สำนวนไท “เมืองเติ๊ก”

ช่างขับเมืองเติ๊ก (แม่ของอาจารย์เหลืองคนไทขาว) ผศ. มนู อุดมเวช ถ่ายภาพไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖

เกือบ ๓๐ ปีมาแล้วสมัยผมบนหัวยังดำ ผมเดินทางไปแคว้นสิบสองจุไทย กับคณะวิจัยลายผ้าไทย ของวิทยาลัยครูเพชรบุรี โดยอุปถัมภ์ของสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติสมัยยังรวมอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นการเดินทางที่ต้องเรียกว่าบงอับบงราเอาการ เพราะเป็นระยะที่เวียดนามเพิ่งเปิดประเทศ

แคว้นสิบสองจุไทย เป็นดินแดนปลายพระราชอาณาเขต (สมัยรัชกาลที่ ๕) ที่ไทยต้องเสียให้แก่ฝรั่งเศสเป็นเขตแรก ผมจึงรู้สึกตื่นเต้นมากๆ ที่จะได้ไปเยือน ก่อนไปจึงได้เตรียมความรู้เท่าที่พอจะหาได้ โดยเฉพาะพงศาวดารหัวเมืองแถบนั้น เมืองเติ๊ก ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงฮานอย ว่าเป็นศูนย์กลางของชาวไทขาว ตำแหน่งที่ตั้งเมืองประมาณว่าอยู่ระหว่างแม่น้ำดำกับแม่น้ำแดง (ตามมติฝรั่งผู้จัดทำแผนที่) แต่คนไททางโน้นเรียกขานกันว่า น้ำแต๊ กับน้ำตาว

ที่เรียกว่าเมืองเติ๊กนั้น ดูเหมือนทางการเวียดนามเขาเรียกว่า ฟูเย็น ผมพยายามสืบหาความหมายของชื่อ ได้ความจากอาจารย์เหลือง แห่งมหาวิทยาลัยฮานอย ซึ่งเป็นชาวไทขาวเมืองเติ๊ก บอกว่า คำ “เติ๊ก” หมายถึงย้อนหลังไปไกลมากๆ ผมฟังคำอธิบายแล้วก็คิดว่าตรงกับคำ “ดึก” ในภาษาไทย ที่เราใช้เป็นดึกดำบรรพ์นั่นเอง

แผนที่ตำแหน่งเมืองเติ๊กและเมืองใกล้เคียง ในเขตจังหวัดซอนลา ภาคเหนือของแผ่นดินเวียดนาม

นึกความหลังรัวๆ ได้ว่า คณะของเราขอวีซ่าอย่างยากเย็น กว่าจะเข้าไปศึกษาได้ กระนั้นเมื่อเครื่องการบินไทยพาคณะเราไปถึงสนามบินน้อยไบชานกรุงฮานอย (ว่าเพิ่งเปิดบินใหม่ๆ) กว่าจะผ่านด่านสนามบินได้ หันหลังไปดู เห็นเครื่องการบินไทยที่นำพวกเรามาทะยานเหินขึ้นฟ้ากลับเมืองไทยไปแล้ว ก็ใจหายเหมือนคนถูกทิ้งลอยแพในทะเล แต่เบาใจขึ้นมาเมื่อเห็นอาจารย์เหลืองที่พวกเรานัดหมายไว้ยืนรออยู่ข้างนอก และจัดเช่ารถมารอรับ

ถนนในกรุงฮานอยขณะนั้นมีแต่กองทัพจักรยาน นานๆ จะเห็นรถยนต์แหวกสวนมาสักคัน อาจารย์เหลืองนำพวกเราไปที่ทำการหน่วยงานที่น่าจะเกี่ยวกับการท่องเที่ยวของเวียดนาม และช่วยเป็นล่ามบอกจุดหมายปลายทางของพวกเรา เขามีข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้ คือนอกจากอาจารย์เหลืองที่จะนำพวกเราไปแล้วจะมีชาวเวียดนามสมทบไปด้วย ๒ คน คนหนึ่งพูดอังกฤษได้ อีกคนพอพูดภาษาไทยได้ (คนหลังนี้ผมเข้าใจว่าคงทำหน้าที่เหมือนสันติบาล เพราะติดเอาเครื่องอัดเสียงและเทปคาสเซ็ตไปด้วย ๑ ลัง จะบันทึกเสียงที่พวกเราสนทนากัน และบันทึกทุกครั้งที่เราไปคุยกับคนไททุกเมืองที่เราไปคุยและแวะพัก) คนแรกชื่อดั๊ท คนหลังชื่อเบ๋า ส่วนโชเฟอร์รถชื่อเฮี้ยบ

เราออกจากกรุงฮานอยในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น ซื้อน้ำขวด (ทั้งกรุงฮานอยมียี่ห้อเดียวเป็นของสิงคโปร์) ไปด้วย ๑ ลังใหญ่ กะว่าพอดื่มได้ตลอด ๑๔ วันที่เดินทาง บอกตามตรงว่าเราไม่กล้าดื่มน้ำตามร้านอาหารที่เขาจัดให้ เพราะไม่แน่ใจในความสะอาด ฉะนั้น เพื่ออ้างการประหยัดน้ำดื่ม พวกผู้ชายจึงอาศัยเบียร์กระป๋องตราตองสาม (333 เวียดว่า บาบาบา ลือกันว่า นายพล โวเหวียนเกี๊ยบเป็นเจ้าของ ฟังข่าวลือนี้หากเป็นจริงก็นับถือในน้ำใจเพราะตองสามคือชื่อรหัสลับของนายพลไทย ที่เข้าไปรบขับเคี่ยวกับเกี๊ยบเป็นคู่ปรับในสมรภูมิลาว ภายหลังได้ทราบจาก คุณทวีป วรดิลก ถึงปรารภของนายพลว่าก่อนตายอยากพบพูดคุยกับคู่ปรับสักครั้ง) ส่วนสุภาพสตรี (มีเดินทางไปด้วยสามสาว) หากจะชิมดูบ้างก็ตามใจสมัคร รถที่เราตกลงเช่า เป็นรถตู้ใหม่เอี่ยม (ก็เรากลัวไปตายตามทางนี่ครับ) ยี่ห้อยอดฮิตที่เมืองเรารู้จักกันดีคือยี่ห้อ “ของเล่นของโอต้า”

ออกจากชานกรุงฮานอย เป็นทุ่งนาเวิ้งว้าง สลับเนินเขาสูงขึ้นเรื่อยๆ มุ่งตรงไปยังท่าจุงฮา (แขวงเมืองแทงเซิน) อันเป็นท่าแพขนานยนต์ข้ามน้ำแต๊ แม้จะเป็นหน้าน้ำแต๊ลดลงมาก แต่น้ำแต๊ก็ดูกว้างเป็นร้อยๆ เมตร มีทางรถผ่านหาดทรายที่กว้างกว่าร้อยเมตร (เช่นเดียวกัน) ทอดยาวไปตามแม่น้ำ แพขนานยนต์ดูเก่าคร่ำคร่า ท่อไอเสียเครื่องยนต์ซ่อมด้วยลำไม้ไผ่ทะลุปล้องตั้งตรงขึ้นเหนือหลังคาที่เป็นที่นั่งของคนขับ ตัวแพพอจุรถยนต์ได้สัก ๓ คัน นอกนั้นเป็นกลุ่มจักรยาน แม้จะหวาดเสียวอย่างไร เราก็ข้ามน้ำแต๊ไปจนได้อย่างโล่งอก ขึ้นฝั่งแล้วหันหลังไปดู ก็เห็นเป็นอัศจรรย์ที่คนประมงแจวเรือด้วยเท้า แปลกจากเมืองไทย!

ไปถึงเมืองแทงเซินหลังเที่ยง ท้องบอกว่าต้องการอาหารแล้ว จึงแวะร้านที่คิดว่าหรูที่สุดของเมือง เป็นร้านชั้นเดียวพื้นเป็นดินอัดแน่น มีโต๊ะและม้ายาวคร่ำคร่า (คงไม่ค่อยได้เช็ดถู) ให้นั่งกินข้าว เห็นไก่ทอดวางอยู่กระจาดหนึ่ง และมีผักสดวางอยู่ก็บอกให้เขาผัดให้ ยามหิวอะไรๆ ก็กินอร่อย มื้อกลางวัน (บ่าย) วันนั้นจึงหมดบาบาบาไปหลายกระป๋อง

ผมจำในใจจากที่อ่านพบในพงศาวดาร ว่าที่อยู่ของคนลาวคนไทยนั้นเป็น “เรือนมีร้าน บ้านมีเสา” ส่วนคนแกว (ญวน) คนม้งนั้นเรือนไม่มีร้านบ้านไม่มีเสา คืออยู่กับดิน ฉะนั้นพอพ้นเขตทุ่งเขตนา เข้าเขตป่าเขตเขา เห็นบ้านใต้ถุนสูง (คือบ้านมีเสา) อยู่ข้างทาง ก็บอกเพื่อนร่วมทางว่า นั่นบ้านคนไท และบอกโชเฟอร์ให้แวะเพื่อจะเข้าไปทักทาย เข้าไปใกล้ไม่เห็นเจ้าของบ้าน แต่เห็นหม้อต้มเหล้าอยู่ใต้ถุน

ที่ผมรู้ก็เพราะคุ้นเคยกับเจ้าสิ่งนี้ในวัยเด็ก แม้รูปลักษณ์จะไม่เหมือนกับที่หมู่บ้านผมเกิดที่ควนขนุน แต่พอมองเห็นรางไม้ไผ่ต่อโผล่มาจากป่าหลังบ้าน มีน้ำไหลลงถังที่เทินอยู่บนหม้อ และมีท่อระบายออกให้น้ำวนเวียน ก็ชัดเจนว่านั่นคือน้ำหล่อเย็น ให้น้ำหมักเหล้าในหม้อต้มข้างล่างระเหยขึ้นไปจับก้นถัง แล้วหยดลงรางที่ฝัง (ผนังหม้อ) ไปรองรับไหลมาลงไห เป็นการต้มกลั่นเหล้าที่ง่ายที่สุดที่คนไทยสมัยหนึ่งนิยมทำกัน ก่อนจะถูกมือรัฐยื่นเข้าไปบีบว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

สักครู่ชายเจ้าของบ้านวิ่งออกมาต้อนรับ อาจารย์เหลืองบอกว่าเป็นคนมอญ ไม่ใช่คนไท ผมยิ่งอัศจรรย์ใจ เพราะรู้อยู่ว่าเมืองมอญอยู่ทางใต้ของพม่า แล้วนี่โผล่มาอยู่ทางเหนือของเวียดนามได้อย่างไร อาจารย์เหลืองเล่าว่า คนมอญเป็นคนกลุ่มน้อยอันดับ ๒ รองจากคนไท หมู่บ้านที่พวกเราไปถึงนี้คือตำบลถู่กุ๊ก เจ้าของบ้านคะยั้นคะยอให้พวกเราขึ้นบนบ้าน รินเหล้าจากไหใส่ขันออกมาต้อนรับ เห็นผึ้งตายลอยน้ำเหล้าอยู่สองสามตัวก็ให้ขยาด แต่นึกถึงภาษิตจีนที่ว่าเหล้าสะอาดเสมอ ก็จำใจจิบไม่ให้เสียไมตรี แต่ก็รู้ชัดว่าเหล้ามอญที่ถู่กุ๊กนั้นร้อนผ่าวผ่านคอลงไปถึงท้อง!

ก็ต้องรีบอำลา เพราะหนทางกว่าจะถึงเมืองเติ๊กยังอีกไกล

หนทางไปเมืองเติ๊ก เป็นถนนดิน ไม่ได้โรยลูกรังบดทับเหมือนเมืองไทย รถไปได้ค่อนข้างช้าเพราะทางผ่านป่าที่เป็น “เนินเถินสลับซับซ้อน” ก่อนเข้าตัวเมืองเป็นป่าใหญ่ อาจารย์เหลืองบอกว่าเรียก “ดงเสื้อ” มีลำน้ำชื่อเหมือนเมืองคือน้ำเติ๊กไหลผ่าน น้ำเติ๊กนี้ไหลไปรวมกับน้ำตาว (คือแม่น้ำแดงในแผนที่) ผมถามถึงชื่อดงเสื้อ อาจารย์เหลืองอธิบายว่า เสื้อคือผีประจำเมือง ป่านี้คนไม่ค่อยกล้ำกรายเข้าไปจึงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ถึงหน้าน้ำหลาก ก็นำเอาโอชะในดินมาหล่อเลี้ยงเมือง ข้าวปลาเมืองเติ๊กจึงบริบูรณ์ และกินดีจนลือชื่อ รู้กันทั่วไปว่าเป็นคำติดปากว่า “ข้าวเมืองฮวา ปลาเมืองเติ๊ก”

“เมืองฮวา” นั้นคือเมืองดอกไม้ ชื่อนี้คือคำเรียกเมืองเติ๊กนั่นเอง แต่เป็นชื่อที่จักรพรรดิญวนพระองค์หนึ่งตั้งให้ เมื่อเสด็จประพาสถึงและเห็นว่ามีเป็นเมืองมีดอกไม้งาม (ฮวา = ดอกไม้)

เรื่องดงเสื้อที่เมืองเติ๊ก ทำให้เข้าใจวัฒนธรรมคนไทสมัยที่ยังนับถือผี อย่างที่เมืองนครศรีธรรมราช ยังมีศาลพระเสื้อเมือง และในวรรณคดีที่กล่าวถึง “เสื้อเมืองทรงเมืองเรืองศักดิ์” ก็เห็นร่องรอยและเข้าใจชัดเจนขึ้น เพราะไทเมืองเติ๊กยังไม่มีศาสนาแต่มีเสื้อประจำเมือง

เกริ่นมาเสียยืดยาว ขอรวบรัดว่าเมื่อไปพักที่เมืองเติ๊ก ได้ไปเยี่ยมบ้านอาจารย์เหลือง (ในวัยเด็ก) ได้พบแม่ อาว์ และน้าสาวอยู่ต้อนรับ อาจารย์แนะนำพวกเราว่า คนไทลานมายาม ไม่ทราบว่าเกิดแรงบันดาลอะไรขึ้น สาวๆ ต่างโผเข้ากอดร่ำไห้กัน น้าอาจารย์เหลืองแจกผ้าทอเองผืนเล็กๆ ให้ซับน้ำตา บอกว่า อย่าไห้ๆๆ แล้วยกกับยกเหล้ามาตั้งวงต้อนรับบนเรือน แม่อาจารย์เหลืองเป็นช่างขับของหมู่บ้าน จึงขับลำต้อนรับจนเราตื้นตันใจกันหมด ผมนึกถึงแม่เพลงขวัญจิตแห่งเมืองสุพรรณและพยายามตั้งใจฟัง จับความได้นิดหนึ่งว่า “น้ำแห้งจึงเห็นหาด น้ำขาดจึงเห็นทราย” พยายามซักถามอาจารย์เหลือง พอสรุปความได้ว่า เมื่อทุกข์ยากนั่นแล จึงจะได้เห็นน้ำใจกัน

ก็นึกถึงโคลงพระนิพนธ์กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (ในนิทานเวตาล) ที่ว่า

ชายหาญเห็นได้เมื่อ      สงคราม นั้นเนอ
ความซื่อส่อถนัดยาม     ส่งหนี้
เห็นมิตรคิดเห็นความ    จริงเมื่อ ทุกข์แล
เมียสัตย์ชัดชื่อชี้          เมื่อไข้ไร้สิน ฯ

ครับ เมื่อเคยไปกินข้าวเมืองฮวา ได้เคยกินปลาเมืองเติ๊กมาแล้ว จึงต้องนำมาเล่า


รู้ทันเรื่องราวก่อนใคร เกาะติดตามกระแสในประวัติศาสตร์ กดติดตาม ศิลปวัฒนธรรม  อย่าลืมกด”See First” (เห็นโพสต์ก่อน) เห็นทุกโพส เห็นทุกเรื่องราว ไม่พลาดข่าวในเพจ