เผยแพร่ |
---|
งานเขียนส่วนใหญ่มักอธิบายว่า “การคุกคาม” ของอาณานิคมตะวันตกเป็นปัจจัยที่ทำให้รัฐสยามต้องเร่งผนวกล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ
แต่ ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว คิดต่างออกไป เธอทำเรื่องนี้เป็นดุษฎีนิพนธ์เรื่อง “รัฐสยามกับล้านนา พ.ศ. 2417-2476” ก่อนจะปรับมาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ “เปิดแผนยึดล้านนา” ที่ขอนำบางส่วนมาเสนอแก่ผู้อ่าน
ผศ.ดร. เนื้ออ่อน ขรัวทองเขียว ตั้งข้อสังเกตในเรื่องนี้ว่า การคุกคามของอาณานิคมไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้สยามต้องเร่งผนวกล้านนาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง แต่เป็นต้นแบบด้านแนวคิดและวิธีการซึ่งชนชั้นนำสยามนำมาปรับใช้กับล้านนา นอกจากนี้รัฐร่วมศูนย์ เช่น สยามในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ต้องสลายอำนาจท้องถิ่นเพื่อดึงทรัพยากรและผู้คนมาเป็นของรัฐส่วนกลาง กรณีของล้านนา สยามใช้วิธีผสมผสานของเจ้าอาณานิคมและธรรมเนียมแบบรัฐจารีต ฯลฯ
ซึ่งมาตรการหนึ่งที่ใช้คือ “การวางรากฐานศึกษาและควบคุมสถาบันสงฆ์”
ระบบการศึกษาดั้งเดิมของล้านนาก็เหมือนพื้นที่อื่น คือมีวัดและสงฆ์สั่งสอนความรู้ทางโลกและทางธรรม หากความรู้เหล่านี้ไม่สอดคล้องกับสภาพของสังคมที่เปลี่ยนไปภายหลังการเข้ามาของชาติตะวันตก
โดยปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้สยามต้องเร่งรัดการศึกษาในมณฑลพายัพ คือ การเผยแพร่ศาสนาของมิชชันนารี
พ.ศ. 2410 เดเนียล แมคกิลวารีตั้งคริสตจักรที่เมืองเชียงใหม่ ภายใต้การดำเนินงานที่เรียกว่า “ Laos Mission” ยุทธศาสตร์ที่ใช้คือการให้บริการด้านการแพทย์และการศึกษาด้วยการจัดตั้ง “โรงเรียน” เพราะโรงเรียนจะเป็นรากฐานสำคัญในการก่อตั้งคริสตจักรให้มีความเข้มแข็งสืบไป
โดยเลือกตั้งโรงเรียนสอนเด็กผู้หญิง ที่ผ่านมาเด็กผู้หญิงไม่มีโอกาสเรียน
พ.ศ. 2423 โรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงจัดตั้งขึ้นอย่างจริงจัง และพัฒนาเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกของเชียงใหม่ ปัจจุบันคือ “โรงเรียนดาราวิทยาลัย”
หลังพ.ศ. 2440 มีการจัดตั้งโรงเรียนรัฐบาลในล้านนา โดยรัชกาลที่ 5 ทรงอาราธนากรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นผู้อำนวยการ ให้กรมหลวงดำรงราชานุภาพเป็นผู้ช่วยเหลือกิจการฝ่ายฆราวาสและอาราธนาพระสงฆ์ให้ช่วยเหลือจัดการศึกษาแก่ประชาชน แต่พระครูบาไม่ให้ความร่วมมือ ในการจัดตั้งโรงเรียนสอนหนังสือในวัด
พ.ศ. 2442 หม่อมเจ้าอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ จึงเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทยอย่างจริงจังขึ้นที่ โรงเรียนวัดเจดีย์หลวง เปิดสอนครั้งแรกมีนักเรียน 73 คน ครู 2 คน คือ พระครูสังฆปริคุต (พระมหาคำปิง) เป็นครูใหญ่และผู้อำนวยการศึกษา และพระม่วง อรินทโมเป็นครูรอง ขึ้นตรงต่อกองบัญชาการศึกษาหัวเมืองภายใต้การดูแลของกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส
พ.ศ. 2446 มณฑลพายัพมีการจัดตั้งโรงเรียนสอนภาษาไทย 10 แห่ง มีเด็กเข้าเรียน709 คน คาดว่าเป็นเด็กผู้ชายล้วนโรงเรียนสำหรับเด็กผู้หญิงเพิ่งมีการจัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2450 โดยในสถานที่ของเจ้าอิทวโรรส
พ.ศ. 2448 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จมณฑลพายัพทรงวางศิลาฤกษ์ “โรงเรียนปรินซ์รอยแยลส์คอลเลจ” ทอดพระเนตรโรงเรียนสอนหนังสือไทยที่วัดเจดีย์หลวงและมีพระราชวิจารณ์การจัดการศึกษาใรมณฑลพายัพไว้ว่า “…จะฝึกหัดในทางอื่นไม่มีดีเท่ากวาดเด็กเข้าโรงเรียน จะได้ดัดสันดานและความคิดเสียตั้งแต่ยังเยาว์…”
ภายหลังรัชกาลที่ 5 มีพระบรมราโชบายจัดการศึกษาในมณฑลพายัพเพื่อผลิตคนนเข้ารับราชการโดยไม่ต้องนำคนขึ้นไปจากกรุงเทพฯ และต้องการสร้างความสนิมสนมกลมเกลี่ยวระหว่างคนไทยและคนพื้นเมือง ทรงเห็นว่าผู้ที่รับผิดชอบด้านการศึกษาในมณฑลพายัพต้องเป็นผู้มีสติปัญญาและไม่ดูถูกคนพื้นเมือง
ด้านการศาสนา พ.ศ. 2449 กรมหมื่นวชิรญารณวโรรสทรงแต่งตั้งให้พระธรรมวโรดม เจ้าคณะรองฝ่ายใต้ วัดเบญจมบพิตร ซึ่งเป็นมหานิกายเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพเพื่อจัดการการศึกษาและคณะสงฆ์ พระธรรมวโรดมถือเป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ มีส่วนร่วมในการร่างพระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. 121
หากรัชกาลที่ 5 ทรงทักท้วง การส่งพระธรรมวโรดมซึ่งเป็นมหานิกายขึ้นเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพดูจะเป็นเรื่องที่ขัดแย้ง เนื่องจากก่อนหน้านี้ส่งพระนพีสีพิศาลคุณซึ่งเป็นธรรมยุตินิกายขึ้นไปวางรากฐานจัดการคณะสงฆ์ใหม่ ดังความว่า
“…เดิมตั้งพระนพีสีขึ้นไป เหตุใดจึงส่งเจ้าคณะะขึ้นไปใหม่ย่อมจะให้ไปหักล้างกัน ซึ่งความจริงกระทรงธรรมการก็ออกเปนบ้าจี้อยู่ ครั้งก่อนก็จะเอาให้พระนพีสีเปนเจ้าคณเมืองจริงๆ ที่หากว่าเหนี่ยวรั้งไว้ บางทีครั้งนี้ถูกครูบาที่ 1 ลงมาจี้ก็จะสั่งเผลอๆ ไปกลายเปนให้ไปทำลายพระนพีสีเสียโดยไม่ได้ตั้งใต เพราะไม่ได้คิดให้รอบคอบ…”
ก่อนหน้าที่จะแต่งตั้งพระธรรมวโรดมเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ กรมหมื่นพิชิตปรีชากรได้ส่งภิกษุสามเณรลงมาศึกษาที่กรุงเทพฯ ทรงเลือกสามเณรคำปิงและพระปินตามาฝากไว้กับกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสที่วัดบวรนิเวศใน พ.ศ. 2427 ภายหลังบวชแปลงเป็นธรรมยุต
สามเณรคำปิงถือเป็นกำลังสำคัญในการวางรากฐานคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกายในมณฑลพายัพ เมื่อเข้าศึกษาที่วัดมกุฏกษัติย์ฯ จนสอบเปรียญธรรมตรีเทียบ 4 ประโยค ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสังฆบริคุต กรมหมื่นวชิรญารณวโรรสทรงให้กลับเมืองเชียงใหม่ใน พ.ศ. 2439 พำนักที่วัดเจดีย์หลวง ต่อมาย้ายไปวัดหอธรรม และวัดเชียงมั่น ตามลำดับ
พระครูสังฆบริคุต เริ่มจัดการศึกษาหนังสือไทยและการศึกษาพระปริยัติธรรมตามแบบกรุงเทพฯ โดยใช้วัดจีดย์หลวง และวัดหอธรรม ปีต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาชย์รูปแรกของคณะสงฆ์ธรรมยุตในเมืองเชียงใหม่
การเลือกวัดเจดีย์หลวงเป็สถานที่ประกอบกิจกรรมสำคัญของสยาม เช่น พิธถือน้ำพิพัฒน์สัจจา, พิธีเฉลิมพระชนมพรรษา รวมถึงเป็นโรงเรียนสอนหนังสือไทยแห่งแรกในมณฑลพายัพ น่าจะเป็นเจตนารมย์ของกรุงเทพฯ เพราะวัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญประจำเมืองเชียงใหม่มีประวัติความเป็นมาเก่าแต่ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เม็งราย, เป็นที่ประดิษฐานหลักเมืองหรือเสาอินทขีลซึ่งถือเป็นศูนย์กลางของจักรวาลทางพุทธสานาตามคติเดิมในการสร้างเมือง
การเลือกวัดเจดีย์หลวงจึงการช่วงชิงพื้นที่ซึ่งมีความสำคัญทางใจของคนล้านนา
ผลงานของพระครูสังฆบริคุตเป็นที่เลื่อมใสของบรรดาเจ้านายเนื่องจากความรอบรู้ในพระธรรมและสามารถเทศน์เป็นสำเนียงกรุงเทพฯ ได้อย่างไพเราะทั้งถือเป็นของใหม่ตามอย่างกรุงเทพฯ เจ้าอินทวโรรสจึงอาราธนาพระครูสังฆบริคุตให้ย้ายไปจำพรรษาที่วัดเชียงมั่นที่ใกล้กับคุ้มของพระองค์ พระครูสังฆบริคุตเปลี่ยนพระสงฆ์ที่วัดเชียงมั่นให้หันมานับถือวัตรปฏิบัติตามแบบธรรมยุต ต่อมาท่านได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็พระครูพิศาลสรภัญ ฐานานุกรมผู้ใหญ่ในเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต
หากพระครูพิศาลสรภัญก็สร้างความขัดแย้งในคณะสงฆ์เมืองเชียงใหม่ ด้วยโครงสร้างเดิมคณะสงฆ์ล้านนามีผู้ปกครองสูงสุดในแต่ละเมือง ในเมืองเชียงใหม่ พระเจ้าอินทวิชยานนท์แต่งตั้งสังฆราชทั้ง 7 เป็นผู้ดูแลพระสงฆ์โดยประกาศถวายเป็นสังฆพิธีที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ มีครูบาวัดฝายหินเป็นปฐมสังฆนายก
เนื่องจากพระสงฆ์ล้านนามีแนวการปฏิบัติที่หลากหลาย โดยจำแนกได้ถึง 18 นิกาย จากการสำรวจในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้ง 18 นิกายน่าจะหมายถึงกลุ่มพระที่สืบต่อกันมาจากอาจารย์หรือพระอุปัชฌาย์เดียวกันในแต่ละท้องถิ่นโดยขึ้นต่อตามสายปกครอง และผู้คนยังนิยมไปทำบุญในวัดตามกลุ่มชาติพันธ์ของตนเอง เช่น กลุ่มตองซุ่ไปวัดหนองคำ กลุ่มไทใหญ่เข้าวัดป่าเป้า เป็นต้น
ดังนั้นการเผยแผ่ธรรมยุติกนิกายที่ไม่มีรากจากพระอุปัชฌาย์จึงไม่เป็นที่ยอมรับของคณะสงฆ์เดิม ครั้งหนึ่งพระครูพิศาลสรภัญรายงานปัญหาว่า การจัดการศาสนาในเมืองเชียงใหม่ด้วยการออกประกาศให้ครูบาซึ่งเป็นสังฆราชาช่วยดูแลพระสงฆ์ในหมวดของตนให้ปฏิบัติถูกต้องตามวินัยสงฆ์ พระส่วนใหญ่รับทราบตามประกาศแต่ไม่ยอมปฏิบัติตาม
เป็นไปได้ว่าการขัดขืนนั้นอาจมีพระครูบาวัดฝายหินที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นปฐมสังฆนายกในเมืองเชียงใหม่และพระครูบาน้อย เจ้าอาวาสวัดเชียงมั่นเป็นผู้นำ พระครูพิศาลสรภัญทำรายงานความขัดแย้งนี้ลงไปกรุงเพทฯ กระทรวงธรรมการจึงนิมนต์พระครูบาวัดฝาหยินลงไปกรุงเทพฯ เพื่อชี้แจ้งข้อกล่าวหา
พระยาสุรสีห์วิสิษฐศักดิ์ทำรายงานปัญหากราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 และสนับสนุนพระครูพิศาลสรภัญที่ทำให้การจัดการศาสนาและคณะสงฆ์เชียงใหม่ก้าวหน้าแม้มีพระมหานิกายไม่พอใจบ้าง ทั้งทูลขอพะราชทานฐานันดรศักดิ์ให้พระครูพิศาลสรภัญมียศตำแหน่งที่สูงขึ้นเพื่อให้มีอำนาจจัดการศาสนาให้เจริญขึ้น แต่เนื่องจากธรรมยุตกนิกายไม่เคยมีการก่อนในล้านนา รัชกาลที่ 5 ทรงเกรงว่าการตั้งพระธรรมยุติกนิกายให้มีสมณศักดิ์เทียบเท่าเจ้าคณะใหญ่ซึ่งเป็นมหานิกายทั้งเป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งโดยเจ้าเมืองเชียงใหม่…
ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “เปิดแผนยึดล้านนา”
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 24 พฤษภาคม พ.ศ.2561