ผู้เขียน | ธวัชชัย ตั้งศิริวานิช |
---|---|
เผยแพร่ |
ในงานประมูลเครื่องแก้วที่สำนักโซเธอบีส์ (Sotheby’s) กรุงลอนดอน เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๗ รายการลำดับที่ ๑๖๒ เป็นที่จับตาของบรรดาภัณฑารักษ์และนักสะสม เพราะเป็นจานลายครามหายาก ผลงานชิ้นโบแดงของแบรนาร์ด แปร์โรท์ (Bernard Perrot) ช่างหลอมแแก้วนามอุโฆษชาวฝรั่งเศส จานใบดังกล่าวเป็นจานเคลือบสี ลักษณะกลมรี กว้าง ๒๙.๕ ซม. สูง ๓๖.๕ ซม. บนจานแสดงพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส (ต่อไปเรียกโดยย่อว่า ‘จานพระเจ้าหลุยส์’) สันนิษฐานว่าทำขึ้นราวปี ๒๒๒๘ จานพระเจ้าหลุยส์โดยแปร์โรท์มีปรากฏหลงเหลือหลักฐานอยู่เพียง ๘ ใบในโลก การประมูลครั้งนั้นจึงได้รับความสนใจอย่างสูง
ที่น่าสนใจ จานใบนี้อาจเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นหนึ่งที่ทำให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์อยุธยาที่พร่องนั้นสมบูรณ์ขึ้น ก่อนจะไขปริศนาว่าจานใบนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์อยุธยาอย่างไร ผมขอกล่าวโดยย่อถึงประวัติและผลงานของท่านผู้นี้
แบรนาร์ด แปร์โรท์ เกิดที่เมืองบอร์มิดา ใกล้แคว้นอัลแตร์ (Bormida, Altare) ประเทศอิตาลี เมื่อปี ๒๑๖๑ ต่อมาได้ย้ายไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศฝรั่งเศส และก่อตั้งโรงหลอมแก้วที่เมืองออร์เลองส์ (Orleans) ราว ๑๐๐ กม.ใต้กรุงปารีส แปร์โรท์ได้บุกเบิกคิดค้นกรรมวิธีหลอมแก้วให้เป็นรูปทรงต่างๆ การคิดค้นที่สำคัญคือวิธีหลอมแก้วเพื่อทำรูปแกะสลัก เหรียญ และจานที่ระลึก ผลงานชิ้นเอกของเขาคือจานพระเจ้าหลุยส์
แต่น่าเสียดายว่าผลงานชิ้นเอกของเขาสูญหายไปแทบหมดสิ้น จานพระเจ้าหลุยส์ที่เหลืออยู่นั้น ส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในฝรั่งเศส อาทิ พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ (Musee du Louvre) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งแคว้นออร์เลองส์ (Musee Historique de l’Orleanais) และโรงผลิตแก้วกองปาญญี แซงท์ โกแบ็ง (Compagnie Saint-Gobain) มีเก็บรักษาไว้นอกฝรั่งเศสเพียงใบเดียว ที่พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิง (Corning Museum of Glass) เมืองคอร์นิง มลรัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุนี้ ห้องโถงที่โอ่อ่าของสำนักประมูลโซเธอบีส์จึงเนืองแน่นไปด้วยภัณฑารักษ์และนักสะสมกระเป๋าหนัก
ก่อนการประมูล โซเธอบีส์ได้สร้างความฮือฮาด้วยการเผยโฉมฐานไม้สำหรับรองจานที่ทำขึ้นภายหลัง ประดับลวดลายแกะสลัก “มังกรและราชินีพระสมุทร” ซึ่งโซเธอบีส์สันนิษฐานว่าอาจเป็นตราหรือสัญลักษณ์แห่งพระเจ้ากรุงสยาม ข้อสังเกตอีกประการคือ การเคลือบสีจานมีกลิ่นอายตะวันออก คาดว่าทำขึ้นภายหลังที่จานถูกนำออกจากฝรั่งเศส โดยช่างที่ไม่คุ้นเคยกับศิลปวิทยาการของตะวันตก อนึ่ง จานพระเจ้าหลุยส์ที่ปรากฏหลักฐาน มีเพียงใบเดียวที่เคลือบสี แต่ก็เพียงเล็กน้อย ไม่แต้มสีฉูดฉาดเหมือนใบนี้
ผู้เชี่ยวชาญจากโซเธอบีส์ลงความเห็นว่าจานใบนี้มีลักษณะ “แปลก” ด้วยรูปแบบที่ผสมผสานระหว่างศิลปะตะวันตกและตะวันออก แต่ยืนยันว่าเป็นผลงานของแปร์โรท์ และที่น่าพิศวงคือที่มาของจานใบนี้ เมื่อเจ้าของผู้นำจานออกประมูลเปิดเผยว่า บิดาของเขาได้นำออกจากประเทศจีนช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๒๐
จากข้อมูลดังกล่าว โซเธอบีส์สันนิษฐานว่าจานใบนี้น่าจะเป็นเครื่องบรรณาการที่แปร์โรท์มอบให้โกษาปาน (ออกพระวิสุทสุนทร) ราชทูตสยามที่ไปเจริญสัมพันธไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศสเมื่อปี ๒๒๒๙ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ ข้อสันนิษฐานนี้ส่งผลให้โซเธอบีส์ปรับราคาประเมินสูงขึ้น และในที่สุด พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วคอร์นิงในสหรัฐอเมริกาชนะประมูลไปด้วยราคา ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ บวกค่าธรรมเนียม ๒๐ เปอร์เซ็นต์ เป็น ๔๘,๐๐๐ ปอนด์ หรือราว ๓,๖๐๐,๐๐๐ บาท (อัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น) นายเดวิด ไวท์เฮาส์ (David Whitehouse) ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์คอร์นิง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประมูลว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นมากที่ได้จานใบนี้ มันเป็นประจักษ์พยานที่น่าอัศจรรย์ของการพบกันระหว่างตะวันตกและตะวันออกในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗” หนังสือพิมพ์แอนติกส์ เทรด แกเซ็ท (Antiques Trade Gazette) ประโคมข่าวด้วยการพาดหัว “ความเกี่ยวข้องกับสยามส่งผลให้จานลายครามหายากมีราคาสูงถึง ๔๐,๐๐๐ ปอนด์” จะเห็นว่าแม้ราคาสูงลิ่วเพียงใด ก็หาใช่ปัญหาสำหรับผู้ที่ตระหนักถึงความสำคัญของจานใบนี้ ทั้งในเชิงบันทึกประวัติศาสตร์และคุณค่าทางศิลปะ
ภายหลังได้อ่านรายงานข่าว ผมรู้สึกทึ่งกับเรื่องราวความเป็นมาของจานใบนี้ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะถามตัวเอง
“เชื่อได้ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือว่าแปร์โรท์มอบจานใบนี้ให้ราชทูตโกษาปานเพื่อนำไปถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ” แล้วถ้าเป็นเช่นนั้นจริง “จานใบนี้ไปอยู่ที่ประเทศจีนได้อย่างไร”
ก่อนอื่น ผมขอตอบข้อสงสัยว่าข้อสันนิษฐานของโซเธอบีส์เชื่อถือได้เพียงใด
“ขณะนี้เป็นที่เชื่อว่าแปร์โรท์มอบจานใบนี้ให้แก่ราชทูตสยามเมื่อครั้งเยือนฝรั่งเศสปี ๒๒๒๙ ผู้จัดประมูล (โซเธอบีส์) เห็นว่าข้อมูลใหม่มีน้ำหนัก จึงปรับราคาประเมินขึ้นจาก ๓๐,๐๐๐-๔๐,๐๐๐ ปอนด์ เป็น ๔๐,๐๐๐-๖๐,๐๐๐ ปอนด์”
บางท่านอาจคิดว่าโซเธอบีส์ไม่ได้วิเศษอะไร เป็นเพียงสำนักประมูลที่มีรายได้จากค่าธรรมเนียม เขาอาจกุข่าวขึ้นเพื่อใช้อ้างในการปรับราคาประเมิน แต่ผมไม่คิดเช่นนั้นเพราะได้ไม่คุ้มเสีย จานพระเจ้าหลุยส์ที่เคาะไปในราคา ๔๐,๐๐๐ ปอนด์ ถือเป็นมูลค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับรายได้จากการประมูลหลายร้อยล้านปอนด์ในแต่ละปี ด้วยเหตุนี้ ผมจึงเห็นว่าโซเธอบีส์คงไม่ด่วนสรุปโดยปราศจากหลักฐาน
และหากจานใบนี้ไม่เคยอยู่ในครอบครองของโกษาปานและราชสำนักสยาม ทำไมพิพิธภัณฑ์คอร์นิง พิพิธภัณฑ์เครื่องแก้วชั้นนำของโลก ยอมทุ่มเงินกว่า ๓ ล้านบาท เพื่อจานเก่าๆ หน้าตามอมแมม และถ้าไม่ใช่ ทำไมสื่อชั้นนำในแวดวงนักค้าของเก่าเมืองผู้ดี ซึ่งนานทีจะลงเรื่องเกี่ยวกับบ้านเรา ถึงได้ประโคมข่าวใหญ่โต
มีหลักฐานไหมว่าแปร์โรท์เคยพบโกษาปานที่ฝรั่งเศส?
ในช่วงปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ชาวฝรั่งเศสสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับสยามเป็นอย่างมาก หนังสือ ภาพพิมพ์ และแผนที่สยาม ขายดีจนต้องพิมพ์ซ้ำ ทั้งยังมีวารสารจดหมายข่าวหลายฉบับที่นำเสนอข่าวคราวจากสยาม ในระหว่างที่โกษาปานอยู่ฝรั่งเศส เดอ วิเซ (Doneau de Vise) บรรณาธิการวารสารแมรกูร กาลังต์ (Mercure galant) ได้ทยอยตีพิมพ์บันทึกการเยือนของโกษาปาน ในบันทึกนี้ เดอ วิเซ ได้กล่าวถึงการเยือนโรงหลอมแก้วของแปร์โรท์ที่ออร์เลองส์
“ในวันที่มงเซียร์ฮูแบงมาทำการทดลองให้ท่านราชทูตดูนั้น เผอิญมาดามแปร์โรต์ ภรรยาของนายช่างหลอมแก้วที่โรงหลอมแก้วและเครื่องลายครามต่างๆ ที่เมืองออร์เลอังส์ ได้มาพร้อมกันกับมงเซียร์ฮูแบงที่สถานทูตนั้นด้วย และท่านอัครราชทูตเมื่อได้แลเห็นนางคนนั้น ท่านก็จำได้ทันที เพราะตอนเมื่อท่านได้ผ่านเมืองออร์เลอังส์ก่อน และเจ้าเมืองออร์เลอังส์ได้พาท่านไปชมโรงลายคราม และโรงหลอมแก้วซึ่งสามีของนางแปร์โรต์นั้นเป็นเจ้าของ…”
ไมเคิล สมิธีส์ (Michael Smithies) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส ยืนยันในบทความ “การเยือนฝรั่งเศสของราชทูตสยาม ปี ค.ศ. ๑๖๘๖-๑๖๘๗” ว่าโกษาปานได้เยือนโรงหลอมแก้วของแปร์โรท์เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๒๒๙ เป็นไปได้ไหมที่ระหว่างเยือน แปร์โรท์ได้มอบจานใบนี้ให้โกษาปานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ
น่าสนใจว่าโกษาปานใช้เวลาที่เมืองออร์เลองส์เพียงไม่กี่ชั่วโมง ทำไมเขาเจียดเวลาอันจำกัดไปเยือนโรงหลอมแก้วของแปร์โรท์
คำตอบอยู่ในหนังสือ “ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสสมัยอยุธยา” โดยพลับพลึง มูลศิลป์ ซึ่งระบุว่าสมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดปรานเครื่องแก้วจากฝรั่งเศส และในภาคผนวกท้ายเล่ม “บัญชีรายละเอียดต่างๆ ที่พระเจ้ากรุงสยามได้มีรับสั่งให้ราชทูตสยามไปจัดทำหรือซื้อที่เมืองฝรั่งเศส” จะพบว่าเป็นรายการเครื่องแก้วมากกว่าสามหมื่นชิ้น! ลองพิจารณาว่าแปร์โรท์เป็นช่างหลอมแก้วที่มาชื่อเสียงที่สุดในขณะนั่น โกษาปาน ผู้ได้รับคำสั่งให้จัดหาเครื่องแก้วคุณภาพดีจำนวนมาก จะได้รับคำแนะนำให้ติดต่อกับใคร
พลับพลึงยังกล่าวเสริมว่า สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงโปรดปรานเครื่องกระจกที่มีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ทั้งหมดนี้จึงเชื่อมโยงมาถึงโกษาปาน ซึ่งเชื่อว่าได้ซื้อหรือรับมอบจานพระเจ้าหลุยส์จากแปร์โรท์ส่วนจะใช่จานใบที่นำออกประมูลหรือไม่นั้น เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
ถ้าจานพระเจ้าหลุยส์เคยอยู่ในสยามจริง แล้วพบที่ประเทศจีนได้อย่างไร ทำไมไม่ถูกทำลายหลังสมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต?
ในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เกิดกระแสเกลียดชังฝรั่งเศสอย่างรุนแรงในสยาม ภายหลังที่พระองค์สวรรคต ชาวฝรั่งเศสถูกขับไล่ออกจากสยาม สิ่งของที่มีต้นกำเนิดจากฝรั่งเศสถูกทำลายแทบหมดสิ้น ในพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีรายงานว่าสิ่งของหรือภาพฝรั่งที่หลงเหลืออยู่ ได้ถูกเผาทำลายไปเสียพร้อมกัน รวมถึงพระบรมสาทิสลักษณ์แห่งพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แล้วจานใบนี้รอดพ้นได้อย่างไร
ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจว่า แม้ชาวฝรั่งเศสได้ถูกขับไล่ออกไป แต่ฝรั่งชาติอื่นๆ ก็ยังสามารถอาศัยอยู่ในสยาม แกมป์เฟอร์ (Engelbert Kaempfer) ชาวเยอรมันที่เข้ามาสยามช่วงต้นสมัยสมเด็จพระเพทราชา บันทึกในจดหมายเหตุว่าเขาได้เห็นแผนที่ฝรั่งและภาพเขียนพระบรมวงศานุวงศ์ของฝรั่งเศสแขวนอยู่ที่ผนังบนเรือนที่พำนักของโกษาปาน หากโกษาปานสามารถเก็บและแขวนภาพดังกล่าวอย่างเปิดเผย เขาก็น่าจะได้รับอนุญาตให้เก็บรักษาจานพระเจ้าหลุยส์ไว้เช่นกัน
อีกทฤษฎีหนึ่งคือ นักบวชฝรั่งเศสได้ลักลอบนำจานใบนี้ออกจากสยาม และนำติดตัวไปยังประเทศจีน ข้อมูลในหนังสือ “การปฏิวัติในสยาม ปี ค.ศ. ๑๖๘๘” โดยฮัทชินสัน (E. W. Hutchinson) ระบุว่า เลอ บลังค์ (Le Blanc) และเดอ แบส (De Beze) นักบวชเยซูอิตที่เดินทางเข้ามาสยามพร้อมคณะราชทูตเดอ ลาลูแบร์ในปี ๒๒๓๐ ภายหลังสมเด็จพระนารายณ์ฯ สวรรคต พวกเขาได้เดินทางต่อไปยังประเทศจีน เป็นไปได้ไหมว่าพวกเขาได้ลักลอบนำจานพระเจ้าหลุยส์ไปประเทศจีน
ที่สันนิษฐานเช่นนี้เพราะมีผู้พบบันทึกต้นฉบับของนักบวชเดอ แบส และจดหมายต้นฉบับโดยออกญาวิชาเยนทร์ อยู่ในครอบครองของมอร์ริสัน (G. E. Morrison) ผู้สื่อข่าวชาวอังกฤษประจำกรุงปักกิ่ง
ช่างบังเอิญเหลือเกินที่บันทึกของนักบวชฝรั่งเศส จดหมายออกญาวิชาเยนทร์ และจานลายครามล้ำค่า ล้วนหลักฐานเก่าแก่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ ต่างโคจรไปพบกันที่ประเทศจีน
ผมอยากรู้ว่าผู้ที่นำจานพระเจ้าหลุยส์ออกประมูลที่กรุงลอนดอน ผู้อ้างว่าบิดาของเขาได้จานใบนี้จากประเทศจีน ใช้นามสกุล “มอร์ริสัน” หรือเปล่า ถ้าใช่ก็อยากถามว่าบิดาเขาได้บันทึกจดหมายเหตุและจานพระเจ้าหลุยส์มาอย่างไร
และอยากรู้ว่าลวดลายแกะสลัก “มังกรและราชินีพระสมุทร” บนฐานไม้รองจานใช่สัญลักษณ์ของพระเจ้ากรุงสยามดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ หรือเป็นลวดลายแกะสลักโดยช่างชาวจีนที่ทำขึ้นในภายหลัง
ผมอยากเชื่อเหลือเกินว่าจานใบนี้คือเครื่องบรรณาการที่ช่างหลอมแก้วชาวฝรั่งเศสมอบให้โกษาปานเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์ฯ แม้ว่าจานจะชำรุดไปบ้าง แต่ก็คงไว้ซึ่งร่องรอยแห่งความสง่างาม ให้เราสามารถจินตนาการรำลึกถึงความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างสมเด็จพระนารายณ์ฯ และพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส
และหากพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าจานพระเจ้าหลุยส์เคยอยู่ในสยาม ผมก็อยากเห็นจานใบนี้กลับคืนสู่มาตุภูมิ เพื่อเติมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ให้เราได้ยืนบนฐานความรู้ของแผ่นดินที่แน่นกว่าเดิม
(ปรับปรุงจาก บทความเรื่อง “จานพระเจ้าหลุยส์” มรดกแห่งมิตรสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศส แต่กว่าจะรู้ก็สายไป! ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม ๒๕๔๘ และเพิ่มข้อมูลใหม่เกี่ยวกับฐานรองจานพร้อมภาพจาก Corning Museum)
อ้างอิง
Antiques Trade Gazette. “Siamese Connection Helps Rare Medallion to 40,000 Pounds,” (21 August 2004), p. 9
Corning Museum of Glass. “Portrait Medallion of Louis XIV,” www.cmog.org
- W. Hutchinson. Adventurers in Siam in the Seventeenth Century. (London, 1940), pp. 222-242
- W. Hutchinson. 1688 Revolution in Siam. (Hong Kong, 1968), pp. xii-xv
Engelbert Kaempfer. “Reception of the Phra Klang and Ayutthaya and Its Surroundings,” in Michael Smithies. Descriptions of Old Siam. (Kuala Lumpur, 1995), p. 96
Dedo von Kerssenbrock-Krosigk. “Glass for the King of Siam: Bernard Perrot’s Portrait Plaque of King Louis XIV and Its Trip to Asia,” Journal of Glass Studies, Vol. 49 (2007), pp. 63-79
Michael Smithies. “The Travels in France of the Siamese Ambassadors 1686-1687,” Journal of the Siamese Society, Vol. 77:2 (1989), p. 64
พลับพลึง มูลศิลป์. ความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศส สมัยอยุธยา. (กรุงเทพฯ, ๒๕๒๓), น. ๓๑๔-๓๑๕
ฟ. ฮีแลร์. พระยาโกษาปานไปฝรั่งเศส. (กรุงเทพฯ, ๒๕๔๐), น. ๑๑๒