จินตนาการ “ธรรมราชา-รัฐธรรมราชา-อาณาจักรกับศาสนจักร”

การขุดค้นพบเสาอโศกที่เมืองสารนาถ ค.ศ. 1905

เราจะเข้าใจความซับซ้อนของความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาและบทบาทพระสงฆ์กับการเมืองในอุษาคเนย์ไม่ได้เลย หากไม่ทำความเข้าใจความคิดทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์แห่งการตีความ/ปรับใช้พุทธศาสนาในทางการเมืองในบริบทรัฐโบราณ-รัฐสมัยใหม่จนถึงปัจจุบัน

พุทธศาสนาเกิดขึ้นบนพื้นภูมิอารยธรรมอินเดีย หรือ “ชมพูทวีป” เมื่อราว 2,600 ปีที่แล้ว ในบริบทวัฒนธรรมพราหมณ์ที่หยั่งรากมายาวนาน ภายใต้วัฒนธรรมดังกล่าวถือว่า ศาสนากับรัฐ-การเมืองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการใช้คอนเซ็ปต์ของพระเจ้าหรือ “พระพรหม” และ “ธรรม” เสนอคำตอบสำหรับทางโลกและทางจิตวิญญาณอย่างเชื่อมโยงเป็นเอกภาพกัน

พระพรหมทรงสร้างมนุษย์ โลก จักรวาลและสรรพสิ่ง ทรงกำหนดระบบสังคมการเมืองคือ “ระบบวรรณะ 4” พร้อมกับกำหนด “ธรรม” หรือ “หน้าที่” ของแต่ละวรรณะให้เป็น “กฎสัมบูรณ์” ที่ละเมิดมิได้ ใครเกิดมาในวรรณะไหนก็ต้องทำหน้าที่ของวรรณะนั้น เช่น เกิดมาในครอบครัวศูทรหรือทาส ก็ต้องเป็นทาสและทำหน้าที่ของทาสไปจนตาย คนเราเลือกเกิดไม่ได้ฉันใด ก็เลือกธรรมหรือหน้าที่ไม่ได้ฉันนั้น

แต่กฎสัมบูรณ์นั้นเป็นเพียงนามธรรม เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติ พระพรหมจึงมอบสิทธิอำนาจแก่วรรณะกษัตริย์และพราหมณ์ให้ทำหน้าที่รักษากฎ โดยให้กษัตริย์ทรงอำนาจสัมบูรณ์ในการปกครอง และให้พราหมณ์ทำหน้าที่ให้การศึกษา รักษาจารีตประเพณี พิธีกรรมเพื่อธำรงความศักดิ์สิทธิ์ของ “กฎสัมบูรณ์แห่งวรรณะ” ให้คงอยู่คู่โลกตลอดไป

พุทธศาสนาไม่รับคอนเซ็ปต์ของ “พระพรหม” ใช้คอนเซ็ปต์ของ “ธรรม” เพียงอย่างเดียว แต่ขณะที่ธรรมในระบบวรรณะ คือกฎสัมบูรณ์ที่กำหนดให้คนต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีทางเลือก ธรรมในพุทธศาสนากลับได้แก่ “สิ่งที่เสนอให้เลือก”

และขณะที่ธรรมตามระบบวรรณะคือเกณฑ์ตัดสินคุณค่าความเป็นมนุษย์จากชาติกำเนิด ธรรมในพุทธศาสนากลับเป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าความเป็นมนุษย์จากการกระทำ ดังเนื้อหาใน “อัคคัญญสูตร”1 ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทรก็มีสิทธิ์เลือกทำถูกหรือผิดได้เท่าเทียมกัน หากทำถูกหรือผิดในกรณีเดียวกัน ก็ถูกผิดเสมอกัน หรือถ้าปฏิบัติได้สมบูรณ์ในมัชฌิมาปฏิปทาเหมือนกันก็พ้นทุกข์ได้เฉกเช่นกัน ซึ่งแปลว่าตามความหมายของ “ธรรม” ในพุทธศาสนามนุษย์มีเสรีภาพที่จะเลือกและมีความเสมอภาคทางศีลธรรม

แต่ประเด็นคือ ตามปรัชญาการเมืองแบบพราหมณ์ พระพรหมเป็นแหล่งที่มา (source) ของระบบสังคมการเมืองและสิทธิอำนาจ (authority) ของผู้ปกครอง แล้วธรรมเป็นแหล่งที่มาของระบบสังคมการเมืองและสิทธิอำนาจของผู้ปกครอง

อย่างไรหรือ คำตอบปรากฏใน “จักกวัตติสูตร”2 ที่มีใจความสำคัญว่า ในยุคสมัยใดที่บ้านเมืองมีจักรพรรดิผู้ทรงธรรม เป็น “ธรรมราชา” ตั้งมั่นในธรรม ปกครองโดยถือธรรมเป็นใหญ่ สมบัติจักรพรรดิ (จักรแก้ว นางแก้ว และอื่นๆ) และอำนาจย่อมแผ่ไพศาล ราษฎรย่อมอยู่ดีกินดี ตั้งมั่นในธรรม บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากโจรผู้ร้าย ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล

หมายความว่า “ธรรม” คือแหล่งที่มาแห่งความมั่งคั่ง อำนาจอันชอบธรรมของผู้ปกครอง ความสงบสุขอุดมสมบูรณ์ของบ้านเมืองและธรรมชาติ นี่คือจินตนาการ “ธรรมราชา” เพื่อที่จะให้สิทธิอำนาจสูงสุดแก่ “ธรรม” ไม่ใช่ให้สิทธิอำนาจสูงสุดแก่ “พระราชา” เพราะพระราชาต้องอยู่ใต้อำนาจแห่งธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ (ธรรมาธิปไตย-ใน “จักรวรรดิวัตร”) ใช้ธรรมเป็นอำนาจ ไม่ใช้อำนาจเป็นธรรม แม้พุทธะเองก็ยังต้องเคารพธรรม3

ภาพสลักบุคคลสำคัญ สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นพระเจ้าอโศกมหาราช ศิลปะอมราวดี ประเทศอินเดีย อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๓ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์กีเมต์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

จากจินตนาการธรรมราชาเพื่อที่จะให้สิทธิอำนาจสูงสุดแก่ธรรม ได้กลายมาเป็นรากฐานของ “รัฐธรรมราชา” ในยุคมหาราชอโศก4 และเกิดแนวคิดสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพุทธศาสนาภายใต้ทฤษฎี “สองกงล้อ” กงล้อหนึ่งคือรัฐหรืออาณาจักร มีธรรมราชาเป็นผู้ปกครองโดยธรรม อีกกงล้อหนึ่งคือพุทธศาสนาหรือศาสนจักร มีคณะสงฆ์เป็นกลไกสนับสนุนการปกครองโดยธรรม

ทั้งนี้ธรรมราชานอกจากจะมีหน้าที่ปกครองเพื่อความผาสุกของพสกนิกรแล้ว ยังมีหน้าที่แก้ปัญหาการประพฤติผิดพระธรรมวินัยของพระสงฆ์ ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพภายในคณะสงฆ์ อุปถัมภ์การสังคายนาพระธรรมวินัย ส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนาทั้งในและนอกราชอาณาจักร แบบอย่างความเป็นธรรมราชาของพระเจ้าอโศกได้มีอิทธิพลต่อกษัตริย์แห่งอุษาคเนย์ที่นับถือพุทธในเวลาต่อมา

ขณะที่ทฤษฎีสองกงล้อก็เป็นฐานรองรับบทบาททางการเมืองของพระสงฆ์ที่เข้าไปผูกพันกับรัฐ บนจุดยืนสำคัญคือ เป็นกลไกสนับสนุนการปกครองโดยธรรมของรัฐ (กษัตริย์) และต้องการความอุปถัมภ์คุ้มครอง ส่งเสริมการเผยแผ่พุทธศาสนาจากรัฐ ซึ่งจุดยืนดังกล่าวมีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมการเมืองในแต่ละยุคสมัย


ที่มา“พระสงฆ์กับการเมืองในอุษาคเนย์”. โดย สุรพศ ทวีศักดิ์. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเมษายน 2558

เชิงอรรถ

1 ข้อความในอัคคัญญสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม 11 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) ที่แสดงถึง “ความเสมอภาคทางศีลธรรม” เช่น “ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี … พราหมณ์ก็ดี … แพศย์ก็ดี … ศูทรก็ดี … สมณะก็ดี … มีปรกติกระทำกรรมทั้งสอง [คือสุจริตและทุจริต] ด้วยกาย มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยวาจา มีปรกติกระทำกรรมทั้งสองด้วยใจ มีความเห็นปนกัน ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกัน เพราะยึดถือการกระทำด้วยอำนาจความเห็นปนกันเป็นเหตุ เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเสวยสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ฯ”

ข้อความในจักกวัตติสูตร (พระไตรปิฎก เล่ม 11 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ธรรม” กับ “สมบัติจักรพรรดิ” เช่น “…เรื่องเคยมีมาแล้ว มีพระราชาจักรพรรดิพระนามว่า ทัลหเนมิ ผู้ทรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เป็นใหญ่ในแผ่นดิน มีมหาสมุทร 4 เป็นขอบเขต ทรงชำนะแล้ว มีราชอาณาจักรมั่นคง สมบูรณ์ด้วยแก้ว 7 ประการ คือ จักรแก้ว ช้างแก้ว ม้าแก้ว แก้วมณี นางแก้ว คฤหบดีแก้ว ปริณายกแก้ว เป็นที่ 7”

ในคาวรสูตรที่ 2 ส. สํ. (560) พุทธะกล่าวว่า “เราควรสักการะเคารพธรรมที่เราตรัสรู้นั่นแหละ แล้วอาศัยอยู่”

ใน “จารึกศิลา ฉบับที่ 1” ของพระเจ้าอโศก ระบุถึงความเป็นรัฐธรรมราชาว่า “ต่อไปนี้คือระเบียบวิธีปฏิบัติราชการ กล่าวคือ – การปกครองโดยธรรม – การวางระเบียบข้อบังคับ (หรือบัญญัติกฎหมาย) ให้เป็นไปโดยธรรม – การอำนวยความผาสุกแก่ประชาชนโดยธรรม – การช่วยปกป้องคุ้มครองโดยธรรม” โปรดดู ส. ศิวรักษ์. ความเข้าใจเรื่องพระเจ้าอโศกและอโศกาวทาน. (กรุงเทพฯ : ศูนย์ไทย-ธิเบต, 2552), น. 276.


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2561