จอมขมังเวทย์ ต้นตอวลี “เล่นพิเรนทร์” กับความหวังมีหน่วยซีลแรกสมัยร.5 ใช้จมเรือรบฝรั่งเศส

เรือรบฝรั่งเศสสามลำจอดทอดสมอคุมเชิงอยู่ด้านหน้าสถานทูตฝรั่งเศส ในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112

คำว่า “พิเรน” หรือที่ในปัจจุบันมักนิยมเขียนว่า “พิเรนทร์” ซึ่งมีความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ว่า “ว.อุตริ นอกลู่นอกทาง เช่น เล่นพิเรนทร์ คนพิเรนทร์.” แม้ว่าทราบความหมาย แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ทราบที่มาของคำว่า “พิเรนทร์” ว่ามีที่มาอย่างไร

คำว่า “พิเรนทร์” มีที่มาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในกฎหมายตราสามดวง พระไอยการตำแหน่งนาทหารหัวเมือง ด้วยปรากฏราชทินนามระบุไว้ว่า “หลวงพิเรนณเทพบดีศรีสมุหะ เจ้ากรมพระตำรวจใหญ่ขวา ตราคนถือหวายมือขวา นา 2000”

ส่วนคำว่า “พิเรนทร์” กลายเป็นคำที่ถูกใช้ในความหมายเชิงลบ เมื่อคราวสยามเกิดกรณีพิพาทกับฝรั่งเศสในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (พ.ศ. 2436) นั้น มีกลุ่มคนไทย “จอมขมังเวทย์” ที่นิยมทางไสยศาสตร์เกี่ยวกับการอยู่ยงคงกระพันล่องหนหายตัวได้ คิดอาสาสมัครออกรบกับฝรั่งเศส มีพระตำรวจหลวงผู้หนึ่งราชทินนามว่า พระพิเรนทรเทพ มีแนวคิดจะจัดตั้งและฝึกหัดหน่วยจู่โจมพิเศษ ให้มีความสามารถในการดำน้ำ โดยมีจุดประสงค์คือให้พลฝึกหัดเหล่านี้ดำน้ำลงไปเจาะเรือรบฝรั่งเศสที่จอดทอดสมออยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสเพื่อให้จมลง

เรือลูแตง ด้านหน้าสถานทูตฝรั่งเศส เรือลำนี้เป็นเรือที่ขนเงินค่าปฏิกรรมสงครามออกไปยังไซ่ง่อน

จากแนวคิดนี้ พระพิเรนทร์ฯ จึงได้เริ่มจัดการฝึกหัดการดำน้ำให้กับเหล่าอาสาสมัคร และบ่าวไพร่ของท่านทั้งหลายที่คลองหน้าบ้านของตนทุกวัน เพื่อให้เกิดความชำนาญและดำน้ำได้ทนเป็นพิเศษ โดยในระหว่างการฝึกนั้นก็พบว่ามีบางคนที่ทนดำน้ำได้ไม่นานนัก เดี๋ยวๆ ก็ต้องโผล่ขึ้นมาหายใจ พระพิเรนทร์ฯ จึงนำไม้มาถ่อค้ำคอไว้ไม่ให้โผล่ขึ้นมาบ่อยๆ จนกระทั่งเกิดมีคนตายขึ้น เป็นเหตุให้การฝึกหน่วยจู่โจมพิเศษต้องเป็นอันล้มเลิกไป

จากนั้นชาวบ้านจึงเรียกการกระทำแผลงๆ ของพระพิเรนทร์ฯ ว่า “เล่นอย่างพิเรนทร์” ซึ่งเป็นคำพูดติดปากกันต่อมา เมื่อมีใครทำสิ่งใดแผลงๆ อุตรินอกลู่นอกทางในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือไม่ควรกระทำ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ “เล่นพิเรนทร์” หรือเป็น “คนพิเรนทร์”

เรื่องเล่านี้เป็นเรื่องที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “ปกิณณกะในรัชกาลที่ 5” เขียนโดย นายแพทย์นวรัต ไกรฤกษ์ ให้ความหมายและที่มาของคำว่า “พิเรนทร์” จากคำบอกเล่าของพระยาบุรุษรัตนราชพัลลภ (นพ  ไกรฤกษ์) ผู้เป็นบิดา ซึ่งหากพิจารณาดูให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าบันทึกดังกล่าวไม่เพียงแต่จะบอกเล่าถึงที่มาของคำว่า “พิเรนทร์” เท่านั้น แต่ยังชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์การฝึกดำน้ำของคนไทย ซึ่งหากลองค้นประวัติศาสตร์การรับวิทยาการการดำน้ำครั้งแรกของคนไทยที่มีบันทึกไว้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน จะพบว่ากลุ่มคนไทยที่ได้รับการฝึกฝนการดำน้ำเพื่อการทหารอย่างจริงจังเป็นกลุ่มแรกนั้นคือ กองทัพเรือ และกรมตำรวจ ที่ถูกส่งไปฝึกการทำลายใต้น้ำที่สหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2496 ซึ่งได้พัฒนาเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือ “หน่วยซีล (SEALs)” ในเวลาต่อมา

อย่างไรก็ตาม หากเรื่องเล่าที่มาของคำว่า “พิเรนทร์” นี้เป็นเรื่องจริง ก็น่าคิดว่าอันที่จริงแล้วประวัติศาสตร์การฝึกดำน้ำเพื่อการทหาร หรือแนวคิดการจัดตั้งหน่วยซีล (SEALs) นั้นมีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้ว เพราะหากพิจารณาถึงจุดประสงค์การฝึกดำน้ำของพระพิเรนทรเทพ ก็จะเห็นว่าไม่ต่างกับเป้าหมายการปฏิบัติงานของหน่วยซีลในปัจจุบัน กล่าวคือ การ จัดเตรียมกำลังสำหรับปฏิบัติการสงครามพิเศษทางเรือ ปฏิบัติกิจที่ได้รับมอบหมาย การฝึกศึกษาเกี่ยวกับการสงครามพิเศษทางเรือ” เท่าใดนัก

ดังนั้นแล้ว เมื่อมองเรื่องเล่าที่มาของคำว่า “พิเรนทร์” ในแง่นี้ ก็อดคิดไม่ได้ว่าบางที่การเล่นพิเรนทร์ๆ ก็อาจไม่ได้มีแต่เรื่องเสียประโยชน์ไปเสียทีเดียว

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลอ่านเพิ่มเติม :

[คำว่า “พิเรนทร์” จากเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา]

[ประวัติการดำน้ำ จากเว็บไซต์สมาคมดำน้ำแห่งประเทศไทย]

[หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ]


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ พฤษภาคม 2562