ผู้เขียน | เพจสมเด็จครู |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เป็นอีกวันหนึ่งที่ยังความวิปโยคมาสู่พสกนิกรอย่างใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 ต้องพระแสงปืนสวรรคต ณ ห้องพระบรรทม พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
ห้องพระบรรทมดังกล่าว (ปัจจุบันถูกปรับเปลี่ยนเป็นห้องทรงพระสำราญ) ตกแต่งด้วยศิลปะในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เพดานภายในห้องพระบรรทม ถูกดัดแปลงให้เป็นโดมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พร้อมเขียนภาพแบบปูนเปียก (Fresco) เป็นภาพจตุโลกบาลตามคติอย่างอินเดีย ซึ่ง “สมเด็จครู” สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ และนายซี ริโกลี เป็นผู้ลงสี แล้วเสร็จในปีพุทธศักราช 2460 ได้แก่
ทิศตะวันออก เขียนภาพพระอินทร์ เทพประจำทิศตะวันออก (บูรพา) ทรงพระภูษาสีน้ำเงิน ทรงวชิราวุธและพระแสงศรในพระหัตถ์ มีคนธรรพ์เล่นดนตรีเป็นเทพบริวาร บริเวณฐานเขียนภาพช้างทรงทั้งสองของพระอินทร์ (ด้านซ้ายคือช้างเอราวัณ ด้านขวาไม่ปรากฏแน่ชัด อาจเป็นช้างคีรีเมขล์ไตรดายุค) และจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “ศักระ” (ตรงกับภาษาบาลีว่า สักกะ แปลว่าผู้องอาจ) ตามแบบอักษรซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐ์ขึ้น ซึ่งมีลักษณะคล้ายอักษรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อันมีลักษณะเด่นคือพยัญชนะ สระ และวรรณยุกต์อยู่ในบรรทัดเดียวกันทั้งหมด
ทิศใต้ เขียนภาพพระยม เทพประจำทิศใต้ (ทักษิณ) ทรงพระภูษาสีแดง ทรงกระบองในพระหัตถ์ขวา มีเทพบริวารคือกาลบุรุษ และจิตรคุปต์ (ไทยว่าเจตคุปต์) บริเวณฐานเขียนภาพกระบือ ซึ่งเป็นเทวพาหนะ และจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “ยมะ”
ทิศตะวันตก เขียนภาพพระวรุณ เทพประจำทิศตะวันตก (ประจิม) ทรงพระภูษาสีฟ้า ทรงสังข์ในพระหัตถ์ขวา มีเทพบริวารถือบังสูรย์ถวาย และมกร (มังกร) เทวพาหนะอยู่ด้านหลัง บริเวณฐานจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “วรุณะ”
ทิศเหนือ เขียนภาพพระอัคนี (แท้จริงพระอัคนีเป็นเทพประจำทิศตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาคเนย์ ผู้เขียนยังไม่พบหลักฐานแน่ชัดว่าเพราะเหตุใดจึงเขียนภาพพระอัคนีในทิศเหนือ) ทรงหอกในพระหัตถ์ขวา และดอกบัวในพระหัตถ์ซ้าย มีควันไฟเป็นพระรัศมี มีแกะ อันเป็นเทวพาหนะ และกองกูณฑ์ทางด้านขวาและซ้ายของภาพตามลำดับ บริเวณฐานจารึกพระนามของพระองค์ไว้ว่า “อัคนิ”
ฝีพระหัตถ์การออกแบบชุดนี้ นับเป็นภาพฝีพระหัตถ์ของสมเด็จครูอันทรงคุณค่ายิ่ง ซึ่งทรงปรับแก้หลายครั้งให้เหมาะสมตามตำราและเหมาะสมด้วยองค์ประกอบต่างๆ ของภาพ (Composition) ซึ่งได้ประจักษ์ให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพดังได้แสดงผ่านทางภาพเขียนเหล่านี้
แม้ภายในห้องพระบรรทม จะมีจตุโลกบาลคอยคุ้มเกรงรักษาพระผู้ประทับ ณ ที่นั้น แต่ก็มิอาจจะหยุดยั้งมฤตยูได้ แม้ว่าพระองค์จะเสด็จสวรรคตไปเป็นเวลา 77 ปีแล้ว แต่ยังคงความโศกาอาดูรในใจของพสกนิกรมิรู้ลืม น้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมหาที่สุดมิได้
[ขอบคุณข้อมูลและภาพจากเพจสมเด็จครู]
อ่านเพิ่มเติม :
- “กรมพระยานริศฯ” นายช่างใหญ่ผู้ไม่ร้องขอเงินบำนาญ ร.5ทรงชม “ผู้อยู่ในหัวใจฉัน”
- สมเด็จครูและพระพรหมพิจิตร การปะทะผลงานระหว่างศิษย์กับครู ในวงการสถาปัตยกรรมไทย
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 มิถุนายน 2561