“รูปปั้นเลนิน” สิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์ หลังการล่มสลายของรัฐคอมมิวนิสต์

ภาพการรื้อถอนรูปปั้นเลนินในยูเครนเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2016 ( PRYLEPA OLEKSANDR / UNIAN / AFP)

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2016 ยูเครนได้รื้อถอนรูปปั้นเลนินหนึ่งในผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียตในเมืองซาโปริเชีย (Zaporizhia) ซึ่งเป็นรูปปั้นที่สูงกว่า 20 เมตร และนับเป็นรูปปั้นสัมฤทธิ์ของเลนินที่ใหญ่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่ โดยต้องใช้เวลาถึงสองวัน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการบังคับทางกฎหมายของยูเครนที่ประกาศใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2015 โดยกำหนดให้สัญลักษณ์ของโซเวียตกลายเป็นสิ่งผิดกฎหมาย หลังยูเครนและรัสเซียมีความขัดแย้งอย่างรุนแรงจากวิกฤติการณ์ในไครเมีย ซึ่งนับแต่การผ่านกฎหมายดังกล่าว มีการรื้อถอนรูปปั้นเลนินในยูเครนแล้วเกือบพันแห่ง

วลาดิเมียร์ เลนิน (Vladimir Lenin) คือผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิก (Bolshevik Revolution) และผู้ก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย (Bolsheviks) ซึ่งภายหลังได้กลายเป็นผู้นำของรัฐบาลโซเวียตซึ่งก่อตั้งตามอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์ รูปปั้นของเขามีนับหมื่นแห่งทั่วโลกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในอดีตรัฐโซเวียตและรัฐพันธมิตร ทำให้รูปปั้นของเขาเป็นดังสัญลักษณ์ของคอมมิวนิสต์และสหภาพโซเวียต

แต่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต อดีตรัฐบริวารต่างปรับเปลี่ยนนโยบายหันหน้าเข้าหาตะวันตก และพากันรื้อถอนรูปปั้นเลนิน รวมไปถึงอนุสาวรีย์ของกองทัพแดงที่ถูกมองว่าเป็นเหมือนดั่งสัญลักษณ์ของจักรวรรดินิยมโซเวียต (และรัสเซียในฐานะรัฐต่อเนื่อง) ด้านตะวันตกเองก็พยายามขยายอิทธิพลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการทหารเข้าไปยังอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียตเหล่านี้ จนกลายเป็นความตึงเครียดที่อาจนำไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่

ขณะเดียวกันในรัสเซียเอง รูปปั้นของเลนินที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เสี่ยงที่จะถูกรื้อถอนเช่นกัน เมื่อหลายฝ่ายมองว่า รูปปั้นเลนินกลายเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์เหมาะที่จะเอาเก็บเข้าพิพิธภัณฑ์มากกว่าที่จะตั้งตระหง่านในพื้นที่สำคัญต่างๆ ของประเทศ ตามข้อเสนอของ อเล็กซานเดอร์ เคิร์ดยูมอฟ (Aleksandr Kurdyumov) ผู้นำพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกบางส่วนของพรรคยูไนเต็ดรัสเซียที่เป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น

เคิร์ดยูมอฟอ้างว่า เหตุผลสำคัญที่ควรรื้อถอนรูปปั้นของเลนิน เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาที่สูง และการที่ทั้งประเทศมีแต่อนุสาวรีย์ของเลนินอยู่ทุกมุมเมืองก็ไม่เป็นธรรมต่อบุคคลสำคัญรายอื่นๆ ที่ควรค่าแก่การระลึกถึง แต่ถูกละเลยมาตลอดในยุคสหภาพโซเวียต เช่น ปีเตอร์มหาราช (Peter the Great) หรือซาร์อีวานผู้เหี้ยมโหด (Tsar Ivan the Terrible) ซึ่งเป็นผู้นำในระบอบกษัตริย์ก่อนการปฏิวัติ

เคิร์ดยูมอฟเสนอให้มีการลงประชามติในท้องถิ่นต่างๆ เพื่อดูว่าประชาชนยังต้องการให้มีรูปปั้นเลนินในเมืองของตนหรือไม่ หากไม่ก็ควรรื้อถอนเพื่อเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ หรือจำหน่ายให้กับนักสะสม และเงินที่ได้มาก็ควรนำไปใช้สำหรับการสร้างสวนสาธารณะแห่งใหม่

ขณะที่ เซอร์เกย์ โอบูคอฟ (Sergey Obukhov) สมาชิกอาวุโสของพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียได้ออกมาต่อต้านข้อเสนอดังกล่าวอย่างรุนแรง โดยอ้างว่า เลนินถือเป็นบิดาผู้วางรากฐานของสหพันธรัฐรัสเซีย ซึ่งมีสถานะเช่นเดียวกับจอร์จ วอชิงตัน ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา และการทำลายวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ก็ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย

 


อ้างอิง:

  1. “Ukraine tore down a giant statue of an iconic Russian leader and live-streamed it on YouTube”. Reuters. <http://www.businessinsider.com/r-ukraine-tears-down-giant-lenin-statue-live-on-youtube-2016-3>
  2. “All monuments of Lenin to be removed from Russian cities”. RT. <https://www.rt.com/politics/lenin-monuments-removed-squares-131/>
  3. “Ukraine topples biggest remaining Lenin statue”. The Guardian. <https://www.theguardian.com/world/2016/mar/17/ukraine-topples-biggest-remaining-lenin-statue

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อ 18 มีนาคม พ.ศ.2559