ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนวน “ปิดทองหลังพระ” พจนานุกรมฉบับมติชน แปลว่า “ทำความดีโดยไม่เป็นที่รับรู้ของใคร” ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่รุ่นเก่า ๆ จึงมักเตือนไม่ให้ไปปิดทอง (ด้าน) หลังพระพุทธรูป แต่ระยะหลังมานี้ผู้คนจำนวนหนึ่งกลับเริ่ม “ปิดทองหลังพระ” ให้เห็นมา ทั้งที่เป็นการปิดทองพระจริง หรือการกระทำที่ไม่หวังชื่อเสียง, หน้าตา ฯลฯ ตามความหมายของสำนวน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ก็เคยพระราชทานพระบรมราโชวาทในเรื่องไว้ว่า “การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้” (พระบรมราโชวาทของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 25 กรกฎาคม 2506)
และอยากจะเชิญชวนว่า ลองเดินไปปิดทองหลังพระแล้วท่านจะได้เป็นทับหลังสวย ๆ อีกด้วย
เพราะที่ “วัดพระแก้ว” บ้านบางน้ำพระ ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท วัดเก่าแก่ที่สร้างมาตั้งแต่ พ.ศ. 1900 มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งเรียกว่า “หลวงพ่อฉาย” ด้านหลังพระพุทธรูปองค์นี้ มี “ทับหลัง” ชิ้นงามประดับอยู่
สำหรับหลวงพ่อฉายนั้น กรมศิลปากรสันนิษฐานว่ามีอายุประมาณ 800 กว่าปี ส่วนทับหลังที่ติดอยู่ด้านหลังองค์หลวงพ่อนั้น เมื่อพิจารณาจากรูปแบบมีลักษณะเหมือนกับทับหลังที่ได้มาจากปราสาทพะโค อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา จึงคาดว่าน่าอายุของทับหลังที่ชัยนาทชิ้นนี้น่าจะในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 17
แล้วหน้าตาของ “ทับหลัง” นี้เป็นอย่างไร
ทับหลังมีลักษณะดังนี้ 1. เป็นทับหลังที่ประดับกลับหัว 2. ทับหลังมีสภาพไม่สมบูรณ์เพราหักไปครั้งหนึ่ง 3. ลวดลายที่แกะสลักเป็นรูปหน้ากาลคายท่อนมาลัยพุ่งไปที่ปลายทับหลัง เหนือหน้ากาลเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้าง เหนือท่อนพวงมาลัยเป็นใบไม้สามเหลี่ยมตั้งขึ้น ใต้ท่อนพวงมาลัยเป็นใบม้วน เหมือนทับหลังปราสาทพะโคตามที่ได้กล่าวไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีกาลที่ทับหลังประดับผิดทิศทาง (กลับหัว) จึงชวนให้เชื่อได้ว่าอาจนำมาจากโบราณสถานในช่งพุทธศตวรรษที่ 17 ตอนต้นที่อยู่ในละแวกนั้น ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม เคยรายงานการสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2509 สันนิษฐานว่าน่าจะนำเข้ามาจากโบราณสถานในเขตเมืองดงคอน ซึ่งเป็นชุมชนโบราณช่วง พ.ศ. 1200-1800 ในเขตจังหวัดชัยนาท (ปัจจุบันคือเขตตำบลดงคอน อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท)
แต่ถ้าพิจารณาจากหลวงพ่อฉาย พบว่าจากพระพักตร์ของหลวงพ่อฉายน่าจะเป็นพระพุทธรูปศิลปะอยุธยาตอนต้น, จากตำแหน่งที่ตั้งหลวงพ่อฉายในแนวแกนหลักของเจดีย์ประธานวัดพระแก้ว ก็ทำให้คิดว่าทับหลังชิ้นนี้อาจจะนำมาก่อพระพุทธรูปตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น
ข้อมูลจาก :
รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, ประวัติศาสตร์ชัยนาท (กรุงเทพฯ : มติชน, 2558)
คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการตัดงานเฉลิมพระเกียรติพระยาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดชัยนาท (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2543)
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 กรกฎาคม 2561