อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม

วัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เป็นที่ตั้งของอาคารสิ่งก่อสร้างสำคัญ ประกอบด้วย เจดีย์ประธานทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ พระอุโบสถ พระวิหาร มณฑปประดิษฐานพระอัฎฐารส และเจดีย์ราย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย มรดกโลกทางวัฒนธรรม

ประวัติและความสำคัญ

สุโขทัย เป็นราชธานีสำคัญของไทยที่มีความเจริญรุ่งเรืองระหว่างพุทธศตวรรษที่ 18-20 หลังจากนั้นจึงถูกผนวกเป็นดินแดนภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยาเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 21 ร่องรอยความเจริญปรากฏผ่านแหล่งโบราณคดี โบราณสถานที่กระจายอยู่ในและนอกกำแพงเมืองสุโขทัย รวมทั้งสิ้น 193 แห่ง จำแนกเป็นโบราณสถานกลางเมืองหรือในกำแพงเมือง จำนวน 60 แห่งเช่น วัดมหาธาตุ วัดศรีสวาย ศาลตาผาแดง ฯลฯ

วัดศรีสวาย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย (ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ จำนวน 27 แห่งเช่น วัดพระพายหลวง วัดศรีชุม เตาเผาเครื่องสังคโลก ฯลฯ โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้จำนวน 37 แห่งเช่น วัดเชตุพน วัดเจดีย์สี่ห้อง วัดศรีพิจิตรกิรติกัลยารามฯลฯ โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก จำนวน 19 แห่ง เช่น วัดช้างล้อม วัดตระพังทองหลาง โบราณสถานนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกจำนวน 50 แห่ง เช่น วัดสะพานหิน วัดป่ามะม่วง เทวาลัยมหาเกษตร สรีดภงส์ ฯลฯ

“พระอัฏฐารศ” วัดสะพานหิน (ภาพจากเพจ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย)

กรมศิลปากรเริ่มดำเนินการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมืองเก่าสุโขทัย ปรากฎในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 52 ตอนที่ 75 วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 ต่อมาใน พ.ศ. 2496 รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูบูรณะเมืองสุโขทัยขึ้น โดยเริ่มมีการขุดแต่งที่วัดมหาธาตุเป็นแห่งแรก หลังจากนั้น จึงขุดแต่งโบราณสถานที่สำคัญอื่น ๆ ทั้งภายในกำแพงเมือง และภายนอกกำแพงเมือง ต่อมาได้ตั้งคณะกรรมการปรับปรุงบูรณะโบราณสถานจังหวัดสุโขทัย เพื่อดำเนินงานในระยะที่ 2 ระหว่าง พ.ศ. 2508-2512

พ.ศ. 2518 กรมศิลปากร กำหนดขอบเขตพื้นที่ของโบราณสถานเมืองสุโขทัยจำนวน 43,750 ไร่ หรือประมาณ 70 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่มที่ 92 ตอนที่ 112 วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2518

วัดพระพายหลวง อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

ในปี พ.ศ. 2519 กรมศิลปากร เริ่มจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาเมืองโบราณสุโขทัยให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์ นำเสนอในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520-2524) และฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2525-2529) โดยใช้ชื่อโครงการว่า “โครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย” ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรมศิลปากรดำเนินการพัฒนาพื้นที่เขตเมืองสุโขทัยเป็น อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เมื่อวันอาทิตย์ ที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 ซึ่งรัฐบาลและประชาชนชาวไทยร่วมเฉลิมฉลองเนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ และพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

หลังจากนั้น ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 15 ณ กรุงคาร์เธจ ประเทศตูนีเซีย ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 นับเป็นมรดกโลกตามบัญชีในลำดับที่ 574

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


[ขอบคุณภาพและข้อมูลจากเพจ: กลุ่มเผยแพร่ฯ กรมศิลปากร และเพจ: อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2561