ประติมากรรมศิลาจีนในวัด กับความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อับเฉา”

นักท่องเที่ยวถ่ายภาพกับประติมากรรมศิลาจีน ที่วัดพระเชตพนฯ (วัดโพธิ์)

ตามวัดหลวงเช่น วัดเทพธิดาราม วัดราชโอรส หรือ วัดพระเชตุพน (วัดโพธิ์) เป็นต้น เราจะพบประติมากรรมจีนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่ประดับตามวัด

แล้วมักจะเข้าใจผิดกันมาตลอดว่า ประติมากรรมศิลาจีน เหล่านี้ คือ “อับเฉา” ที่ใช้ถ่วงเรือสำเภาในรอบขากลับ แต่ที่จริงแล้วน่าจะเป็นสินค้าที่ตอบสนองต่อชนชั้นนำ

มีนักวิชาการจากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คือ ผศ. ดร.อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ได้แก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “อับเฉา” ไว้ว่า

ความหมายของอับเฉาเรือในระบบการค้าสำเภาของจีน มิได้หมายถึง สิ่งของที่ใช้สำหรับถ่วงเรือเป็นหลัก แต่หมายถึงสินค้าทั่วไปที่เรือนำมาขาย หรือซื้อกลับไป โดยสินค้าเหล่านั้นทำหน้าที่ถ่วงน้ำหนักเรือไปในตัวด้วย

ทั้งนี้คำว่าถ่วงเรือ เรียกว่า “ยาชาง” (ยา แปลว่า ถ่วง ชาง แปลว่า เรือ) ในภาษาจีนกลาง ส่วนภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า “เอียบฉึง” ซึ่งคำหลังน่าจะมีการเพี้ยนเสียงจนกลายเป็นคำว่า อับเฉา

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สินค้าที่เรียกว่าอับเฉาเรือเหล่านี้มีหน้าที่หลักคือไว้ค้าขายแสวงหาผลกำไร หรือเพื่อเจ้าของสำเภาไว้ใช้ตามประโยชน์ของตน ส่วนการถ่วงน้ำหนักเรือกลายเป็นหน้าที่รอง

ประติมากรรมศิลาจีน ที่วัดพระเชตพนฯ (วัดโพธิ์)

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

บทความเรื่อง “ประติมากรรมศิลาจีนกับความนิยมศิลาในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” ในหนังสือสรรพศาสตร์ประวัติศาสตร์ศิลป์ เอกสารประกอบโครงการประชุมวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ เนื่องในโอกาสครอบรอบ 40 ปี ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร 2557


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 สิงหาคม 2559