“คลองด่าน” ด่านอะไร มีด่านตรงไหน?

คลองด่านที่ไหลผ่านหน้าวัดนางนอง กรุงเทพมหานครในปัจจุบัน (ภาพจากโดรนมติชนทีวี)

หากเอ่ยถึง “ด่าน” คงเป็นที่คุ้นหูกันอย่างมาก หลายคนคงนึกถึงด่านตรวจ ด่านตำรวจที่ตั้งตามท้องถนนเพื่อตรวจสอบความเป็นระเบียบ

หนังสือ “อักขราภิธานศรับท์” ของหมอบรัดเลย์ที่จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2416 (ค.ศ. 1873) อธิบายความหมายของคำว่า “ด่าน” ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เปนชื่อที่อันพระมหากษัตริย์สั่งให้ตั้งไว้สำหรับตรวจตราสิ่งของต้องห้ามทั้งปวงเหมือนด่านปากน้ำเป็นต้น”

ยังมียกตัวอย่างอื่นอีกว่า “ด่านขนอนคือด่านที่ทำหลังคาเปนกระโจนมียอด สำหรับดูแลสิ่งของต้องห้ามเหมือนด่านปากเกร็ด” และอีกตัวอย่างหนึ่งว่า “ด่านทรงเมรุเปนชื่อด่านเมืองแพร่ เขาตั้งไว้ในดงสำหรับดูแลผู้คนซึ่งจะหนีไปเปนต้น”

“ด่าน” มีร่องรอยอยู่ในบท “พระไอยการอาชญาหลวง” ซึ่งตราขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิระบุตำแหน่ง “นายพระขนอนทณบุรี” มีหน้าที่ตรวจตราเก็บภาษี (กฎหมายตราสามดวง : เล่ม 4 คุรุสภา 2505 : หน้า 89) แสดงให้เห็นว่าเมืองธนบุรีที่ย่านบางกอกมี “ด่าน” หรือ “ขนอน” เพื่อตรวจตราและเก็บภาษีสินค้ามาก่อนที่จะมีกฎหมายมาตรานี้แล้ว

แม้จะไม่มีการระบุตำแหน่งของด่านขนอนว่าตั้งอยู่ที่ไหน แต่คาดว่าคงไม่ได้มีด่านขนอนเพียงแห่งเดียวเป็นไปได้ว่าโดยรอบพระนครศรีอยุธยาและหัวเมืองอื่น ๆ ที่สำคัญ ๆ อาจจะมีด่านขนอนน้ำและขนอนบกอยู่

มีหลักฐานเกี่ยวกับด่านขนอนในพระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 1 กลอนเพลงยาวนิราศเรื่องรบพม่าที่ท่าดินแดง (เมื่อ พ.ศ. 2329) เป็นพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกที่เสด็จยกกองทัพไปรบพม่าที่ท่าดินแดงในเขตจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อหลังการสร้างกรุงเทพฯ ประมาณ 4 ปี ซึ่งเป็นสงครามต่อเนื่องจากศึก 9 ทัพ

รัชกาลที่ 1 ทรงมีพระราชนิพนธ์กลอนเพลงยาวฯ เอาไว้เมื่อเสด็จไปทางชลมารคเข้าคลองนี้ว่า

ο ครั้นถึงด่านดาลเทวษทวีถึง   คะนึงในให้หวนละห้อยหา

ถึงนางนองเหมือนพี่นองชลนา   ยิ่งอาทวาอาวรณ์สะท้อนใจ

กลอนพระราชนิพนธ์ในวรรครองว่า “ถึงนางนองเหมือนพี่นองชลนา” นั้น ช่วยยืนยันกลอนวรรคแรกว่า “ครั้นถึงด่านดาลเทวษทวีถึง” ก็คือเส้นทางที่เรียกกันต่อมาว่า “คลองด่าน” นี้เอง

เมื่อพญาตรังตามเสด็จไปในกองทัพสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเพื่อตีเมืองทวาย (เมื่อ พ.ศ. 2330) พญาตรังแต่งโคลงดั้น นิราศตามเสด็จทัพลำน้ำน้อย บทหนึ่งบอกไว้ว่า

ο ฉับฉวยนาเวศผ้าย   ผาดถึง

ด่านบปรามปราไส   เสาะค้น

ดาลรักร่นคำนึง   ในสวาสดิ์

แขวงด่านด้นดื้นล้น   โลภหวง

ถัดจาก “ด่าน” นี้ไปแล้วโคลงก็พรรณนาถึง “นางนอง” เช่น เดียวกัน จึงเท่ากับยืนยันว่าพญาตรังนั่งเรือเข้าตามเส้นทางคลองด่าน หลักฐานชิ้นต่อมาอยู่ใน โคลงนิราศนรินทร์ ของนายนรินทร์ธิเบศร์ หรือนรินทร์อิน (เมื่อ พ.ศ. 2352) อันเป็นปีแรกของรัชกาลที่ 2 ความว่า

ο มาด่านด่านบ่ร้อง   เรียกพัก พลเลย

ตาหลิ่งตาเหลวปัก   ปิดไว้

ตาเรียมหลั่งชลตัก   ตวงย่าน

ไฟด่านดับแดไหม้   มอดม้วยฤามี

จากเอกสารที่ยกมาแสดงให้เห็นว่าบริเวณที่คลองด่านเชื่อมกับคลองบางหลวงนั้นมี “ด่าน” จึงเป็นเหตุให้เรียกชื่อนั้นว่า “คลองด่าน”

* “ด่าน” ที่คลองด่านตั้งอยู่ตั้งแต่จุดเชื่อมกับคลองบางหลวงบริเวณวัดปากน้ำไปถึงหน้าวัดอัปสรสวรรค์ พิจารณาจากโคลงกลอนต่าง ๆ และจากปากคำชาวบ้านระแวกนั้นที่จดจำคำบอกเล่ามาจากผู้คนรุ่นก่อน ๆ ว่าเป็นย่านชุมชนเรือสินค้านานาชนิดทั้งขาเข้าและขาออกจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ

 


อ้างอิง :

“แม่น้ำลำคลอง สายประวัติศาสตร์”. โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. มติชน. 2544

“อักขราภิธานศรับท์”. หมอปรัดเลย์. คุรุสภาจัดพิมพ์ใหม่ตามแบบต้นฉบับเดิม. 2461


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2561