ชายหญิงหึงหวง “บนผี” ให้อีกฝ่ายมีอันเป็นไป ในอดีตอาจต้องโทษ “ถึงตาย”

ศาลพระภูมิ ข้าง ต้นโพธิ์ บนผี บนบาน
ศาลพระภูมิข้างต้นโพธิ์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดยโสธร (ภาพจาก Matichon Online)

การ “บนผี” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมไทยอย่างมั่นคงมานาน ด้วยการนับถือผีเป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในภูมิภาคอุษาคเนย์ก่อนหน้าศาสนาอื่นใด ไม่ว่าจะพราหมณ์ พุทธ หรือคริสต์ และอิสลาม

และแม้คนไทยจะยอมรับนับถือศาสนาจากวัฒนธรรมอื่นเข้ามาแล้ว แต่ความเชื่อในเรื่องผีสางก็ไม่หายไปไหน กระทั่ง “ทางการ” ก็ยังยอมรับ “อำนาจผี” อย่างชัดเจนดังที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวง กฎหมายที่มีใช้มาตั้งแต่สมัยอยุธยา และเมื่อมีการชำระในสมัยรัชกาลที่ 1 ก็ยังคงกฎหมายดังกล่าวเอาไว้

ตัวอย่างหนึ่งที่ปรากฏในกฎหมายตราสามดวงเป็นเรื่อง ผัวๆ เมียๆ ชู้ๆ ที่ตราขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้ หญิง-ชาย ซึ่งมีปัญหาชู้สาว หันไปพึ่งพา “อำนาจผี” ให้ไปทำร้ายอีกฝ่ายให้ต้องเจ็บป่วยล้มตาย พร้อมกำหนดโทษอย่างรุนแรง ซึ่งเท่ากับว่า ทางการยอมรับว่า อำนาจผีเป็นอำนาจที่มีผลจริงในเชิงปฏิบัติ

มาตราดังกล่าวบัญญัติไว้ใน “พระอายการเบดเสรจ” (พระอัยการเบ็ดเสร็จ) ว่า “149 มาตราหนึ่ง ชาย, หญิง เปนชู้เมียกันเคียดฟูนน้อยใจกัน ชายก็ดีหญิงก็ดีไปบลต้นไม้อันมีผีให้ชายผัวชายชู้แลหญิงนั้นไข้เจบล้มตาย ฝ่ายผู้มิได้บลปู่เจ้าไข้เจบล้มตาย ผู้ใดไปบลปู่เจ้าพิจารณาเปนสัจ โทษตกแก่มันผู้นั้นเสมอฉมบกฤตยากระทำท่านให้ตายนั้น”

ในพระอายการเบดเสรจยังมีอีกหลายมาตราที่กล่าวถึงการใช้อำนาจคุณไสย พ่อมดหมอผี ความผิดเกี่ยวกับการเป็น “กระสือ กระหาง ฉมบจะกละ” ซึ่งในมาตราที่ 137 บัญญัติ ให้ “ฆ่า” ผู้รู้คุณว่านยา “ฉมบจะกละ” และให้ยึดทรัพย์เข้าพระคลังหลวงเสีย

ดังนั้น ชายหญิงที่มีปัญหาชู้สาวแล้วไป “บนผี” บนบานให้อีกฝ่ายมีอันเป็นไปแล้ว เกิดอีกฝ่ายมีอันเป็นไปจริงๆ ผู้บนบานก็อาจต้องตายตกตามกันในฐานะเป็น “ฉมบ” ซึ่งก็คือผีชนิดหนึ่งไปด้วย

สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือในส่วนของ “พระราชกำหนดใหม่” ที่ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ได้สั่งให้ “เลิกบูชาลึงค์” โดยดูหมิ่นว่า เป็นเครื่องบูชาของคนพาลหยาบช้า “สืบมาหญิงชายผู้หาปัญญามิได้ก็เอาเยี่ยงหย่างนับถือสืบมา” จึงดูเหมือนว่า ในรัชสมัยของพระองค์จะเห็นการบูชาลึงค์ เป็นเรื่อง “งมงาย”

แต่แท้จริง การสั่งห้ามบูชาลึงค์เป็นเรื่องของความไม่งามของตัววัตถุที่ถูกบูชามากกว่า เพราะในกฎหมายมาตราเดียวกัน ก็พูดถึงการบูชา “ภูมเทพารักผีสางต่างๆ” ซึ่งมิได้ห้ามการบูชาสิ่งเหล่านี้ ทั้งยังให้ส่งเสริมให้ซ่อมแซมศาลต่างๆ ที่อยู่ในสภาพทรุดโทรม ขอแต่เพียงห้ามการบูชายัญ และห้ามนับถือยิ่งกว่า “คุณพระรัตนตรัย” ความเชื่อเรื่องผีสางแม้กระทั่งในหมู่ชนชั้นนำจึงยังมั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงต้นรัตนโกสินทร์

ส่วนปัจจุบัน ทางการไทยไม่ถือว่า “อำนาจผี” เป็นอำนาจที่กำหนดเป็นตายได้อย่างแต่ก่อน (แม้ว่าคนไทยอีกจำนวนมากยังเชื่ออยู่ บางส่วนอาจไม่พูดอย่างเต็มปากว่าเชื่อก็มักจะพูดว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่”) การปองร้ายผู้อื่นด้วยคุณไสยจึงเป็นได้แต่ “การพยายามกระทำความผิด ที่ไม่อาจบรรลุผลได้อย่างแน่แท้” อันเกิดจากความ “งมงาย” (ตามภาษาที่ระบุในประมวลกฎหมายอาญาเอง) ซึ่งศาลสามารถใช้ดุลพินิจไม่เอาผิดกับบุคคลผู้นั้นได้

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


แก้ไขปรับปรุงเนื้อหาในระบบออนไลน์เมื่อ 10 เมษายน 2562