วันอัฏฐมีบูชา ความศรัทธาก่อนการสูญสิ้นในปฐมสมโพธิกถา

“ถวายพระเพลิงแด่พุทธสรีระพระพุทธเจ้า” จิตรกรรมฝาผนังวัดขนอนเหนือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันอัฏฐมีบูชา เป็นหนึ่งในวันที่ปรากฏเหตุการณ์สำคัญในพุทธศาสนา เนื่องด้วยเป็นวันคล้ายวันถวายพระเพลิงแด่พุทธสรีระพระพุทธเจ้า หลังเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานได้ ๘ วัน ซึ่งตรงกับวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๖ (เดือนวิสาขะ) หรือวันแรม ๘ ค่ำ เดือน ๗ ในปีอธิกมาส ซึ่งวันอัฏฐมีบูชา ในปี พ.ศ. ๒๕๖๕ นี้ตรงกับวันจันทร์ที่ ๒๓ พฤษภาคม

ความสำคัญของวันอัฏฐมีบูชานั้น นอกจากจะเป็นวันที่แสดงความระลึกถึงองค์พระศาสดาแล้ว ในอีกแง่มุมหนึ่งก็ยังเป็นการสร้างความตระหนักให้แก่บุคคลที่ยังคงมีชีวิตอยู่ให้ดำรงชีวิตโดยตั้งอยู่บนความไม่ประมาท ดังปัจฉิมโอวาทของพระพุทธองค์ที่ได้ตรัสไว้ก่อนเสด็จปรินิพพาน เนื่องด้วยทุกสรรพสิ่งนั้นมิมีความเที่ยงแท้ สามารถกำเนิดขึ้น ดำรงอยู่และสูญสลายไปได้โดยตลอด

เฉกเช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าที่พระพุทธสรีระของพระองค์ก็มีวันเสื่อมสูญ แม้จะหลงเหลือพระบรมสารีริกธาตุให้ผู้ศรัทธาได้กราบไหว้ แต่กระนั้นพระบรมสารีริกธาตุเหล่านั้นก็ย่อมมีวันที่จะสูญไปได้เช่นกัน ดังที่ได้มีการกล่าวถึงไว้ในเหตุการณ์การอัตรธานของพระบรมสารีริกธาตุในวรรณคดีเรื่อง ปฐมสมโพธิกถา ปริเฉทที่ ๒๙

ปฐมสมโพธิกถา เป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส  วัดพระเชตุพนฯ ที่ทรงแปล ชำระจากต้นฉบับภาษาบาลี ซึ่งต้นฉบับนี้มิได้มีการระบุให้ทราบว่าใครเป็นผู้แต่ง หรือแจ้งว่าแต่งตั้งแต่เมื่อใด ทราบเพียงแค่มีต้นฉบับอยู่เพียง ๒ ฉบับ มีเนื้อหาอยู่ ๒๒ ตอน แต่เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ทรงนำมาชำระใหม่ก็ได้มีการตัดบางเรื่องออกและเขียนเพิ่มเสริมลงไป จึงทำให้ปฐมสมโพธิกถานี้ มีทั้งสิ้น ๒๙ ตอน หรือ ๒๙ ปริเฉท

เหตุที่ ปฐมสมโพธิกถา ซึ่งถือได้ว่าเป็นคัมภีร์ที่ให้ความรู้ในเรื่องของพระพุทธเจ้าและพุทธศาสนา ได้รับการยกย่องเป็น “วรรณคดีในประเภทพระพุทธศาสนา” ก็เนื่องด้วยภาษาที่ใช้ในพระนิพนธ์นั้น เป็นภาษาที่ได้มีการขัดเกลา เลือกสรรมาแล้วเป็นอย่างดี ทำให้เกิดความไพเราะจับใจแก่ผู้อ่าน ทั้งยังเป็นประโยชน์ในแง่ของการให้ความรู้เกี่ยวกับพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ปฐมสมโพธิกถา เป็นหนึ่งในวรรณคดีที่มีคุณค่ามากเรื่องหนึ่ง

ในจำนวน ๒๙ ตอน หรือ ๒๙ ปริเฉทนั้น จะมีอยู่ปริเฉทหนึ่งที่กล่าวถึงการเสื่อมสูญ ๕ ประการ อันประกอบไปด้วย  ความเสื่อมสูญแห่งปริยัติ ๑ ความเสื่อมสูญแห่งปฏิบัติ ๑ ความเสื่อมสูญแห่งปฏิเวธ ๑ ความเสื่อมสูญแห่งเครื่องหมายภิกษุสงฆ์ ๑ และ ความเสื่อมสูญแห่งพระบรมสารีริกธาตุ ๑

เรื่องที่ปรากฏใน ปริเฉทที่ ๒๙ อันตรธานปริวรรต อันเป็นปริเฉทสุดท้ายนั้น จะกล่าวถึงการเสื่อมสูญ ๕ ประการ ซึ่งเกิดขึ้นในภายหลังการถวายพระเพลิงพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าได้เป็นระยะเวลานานแล้ว โดยจะมีการเกิดขึ้นอย่างเป็นลำดับขั้น ใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมากจึงจะถึงยังขั้นสุดท้ายที่เป็นการอัตรธานหมดสิ้นซึ่งทุกสิ่ง

“โทณพราหมณ์จัดแบ่งพระบรมธาตุ” จิตรกรรมฝาผนังวัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ

ภายหลังจากถวายพระเพลิงพุทธสรีระของพระพุทธเจ้าแล้ว “โทณพราหมณ์” ก็ได้จัดแบ่งพระบรมธาตุออกเป็น ๘ ส่วนเท่าๆกัน มอบให้แด่กษัตริย์ เจ้าผู้ครองนครต่างๆที่ได้มาอัญเชิญไปบูชา แต่ก็มีบางส่วนที่ไปอยู่ภายในเมืองเทวดา พรหม และนาคด้วยเช่นกัน ทว่าต่อมา “พระมหากัสสปเถระ” เกรงว่าพระบรมสารีริกธาตุที่ประดิษฐานอยู่ยังนครต่างๆ ในอนาคตอาจมีอันตรายเกิดขึ้นได้ จึงปรึกษากับ “พระเจ้าอชาตศัตรู” อัญเชิญพระธาตุจากเมืองต่างๆ มารวมกันด้วยฤทธิ์ แล้วนำไปประดิษฐานยังเจดีย์ที่พระเจ้าอชาตศัตรูสร้าง

กระทั่งพระศาสนาได้ล่วงไป ๒๑๘ ปี ถึงรัชสมัยของ “พระเจ้าธรรมาโศกราช” หรือ “พระเจ้าอโศก”  พระองค์นั้นทรงมีศรัทธาในพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก จึงสร้างพระเจดีย์ไว้ทั่วชมพูทวีปและทรงต้องการที่จะได้พระบรมธาตุมาประดิษฐาน จึงได้ออกค้นหาอยู่นานจนพบในที่สุด และได้ทรงจัดสมโภชพระบรมธาตุตามที่ตั้งพระทัยไว้ พระบรมสารีริกธาตุจึงยังคงดำรงอยู่ควบคู่ไปกับความศรัทธาที่มีมาอย่างยาวนานผ่านหลายยุคหลายสมัย

ด้วยระยะเวลาที่ผันผ่านมาเป็นเวลานานจึงทำให้ในที่สุดก็บังเกิดความเสื่อมสูญขึ้น ทั้งความศรัทธา ความเชื่อต่างๆที่ไหลผ่านกาลเวลาจนถึงจุดที่เสื่อมสลายลง การเสื่อมสลายนั้นล้วนเป็นไปตามลำดับขั้นอย่างช้าๆ จนกระทั่งถึงขั้นท้ายสุดที่มนุษย์นั้นไร้ซึ่งความศรัทธาในพุทธศาสนาแล้ว พระบรมสารีริกธาตุก็จะมารวมกันและเผาไหม้อัตรธานไปในที่สุด

การเสื่อมสูญที่ปรากฏนี้ จึงเป็นการสะท้อนถึงหลักธรรม “ความไม่ประมาท” “ความไม่เที่ยงแท้” ได้เป็นอย่างดีว่าสรรพสิ่งในโลกนั้นล้วนแต่ไม่จีรัง ล้วนมีความเสื่อม จนกระทั่งอันตรธานไปในที่สุด แม้แต่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเองก็ยังต้องเผชิญกับความเสื่อมสูญนี้เช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นเป็นการเสื่อมสูญทางสังขารก็ดี หรือกระทั่งความเสื่อมสลายของศรัทธา ความเชื่อในพระธรรม คำสั่งสอนก็ดี ทุกสิ่งนี้ล้วนเป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์คือ มีการเกิดขึ้น การคงอยู่ และการสูญไป

แม้ในช่วงของการเกิดขึ้นและคงอยู่นั้นจะมีความแตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วปลายทางของทุกสรรพสิ่งนั้นล้วนเหมือนกันคือ “ความเสื่อมสลายและอันตรธานหายไป”


เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 6 มิถุนายน พ.ศ.2561