวนม” (ผู้หญิง) เพียงแต่บอกว่า “ผู้ใช้บางส่วนในชุมชนของเราทั่วโลกอาจอ่อนไหวต่อข้อมูลลักษณะนี้ โดยเฉพาะด้วยเบื้องหลังทางวัฒนธรรมและอายุ”
แต่ก็นับเป็นเรื่องแปลกที่หลายสังคมเห็น “หัวนม” (ผู้หญิง) เป็นของต้องห้ามที่ไม่อาจให้ปรากฎในที่สาธารณะไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเหตุใด หัวนมของผู้หญิงจึงเป็นอันตรายต่อสังคมได้มากขนาดนี้ ทั้งๆที่ในสังคมเดียวกันกลับมองเห็นการใช้ความรุนแรงและการใช้อาวุธปืนเป็นเรื่องปกติ
ในเฟซบุ๊กเองการเผยแพร่ฉากรุนแรงเลือดสาดจากภาพยนตร์ต่างๆ ถือเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยๆ และการถ่ายภาพคู่กับปืนซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นไทยพร้อมกับคำบรรยายในเชิงข่มขู่ก็ถือเป็นสิ่งที่ยอมรับได้
เพราะฉะนั้นการอ้างว่า การเผยแพร่หัวนมจะเป็นการยั่วยุให้เกิดอาชญากรรมคงไม่ได้ เพราะสังคมเหล่านี้ยังยอมให้มีการเผยแพร่ภาพยั่วยุ ความรุนแรงได้ถึงขั้นเอาชีวิตกันด้วยซ้ำ
ที่กล่าวมาทั้งหมดผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่า การเผยแพร่ภาพที่แสดงออกถึงความรุนแรงสมควรที่จะถูกเซ็นเซอร์ด้วย แต่กำลังตั้งคำถามว่า สังคมเหล่านี้รวมถึงเฟซบุ๊ก ใช้ตรรกะแบบไหนในการตั้งกฎเกณฑ์ห้ามการเผยแพร่ “หัวนม” ของผู้หญิง